แม้นว่าผลการลงมติหลังเสร็จสิ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรวม ๑๑ คน จะทำให้ประยุทธ์และรัฐบาลของเขายังอยู่ครบถ้วน ไม่มีเซอร์ไพร้ส์ แต่การอภิปรายของฝ่ายค้านตลอดสามวัน ได้เปิดแผลหลายแห่งของกลุ่มผู้ครองอำนาจ
ไม่ว่าจะเป็นการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย การประพฤติมิชอบในแวดวงทหาร-ตำรวจ ความบิดเบี้ยวของรัฐธรรมนูญที่มาจากการออกแบบของ คสช. และการละเลยระบบยุติธรรมโดยตุลาการ กับองค์กรอิสระ โดยเฉพาะ ปปช.
ดังคอมเม้นต์ของ Tha iLaw (ถา ไอลอว์) ที่ว่า ทำไมมีการรายงานข่าวเรื่อง ส.ส. ‘รับกล้วย’ เหมือนเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ “มีหลักฐานชัด มีชื่อ มีลายเซ็น มีพยาน ทำไมองค์กรอิสระอย่าง ปปช.ถึงยังนิ่งเฉย”
อีกทั้งในความเสื่อมทรามของฝ่ายตุลาการ จากการอภิปรายของ เบญจา แสงจันทร์ ที่เรียกร้องให้ “คืนความยุติธรรมให้นักโทษการเมือง (และ) ยุติการบิดผันกระบวนการยุติธรรม” โดยปล่อยตัว ‘บุ้ง’ เนติพร เสน่ห์สังคม และ ‘ใบปอ’ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์
“ไม่ควรมีใครที่ต้องถูกคุมขัง ไม่ควรมีใครต้องตาย หรือย้ายประเทศ เพียงเพราะเขาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือแสดงออกที่แตกต่างจากท่านผู้นำ หรือเพียงเพราะพวกเขาต้องการต่อต้านอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ที่มาจากการทำรัฐประหาร”
เป็นคำอภิปรายที่ทรงพลังอย่างยิ่ง ในภาวะการณ์ที่อำนาจสืบทอดจากการรัฐประหารกำลังจะยืดยาวออกไป หากยังไม่มีการนำเอาข้อมูลเปิดโปงความชั่วร้ายในรัฐบาลนี้ ไปแปลงเป็นคะแนนเลือกตั้งในครั้งหน้า นั่นคือ “คืนความปกติให้สังคมไทย”
ดัง ส.ส.เบญจาชี้ว่าจะทำให้ “ประชาชนยังเชื่อมั่นว่าพวกเรายังสามารถจะอยู่ในสังคมนี้ร่วมกันได้ ไม่ว่าใครจะมีความคิด ความเชื่อและความฝัน ที่แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม” คำเรียกร้อง “คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน” และสังคมโดยรวม
ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง ทำให้เชื่อว่าการหยุดยั้ง ‘ระบอบประยุทธ์’ (หรือที่จริงก็คือ อำนาจจากผลพวงรัฐประหาร) เป็นไปได้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เมื่อผลการลงมติไม่ไว้วางใจ ‘นอกสภา’ ซึ่งจัดโดยขบวนการ ‘ราษฎร’ ออกมาชัดแจ้ง
กว่า ๙๘% โหวตไม่ไว้วางใจ “จากจุดลงมติ ๖ ภาค ๓๔ จังหวัด ๔๕๓ จุด” ได้คะแนนทั้งสิ้น ๑๖,๖๙๐ โดยมีบัตรเสีย ๔๗ ใบ ส่วนคะแนนที่แสดงความไว้วางใจเพียง ๑.๗๕% หรือ ๒๕๑ คะแนน ซึ่งผู้จัดฯ บอกว่ายังมากไป
เนื่องจากการระดมมาโหวตโดยกลุ่มสลิ่มจัดตั้ง และไอโอ นั้นแสดงว่าผู้ครองอำนาจยังสามารถจัดการทางการเมืองให้ตนได้เปรียบ ไม่ว่าจะเป็น ‘กลโกง’ ในการแจกกล้วย หรือ ‘เกมโกง’ ที่ให้ สว.ตู่ตั้ง ๒๕๐ คน ยังคงมีส่วนในการเลือกตัวนายกรัฐมนตรี
ทั้งที่ยังมีเงื่อนขวางการสืบทอดอำนาจของประยุทธ์อีกสมัย จากวรรคท้ายมาตรา ๑๕๘ ในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การดำรงตำแหน่งนายกฯ มีกำหนด ๘ ปี “ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่” ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
ว่าจะนับอายุความนับแต่ประยุทธ์เริ่มเป็นนายกฯ หลังรัฐประหาร ๒๕๕๗ หรือนับเมื่อรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ซึ่งระบุอายุขัยการเป็นนายกฯ นี้ ประกาศใช้ หรือว่าให้นับเมื่อประยุทธ์ได้เป็นนายกฯ จากเสียงข้างมากสองสภา ในปี ๒๕๖๒ กันแน่
ท้ายที่สุดของการถกเถียง คงจะไปลงที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตีความวินิจฉัย ก็หวังในทางที่เป็นผลร้ายแก่ประยุทธ์ได้ยาก ดังนั้นความหวังในการเปลี่ยนแปลงไปจากสภาพอเวจีที่เป็นอยู่ได้ ต้องมาจากคะแนนเลือกตั้งในครั้งหน้าเท่านั้น
เสียงสนับสนุนกลุ่มพรรคการเมืองที่ร่วมกันเป็นฝ่ายค้านในเวลานี้ จะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ รวมกันแล้วท่วมท้นจนวุฒิสภาไม่สามารถขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลได้ หากเรียก ‘แลนด์สไล้ด์’ ก็เป็นถล่มทลายโดยกลุ่ม ไม่ใช่พรรคใดพรรคหนึ่ง
(https://ilaw.or.th/node/6196, https://www.moveforwardparty.org/news/parliament/nail-on-coffin-censure/14228/ และ https://www.matichon.co.th/politics/news_3468543)