วันอังคาร, พฤศจิกายน 16, 2564

"มือที่มองไม่เห็น"ในกระบวนการยุติธรรม?

https://www.facebook.com/saiseema.p/posts/3003032143345626
Saiseema Phutikarn
10h ·

<"มือที่มองไม่เห็น"ในกระบวนการยุติธรรม?>
เห็นข่าว "องคมนตรี" ตีกลับชื่อ "ปรเมศวร์" ที่ถูกเสนอให้เป็นผู้ตรวจการอัยการ ทั้งๆที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เรียบร้อยจนเสนอเรื่องให้โปรเกล้าฯ ตั้งแต่ปลายเดือนก่อนแล้วก็แปลกใจว่า ประเด็นใหญ่ขนาดนี้ ที่เกี่ยวพันกับความเป็นอิสระขององค์กรหลักในกระบวนการยุติธรรม แต่สื่อกลับเงียบจนแสบหู แค่นำเสนอเฉพาะเนื้อข่าวตามโพยที่ได้มาไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์แสดงความเห็นใดๆ วันนี้พึ่งจะกลับมาเป็นข่าวเล็กๆอีกครั้งเมื่อ ก.อ. มีคิวจะพิจารณาเรื่องที่โดนตีกลับนี้ว่าจะเอายังไง
กรณีนี้เหตุผลเรื่อง "ปรเมศวร์" จะมีปัญหาด้านจริยธรรมหรือไม่ คุณสมบัติเหมาะสมกับตำแหน่งหรือไม่ไม่ใช่ประเด็นที่ต้องพิจารณา เพราะถ้ากระบวนการเสนอชื่อได้ มติ ก.อ.ทำเรื่องโปรดเกล้าฯ ตามกฎหมายแล้ว "องคมนตรี" ไม่ได้มีอำนาจในการตีกลับ รายชื่อที่ผ่านการพิจารณาได้มติจาก ก.อ. และเสนอให้โปรดเกล้าแล้วเลย ถ้าไปดูตามตัวบทจริงๆ ใน รธน.60 พรบ.องค์กรอัยการฯ และ พรบ.ระเบียบข้าราชการอัยการ แม้แต่ "พระมหากษัตริย์" ก็ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะตีกลับรายชื่อที่ได้รับการเสนอขึ้นมาแล้ว ซึ่งจะต่างจาก พรบ.คณะสงฆ์ ที่แก้ไขใหม่ให้อำนาจ "พระราชดำริฯ" อยู่เหนือมติของมหาเถรฯได้ แต่กรณี "อัยการ" นี้กฎหมายไม่ได้เขียนให้อำนาจไว้อย่างนั้น เมื่อมีมติ ก.อ. มีการเสนอชื่อขึ้นมาแล้ว ขั้นตอนการ "โปรดเกล้าฯ" จึงเป็นไปโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นกระบวนการเชิงประเพณีเท่านั้น เพราะผู้รับผิดชอบคือคนเซ็นรับสนองฯ ซึ่งกรณีอัยการระดับรองคือ นายกฯ ส่วนอัยการสูงสุดคือ ประธานวุฒิฯ
"อัยการ"องค์กรในกระบวนการยุติธรรมองค์กรเดียวหรือเปล่าที่เจอเหตุการณ์แบบนี้ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่โดนเหมือนกัน? แล้วอย่างนี้จะมั่นใจได้อย่างไรว่า บุคลากรในกระบวนการยุติธรรมจะสามารถใช้ดุลยพินิจได้อย่างอิสระ ถ้าการใช้ดุลยพินิจนั้นเป็นไปในทางที่ขัดกับทัศนะของสถาบันองคมนตรี โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ การใช้ดุลยพินิจที่จะสั่งไม่ฟ้อง หรือ ยกฟ้อง คดี 112 หรือ 116 รวมถึง การให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีเหล่านี้ตามสิทธิ จะทำได้อย่างเป็นอิสระ โดยไม่ต้องคอยพวงว่าการแต่งตั้งครั้งหน้าอาจโดน"ตีกลับ"ได้อย่างไร?
อันที่จริงการใช้คำว่า "มือที่มองไม่เห็น" ก็ไม่ค่อยจะตรงกับความประเจิดประเจ้อที่เกิดขึ้นในยุคนี้นัก ในอดีตมีข่าวลือทำนองนี้อยู่เหมือนกัน แต่ส่วนใหญ่จะเกิดกับการเสนอชื่อผู้นำเหล่าทัพ ซึ่งถ้าเสนอไปไม่ถูกใจมักจะมี "มือที่มองไม่เห็น"(ซึ่งลือกันว่าเป็นองคมนตรีที่เสียชีวิตไปไม่นานนี้) ตีกลับหรือดองไว้ไม่ดำเนินการต่อ แต่สมัยนั้นยังทำกันแบบลับๆ แอบทำกันหลังฉาก ไม่ได้แทงหนังสือราชการโจ่งแจ้งแบบนี้ หลังจากการยึดอำนาจ 2549 ฝ่ายอำนาจนำคุมอำนาจในการแต่งตั้งเบ็ดเสร็จก็ไม่ค่อยมีข่าวลือแบบนั้นแล้ว จะมีที่เป็นข่าวดังก็คือความขัดแย้งระหว่างผู้มีอำนาจด้วยกันเองกรณีแต่งตั้ง ผบ.ตร. สมัยอภิสิทธิ์ ทำให้เกิดการประลองกำลังกันจนเป็นข่าวดังอยู่หลายเดือน แต่นั่นก็ทำในขั้นตอนคณะกรรมการเสนอชื่อ โดยมี "สัญญาณพิเศษ(จากเยอรมัน?)" ส่งไปให้กรรมการ ก.ตร. ห้ามเห็นชอบรายชื่อ ผบ.ตร. ที่อภิสิทธิ์เสนอ ทำให้ ชื่อ พล.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ไม่สามารถได้มติรับรองจากที่ประชุม ก.ตร. ไม่ว่าอภิสิทธิ์ที่ได้รับแรงหนุนจาก "มือที่มองไม่เห็น" และ "สัญญาณพิเศษกว่า" จะพยายามเสนอชื่อกี่ครั้งก็ตามโดน ก.ตร. ตีตกหมด (ใครสนใจเรื่องนี้ อ่านเพิ่มเติมได้จาก "ลับลวงพลาง" กับ คอลัมน์ของปอง อัญชลี ตามลิงค์ข้างล่าง)
-ส่อชวด! เปิดเหตุผล องคมนตรีตีกลับ ‘ปรเมศวร์’ ขึ้นผู้ตรวจรอบ 2
https://www.matichon.co.th/local/crime/news_3015233
-กรรมการอัยการ จ่อพิจารณาประเด็นร้อน ปมแต่งตั้ง หลังชื่อ ‘ปรเมศวร์’ ถูกตีกลับเรื่องจริยธรรม
https://www.matichon.co.th/local/crime/news_3042003
-มือที่มองไม่เห็นกับสัญญาณพิเศษ
https://books.google.co.th/books?id=MC9WDwAAQBAJ&pg=PT95...
-สัญญาณพิเศษกว่า
https://mgronline.com/daily/detail/9520000122081