วันพุธ, พฤศจิกายน 10, 2564

ไทยตอบเบลเยี่ยมอย่างไรเรื่องแก้ไข ม.๑๑๒ กับคำวินิจฉัยศาล รธน.วันนี้ ชี้บ่ง “ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลไปไกลขนาดไหน” จมปลักหรือดิ่งเหว

สองคดีวันนี้ (๑๐ พ.ย.) ที่ต้องจับตาแน่วว่าความเป็น ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ในยุครัชกาลที่ ๑๐ นี้นั้น ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนสากลไปไกลขนาดไหน เพียงแค่จมปลักหรือว่ากำลังดิ่งลงสู่ก้นเหว ทั้งในเวทีนานาชาติตรวจสอบรัฐบาลไทย และพฤติกรรมศาลในประเทศ

ที่เจนีวา ไทยเป็น ๑ ใน ๑๓ ชาติที่อยู่ในกลไกถูกตรวจสอบจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (UPR) รอบที่ ๓ แม้นว่าสำนักนายกฯ แถลงไว้แล้วเมื่อสองวันก่อนว่าจะ “ยืนยันเจตนารมณ์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน” สรุปได้ ๘ ข้อ

พร้อมทั้งจะ “ตอบรับข้อเสนอแนะ” ต่างๆ ที่มีมาตั้งแต่การประชุมรอบ ๑ และรอบ ๒ รวม ๕ ข้อ ประกอบด้วย “เพิ่มมาตรการและการสนับสนุนการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน” และการออกกฎหมายต่อต้านการกลั่นแกล้งโดยรัฐ (Anti-SLAPP Law) เป็นอาทิ

แต่ในแถลงของรองโฆษกสำนักนายกฯ ไม่ได้พูดถึงกรณีที่ประเทศภาคีอย่าง เบลเยี่ยม ตั้งคำถามรอไว้แล้วว่า ประเทศไทยจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ หรือกฎหมายห้ามหมิ่นกษัตริย์ ตามที่เบลเยี่ยมได้แนะนำไว้เมื่อครั้งที่แล้วอย่างไร

จึงต้องจับตาว่าจะมีการเลี่ยงหรือทำไม่รู้ไม่ชี้โดยคณะตัวแทนไทยหรือไม่ แต่กระนั้นคำพูด (ที่ ยูเอ็น) อาจไม่บ่งบอกเจตนาเท่าการกระทำที่ศาลรัฐธรรมนูญ ในคำวินิจฉัยต่อคำปราศรัยของแกนนำคณะราษฎร ๖๓ (รุ้ง ไม้ค์ และอานนท์) เมื่อ ๑๐ สิงหา ๖๓

ว่า “เป็นการล้มล้างการปกครอง...อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ไหม ถ้าศาลบอกว่าเป็น ต่อไปจะไม่สามารถปราศรัยอะไรทำนองนั้นได้อีกเลย และใช้คำพิพากษาเป็นฐานในการดำเนินคดีผู้ต้องหาในลักษณะเดียวกันได้ แต่ก็พาตัวเองลงเหว

ดังคำปราศรัยของ อานนท์ นำภา เมื่อ ๑๙ กันยา ๖๓ “ถ้าท่านตัดสินว่าสิ่งที่เราทำเป็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มันก็จะเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าท่านตัดสินว่าสิ่งที่เราทำมันเป็นการล้มล้าง มันก็จะเป็นอย่างนั้นเช่นกัน” อนาคตบ้านเมือง “เลือกเอา ปากกาอยู่ที่ท่าน”

หากแต่คำวินิจฉัยคดีตัวอย่างหรือนำร่องได้ออกมาแล้ว โดยศาลยุติธรรม (อาญา) ด้วยการไม่อนุญาตให้ประกัน และยกคำร้องของประกันตัว บรรดาผู้ต้องหารจากการชุมนุมเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงวิถีการปกครองและปฏิรูปสถาบันหลัก

ผู้ต้องหาเหล่านั้น ถูกปฏิเสธการขอประกันให้ปล่อยตัวชั่วคราวออกมาจากการควบคุมตัว ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินคดีนับจะสิบครั้งกันแล้ว บางคนถูกคุมขังมาแล้วนานกว่า ๙๐ วัน โดยเฉพาะในคดีของทนาย อานนท์ นำภา เมื่อวานนี้ศาลอาญามีมติไม่ให้ประกันตัวอีก

“ที่ประชุมผู้บริหารศาลอาญาพิจารณาแล้ว...ยังเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม คงให้ขังจำเลยไว้” ต่อไป ทนายอานนท์นั้นติดพันอยู่หลายคดีทั้งในข้อหาละเมิด ม.๑๑๒ ม.๑๑๖ และ พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน ล้วนจากการปราศรัยในการชุมนุม

นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายแก้ต่างในคดีของอานนท์ บันทึกความเห็นส่วนตัวต่อคำวินิจฉัยเมื่อ ๙ พ.ย.เอาไว้เป็นสาธารณะ ส่อให้เห็นว่าคำประกาศของรัฐบาลต่อที่ประชุมสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติวันนี้ ไม่ตรงต่อความประพฤติของศาลไทยอย่างไรบ้าง

ศาลกลับคำวินิจฉัยจากเมื่อวันที่ ๕ พ.ย.จากไม่ยกคำร้องมาเป็นยกคำร้อง อ้างว่า “จำเลยจะไปก่อเหตุร้าย” ทนายนรเศรษฐ์ถามว่า “เหตุร้ายอะไรถึงขั้นไม่อนุญาตให้ประกันตัว” ศาลไม่ได้อธิบาย ทั้งที่ ป.วิอาญา มาตรา ๑๐๘/๑ ว่า “ต้องแสดงเหตุผล”

อีกประเด็น คำสั่งศาลระบุว่า “ที่ประชุมผู้บริหารศาลพิจารณาแล้ว” แต่มีผู้พิพากษา มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ เพียงคนเดียวลงชื่อ ดังนั้นเกิดความลักลั่นในนิติธรรมของอำนาจออกคำสั่ง ในเมื่อเป็นของ ที่ประชุมแล้วผู้พิพากษาทุกคนควรต้องลงชื่อ

ทนายนรเศรษฐ์พาดพิงว่า “ในความเป็นจริงนั้นแนวคิดในการป้องกันเหตุอันตราย” ดังปรากฏในคำสั่งศาล “นำมาจากกฎหมาย Bail Reform Act of 1984 ของประเทศสหรัฐ ซึ่งกำหนดให้มีการคุมขังระหว่างพิจารณาเพื่อป้องกันอันตรายต่อชุมชน”

หลักกฎหมายสหรัฐเรื่องนี้ “ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า “Danger to the Community” แต่ได้กำหนดปัจจัย (Factors) หลายประการที่ศาลจะต้องพิจารณา ว่าจะให้ประกันหรือไม่...ปัจจัยที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ

การกระทำความผิดที่ถูกกล่าวหา (Offence) นั้น เป็นอาชญากรรมที่ใช้ความรุนแรง (crime of violence) อาชญากรรมการก่อการร้าย (crime of terrorism) การกระทำความผิดที่เด็กเป็นผู้เสียหาย (crime involving minor victim)

การกระทำความผิดเกี่ยวกับสารเคมีควบคุม (controlled substance) การใช้อาวุธ ระเบิดหรือการทำลายล้าง (firearm, explosive, or destructive device) หรือไม่” ทั้งหมดนี้ต้องเป็นการใช้กำลังทางกายภาพต่อบุคคลหรือทรัพย์สินทั้งสิ้น

“การจะมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ภาระการพิสูจน์ (Burden of proof) ต้องอยู่กับรัฐ ไม่ใช่อยู่กับผู้ต้องหาหรือจำเลย” อันมีมาตรฐานจะต้องพิสูจน์ได้เกินกว่า ๕๐% แล้วยังต้องพิสูจน์อีกว่าถ้าปล่อยแล้วจะกระทบต่อความปลอดภัยแค่ไหน

“ซึ่งมาตรฐานในส่วนนี้หมายความว่า รัฐต้องมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักถึง ๘๐% มาพิสูจน์” ว่าถ้าปล่อยตัวผู้ต้องหาแล้วจะเกิดอันตรายในกรณีอื่น นี่คือมาตรฐานจากต้นแบบที่ระบบกฎหมายไทยลอกเลียนเอามาใช้ แต่กลับบิดเบี้ยวให้เข้ากับธงของตัวเองเสียนี่

(https://www.facebook.com/ronsan.huadong/posts/4507986482627978, https://prachatai.com/journal/2021/11/95854 และ https://prachatai.com/journal/2021/11/95842)