The MATTER
12h
BRIEF: บช.น.ถูกสั่งให้เปิดตัวเลข 'แก๊สน้ำตา-กระสุนยาง' ที่ใช้คุมม็อบ ตั้งแต่ปี 2563 แก่สื่อมวลชน
.
ข่าวนี้ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐที่ซื้อโดยเงินภาษีประชาชน และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐว่าทำเกินกว่าเหตุหรือไม่
.
อย่างที่รู้กันว่า ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน มีการชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง ซึ่ง ‘เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ’ เป็นสิ่งที่ถูกรับรองทั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ม.44 กติการะหว่างประเทศที่ไทยไปลงนาม รวมถึงอยู่ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ใช้มาหลายสิบปี
.
แต่การใช้กำลังเข้าควบคุมการชุมนุมใน กทม. ของตำรวจไทย โดยเฉพาะจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) หลายครั้งหลายคนก็ถูกวิจารณ์ว่า เกินกว่าเหตุไปหรือไม่
.
อย่างเรื่องการใช้ ‘กระสุนยาง’ ที่ปรากฎทั้งภาพถ่ายและคลิปวีดิโอหลายครั้งว่า มีผู้ไม่เกี่ยวข้องถูกยิงได้รับบาดเจ็บ กระทั่งสื่อมวลชนเองก็ตาม ทั้งๆ ที่ในคู่มือของตำรวจเองระบุว่า “..การยิงกระสุนยาง ให้ยิงต่อเป้าหมายที่กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตบุคคลอื่น รวมทั้งต้องกำหนดเป้าหมายโดยชัดเจน ไม่ยิงโดยไม่แยกแยะหรือไม่เลือกเป้าหมาย ไม่ใช้การยิงอัตโนมัติจะต้องเล็งยิงให้กระสุนยางกระทบ #ส่วนล่างของร่างกาย ของผู้ที่เป็นเป้าหมาย..” ซึ่งส่วนทางกับตำรวจยศสูงบางคนก็อ้างว่า ให้ยิง ‘ส่วนหนา’ ของร่างกายได้
.
คำถามคือ เราจะเชื่อคู่มือที่เป็นเอกสาร หรือเชื่อคำพูดของคนบางคนดี?
.
ผู้สื่อข่าว The MATTER สนใจว่า นับแต่ที่ตำรวจเริ่มใช้กำลังและเครื่องมือ โดยเฉพาะกระสุนยางและแก๊สน้ำตา เข้าคุมม็อบ ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีการใช้กำลังพล กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา ไปมากน้อยเพียงใด โดยให้แยกเป็นรายเหตุการณ์ จึงใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ม.41(1) และ ม.59 รวมถึง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ยื่นขอข้อมูลดังกล่าว ครั้งแรกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติก่อน (สตช.) แต่ทาง สตช.บอกว่า ไม่เกี่ยวข้อง ต้องไปยื่นขอกับทาง บช.น. จึงยื่นขอกับทาง บช.น.อีกที
.
ทาง บช.น. ปฏิเสธจะเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว อ้างว่าจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ เราจึงยื่นอุทธรณ์ไปตามระบบ
.
ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 มีข่าวดี เมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะที่ 3 มีคำวินิจฉัยสั่งให้ บช.น. ต้องเปิดเผยข้อมูลตัวเลขกำลังพล จำนวนกระสุนยางและแก๊สน้ำตา ที่ใช้คุมม็อบ ตั้งแต่ปี 2563 แก่ผู้ยื่นขอข้อมูล โดยระบุว่า “การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ไม่ทำให้การบังใช้กฎหมายเสื่อมประสิทธิภาพ ..รวมถึงจะเป็นการแสดงถึงความโปร่งใสและตำรวจสอบได้ในการปฏิบัติหน้าที่”
.
อย่างไรก็ตาม การเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว ทาง กวฉ.ให้เปิดเผยเป็น ‘ยอดรวม’ ทั้งตัวเลขกำลังพล และจำนวนกระสุนยางกับแก๊สน้ำตาที่เบิกมา ใช้ไป และส่งคืน โดยไม่มีการแยกรายเหตุการณ์
.
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ม.37 วรรคสอง คำวินิจฉัยของ กวฉ. “ให้เป็นที่สุด” หากผู้เกี่ยวข้องไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ก็อาจมีบทลงโทษทางวินัยได้
.
เหตุผลที่เราต้องขอข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการคุมม็อบของตำรวจ ก็เนื่องมาจากทรัพยากรต่างๆ ที่ใช้ไป มาจากเงินภาษีของประชาชนทุกคน ไม่รวมถึงว่าคาดหวังให้การทำงานของตำรวจมีมาตรฐาน จำเป็น และได้สัดส่วน ไม่ว่าจะกับการชุมนุมในประเด็นใด เพราะอย่างที่ว่าไว้ตอนต้น ‘เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ’ เป็นสิ่งที่ถูกรับรองทั้งกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ
.
ทั้งนี้ เราจะรอหนังสือคำวินิจฉัยของ กวฉ.อย่างเป็นทางการ ก่อนจะทำเรื่องยื่นขอข้อมูลจาก บช.น.ต่อไป
.
สำหรับคดีฟ้องเรียกค่าเสียหายจาก สตช. ต่อศาลแพ่ง กรณียิงกระสุนยางใส่สื่อมวลชนจนได้รับบาดเจ็บ จะมีการสืบพยานช่วงหลายเดือน ก.ค. 2565 มีความคืบหน้าอย่างไร The MATTER จะมารายงานให้ทราบต่อไป
.
.
อ้างอิงข้อมูลบางส่วนจาก
https://www.facebook.com/photo?fbid=388919769933244&set=a.311479607677261 (คำวินิจฉัยของ กวฉ. ที่สั่งให้ บช.น.เปิดข้อมูลเรื่องแก๊สน้ำตากับกระสุนยาง)
https://peaceresourcecollaborative.org/.../crowdcontrol...# (คู่มือการทำงานของตำรวจ ในการคุมม็อบ)
#Brief #TheMATTER