Extra Session TDRI Annual Public Virtual Conference 2021
Streamed live on Nov 16, 2021
tdritv
ติดตามช่วงค่ำ Extra Session ได้ในเวลา 20.00
ช่วงสรุปการสัมมนา โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ และ ช่วงสนทนากับ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล
20.00 สรุปสัมมนา “ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่หลังโควิด-19” โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ
20.15 น. สนทนากับ ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา “การเมืองเรื่องจินตนาการใหม่ของสังคมไทย” ชวนสนทนาโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ
THE STANDARD
12h ·
UPDATE: ธงชัย วินิจจะกูล เตือนหายนะเบื้องหน้าเกิดจากขวาสุดโต่ง-ผู้มีอำนาจไม่รับฟังประชาชน ชี้อย่าปิดประตูการสนทนาความเห็นต่าง
.
เมื่อวานนี้ (16 พฤศจิกายน) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) จัดงานเสวนาวิชาการประจำปีในประเด็น ‘ความท้าทายและจินตนาการแห่งโลกใหม่: โมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศหลังโควิด-19’ โดยมีหัวข้อพิเศษคือ ‘การเมืองเรื่องจินตนาการใหม่ของสังคมไทย’ โดย ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน สหรัฐอเมริกา และดำเนินการสนทนาโดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI ซึ่งพูดคุยกันในหลายประเด็นเกี่ยวกับทิศทางการเมืองไทย โดยเฉพาะเหตุการณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง #ม็อบ10สิงหา
.
รัฐไทยคือรัฐโกหก และทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี
.
โดยธงชัยกล่าวว่า รัฐและราชการไม่มีประสิทธิภาพ และความสามารถทำให้แผนยุทธศาสตร์ 20 ปีตายและล้าสมัยไปทันทีตั้งที่แต่ถูกผลิตออกมาแล้ว เพราะไม่ได้บอกถึงอนาคตใดๆ เลย ดังนั้นรัฐจึงจะเป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาหลังจากนี้ ไม่ว่าเป็นปัญหาที่ไทยกำลังกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ, ปัญหาความเหลื่อมล้ำและวิกฤตเศรษฐกิจ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้รัฐยังจะเป็นอุปสรรคในความหมายว่าเป็นตัวก่อปัญหาเองด้วย
.
ไทยเองมีรัฐอำนาจนิยมมาเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐราชการ รัฐเผด็จการซึ่งใหญ่โตเทอะทะ ตนคิดว่าทิศทางที่ก้าวหน้ากว่าคือการเป็นรัฐที่เล็ก นั่นคือรัฐอย่าทำอะไรมาก ทั้งนี้ไทยมีบริบทหลักคือเป็นรัฐอำนาจนิยมมาอย่างยาวนาน รัฐที่มาจากการเลือกตั้งก็มักอยู่ใต้อำนาจของอำนาจนิยมนานาชนิด เราจึงคุ้นเคยกับการให้รัฐเข้ามาแทรกแซง ยุ่งกับชีวิตของผู้คนมากเกินไป รัฐไทยจึงต้องเล็กลงและอย่ายุ่งกับชีวิตคนมากนัก หัดทำตัวเป็นกรรมการให้มากขึ้น ไม่ใช่ทำตัวเป็นคุณพ่อรู้ดี
.
“ประเด็นแรกคือนิติศาสตร์ของไทยไม่ใช่ระบบ Rule of Law ไม่ใช่ระบบการปกครองของกฎหมายเป็นใหญ่ที่พยายามจำกัดอำนาจของรัฐที่มารุกล้ำสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่กลับเป็นนิติศาสตร์เพื่อรัฐ ป้องกันความมั่นคงของรัฐ”
.
ประเด็นต่อมา ในปีที่แล้วรัฐมีแนวโน้มหรือมีลักษณะคืบเข้าสู่การเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งตนกลัวมาก ปีที่แล้วยังไม่ได้คาดว่ามันจะเกิดขึ้นเร็วมากขนาดนี้ภายใน 1 ปี โดยเฉพาะหลังการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครอง #ม็อบ10สิงหา เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้อิงประวัติศาสตร์มาก มีผลกระทบต่อการเมืองมาก เพราะเป็นคำตัดสินที่เปิดโอกาสอย่างไม่เป็นทางการว่าประเทศไทยเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์เรียบร้อยแล้ว
.
ธงชัยย้ำว่า อย่าลืมว่าข้อเท็จจริงที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ถูกยุบไป ทั้งที่รัฐธรรมนูญถูกยุบหลังรัฐประหาร แปลว่าศาลรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้ผูกติดอยู่กับรัฐธรรมนูญ เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญผูกติดอยู่กับรัฐธรรมนูญที่แท้จริงของสังคมไทย ขนาดรัฐธรรมนูญถูกล้มไปแล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ล้มตาม
.
นอกจากนี้ธงชัยยังชี้ว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครอง #ม็อบ10สิงหา ทำให้เกิดความสับสนต่อหลักปฏิบัติอย่างมาก ทางแก้คือศาลรัฐธรรมนูญต้องปฏิบัติ ตัดสินให้อยู่ในกรอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องประกาศตัวเสียเลยว่าประเทศไทยเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ฉะนั้นคำถามที่ว่าในทางหลักการแล้วรัฐไทยเป็นรัฐอะไรกันแน่ ตนคิดว่ารัฐไทยเป็นรัฐโกหก พูดอย่างทำอย่าง เป็นรัฐที่ประกาศว่าเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งหลายคนก็เห็นว่าแค่นี้ก็เป็นปัญหามากพอแล้วว่าเส้นแบ่งอยู่ตรงไหน กลายเป็นว่าปัจจุบันรัฐไทยกึ่งประกาศตัวว่าเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และละเมิดหลักประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยตัวเองไปเรียบร้อยแล้ว แต่กลับไม่กล้าประกาศจึงต้องอยู่อย่างโกหกต่อไป นี่จึงเป็นปัญหารากฐานที่นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ
.
ธงชัยชี้ว่า ศาลที่มีอำนาจตัดสินที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญทุกที่นั้นต้องมีลักษณะการเมือง แต่ที่สำคัญที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยพลาดคือไปขยายขอบข่ายอำนาจศาล (Jurisdiction) ให้กว้าง ครอบคลุมหลายประเด็นเกินไป ทั้งยังอนุญาตให้คนฟ้องร้องกันหลายเรื่องไร้สาระ ดังนั้น ในหลายๆ ประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญ อำนาจศาลต้องแคบและจำกัดมากๆ กระบวนการที่จะนำเรื่องขึ้นไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่ใช่เรื่องอะไรก็ได้ ต่อมา โดยทั่วไปแล้วศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับวุฒิสภาด้วย เพราะสภาเป็นผู้ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนเป็นผู้พิพากษาได้ รวมทั้งมีกลไกตรวจสอบ ถอดถอน และการตัดสินก็ต้องยืนอยู่บนหลักกฎหมาย ทั้งด้านที่เป็นการเมืองและด้านที่เป็นประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญไม่มีทางทำให้ทุกคนพอใจได้ แต่ขณะเดียวกันก็จะไม่ออกนอกทาง และเมื่อไรก็ตามที่เกิดการออกนอกทางไป อย่างมากก็จะเกิดวิกฤต
.
จินตนาการถึงการเมืองใหม่ในสังคมไทย
.
ธงชัยกล่าวว่า ความขัดแย้งทางการเมืองใหญ่ๆ แทบทุกครั้ง อาจจะกล่าวได้ว่าเกิดจากจินตนาการต่ออนาคตไม่เหมือนกัน แม้แต่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็คิดถึงอนาคตซึ่งอาจจะต่างออกไป ความขัดแย้งใหญ่ๆ เป็นความขัดแย้งที่ต่างคิดถึงอนาคตไม่เหมือนกัน ในปัจจุบันนี้หากสังเกตดูดีๆ จะพบว่าคณะราษฎร 2563 ความปรารถนาของพวกเขานั้นไม่ได้รุนแรง (Radical) เลย แต่รัฐกลับใช้ความรุนแรงเข้าปราบปราม จะพบว่าสิ่งที่คณะราษฎร 2563 ต้องการนั้นเป็นความปรารถนาเสรีนิยมประชาธิปไตยปกติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกถือว่าเป็นกลาง ทั้งคณะราษฎร 2563 ก็ยังปกป้องประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพื่อไม่ให้ประเทศกลายเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ถือว่าเป็นกลางที่ค่อนไปทางขวาแล้วด้วยซ้ำ จนกล่าวได้ว่านับจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 สิ้นสุดลงแล้ว ความปรารถนาแบบซ้ายก็ยุติลง ดังนั้นความปรารถนานับตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบันจึงเป็นความปรารถนาที่ไม่ Radical เลย ต้องถามว่าทำไมคนถึงคิดว่าคนเหล่านี้เป็น Radical คงเพราะสังคมไทยนั้นขยับไปทางขวามากๆ โดยเฉพาะรัฐและผู้มีอำนาจและชนชั้นนำไทยที่อยู่ทางขวาจนสุดโต่ง ตนคิดว่าอันตรายของเราคือพวกขวาสุดโต่ง ประเทศไทยปัจจุบันมีองค์ประกอบที่เป็นซ้ายสุดโต่งน้อยมาก
.
“บรรดาคนชั้นนำในรัฐ มีอำนาจและเป็นกำลังขับเคลื่อนหลักของรัฐในสังคมไทยปัจจุบันเป็นพวกขวาสุดโต่ง และสังคมไทยกำลังเผชิญอันตรายกับพวกขวาสุดโต่งพวกนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่อุปสรรคแต่เป็นอันตราย และผมเห็นว่าพลังฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นไม่ได้ไปไหน แต่เชื่อว่าอึดอัดกับสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ผมอยากเรียกร้องให้พวกเขาออกมาส่งเสียงด้วย เพราะฝั่งขวาสุดโต่งเขาไม่ฟังพวกที่อยู่กลางๆ เนื่องจากมองคนกลางๆ เป็นพวกซ้ายจัดหัวรุนแรง ทั้งที่ตัวเองต่างหากที่เป็นขวาสุดโต่ง แต่คนพวกนี้อาจจะยังฟังฝ่ายอนุรักษนิยมบ้าง จึงอยากเรียกร้องกำลัง พลัง หรือคนสำคัญทั้งหลายของฝ่ายอนุรักษนิยม เราต้องการให้เขาออกมาส่งเสียงว่าอันตรายมาจากการที่ไปทางขวามากจนเกินไป ผมอยากจะเชื่อว่าพวกเขาเองก็ไม่สบายใจกับการเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เพราะมันจะทำความเสียหายอย่างหนักมาสู่ฝ่ายอนุรักษนิยมเอง” ธงชัยกล่าว
.
นอกจากนี้ธงชัยยังระบุว่า ที่ผ่านมาคนเหล่านี้ไม่ค่อยส่งเสียงเพราะกลัวเสียผลประโยชน์ ไม่อยากทำให้ตัวเองเดือดร้อน เชื่อว่าหากระบบเศรษฐกิจไทยไม่ผูกโยงกับเส้นสาย ไม่ถูกกระทบจากอำนาจรัฐมากและมีอิสระมากกว่านี้ คนเหล่านี้ก็จะกล้าออกเสียงมากกว่านี้ ตนเชื่อว่าพวกเขาก็มีความเห็น และอยากฝากว่า สิ่งที่ทำอยู่นี้คือการอยู่เฉยๆ นั้นน่ากลัว และเชื่อว่าฝ่ายที่มีอำนาจเองก็ยังฟังคนเหล่านี้อยู่ จึงเชื่อว่าคนอนุรักษนิยมจึงควรส่งเสียงมาก อาจไม่เป็นสาธารณะแต่ก็ต้องส่งเสียงให้ผู้มีอำนาจรู้ว่าทำแบบนี้ต่อไปนั้นไม่ได้ อยากให้ทุกคนได้คิดจริงๆ ว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นอันตรายมากสำหรับอนุรักษนิยมทั้งหมด
.
“ยิ่งถ้าฟังการอภิปรายจาก ส.ว. ทั้งหลาย จะพบว่าความผิดพลาดใหญ่อันหนึ่งของฝ่ายรัฐต่อคณะราษฎร 2563 ซึ่งเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เป็นเรื่องที่ควรให้ถกเถียงกันได้ แต่กลับไปปิดทางการถกเถียงในสภา ผมขอย้ำอีกครั้งว่าทั้งในสภาและนอกสภา ในสภาก็ต้องรับเรื่องให้มีการอภิปรายกันและในทางปฏิบัติก็ต้องยอมให้มีการถกเถียงกัน ไม่ใช่ไปไล่ตามจับซึ่งถือว่าละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งในเชิงการเมืองยังเป็นการปิดประตูตายของการถกเถียงประเด็นนี้ นับว่าเป็นการอัตวินิบาตกรรมทางการเมืองทั้งหมดสำหรับฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งเกิดขึ้นจากพวกขวาจัดเท่านั้น” ธงชัยกล่าว พร้อมเสริมว่าคนเหล่านี้คือคนไม่มีจินตนาการ หรือมีจินตนาการที่ย้อนหลัง
.
ย้ำผู้มีอำนาจอย่าปิดประตูการถกเถียง
.
ธงชัยกล่าวว่า ปัจจุบันรัฐกำลังปิดประตูทีละบานๆ และเป็นความขวาสุดโต่งซึ่งแยกออกมาต่างหากจากอนุรักษนิยม เพราะอนุรักษนิยมนั้นจะไม่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่จะมีท่วงท่า วิธีคิดในการเปลี่ยนต่างไปจากกลุ่มเสรีนิยม จะเห็นได้จากการไม่ผลักสังคมให้ย้อนหลัง อนุรักษนิยมของไทยตั้งแต่หลัง 2475 เป็นต้นมามี Common Ground อย่างหนึ่งคือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ผ่านไปแล้ว ไม่มีใครพยายามกลับไปหาอีก และยอมรับประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลังจากนั้นก็มีการคัดง้างอำนาจระหว่างพลังของสมบูรณาญาสิทธิราชย์และพลังฝ่ายประชาธิปไตย จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 เกิดสภาวะประชาธิปไตยครึ่งใบ และเกิดระบอบประยุทธ์ขึ้น ช่วงเวลาต่างๆ นั้นมีระดับของการชักเย่อ ระดับของอำนาจฝ่ายผลักให้เป็นประชาธิปไตยกับฝ่ายถ่วงให้กลับไปมีอำนาจของประชาชนน้อยลง เกิดการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการเกิดขึ้น โดยยังมี Common Ground คือประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
“ระบอบปัจจุบันและสิ่งที่เกิดขึ้นคือระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในปัจจุบัน และปรากฏมาเป็นระบอบประยุทธ์ ปรากฏมาเป็นระบอบรัฐสภา เป็นศาลรัฐธรรมนูญอย่างที่เห็นกันอยู่ ผมคิดว่าเป็นการละเมิดหลักการประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ย้อนกลับไปเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผมเชื่อว่าการเมืองที่ฉลาดหน่อยไม่ว่าจะฝ่ายไหน ความเรียกร้องของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องฟัง อาจจะไม่เห็นด้วยแต่จะไม่ปฏิเสธ สำหรับการเมืองที่ออกไปทางอำนาจนิยม อนุรักษนิยมมากสักหน่อย อย่างเช่นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในช่วงที่ผ่านมาก่อนยุคประยุทธ์ ผมคิดว่าเป็นการเมืองแบบอนุรักษนิยมที่ผู้มีอำนาจไม่ค่อยจะฉลาดเท่าไร แต่อย่างน้อยก็ยังแคร์เรื่องการสูญเสียความชอบธรรมและยินดีประนีประนอม ดังนั้นพวกเขาจึงฟังเสียงประชาชน ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อไรที่พวกเขารู้สึกกำลังจะสูญเสียความชอบธรรม พวกเขาจะยินดีรับฟัง” ธงชัยกล่าว และระบุว่า แต่สำหรับการเมืองของฝ่ายขวาสุดโต่ง ตนคิดว่าการเสียความชอบธรรมไม่ทำให้คนเหล่านี้สะทกสะท้าน เพราะเขาไม่แคร์ พวกเขาต้องถูกทำให้จนมุม ต้องทำให้เขาเห็นถึงหายนะที่รอเขาอยู่เบื้องหน้าจึงจะยอมเจรจา โอกาสที่จะลดความรุนแรงในปัจจุบันต้องมีคนทำให้เขาเห็นว่าหายนะรอเขาอยู่ข้างหน้า
.
“ทุกวันนี้ ผมคิดว่ามีคนเตือนแล้วหลายคน พวกผมไม่ใช่ร่างจำแลง นักวิชาการจำนวนหนึ่งที่ก็อาจจะเห็นว่าไม่ใช่อนุรักษนิยม พวกเราไม่ใช่ร่างจำแลงของฝ่ายนักศึกษาหรือฝ่ายซ้ายฝ่ายรุนแรง เราต้องการการเปลี่ยนแปลงที่เสรีนิยมมากขึ้น แต่เส้นทางการไปสู่ทางนั้นเราต้องการสันติ ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบที่นิยามได้ด้วยการเลือกตั้ง การเลือกตั้งต่างหากเป็นรูปธรรมของระบอบที่ยอมให้มีการมาพูดคุยถกเถียงกัน เชื่อสิว่าคนสังคมทุกสังคมบนโลกนี้ โดยธรรมชาติแล้วออกจะอนุรักษนิยมหน่อยหนึ่ง เพราะคนเรามักไม่ยอมเปลี่ยนแปลงง่ายๆ การเปิดให้มีการพูดคุย ถกเถียงกัน จะทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”
.
ตนรู้ดีว่าคนอย่างตนพูดไปก็ไม่ฟัง แต่หน้าที่หนึ่งที่คิดว่าต้องทำให้ได้คือ ต้องการทิ้งความคิด ทิ้งจินตนาการใหม่ให้คนได้รับรู้ ได้คิดว่านี่คือทางเลือกสำหรับอนาคต แต่ไม่ได้คิดหวังว่าทุกคนจะต้องรับแล้วนำไปปฏิบัติในชั่วชีวิตของตน แม้ว่าตนจะรู้ว่าตนไม่ได้ซ้ายเท่าแต่ก่อนแล้ว แต่กระนั้นสังคมไทยก็ถือว่าเสรีนิยมเป็นซ้ายเกินไปแล้ว
.
“การทำให้ฝ่ายผู้มีอำนาจรับฟังได้คือการ Establishment ในภาคธุรกิจ ต้องทำให้ผู้มีอำนาจตระหนักในความเสียหายที่จะเกิดขึ้น โศกนาฏกรรมไม่ใช่สิ่งที่น่าปรารถนา ผมเชื่อจริงๆ ว่าที่ฝ่ายอนุรักษนิยมยังไม่ออกมาพูดในทุกวันนี้ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความเห็น จึงเชื่อว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการเป็นกึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และเห็นหายนะจากฝ่ายสุดโต่งที่ปิดประตูทุกทาง คุณมีสิทธิ์เชื่ออย่างที่คุณเชื่อ แต่อย่าปิดประตูการถกเถียง สำหรับฝ่ายนักศึกษา ผมเห็นว่าพวกเขามีสิทธิจะจินตนาการไม่ต่างจากพวกขวาจัด ทั้งที่จินตนาการพวกเขานั้นซ้ายน้อยกว่าตอนที่พวกผมอายุเท่าเขาด้วยซ้ำไป ตอนนี้เขาคือกลางขวา และเชื่อว่ามวลชนจำนวนมากที่สนับสนุนพวกเขาไม่ได้ใกล้เคียงสังคมนิยมอะไรเลย แต่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันดึงให้สังคมกลับมาเป็นอนุรักษนิยมแบบปกติ” ธงชัยกล่าว
.
นอกจากนี้ยังระบุถึงความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ว่า กลุ่มนักศึกษาก็ไม่ได้ใช้วิธีการที่รุนแรงแต่อย่างใด การเสียดสีไม่ได้ทำให้เกิดความรุนแรง หากจะอ้างว่าเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนจิตใจ ก็อยากถามว่าแล้วการกระทำของฝ่ายขวาทุกวันนี้ไม่กระทบกระเทือนจิตใจของเยาวชนหรือ การจับคนเข้าคุกนั้นรุนแรงกว่าการเสียดสีแน่นอน
.
โดยธงชัยย้ำว่า ต้องอนุญาตให้มีเวทีนอกสภาด้วย เส้นสำคัญที่สุดคือไม่มีการใช้กำลังหรือกฎหมายเพื่อเล่นงานกันอย่างไม่ยุติธรรม อย่าลืมว่าข้อเรียกร้องของนักศึกษากลุ่มนี้ต่ำลงเรื่อยๆ จนที่สุดแล้วมาปกป้องระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ขอแค่สิทธิประกันตัว เพราะถ้าเป็นสมัยตนก็เรียกร้องการปล่อยอย่างไม่มีเงื่อนไขด้วยซ้ำ แต่ศาลกลับให้ไม่ได้
.
“ดังนั้นทางออกคือเปิดช่องทางให้ทะเลาะกันอย่างสันติ ไม่ใช่แค่การพูดคุย ทะเลาะกันก็ไม่ผิด แล้วปล่อยให้ตลาดความคิดทางการเมืองเกิดปฏิกิริยาต่อเขา แล้วผู้คนจะเรียนรู้เอง” ธงชัยกล่าวปิดท้าย
.
อ้างอิง:
Extra Session TDRI Annual Public Virtual Conference 2021 https://youtu.be/jXCel76CnLs
.
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co/
#TheStandardNews
—————————————————
ถึงเวลาปฏิรูปประเทศไทย! ฟอรัมแห่งปี THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 จัดเต็ม 3 วัน 20 วงเสวนา และกว่า 50 สปีกเกอร์
.
Early Bird (บัตร 3 วัน) ราคาลดพิเศษ 2,500 บาท เริ่มจำหน่ายแล้ววันนี้ - 20 พ.ย. 2564
สามารถใช้ในการรับชมงานย้อนหลังได้ 3 เดือน
.
ซื้อบัตรและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://www.thaiticketmajor.com/.../the-standard-economic...
.
#TheStandardEconomicForum2021 #ปฏิรูปประเทศไทย