วันพุธ, กรกฎาคม 13, 2565

เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์


บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ที่ปัจจุบันถูกคุมขังภายในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ ในคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ม. 112 : เปิดใจพี่สาว "บุ้ง ทะลุวัง" จากหนุน กปปส. สู่นักกิจกรรมทำโพลล์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

วัชชิรานนท์ ทองเทพ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
11 กรกฎาคม 2022

"คุณพี่คะ โบขอเลื่อนเวลาสัมภาษณ์เป็นช่วงบ่ายของวันที่ 6 ก.ค. ได้ไหมคะ พอดีช่วงเช้าโบต้องไปศาลอาญากรุงเทพใต้เพื่อไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวน้องใบปอกับบุ้ง เพื่อให้พวกเขาออกมารักษาตัวในโรงพยาบาล"

ชญาภัส โบ เสน่ห์สังคม หรือโบ พี่สาวของบุ้ง เนติพร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มทะลุวัง ได้โทรมาขอเลื่อนวันนัดหมายเพื่อพูดคุยเรื่องราวเส้นทางชีวิตที่ผ่านมาของบุ้ง

โบเพิ่งทราบว่าศาลนัดให้มีการไต่สวนในช่วงเช้าของวันที่ 6 ก.ค. ตามคำร้องทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวบุ้งและใบปอ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ อีกครั้งในวันที่ 5 ก.ค. ขณะที่ทั้งสองยังมีอาการป่วยระหว่างถูกคุมขังภายในทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ หลังจากอดอาหารประท้วงต่อเนื่องมาแล้วกว่าหนึ่งเดือน เพื่อทวงคืนสิทธิในการให้ประกันตัว และมีแนวโน้มว่าอาการจะทรุดหนักลงอีก

เวลา 13.00 น. ของวันที่ 6 ก.ค. คือเวลานัดหมาย โบเดินทางมาพร้อมกับเพื่อนสนิทของบุ้ง หลังจากขึ้นเบิกความและได้แถลงต่อศาลด้วยสาระสำคัญคือ ต้องการให้ทั้งสองได้รับการประกันตัว และส่งตัวไปรับการรักษาในโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

กรมราชทัณฑ์ปฏิเสธข่าวแพทย์ละเมิดด้วยวาจา "ใบปอ" และ "บุ้ง" ทะลุวัง ด้านแอมเนสตี้ฯ เรียกร้องให้ปล่อยตัวทันที
ศาลถอนประกัน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ผู้ต้องหาคดี ม. 112 กรณีทำโพลล์-ไลฟ์สดเรื่องขบวนเสด็จ
ตร. แถลง จับ มัมดิว-นารา เครปกะเทย-หนูรัตน์ หมิ่นสถาบันฯ จากโฆษณาลาซาด้า

ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวใบปอกับบุ้งเป็นครั้งที่ 6 ครอบครัวและทีมทนายความต้องการนำผู้ต้องขังหญิงที่มีสภาพอิดโรยเปราะบางออกมารับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง



โบ ในวัย 32 ปี พี่สาวคนโตของบุ้ง เป็นทนายความที่เดินตามอย่างคุณพ่อที่เป็นผู้พิพากษา ขอเข้ามาช่วยคดีนี้ร่วมกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เธออธิบายให้บีบีซีไทยทราบสภาพน้องสาวและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ตอนที่ไปเยี่ยมในเรือนจำว่า

"น้องใบปอตอนออกมาพบ ต้องมีคนช่วยพยุงออกมา ส่วนบุ้งไม่มีแรงแม้กระทั่งยกหูโทรศัพท์ทั้งมือและตัวเขาก็สั่นตลอดเวลา ส่วนภาพที่น้องมองเห็นก็เหมือนเป็นภาพหมุน และมีอาการปวดท้องมากจนทำให้น้องรู้สึกเพลียร่างกาย ทุกครั้งที่เขาหายใจก็จะเจ็บซี่โครง แต่ก็ต้องหายใจถี่ ๆ เพื่อที่จะได้นำออกซิเจนเข้าไปในร่างกาย และมีอีกประเด็นหนึ่งคือ ค่าโปแทสเซียมที่ต่ำมากอยู่ที่ 1 กว่า ๆ ขณะที่คนปกติอยู่ที่ระดับ 3.5 การที่ค่าโปแทสเซียมต่ำจะส่งผลทำให้เขามีความเสี่ยงที่จะหัวใจวายได้จากอาการเสื่อมของกล้ามเนื้อหัวใจเฉียบพลัน"

(จากซ้าย) โบ แม่ น้องสาวคนเล็ก และบุ้ง

โบเคยถามบุ้งว่า รักษาตัวเองก่อนดีไหม แม้ว่าเธอเองก็เข้าใจอุดมการณ์ของน้องสาว ที่ต้องการอดอาหารเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมร่วมกับใบปอมาตั้งแต่วันที่ 2 มิ.ย.

"แต่บุ้งยืนยันว่า เขาไม่สมควรจะเข้ามาอยู่ที่นี่ตั้งแต่แรกแล้ว สิ่งที่ศาลทำกับเขามันคือการกดทับเขา แล้วในเมื่่อคนข้างนอกยังสู้อยู่ เขาจะยอมแพ้ได้อย่างไร ก็สู้ไปด้วยกัน" โบอธิบาย


โบเรียกน้องสาวว่า "ทาสแมวใจบุญ" เพราะนอกจากเธอจะช่วยเหลือแมวจรจัดและสุนัขจรจัดมาแล้ว 100 ตัว

สำหรับการเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวัง บุ้งมีบทบาทเพียงเป็นผู้สนับสนุนและดูแลความปลอดภัยแกนนำเท่านั้น แต่เธอถูกดำเนินคดีจากการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมือง 3 คดี โดยเป็นคดีในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการทำโพลล์ของทะลุวัง 2 คดี โดยคดีที่ทำให้ทั้งสองต้องถูกศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันมาจากคดีการทำโพลล์สำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ โดยทั้งสองถูกส่งตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา แม้ว่านับจากนั้นทั้งสองได้ยื่นประกันตัวมาแล้วหลายครั้งและยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันต่อศาลอุทธรณ์ แต่ไม่สำเร็จ

บุ้งคือความภูมิใจของครอบครัว

เส้นทางการขับเคลื่อนสังคมของบุ้งได้เริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ในสมัยที่เธอเรียนอยู่ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้าและเธอได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการนักเรียน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในช่วงมัธยมศึกษาปีที่ 5-6


บุ้งเคยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการนักเรียนในระหว่างศึกษาที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า

"บุ้งเคยเป็นคนที่คอยบอกเพื่อน ๆ นักเรียนอยู่เสมอในฐานะคณะกรรมการนักเรียนว่า ต้องดูแลทรงผมให้เรียบร้อย เสื้อผ้าต้องทำให้ถูกระเบียบ แต่เขาเริ่มเอะใจว่า ทำไมมีเพื่อนที่เห็นต่าง มีเพื่อนที่คัดค้านเรื่องทรงผม จึงทำให้ได้ฉุกคิดว่า ตัวกฎระเบียบก็ไม่ได้แฟร์ (ยุติธรรม) สำหรับกลุ่มคนหลายกลุ่ม หากฝ่าฝืนถึงขั้นคาดโทษกัน รวมทั้งกลุ่ม LGBTQ ที่พวกเขาต้องการแต่งตัวอีกแบบ แต่เขาก็ได้แต่ตั้งคำถาม"

ในระหว่างสัมภาษณ์ โบได้หยิบภาพเก่า ๆ ที่เตรียมมาด้วย และมีท่าทีภูมิใจเมื่อพูดถึงเรื่องการเรียนของน้องสาวคนนี้ว่า "เรียนก็เก่ง กิจกรรมก็ไม่แพ้ใคร" พร้อมกับบอกว่า สิ่งหนึ่งที่พ่อกับแม่เห็นตรงกันเกี่ยวกับบุ้งคือ การเลี้ยงดู
ให้น้องเป็นคนมีความมั่นใจและกล้าแสดงออก


โบแสดงภาพถ่ายแห่งความสำเร็จของบุ้งในตอนเด็กที่ครอบครัวภูมิใจ

"บุ้งสอบเข้าโรงเรียนเตรียมน้อมฯ ได้เอง และผลการเรียนก็อยู่ในเกณฑ์ดีมาก 3.8, 3.9 และ 4.0 สลับกันไป กิจกรรมในโรงเรียนก็ไม่ขาด ถ้าเธอตัดสินใจทำอะไรก็จะต้องทำให้สำเร็จไม่ยอมละทิ้งความพยายามไว้กลางทาง"

ครอบครัวเคารพในการตัดสินใจของบุ้ง

จากคำถามที่ผุดขึ้นในความคิดต่อระเบียบควบคุมนักเรียนระหว่างที่บุ้งเป็นคณะกรรมการนักเรียนยังคงทำงานของมันต่อ ผลที่ตามมาคือการตัดสินใจเข้าร่วมการเคลื่อนไหวของกลุ่ม "นักเรียนเลว" ที่กลายเป็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนที่ต้องการส่งเสียงเพื่อสิทธิตัวเอง (speak for yourself) ไม่ว่าจะเป็นสิทธิในการไว้ทรงผมนักเรียน ซึ่งประสบผลสำเร็จจนทำให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในระหว่างปี 2563 มีระเบียบว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนไว้ผมยาวได้ตามความเหมาะสม


องค์กรนักเรียนเลวบุกกระทรวงศึกษาการเป่านกหวีดไล่ รมว. ณัฏฐพล อดีต กปปส. (เมื่อเดือน ส.ค. 2553)

"ถามว่าห่วงไหม ตอบเลยเป็นห่วงมาก ๆ อยู่แล้ว เพราะทุกครั้งที่มีการทำกิจกรรมปกติอย่างเช่นสมัยร่วมกิจกรรมนักเรียนเลว จะเห็นว่าเป็นเด็กมัธยม แต่ตำรวจนี่สิมาเป็นกองร้อยเลย ห่วงสิก็น้องเรานิ ลูกเรานิ เราก็ต้องห่วง แต่เราเคารพในการตัดสินใจของบุ้ง"

โบกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลาผ่านไปแนวความคิดขับเคลื่อนสังคมก็ขยายวงมากขึ้น ในขณะที่เกิดการระบาดโควิด-19 กิจกรรมนักเรียนเลวก็ยุติลงชั่วคราว แต่บุ้งก็มาทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่ม "ไพร่ปากแจ๋ว" ที่เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีน MRNA ให้กลุ่มเด็กนักเรียน ก่อนที่จะร่วมกับเคลื่อนกับกลุ่มทะลุวัง

"ถึงวันนี้เขาได้พิสูจน์ตัวเองแล้วถึงความกล้าหาญ แน่วแน่ในอุดมการณ์ของเขา" พี่สาวกล่าวย้ำ

ทวิตภพคือจุดบรรจบคำว่า "ตาสว่าง"

โบยอมรับว่า ครอบครัวของเธอเคยเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. เมื่อปี 2557 ที่กลายเป็นชนวนเหตุให้เกิดรัฐประหารขึ้น ซึ่งในขณะนั้นบุ้งยังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย


ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่เมื่อ 10 เม.ย. 2553

หลังจากนั้นเมื่อบุ้งได้เข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ภาควิชาการเงิน คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ได้เปิดโลกกว้างมากขึ้นจากข้อมูลชุดใหม่ผ่านสังคมออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ ซึ่งมีการถกเถียงประเด็นสังคมอย่างกว้างขวางและหลากหลาย

โบได้ยกตัวอย่างข้อเท็จจริงที่บุ้งเคยอธิบายให้ฟังว่า "สะเทือนใจมากที่สุด" จนทำให้ "ตาสว่าง" นั่นคือเหตุการณ์ "Big Cleaning Day" กิจกรรมที่ชาว กทม. บางส่วนออกมาล้างทำความสะอาดพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือน พ.ค. 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 ศพ และบาดเจ็บหลายพันคน

ขบวนเสด็จฯ: เสียงจากผู้ต้องหาในคดีประวัติศาสตร์ มาตรา 110 "ประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี"
ขบวนเสด็จ: เกิดอะไรขึ้นที่วงเวียนใหญ่ สรุปเหตุการณ์นักกิจกรรมชูป้าย ยกเลิก 112-หญิงวิ่งประชิดรถพระที่นั่ง
10 ปีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง : มองเมษา-พฤษภา 53 ผ่านวาทกรรม "จำไม่ลง"

เมื่อพบข้อมูลชุดใหม่แตกต่างจากความเชื่อเดิมยิ่งทำให้เธอรู้สึกผิดต่อคนเสื้อแดง เนื่องจากกิจกรรมดังกล่าว เป็นเสมือนกับการทำลายล้างหลักฐานที่จะอาจจะบ่งชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมและให้ความเป็นธรรมต่อญาติผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต

ในขณะเดียวกันระหว่างที่ศึกษาปริญญาตรี บุ้งยังมีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และทัศนะต่าง ๆ กับบรรดาเด็กนักเรียนที่เธอสอนพิเศษภาษาอังกฤษ ยิ่งทำให้ขยายกลุ่มความคิดและเครือข่ายเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่เธอเชื่อว่า คนรุ่นใหม่คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงอนาคต


โบบอกว่าน้องสาวสร้างรายได้งามจากการรับสอนภาษาอังกฤษ และสามารถแบ่งเบาภาระครอบครัว โดยเฉพาะในเวลาที่คุณแม่ไม่สบายเธอก็รับภาระค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนเพื่อความรวดเร็วในการรักษา แม้ว่าครอบครัวของเธอจะได้รับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ

นอกจากความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษจนทำให้บุ้งสามารถต่อยอดมาเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้หลักระหว่างเรียนแล้ว พี่สาวของเธอยังอยากเล่าให้ฟังว่า ทักษะทางภาษานี้ยังนำพาน้องสาวไปหาข้อมูลชุดใหม่ที่ให้มุมมองที่แตกต่าง

ทะลุวัง = การตั้งคำถาม

ตามมุมมองของโบ การเคลื่อนไหวของกลุ่มทะลุวังเกิดจากการที่พวกเขามองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ ในขณะที่สถาบันกษัตริย์ก็จำเป็นต้องทบทวนในเชิงการจัดการ ที่ไม่ใช่เรื่องตัวบุคคล เช่น กรณีขบวนเสด็จ ก็เป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถพูดถึงหรือตั้งคำถามได้ ถือว่าเป็นสิทธิพื้นฐาน ซึ่งการสำรวจความคิดเห็นหรือทำโพลล์ก็เปิดโอกาสให้กลุ่มทั้งสองฝ่ายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

"คุณจะแปะสติ๊กเกอร์แสดงความคิดเห็นก็ได้หรือไม่แปะก็ได้ หรือจะเดินผ่านไปก็ได้ การที่มีคนเดินเข้ามาหยิบสติ๊กเกอร์มาแปะ ก็คือวิธีประชาธิปไตยที่เขาบอกว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย"



อย่างไรก็ตาม จากการเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้ ในตอนนี้บุ้งก็ตกเป็นผู้ต้องขังคดี ม.112 ไปแล้วจากการตั้งคำถามประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ว่า "ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ?" ซึ่งพี่สาว ครอบครัว และผู้สนับสนุนหวังว่าบุ้งจะได้รับความเป็นธรรมให้สามารถออกมารักษาตัวนอกเรือนจำได้ แม้ว่าจะใช้ความพยายามในการยื่นประกันตัวมาแล้วกว่า 6 ครั้ง ทว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งบุ้งและใบปอต่อไปอีก โดยให้เหตุผลว่ากรมราชทัณฑ์มีความสามารถในการดูแลอาการป่วยของคนทั้งสอง

ก่อนจบบทสนทนากับโบในวันนั้น เธอได้ยื่นข้อความจากน้องสาวมาให้เพื่อสื่อสารกับสังคมดังนี้

"มนุษย์มีความสวยงามได้ เพราะความหลากหลาย อย่าให้ใครมาตีกรอบ โอบรับความหลากหลายไว้เยอะ ๆ เป็นตัวของตัวเอง จะทำให้โลกเราน่าอยู่ บุ้งอยากดึงประชาธิปไตยที่แท้จริงกลับคืนมาใหประชาชน เราถูกพรากสิทธิ เสรีภาพมากเกินไปแล้ว แค่การตั้งคำถาม การแสดงความเห็น เป็นเรื่องพื้นฐานมาก ประชาชนย่อมทำได้โดยไม่ถูกปิดปาก"