วันเสาร์, พฤศจิกายน 06, 2564

รายชื่อร่วมเสนอแก้ ม.๑๑๒ วิ่งไม่หยุดทุกวินาฑี ขณะนี้เกิน ๑๑๒,๐๐๐ แล้ว

จะว่าเป็นเพราะ สมีอิสระอ้างอย่างพิรุธว่ามี ๒ แสนชื่อร่วมต้านข้อเสนอแก้ไข ม.๑๑๒ ผู้คนก็เลยแห่กันไปเข้าชื่อสนับสนุน แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายหมิ่นกษัตริย์บนแอ็พพลิเกชั่นของคณะก้าวหน้า กว่าแสนรายชื่อภายใน ๒๔ ชั่วโมง

ขณะเขียนนี่เวลาบ่ายสองโมงครึ่ง จำนวนยังวิ่งไม่หยุดทุกวินาฑี เช็คตัวเลขเมื่อกี้ ๑๑๒,๓๗๔ รายชื่อ iLawClub @iLawclub ถึงได้บอก “เป็นปรากฏการณ์การเข้าชื่อของประชาชนที่ได้จำนวนรวดเร็วที่สุด นับตั้งแต่การเข้าชื่อเสนอกฎหมายสามารถทำได้โดยการส่งเอกสารผ่านระบบออนไลน์”

พรรณิการ์ วานิช แห่งคณะก้าวหน้ากล่าวในคลิปการรณรงค์ ลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา ๑๑๒ ผ่านระบบออนไลน์ว่า “ช่วยกันแสดงพลังให้ได้มากที่สุด เพื่อสร้างฉันทามติในสังคมไทย ทำให้ผู้ที่ไม่ต้องการยกเลิก ๑๑๒ กลายเป็นเสียงส่วนน้อยให้ได้”

สำหรับรายชื่อของ สุวิทย์ ทองประเสริฐ พิรุธอย่างไร pH~  (rest mode) @topazine ว่า “นี่ถามสลิ่มก็ยังไม่เห็นมีใครได้ไปลงชื่อเลย ไม่รู้ว่าเขาไปรวบรวมชื่อกันตอนไหน กปปส.แสนคนนั้นอยู่ไหน สามกีบที่ลงชื่อยกเลิก ๑๑๒ กันหลายคนก็ กปปส.เก่า คิดว่า กปปส.ยังเหลืออยู่ถึงแสนเหรอ”

อีกรายชื่อบัญชี เป็นสลิ่มแม่งโคตรลำบากร์ร์ร์ @NU_Jay007’ พลเมืองทวิตภพรายนี้บอก “มันต้องลายมือชื่อพร้อมสำเนาบัตร ปชช. ไม่ใช่ลงในเว็บกากๆ แบบเอาชื่อผีลงหรอกครับ” ไม่ไกลนักจากโพล มสธ.เชียร์ อู๊ดด้า หัวหน้า ปชป.เป็นนายกฯ

(โพล มสธ.พิรุธเพราะ หนึ่ง ศ.ดร.ธีรภัทร เสรีรังสรรค์ โพสต์ประกาศลาออกจากการเป็นที่ปรึกษา “เพื่อรักษาภาพลักษณ์ขององค์กรที่เคยอยู่มานานถึง ๓๖ ปี...และจุดยืนของความสุจริตและความเที่ยงตรงทรงวิชาการที่ยึดมั่นมาโดยตลอด”

อีกข้อ ข่าวสด@KhaosodOnline แจ้งว่า “ตะลึง มสธ.โพล ระบุนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หน.ปชป.ชนะขาด น้อยสุดคือพิณทองทา ชินวัตร หรือเอม ทั้งที่คนที่เพิ่งเปิดตัวร่วมกับพรรคเพื่อไทย คือแพทองธาร หรืออุ๊งอิ๊ง” มันพิลึกจนไม่น่าเชื่อถือ)

ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ ในไทยนี่เป็นที่ไม่น่าไว้วางใจขององค์กรนานาชาติ และรัฐบาลประเทศอารยะตะวันตกมาแล้วหลายครั้ง ปีนี้ก็ยังกังขากันอยู่ วันที่ ๑๐ พฤศจิกานี้ ตัวแทนประเทศเบลเยี่ยมจะตั้งคำถามในที่ประชุมมนตรีสิทธิมนุษยชน

ว่า “รัฐบาลไทยจะแก้ไข...กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา ๑๙ ของกติการะหว่างประเทศ...ตามที่เบลเยียมได้เคยแนะนำในกระบวนการ UPR (Universal Periodic Review ) ครั้งที่แล้วหรือไม่”

“ส่วนสหราชอาณาจักรมีคำถามหลายเรื่อง อาทิ ไทยจะทบทวนข้อบังคับที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก  และใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน จากการถูกข่มขู่ และคุกคามทุกรูปแบบหรือไม่”

กระบวนการซักถามและแนะนำนี้มีเป็นประจำทุกปี เพื่อป้องกันมิให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อพลเมืองในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศไทยกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ ถูกตั้งข้อสังเกตุว่า บังคับใช้เป็นเครื่องมือละเมิดสิทธิมนุษยชนมาช้านาน

ปีนี้ยิ่งเป็นที่กังวลห่วงใยของภาคีสมาชิกองค์กรโลกอย่างมาก เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศย้ำเมื่อ ๔ พ.ย. ว่า “เราไม่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา ๑๑๒ อย่างแน่นอน เราจะบริหารประเทศด้วยยึดหลัก ชาติ ศาสนาและพระมหากษัตริย์”

นั่นย่อมหมายความว่ารัฐบาลไทยจะไม่แยแสกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตราบเท่าที่อยู่ในกรอบข้ออ้าง ชาติศาสน์กษัตริย์ซึ่งไม่เพียงกฎหมายอาญา ม.๑๑๒ เท่านั้นที่เป็นปัญหา ยังมีกฎหมายอีกหลายอย่างที่ประเทศไทยยังล้าหลังในเรื่องสิทธิมนุษยชนสากล

เช่น กฎหมายคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชนและสื่อมวลชน จากการข่มขู่ คุกคาม กฎหมายส่งเสริมสิทธิเสมอภาคแก่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งการจดทะเบียนสมรสสำหรับบุคคลเพศสภาพเดียวกัน ที่ยังไม่ได้รับสิทธิเสรีภาพเท่าคู่สมรสชาย-หญิง

(https://www.bbc.com/thai/thailand-59174204?at_customD4E และ http://no112.org)