คำอภิปรายและคำตอบประท้วง รวมทั้งย้อนเกล็ดพวกสมุนสืบทอดอำนาจ นั่นเอาไปใช้แจกจ่ายความรับรู้ ของประชากรส่วนที่ไม่ได้ฟัง ชม หรือติดตามการอภิปราย ไปจนกว่าจะมีเลือกตั้งครั้งใหม่ได้อย่างดี ปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในตัวแทนผู้เสนอจึงชี้ชวน
“ส.ส. ที่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะเห็นด้วยเพียงบางส่วน นำข้อเสนอต่าง ๆ ไปออกแบบเป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อที่ประชาชนที่สนับสนุนแนวคิดเหล่านี้จะได้เลือกให้กลับมาเป็น ส.ส.อีก...อย่าเพิ่งสิ้นหวัง”
นอกจากคนทั่วไปจะได้ซึมซับว่าทำไมต้องเปลี่ยนไป ‘สภาเดี่ยว’ ปรับปรุงศาลรัฐธรรมนูญให้สมกับได้ฉายา ‘ตุลาการ’ และให้ผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ตรวจสอบองค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ อย่างเต็มที่ แล้วได้เห็นจริง รู้แจ้งว่า สว.ตู่ตั้งนั้นอัปลักษณ์เพียงใด
เสรี สุวรรณภานนท์ (ที่มีคนใช้สรรพนามหน้าชื่อว่า ส.วะ) ก็ไม่ได้สูงไว (ตรงข้าม ‘ต่ำช้า’) ไปกว่า สว.สถุล เกียรติศักดิ์ รัตนวราหะ เท่าใดนัก คำอภิปรายว่า “อายุเป็นเพียงตัวเลขนะครับ โลงศพเขาไม่ได้ใส่คนแก่ แต่โลงศพเขาเอาไว้ใส่คนตาย
แล้วคนตายนะครับบางทีอายุน้อยก็ตายได้” มันสื่ออะไรที่เกี่ยวกับการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้ยึดโยงกับการยอมรับ ให้เกียรติ และเคารพสิทธิการคงอยู่ ‘หนึ่งคนหนึ่งเสียง’ ของประชาชน บ้างล่ะ กับ ส.วะอีกคน สมชาย แสวงการ ทำเป็นซื่อบื้อตั้งคำถาม
“ท่านมีอคติ หรือมีเหตุโกรธเคืองอย่างไร กับศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ” จึงได้เสนอให้สภาผู้แทนฯ ตั้งกรรมการคณะต่างๆ ขึ้นไว้ตรวจสอบความประพฤติคนที่เจ้าของคอกส่งเข้าไปดำรงตำแหน่งเหล่านี้ ทำให้ ยิ่งชีพ (เป๋า) @yingcheep ต้องชี้แจงนอกสภา
เอากร๊าฟฟิคของ ไอลอว์ ซึ่งระบุที่มาที่ไปขององค์กรอิสระตั้งแต่ปี ๕๗ ถึง ๖๗ มาให้ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า คสช.ตั้ง สนช.และ สว. ให้ไปตั้งองค์กรอิสระ ตามวลีที่แสดงความหมายแจ่มแจ้ง ว่าที่แท้ก็คือ ‘การสืบทอดอำนาจเผด็จการรัฐประหาร’ นั่นเอง
แล้วยัง พ.ต.อ.ยุทธกร วงเวียน พวกตู่ตั้งเช่นกัน อภิปรายแสดงความห่วงใยมนุษย์ราชการ ๑-๒ พันคน ว่า “หากยุบวุฒิสภาแล้วจะให้ข้าราชการสำนักเลขาวุฒิสภาอีก ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ชีวิตไปทำหน้าที่อะไร” ไฉน สว.เหล่านี้ชอบแสดงความตื้นเขินกันเสียจริง
เขาอ้างตนแสดงความห่วงใยพนักงานพันกว่าคน แต่ไม่คำนึงถึงประชาชนที่ต้องตกงาน หากินฝืดเคือง และสูญเสียผู้ร่วมชีวิตไปกับโรคระบาดร้าย เพราะความโอหังเก่งกาจแต่กับแย่งชิงอำนาจ แต่ไร้น้ำยาทางการบริหารสร้างเสริมให้ผู้คนอยู่ดีมีสุขได้
บางคนอาจแปลกใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลตัวเอ้ที่เคยหาเสียงว่า ได้เข้าไปเป็นรัฐบาลแล้วจะทำการแก้รัฐธรรมนูญ เช่นพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ พากันโหวตไม่รับหลักการ ‘ตามธง’ ทั้งหมด โดย ภท.ไม่มี ส.ส.แม้แต่คนเดียวลุกขึ้นอภิปราย
ปชป.นั่นหนักยิ่งกว่า ยืนยันนั่งยันและนอนตะแคงยันหลายต่อหลายครั้งว่าจะขอแก้ รธน. แม้จนที่สุดเหลือแค่เรื่องระบบเลือกตั้ง ก็พากันร้องตามเพลงสรรเสริญระบอบสืบทอด คสช.พร้อมหน้า มิใยที่อดีต ส.ส.อย่าง เทพไท เสนพงศ์ จะพยายามท้วงติง
เขาเขียนจดหมายเปิดผนึก “ถึงเพื่อน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์” ว่า “ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน มีความก้าวหน้าและเป็นประชาธิปไตยมากกว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบัน” ถ้ารับหลักการไปในวาระนี้จะ “ไม่ขัดจุดยืนของพรรค”
เทพไทยังย้ำด้วยว่า แม้จะรู้ดีว่าคงไม่ผ่านด่านเสียง สว.๑ ใน ๓ จำนวน ๘๔ คนไปได้ แต่การโหวตรับร่างฉบับประชาชนจะ “มีแต่ได้กับได้...เพื่อเป็นการยืนยันในหลักการ ให้ความสำคัญกับการเมืองภาคประชาชน พรรคต้องแสดงจุดยืนเคียงข้างประชาชน”
แต่ก็ช่วยไม่ได้ที่พรรคนี้ได้เลือกเส้นทางการเป็นลิ่วล้อของพวกสืบอำนาจรัฐประหารต่อไปอีก กู่ไม่กลับแล้วละ
(https://www.facebook.com/theptai.theptai/posts/586782602401672, https://www.bbc.com/thai/thailand-59301928N8c และ https://www.facebook.com/TommyPigeonfreedom/posts/111887801312035)