แผนยุบพรรคก้าวไกล เพื่อตัดกำลังฝ่ายตรงข้ามของกลุ่มการเมืองสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ปรากฏแจ่มแจ้งในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง ไม่เพียง ณฐพร โตประยูร ชงให้ กกต.เอาไปโยง
หากทว่า ไพบูลย์ นิติตะวัน ก็กดดัน กกต.ให้เปิดการตรวจสอบพรรคการเมืองและนักการเมือง ที่สนับสนุนการเรียกร้องของคณะราษฎร ๖๓ ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายล้มล้างการปกครองด้วย เขาว่า “เป็นหน้าที่ของกกต.ต้องพิจารณา”
ซึ่ง กกต.ก็แสดงท่าคล้อยตาม ทั้งที่ในเรื่องความไม่ชอบมาพากลของตนเอง ไม่สามารถแสดงให้ใสสะอาดต่อสายตาสาธารณะได้ ดังกรณีถูกปูดด้วยภาพฟ้องว่า ในห้องทำงาน กกต.มีตู้เก็บไวน์อย่างดีตั้งไว้ใช้ ข้อแก้ตัวอย่างสวะๆ บอกว่าไว้แช่น้ำผลไม้
เมื่อไม่นานมานี้ กกต.ได้เรียก ส.ส. และกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ๑๓ คนไปให้ปากคำ แต่ทางพรรคได้ขอเลื่อนเวลาไปจนกว่าจะปิดประชุมสภาสมัยนี้ โดยที่ ๙ ประเด็นในคำร้องให้สอบเป็นเรื่องการไปเป็นนายประกัน หรือสนับสนุนการแก้ไข ม.๑๑๒
แน่ละ ทั้งณฐพรและไพบูลย์ต่างโยงยึดกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นฐานเสียงในสภาของกลุ่มสืบทอดอำนาจทหาร จึงควรแล้วที่เลขาธิการพรรคก้าวไกลรีบออกแถลง “การกระทำของเราไม่เข้าเหตุยุบพรรค...ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็นการกล่าวหาเท็จ
...และมีเจตนาที่จะทำลายล้างพวกเราในทางการเมือง” ชัยธวัช ตุลาธน กล่าวในการแถลงท่าทีต่อคำวินิจฉัยศาลฯ ตอนหนึ่ง “ไม่ว่าจะมีแรงเสียดทานอย่างไรก็ตาม...เราก็จะต่อสู้เรื่องนี้อย่างถึงที่สุด...เพื่อพิพักษ์ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของประชาชน”
และว่า “ในตลอดชีวิตของผมนะครับ ผมเคยเห็นการล้มล้างการปกครองแบบเดียวคือการรัฐประหาร ซึ่งปัจจุบันหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรี” มันสะท้อนความไม่ซื่อตรงต่อพันธะหน้าที่แห่งตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ
โดยเฉพาะเจาะจงที่ ความเที่ยงธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย คำวินิจฉัยของศาลขัดแย้งต่อสภาพการณ์ตามความเป็นจริงแห่งยุคสมัยอย่างสิ้นเชิง หนึ่งวันหลังคำวินิจฉัย ปรากฏมีการประท้วงอย่างแยบยลโดยเยาวชนสี่คน ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
มีการแปะกระดาษข้อความหน้าประตูร้าน ‘SIRIVANNAVARI’ ข้อความหนึ่งว่า “#ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง” อีกแผ่นเขียน “ยกเลิก112” ตำรวจเข้าล้อมจับขณะทั้งสี่อยู่ในรถแท็กซี่ นำตัวไป สน.ปทุมวันแล้วปรับ ๒ พันบาทข้อหา “สร้างความเดือดร้อนรำคาญ”
ปรากฏการณ์เช่นนั้นแม้จะเล็กน้อย ก็เป็นการปฏิเสธคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นรูปธรรมจะแจ้ง ว่าคนรุ่นนี้ไม่ยอมรับการยัดเยียดความศักดิ์สิทธิ์แห่งสถาบันอีกแล้ว ข่าวที่ตีพิมพ์บนนิตยสารบิลด์เมื่อวานนี้ เกี่ยวกับคณะกษัตริย์ไทยในเยอรมนี เป็นอีกตัวอย่าง
ผู้สื่อข่าวนิตยสารดังกล่าวที่เข้าไปถ่ายภาพ ร.๑๐ และราชินีขณะเสด็จพระราชดำเนินไปยังสระน้ำของโรงแรม อันเป็นพื้นที่สาธารณะ ถูกมหาดเล็กรักษาพระองค์เข้าไปคุกคาม บังคับให้ลบภาพที่ถ่ายไปนั้น นักข่าวบิลด์ต้องเรียกตำรวจไปคุ้มครองความปลอดภัย
ข่าวอย่างนั้นไม่เป็นมงคลต่อการแปรพระราชฐานขนาดมโหฬาร ข้าราชบริพารนับร้อย และสุนัขพูเดิ้ลอีก ๓๐ ตัว แสดงว่าในพื้นที่ซึ่งไม่สามารถบังคับได้ด้วยอำนาจตำรวจ ทหาร หรือศาลเช่นนั้น การพยายามถวายความเป็นส่วนพระองค์ก็เกิดครหาได้
แม้ในประเทศก็เถอะ การสร้างธรรมเนียมกึ่งบังคับให้ผู้เข้าชมภาพยนตร์ ต้องยืนนิ่งแสดงความเคารพต่อเพลงสรรเสริญพระบารมี ก่อนหนังฉาย ได้พิสูจน์แล้วว่า ‘ไม่ศักดิ์สิทธิ์’ จนนายกรัฐมนตรีไปพูดในโอกาสเปิดหลักสูตร วปอ.รุ่น ๖๔
“ฝากดูในเรื่องของการยืนในห้องชมภาพยนตร์ด้วย มีคนอยากยืนแต่ไม่กล้ายืน เพราะกลัวโดนบูลลี่ เราต้องกล้าหาญที่จะยืน” กลายเป็นเรื่องย้อนเกล็ดไปเสียฉิบ “เมื่อก่อนคนที่ไม่อยากยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯ ต้องกล้าและเสี่ยง”
Pravit Rojanaphruk@PravitR รำลึกเมื่อ ๙ ปีที่แล้ว Chotisak Onsoong ไม่ยอมยืนในโรงหนัง จนถูก “ล่าแม่มด ต้องลี้ภัยไปอินโดแรมปี มาวันนี้ประยุทธ์ต้องมาบอก นร.วปอ ให้กล้าๆยืนหน่อย!” อย่างไรก็ดีทุกวันนี้ โชติศักดิ์ อ่อนสูง ขายเสื้อ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากรรม” สำราญไปเช่นกันกับที่มีคนชี้ให้เห็นถึงโครงการฝึกอบรมของสถาบันอิศรา “หลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง” เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ รุ่น ๑ กลุ่ม ๓ ที่ว่า “ทำอย่างไรจึงจะทำให้ คนรุ่นใหม่ดูข่าวในพระราชสำนัก”
เหตุจากค่านิยม ‘ปิดโทรทัศน์’ ตอนสองทุ่ม แสดงถึงความ ‘ตาสว่าง’ จากภาพคณะยึดอำนาจเข้าเฝ้า ร.๙ และราชินียามดึกเวลาตีหนึ่ง เมื่อเกิดการรัฐประหาร ๒๕๔๙ เป็นต้นมา
(https://www.matichon.co.th/politics/news_3035787, https://waymagazine.org/move-forward-party-against-junta.../ และ https://www.bbc.com/thai/thailand-59243848TKA)