วันอังคาร, กรกฎาคม 12, 2565

ความเลือดเย็นไร้ใบหน้าของกระบวนการยุติธรรม กับโศกนาฏกรรมที่ ‘มองไม่เห็น’ ของชีวิตนายประกัน จากการกลั่นแกล้งเชิงระบบจากรัฐ


ประชาไท Prachatai.com
9h ·

ความเลือดเย็นไร้ใบหน้าของกระบวนการยุติธรรม กับโศกนาฏกรรมที่ ‘มองไม่เห็น’ ของชีวิตนายประกัน
สัมภาษณ์ 'ไอดา อรุณวงศ์' เสาหลักคนหนึ่งของกองทุนราษฎรประสงค์ หลังกองทุนนี้ ‘เลื่อนยศ’ เป็นมูลนิธิสิทธิอิสรา เป็นที่เรียบร้อย เพื่อหลีกเลี่ยงสถานะ ‘เถื่อน’ และการกลั่นแกล้งเชิงระบบจากรัฐ
อ่านบทสัมภาษณ์ได้ที่ https://prachatai.com/journal/2022/07/99462
.....
ความเลือดเย็นไร้ใบหน้าของกระบวนการยุติธรรม กับโศกนาฏกรรมที่ ‘มองไม่เห็น’ ของชีวิตนายประกัน


ไอดา อรุณวงศ์ เสาหลักคนหนึ่งของกองทุนราษฎรประสงค์บอก นั่นหมายความว่า 30 วันของชีวิตหมดไปกับงานสาธารณะนี้ 21 วัน

ประชาไท / สัมภาษณ์
ปองคุณ ธีรกิจขจร : รายงาน
กิตติยา อรอินทร์ : ภาพปก

2022-07-11

บัดนี้กองทุนนี้ ‘เลื่อนยศ’ เป็นมูลนิธิสิทธิอิสรา เป็นที่เรียบร้อย เพื่อหลีกเลี่ยงสถานะ ‘เถื่อน’ และการกลั่นแกล้งเชิงระบบจากรัฐ แต่ดูเหมือนชีวิตของนายประกันคนนี้ยังไม่ดีขึ้นนัก

การต่อสู้ทางการเมืองมีหลายระลอก นับตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ลากยาวมาจนมีการลุกฮือของวัยรุ่นหนุ่มสาวทะลุฝ้าทะลุเพดานในปี 2563-2564 หรือแม้แต่การต่อสู้ของเหล่า ‘ทะลุแก๊ส’ ส่วนคดีความที่ตามมานั้น ยาวนานกว่าการต่อสู้มาก

เราประชาชนต่างมีส่วนร่วมกับมันเท่าที่เราไหว บางช่วงเราอาจผ่อน พัก หรือกระทั่งขอหลีกหนี แต่ผู้ที่เป็นกองหลังอันมั่นคงนอกจากทนายแล้ว ก็เห็นจะมีนายประกันนี่เอง ทั้งไอดา และชลิตา บัณฑุวงศ์ จากกองทุนราษฎรประสงค์ ยังไม่นับรวมกองทุนอื่นที่ช่วยเหลือในด้านอื่น



กองทุนราษฎรประสงค์ นับเป็นกองทุน ‘ประชาชนช่วยประชาชน’ ที่ใหญ่ที่สุด ไม่แน่ใจว่าในประวัติศาสตร์การเมืองร่วมสมัย เคยมีกองทุนประกันตัวประชาชนในลักษณะนี้มาก่อนหรือไม่ เมื่อรัฐใช้กฎหมายกดขี่พลเมือง หยุดการต่อต้านด้วยการเอาเข้าคุกตะราง พลเมืองด้วยกันเองก็สำแดงพลังช่วยเหลือ สร้างความท้าทายต่อวิจารณญาณไปพร้อมๆ กับเปิดเปลือยรูปลักษณ์แท้จริงของสถาบันตาชั่ง

กองทุนราษฎรประสงค์ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อ 7 ม.ค.2564 แต่จุดเริ่มต้นของมันยาวนานกว่านั้น เริ่มตั้งแต่เป็นเพียงบัญชีของบุคคล 3 คน เปิดเพื่อระดมทุนเงินประกันตัวนักต่อสู้ที่ต่อต้านรัฐประหารในปี 2557 ตั้งต้นจากการประกันตัว ‘4 พลเมืองโต้กลับ’ นำโดยอานนท์ นำภา และพรรคพวก ก่อนที่ไอดาจะเปิดอีกบัญชีเพื่อช่วยประกันตัวผู้ต้องหา-จำเลยจำนวนมากใน ‘คดีคนอยากเลือกตั้ง’ จนท้ายที่สุดผนวกรวมทั้งสองส่วนเป็นกองทุนราษฎรประสงค์ ในยุคราษฎร

“ตอนนั้น (2557) เราตัดสินใจทำเพราะคิดว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้ เป็นส่วนหนึ่งของต่อต้านรัฐประหาร มีการจับกุมคนจำนวนมาก ต้องไปศาลทุกวัน ไม่มีระบบออนไลน์ หอบเงินทีละหลายแสนไปๆ มาๆ ช่วงนั้นยังไม่ซับซ้อนเพราะทั้งหมดคือดีลผ่านอานนท์ พอถึงตอนนี้มัน (กองทุน) established แล้ว สเกลมันใหญ่ขึ้นมาก สำหรับผู้บริจาคเขาก็คงยังคิดว่าเป็นการต่อสู้ แต่สิ่งที่เหลือสำหรับเรามันคือ งานธุรการ”

“เหมือนเราต้องกลายเป็นผู้พิทักษ์ขุมทรัพย์ของประชาชน และมันคือการจัดการล้วนๆ ซึ่งใหญ่เกินตัว เราไม่ได้อยากทำ แต่มันหนีไม่ได้”

“เคยคิดว่าอยากไปคุยกับกองทุนยุติธรรม เพื่อดูว่ามีอะไรที่สะสางหรือร่วมมือกันได้บ้าง เพราะอยากให้การประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐานจริงๆ ที่ประชาชนไม่ต้องดิ้นรนขนาดนี้ แต่เราก็ได้แต่คิด ไม่รู้จะเอาเวลา เอาแรงที่ไหนไปทำ และพอนึกภาพว่าต้องเดินเข้าไปดีลกับระบบราชการก้อนใหญ่ก็ท้อ คือต้องว่างและอายุยืนขนาดไหนถึงจะมีเวลาทำอะไรแบบนี้เพิ่มอีก”



ไอดา เป็นบรรณาธิการเจ้าของสำนักพิมพ์อ่าน ทำงานเกี่ยวข้องกับวรรณกรรม ชีวิตหลายปีที่ผ่านมาของเธออาจนับเป็นวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมชิ้นหนึ่ง และแน่นอนว่า วรรณกรรมยิ่งเยี่ยม ยิ่งต้องขมขื่น

เมื่อคน introvert ขั้นสุด ต้องมาติดต่อประสานงานคนทั่วสารทิศ จำเลย ญาติจำเลย ทนาย เจ้าหน้าที่ศาล ตำรวจ ฯลฯ ในจำนวนมหาศาล เฉพาะผู้ต้องหาหรือจำเลยที่กองทุนประกันตัวนั้นเกินพันคน เงินหมุนเวียนเข้าๆ ออกๆ ที่วางเป็นประกันไว้ที่ศาลต่างๆ น่าจะถึง 40 ล้าน เอกสารทุกอย่าง การตามเอกสารจากทุกส่วน การจัดเก็บเอกสารเข้าระบบ การโอนเงิน การตามเงินคืนเมื่อสิ้นกระบวนการ การประสานทนายและญาติ การชี้แจงยอดค่าใช้จ่ายละเอียดยิบกับผู้บริจาคบนเพจ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เกิดจากทีมงานซึ่งมีอยู่ 1 คน คือตัวเธอเอง

หากใครเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองตัวยง จะเห็นว่าบางช่วงนายประกันก็ถือไม้เท้า เดินกะย่องกะแย่งไปศาลบ่อยๆ เพราะขามักบาดเจ็บ อย่างไรก็ดี เธอน่าจะเป็นบรรณาธิการ/นักเขียนที่เดินทางไปยังศาลต่างๆ มากที่สุดของประเทศ

“อารมณ์ไหนคืออารมณ์หลัก เวลาไปศาล” บางคนถาม

“โกรธ ตอนนี้เริ่มรู้สึกว่า ศาลทหารดีกว่าศาลยุติธรรมแล้ว เพราะศาลทหารสันหลังหวะ เขาไม่ชอบธรรมแต่แรก พอมีแรงกดดันทางการเมืองเขาก็จะหน้าบางกว่า ตัวศาลก็เล็กกว่า เดินไปดูก็มองเห็นหมด เอกสารเสร็จจากโต๊ะนี้ไปโต๊ะนั้น ผู้พิพากษาเดินขึ้นลงชั้นสองก็เห็นอยู่ แต่ศาลยุติธรรมคือคาฟคา”




“อะไรนะ คาฟคา นักเขียนอะนะ” บางคนถามให้แน่ใจ

“ใช่ เคยอ่านวรรณกรรมของคาฟคาไหม ‘The Trial’ เขาเขียนถึงโลกของกระบวนการยุติธรรมที่ absurd (ไร้สาระ) ใหญ่โต เลือดเย็น ไร้ใบหน้า นี่แหละคือศาลพลเรือน สำหรับเรามันแย่ยิ่งกว่าศาลทหารอีก เพราะศาลทหารมันแย่แบบ ยังไงล่ะ แบบเหมือนเราเจอทหาร ความเลวร้ายแบบทหารมันยังเข้าใจได้ แต่ศาลพลเรือนคือเลือดเย็น ไร้ใบหน้า แอบตัวเองหลังหลักกฎหมาย หลักความชอบธรรมของตุลาการ แต่จริงๆ แล้วไม่เคยตอบ ไม่มี accountability (ความรับผิดชอบ) ต่ออะไรทั้งสิ้น ไม่รู้มันคืออะไร”

“เป็นความรู้สึกประสาทแดก จับต้องไม่ได้ เราไม่มีสิทธิเข้าถึง เราตอบไม่ได้ว่าทำไมไม่ให้ประกัน หรือถ้าให้เด็กประกันในคดี 112 ก็ตั้งเงื่อนไขว่า ห้ามกระทำการที่เป็นการเสื่อมเสีย ดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันศาล...ประโยคหลังมาได้ยังไง ศาลเกี่ยวอะไร ช่วงหลังเป็นเงื่อนไขแบบนี้ยกชุดเลย”

“วันที่ประกันใบปอกับบุ้ง (6 ก.ค.2565) รอตั้งแต่แปดโมงครึ่งจนสี่โมงครึ่งศาลไม่สั่ง แล้วถูกเรียกมาฟังคำสั่งบ่ายสามของวันรุ่งขึ้นว่าไม่ให้ประกัน เราเซ็นกระดาษเกือบขาด ให้ศาลเห็น มันโมโหมาก ประเทศไม่ต้องก้าวหน้าไปไหน มันสิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมาก เวลาของศาลคืออะไรเราไม่รู้ แต่เวลาของเรามีค่ามากๆ กูหมดเวลาไปกับอะไร เสียเวลากับการต่อสู้ที่ไม่จำเป็นแต่แรก นี่ยังไม่ต้องพูดเรื่องการต่อสู้ในเชิงเนื้อหาอะไรเลย คุณทำให้ประเทศติดหล่มความขัดแย้งกับแค่เรื่องพื้นฐานอย่างเรื่องประกันตัว เถียงกันสู้กันมาเป็นปีๆ”

“นอกจากอารมณ์โกรธ มีน้ำตาบ้างไหม” บางคนถาม

“บ่อยไป”

จากอารมณ์เกรี้ยวกราด ดูเหมือนคำถามนี้จะสั่นสะเทือนมากกว่าจนทำให้เธอพูดติดๆ ขัดๆ อยู่ในลำคอ ไอดาเล่าว่า ไม่นานมานี้ก็น้ำตาตก เพราะหยิบโน้ตบุ๊กขึ้นมาทำงานระหว่างรอคำสั่งประกันตัว แล้วก็ไพล่นึกถึง ‘คุณวัฒน์’ หรือ วัฒน์ วรรลยางกูร นักเขียนคนสำคัญที่กลายเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง สำนักพิมพ์อ่านได้รับเกียรติในการพิมพ์นิยายขนาดยาว ‘ต้องเนรเทศ’ บันทึกชีวิตผู้ลี้ภัยอันเป็นนิยายเล่มสุดท้ายของเขา มันวางขายหลังจากจากวัฒน์เสียชีวิตในต่างแดนไม่นานนัก

“มันอดไม่ได้ที่จะถามตัวเองว่า ถ้ากูไม่เสียเวลาไปกับการมาศาล ยื่นประกัน กูจะทำ ‘ต้องเนรเทศ’ เสร็จก่อนเขาตายไหม แม้คุณวัฒน์จะพูดตลอดว่า ไม่รีบ ไม่เป็นไรเลย แต่ความรู้สึกเสียใจนี้ คำถามนี้มันแว๊บขึ้นมาตลอด” น้ำเสียงที่เล่านั้นสั่นเครือ

เธอยังเล่าถึงการสูญเสีย สมบัติ พลายน้อย หรือ ส.พลายน้อย นักเขียนชื่อดังที่เธอรู้จัก และสัญญากับเขาว่าจะไปเยี่ยม แต่ก็ยุ่งจนไม่ได้ไป และไม่มีโอกาสไปอีกแล้ว

“คนแก่เขาจำ และเขารอ เราเคารพและสู้เพื่อหลักการใหญ่ แต่คนที่แคร์เราโดยส่วนตัวถูกทิ้ง ไม่มีใครรอเราไง เขาตายไง” น้ำเสียงสั่นเครือมืดดำทำเอาคู่สนทนานิ่งเงียบ

“เพื่อนที่เรารักมากอีกคนกำลังป่วย หมอบอกว่านับถอยหลังเป็นหลักเดือน แต่เราก็ยังต้องวุ่นวายกับรายละเอียดต่างๆ ที่ไม่รู้จักหมดจักสิ้นพวกนี้ เราวุ่นวายเพื่อหลักการใหญ่โดยทอดทิ้งคนรอบตัว แล้วไอ้หลักการใหญ่มันก็แค่เรื่องให้ได้ประกัน ทำไมต้องสละทุกอย่างกับเรื่องพื้นฐานที่สุดแบบนี้ นี่คือความเกลียดของชั้นที่มีต่อศาล”

“โลกของนักกฎหมายไม่ใช่โลกของชั้น หลักการเห่ยๆ ว่า ‘ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพากษา’ ทำไมต้องให้แลกให้พิสูจน์ขนาดนี้ ทำไมกูต้องบ้ามาเปิดมูลนิธิ ต้องนั่งคิดว่าทำยังไงจะหาเงินให้มูลนิธิเพื่อจ่ายเงินให้คนทำงาน ทำไมต้องดิ้นรนขนาดนี้ ที่นี่ไม่มีรายได้ ไม่ใช่การลงทุน ไม่ใช่อาชีพ มันเป็นสิ่งแปลกปลอมตั้งแต่แรก เป็นสิ่งแปลกปลอมที่ถูกทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องแบก ต้องหาเลี้ยงมันต่อไป เอาจริงๆ นะความฝันคืออยากประกาศยกให้กระจกเงา” ไอดาเล่าอย่างอัดอั้น



กระนั้นก็ตาม มูลนิธิที่พยายามเปิดขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการกองทุนประกันตัวก็มีความฝันยิ่งใหญ่แอบซ่อนอยู่ วัตถุประสงค์ของมูลนิธิสิทธิอิสรากว้างขวางไปถึงการหวังจะเป็น ‘พื้นที่’ เก็บรวบรวมการต่อสู้ของประชาชนทุกยุคทุกเรื่อง - ไม่ว่าปัญหาโครงสร้างการเมือง แรงงาน สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม ทุกรูปแบบ - ตั้งแต่วัตถุสิ่งของ เรื่องเล่าต่างๆ งานศิลปะ ฯลฯ ผ่านความร่วมมือกับ 3 องค์กร คือ พิพิธภัณฑ์สามัญชน, Sanamratsadon.org หรือสนามราษฎร เว็บไซต์ที่วางตัวเองเป็นคลังรวบรวมวัตถุดิบในระดับความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของราษฎรในสนามการต่อสู้ แล้วนำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ, Fairly Tell ซึ่งจะร่วมมือในแง่การให้อดีตผู้ต้องขังได้เขียนเรื่องราวระหว่างการถูกจำขังออกมาด้วยเสียงของตัวเอง ไม่เฉพาะผู้ต้องขังทางการเมือง แต่ทุกคนที่ถูกจำกัดอิสรภาพอยู่ในระบบเรือนจำมาตรฐานไทยๆ ให้การเขียนเป็นทั้งการบันทึกและเยียวยาพวกเขา

ปัจจุบันมูลนิธิสิทธิอิสรามีเจ้าหน้าที่ในการประสานงานทุกสิ่งอย่างอยู่ 1 คน มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชี 1 คน และมีอาสาสมัครนายประกันที่ไอดายังคงเกรงใจและพยายามหาเงินมาเป็นค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ เธอเปิดรับบริจาคเงินเข้ามูลนิธิ แต่ก็นั่นแหละ โลกใบนี้มักมองไม่เห็น ‘เบื้องหลัง’ และ ‘งานจัดการ’ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนให้ค่านัก

หน้าจอของไอดาเต็มไปด้วยโฟลเดอร์เอกสารต่างๆ เธอพยายามอัพเดทมันตลอดและจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ แต่มีโฟลเดอร์หนึ่งที่คงไม่ได้เปิดมาชำระสะสาง ‘ยังไม่ได้จ่าย’ นั่นคือค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยเฉพาะค่าเดินทางเกี่ยวกับงานประกันที่เธอใช้เงินส่วนตัวมาหลายปี โดยไม่คิดจะเบิกกับกองทุนที่ประชาชนบริจาค ครั้นจะมาเบิกกับมูลนิธิก็ไม่ได้ เพราะมันยังไม่อาจเลี้ยงแม้กระทั่งตัวมันเองได้

น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ถ้าเป็นนิยายของคาฟคา เขาจะจบเรื่องราวนี้ด้วยประโยคแบบไหนกัน