ลิซ่า แบล็คพิ้งค์ นี่แหละคือซ้อฟพาวเวอร์แท้จริง ยิ่งกว่า ‘กัญชา’ ที่ ส.ส.ภูมิใจไทยพูดให้หลง เธอโพสต์อินสตาแกรม ม้วนโรตีสายไหม ชั่วข้ามคืน “โรตีสายไหมอยุธยาคึกคัก” Matichon Online @MatichonOnline รายงาน
“ลิซ่า ปลุกกระแส ร้านดังเผยเร่งทำออเดอร์ ๒๔ ชม.ส่งออกเกาหลี” หวังว่า ศุภชัย ใจสมุทร จะไม่ไปม้วน ‘พันลำ’ ออกเฟชบุ๊คบ้างล่ะ หัวหน้าพรรคก็เคยกินก๋วยเตี๋ยวใส่ใบกัญชงโชว์สื่อแล้วนี่ แต่เรื่องต้องห่วงสำหรับ อนุทิน ชาญวีรกูล ตอนนี้อยู่ที่ BA.5
เชื้อโควิด ‘โอมิครอน’ กลายพันธุ์รุ่นล่าสุดนี่ร้ายกาจ ทำให้มีคนติดเชื้อใหม่เกินสองพันมาสองวันแล้ว คนตายก็ระดับ ๒๐ แถมสองสามรายตายแบบตั้งตัวไม่ทันเหมือนครั้งที่ ‘เดลต้า’ อาละวาดหนัก สาธารณสุขต้องรีบปรึกษาผู้ว่า กทม.กรณีดนตรีในสวน
ถึงกระนั้น ก็ยังไม่สพรึงเท่า รัฐบาลประยุทธ์ฉวยโอกาสสวมรอยการบังคับใช้ พรบ.ฉุกเฉิน ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองกับพวกเห็นต่าง สองปีกว่าที่มีการต่ออายุ พรบ.ฉุกเฉินมาเรื่อยๆ นี่ มีการฟ้องร้องเป็นชนักปักหลังไว้ ๖๔๒ คดี
จำนวนผู้ถูกกล่าวหาฝ่าฝืน พรบ.ฉุกเฉิน ถึงเดือนมิถุนานี่ปาเข้าไป ๑,๔๖๔ ราย เรียกว่าแจกหมายกันมันมือ จนเกิดปรากฏการณ์ฟ้องคดี ‘ซ้ำซ้อน’ ซึ่งบรรดาแกนนำและผู้จัดชุมนุม “เช่น ไบร์ท เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ได้รับหมายจำนวน ๒๘ คดี
ไดโน่ ทะลุฟ้า จำนวน ๒๑ คดี และครูใหญ่ อรรถพลจำนวน ๑๘ คดี ซึ่งที่ผ่านมามีคดีที่ศาลยกฟ้อง หรือ อัยการสั่งไม่ฟ้อง รวมกันอย่างน้อย ๒๘ คดี” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เก็บตัวเลขเหล่านี้มาแฉให้เห็นการใช้กฎหมายอย่างมักง่ายของรัฐ
ทั้งที่การชุมนุมทางการเมืองเหล่านั้น “เป็นการใช้เสรีภาพตามกรอบรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อีกทั้ง ในการชุมนุมที่ถูกตั้งข้อหา ยังเป็นการชุมนุมในสถานที่ไม่แออัดหรือเสี่ยงต่อโรค” ด้วย
ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้เล่ห์เพทุบายอย่างไรเพื่อกำจัดการชุมนุมเรียกร้อง มันก็เกิดขึ้นอย่างเป็นนิจสิน ตราบเท่าที่ไม่มีการรับฟัง และปัดสวะทุกครั้งไป “มันเป็นวัฒนธรรมของยุคสมัยไปแล้ว” สุรพศ ทวีศักดิ์ ให้ความเห็นต่อกิจกรรม ‘ปล่อยเพื่อนเรา’ ที่สยามแสควร์เมื่อเย็นวาน
“ชูป้ายข้อความเขียนถึง ผู้ต้องหาที่กำลังอดอาหารประท้วงอยู่ในเรือนจำมานานกว่า 30 วัน พร้อมทั้งข้อความที่แสดงความหวัง อยากให้ผู้ต้องหาทางการเมืองได้ออกมาใช้ชีวิต ชมดนตรีที่ลานกิจกรรมสยามแสควร์เหมือนเพื่อนวัยเดียวกัน”
เช่นนี้แหละ จึงได้มีการส่งหนังสือทวงถามจาก ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ว่ารัฐบาลไทยทำอะไรอยู่ หลังจากที่ส่งตัวแทนไป ให้คำมั่นที่จะปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เวลาผ่านมาแล้วหลายปี ไฉนยังทำเฉย
ซ้ำช่วงที่ผ่านมา มีรายงานหลายฉบับแสดงความกังวลถึงพฤติกรรมของรัฐบาลไทย “รวมถึง #การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน (Strategic Lawsuit Against Public Participation -#SLAPP)”
ความพยายามจะสร้างชื่อ ด้วยการใช้กัญชาเป็นซ้อฟพาวเวอร์บ้าง อ้างประสิทธิภาพ (ปลอมๆ) ในการทัดทานการระบาดของโรคร้ายโควิดบ้าง ไม่ได้ช่วยให้เกิดความน่าเชื่อถือ หรือนับถือจากชุมชนนานาชาติ แม้แต่น้อย
(https://www.ohchr.org/en/hr-bodies/upr/th-index และ https://freedom.ilaw.or.th/node/1011)