วันอังคาร, พฤศจิกายน 09, 2564

รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 รัฐประหารที่หยุดการสร้างประชาธิปไตย ทำลายคณะราษฎรลงได้อย่างสิ้นเชิง



Common School
16h ·

[ รัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 เมื่อกษัตริย์นิยมโต้กลับการปฏิวัติ 2475 ]
.
คณะราษฎรก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่การสถาปนาระบอบใหม่ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ที่กษัตริย์ไม่ได้ถือว่าเป็นเจ้าแผ่นดินผู้มีพระราชอำนาจเด็ดขาดอีกต่อไป หากแต่อำนาจสูงสุดนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายดังที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญแรกของไทยว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” และจำกัดอำนาจของกษัตริย์ที่มีล้นพ้นในระบอบเก่าให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญทั้งในทางเศรษฐกิจ และการเมือง
.
โครงการทางการเมืองของคณะราษฎรในการสร้างสังคมอุดมคติที่ที่ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันยังคงดำเนินต่อไป ภารกิจในการสร้างสังคมใหม่ และระบอบใหม่ยังไม่สิ้นสุด ขณะเดียวกันก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหม่ระหว่างคณะราษฎร กับเหล่ากษัตริย์นิยมด้วยเช่นกัน
.
การเมืองไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความผันผวนเป็นอย่างมากกอปรกับกลุ่มกษัตริย์นิยมที่เป็นอดีตนักโทษทางการเมืองผู้เป็นปฏิปักษ์ปฏิวัติ 2475 ได้รับการปลดปล่อย และกลับมามีบทบาทในทางการเมืองมากขึ้น ความเคลื่อนไหวของพวกเขาในการ “ปฏิปักษ์ปฏิวัติ” มีส่วนในการสร้างความปั่นป่วนทางการเมืองต่อคณะราษฎรอย่างมาก
.
เส้นทางชีวิตของระบอบใหม่จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่เราใฝ่ฝัน กลุ่มกษัตริย์นิยมเคลื่อนไหวโต้กลับการปฏิวัติในทางการเมือง และวัฒนธรรมอย่างสุดตัว เพื่อโค่นล้มคณะราษฎร ถวายคืนพระอำนาจให้กับกษัตริย์ดังเดิม และนำระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์กลับมาใช้อีกครั้ง ดังเช่นเหตุการณ์กบฏบวรเดชในปี 2476 ที่แม้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายกษัตริย์นิยม แต่พวกเขายังคงเคลื่อนไหวปฏิปักษ์ปฏิวัติอย่างไม่หยุดยั้ง
.
รัฐบาลคณะราษฎรต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองจากลุ่มกษัตริย์นิยมนับครั้งไม่ถ้วน กรณีการสวรรคตของในหลวงอานันท์ฯ ด้วย “พระแสงปืน” อย่างปริศนากลายเป็นโอกาสสำคัญของกลุ่มกษัตริย์นิยมในการคว่ำการปฏิวัติ โค่นอำนาจคณะราษฎรในเวลาต่อมา ชีวิตของระบอบใหม่ต้องมาสะดุดเมื่อนายทหารนอกราชการ และกลุ่มกษัตริย์นิยมได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (รัฐบาลที่ปรีดี พนมยงค์ให้การสนับสนุน) ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 เป็นการปิดฉากการเมืองยุคคณะราษฎรที่สร้างกำลังก่อร่างระบอบใหม่ให้เกิดขึ้นนับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง และถือเป็นการรัฐประหารครั้งแรกในแผ่นดินของรัชกาลที่ 9 และเป็นรัฐประหารครั้งแรกที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญอีกด้วย
.
การรัฐประหารครั้งนี้ได้กลายเป็นต้นแบบการรัฐประหารในเวลาต่อมาที่คณะรัฐประหารได้รับการรับรองความชอบธรรมจากสถาบันกษัตริย์ ควรกล่าวด้วยว่า การรัฐประหารครั้งนี้สำเร็จได้ด้วยการรับรองการรัฐประหาร และลงนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 โดยกรมขุนชัยนาทนเรนทรที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ในฐานะผู้สำเร็จราชการฯ บทบาทดังกล่าวถือเป็นการละเมิดหลักการตามระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงที่สุดด้วยการสนับสนุนให้เกิดการทำลายรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ นี่จึงเป็นการทำลายความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างสถาบันกษัตริย์กับรัฐบาลคณะราษฎรภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นเจตนารมณ์ของการปฏิวัติสยามอย่างไม่มีชิ้นดี
.
ภายหลังการรัฐประหารเหล่ากษัตริย์นิยมผู้ปฏิปักษ์ปฏิวัติได้ทำหน้าที่เป็นสถาปนิกออกแบบระบอบการเมืองใหม่ที่เอื้อให้พวกเขากลับมาครองอำนาจอีกครั้ง พวกเขาร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2490 และ 2492 ที่ถวายคืนพระอำนาจให้กับกษัตริย์ในทางการเมืองสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนนับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่อำนาจกษัตริย์ถูกจำกัดไว้ภายใต้รัฐธรรมนูญเช่น การแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาโดยอำนาจตามพระราชอัธยาศัยของสถาบันกษัตริย์ การแต่งตั้งอภิรัฐมนตรี (องคมนตรี) กษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจทางทหารในฐานะผู้บังคับบัญชาของทหารทั้งปวง และมีบทบัญญัติให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องอิสสริยาภรณ์ เป็นต้น แม้ว่าต่อมาหลายประเด็นจะถูกแก้ไขในรัฐธรรมนูญจะถูกแก้ไขหรือเลิกไปแล้ว แต่มรดกจากรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยมหลายอย่างยังคงสืบต่อและปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรจนถึงปัจจุบัน
.
การรัฐประหาร 2490 ไม่ได้เป็นเพียงการยึดอำนาจเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น แต่มีนัยยะสำคัญของการรัฐประหารครั้งนี้ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลง และทำลายหลักการมูลฐานของระบอบใหม่ที่คณะราษฎรได้ก่อร่างสร้างขึ้นที่อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายได้กลับไปอยู่ที่สถาบันกษัตริย์ หลังจากนั้นเหล่ากษัตริย์นิยม และทหารกลายเป็นพันธมิตรใหม่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการเมืองมากขึ้นพวกเขาวางรากฐานทางการเมือง เพื่อสามารถครองอำนาจได้อย่างยาวนาน และมั่นคงสถาพร
.
หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรมีเป้าหมายในการจัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วพระมหากษัตริย์โดยทรัพย์สินอย่างหลังนี้เป็นทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐให้อยู่ภายใต้การจัดการโดยอำนาจที่มาจากประชาชนทั้งนี้ก็เพื่อจำกัดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่จะทำให้กษัตริย์ผูกขาดธุรกิจ และกลายเป็นกลุ่มทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม และกังวลว่าพระราชอำนาจส่วนนี้จะสร้างผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบอบรัฐธรรมนูญ
.
อย่างที่เรารู้กันดีแล้วว่าการรัฐประหาร 2490 ได้รื้อฟื้นอำนาจของกษัตริย์ในทางการเมือง ขณะเดียวกันก็รื้อฟื้นอำนาจของกษัตริย์ในทางเศรษฐกิจ และอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของกษัตริย์ตามพระราชอัธยาศัยอีกด้วยในปี 2491 เหล่ากษัตริย์นิยมได้การแก้ไขพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ที่ตราขึ้นสมัยคณะราษฎร เพื่อทวงคืนพระราชทรัพย์ และอำนาจในการจัดการพระราชทรัพย์กลับไปให้กษัตริย์ดังเดิม แต่ในกรณีนี้ต้องถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ในลักษณะเป็นปฏิวัติซ้อนหรือปฏิปักษ์ปฏิวัติที่ยังส่งผลมาจนถึงปัจจุบันที่การจัดการทรัพย์สินของกษัตริย์หลุดลอยออกจากอำนาจประชาชนอันเป็นอำนาจสูงสุดในประเทศนี้
.
การรัฐประหาร 2490 ไม่ได้เป็นเพียงรัฐประหารเปลี่ยนรัฐบาลอย่างที่เคยเกิดขึ้นเหมือนที่ผ่านมา แต่เป็นการโต้กลับการปฏิวัติ 2475 ของเหล่ากษัตริย์นิยมที่รื้อฟื้นอำนาจในระบอบเก่ากลับคืนมา คงจะไม่ผิดจากความเป็นจริงมากนักหากจะพูดว่า การรัฐประหาร 2490 เป็นการโต้กลับของเหล่ากษัตริย์นิยมการรัฐประหารที่เปลี่ยนการเปลี่ยนโฉมการเมืองไทยไปตลอดกาลที่หมุนเวลาทางการเมืองให้ย้อนหลัง และฉุดรั้งการพัฒนาของระบอประชาธิปไตยในสังคมไทยให้ถอยหลังมากเข้าไปอีก
.
แม้ว่าการรัฐประหาร 2490 จะล่วงเลยมาแล้ว 74 ปี แต่มรดกทางการเมือง และเศรษฐกิจจากการรัฐประหาร 2490 ยังคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ที่สำคัญของการรัฐประหาร 2490 และรัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยมเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการเมืองไทยว่าด้วยบทบาท และสถานะของสถาบันกษัตริย์ในเศรษฐกิจ การเมืองไทยสมัยใหม่ และกลายเป็นจุดกำเนิดของระบอบทางการเมืองใหม่ที่เพิ่มอำนาจให้กับกษัตริย์ และลดอำนาจประชาชนที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อันเป็นมรดกชิ้นสุดท้ายที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 มอบเอาไว้ในการเมืองไทยซึ่งกลายเป็นปมปัญหาสำคัญในการเมืองไทยในเวลาต่อมา
.
หลังการเปลี่ยนผ่านรัชกาลปมปัญหาดังกล่าวปรากฎชัดมากขึ้นประกอบกับการขยายพระราชอำนาจของกษัตริย์ที่เกินขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยทำให้คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และอยู่คู่กับสังคมไทยได้อย่างสง่างาม หากไม่เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจังปมปัญหาเหล่านี้จะยังคงตามมาหลอกหลอนชนชั้นนำไทยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แม้จะพยายามเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาที่เดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ และทัดทานกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลงเท่าที่พวกเขาจะทำได้ แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ว่า ธรรมชาติของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นสิ่งที่ขัดแย้ง และไปด้วยกันไม่ได้กับระบอบประชาธิปไตยอย่างสิ้นเชิง
.
แม้ชนชั้นนำไทยจะใช้ “นิติสงคราม” และ “อำนาจบังคับ” กำราบให้คนกลัว ปราบปรามผู้ที่คิดต่าง และเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใด ทว่าธรรมชาติของสองระบอบนี้ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิงจะยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่นับไม่ถ้วน และไม่อาจหนีความเป็นจริงที่ว่า คนรุ่นใหม่ผู้มีกาลเวลาอยู่เคียงข้างจะลุกขึ้นมาตั้งคำถาม และส่งเสียงแห่งยุคสมัยอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะพวกเขาเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกลหลอนคนในโลกเก่า ตราบใดที่ปมปัญหานี้ยังไม่แก้ไขอย่างจริงจังให้สอดคล้องกับยุคสมัย…ชนชั้นนำไทยก็ยังคงถูกปีศาจตนนี้ตามไปหลอกหลอนทุกยุคทุกสมัย
.
#รัฐประหาร #สมบูรณาญาสิทธิราชย์ #ประชาธิปไตย #สถาบันกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ


.....
Kritsanapol Sriburapa
15h ·

8/11/2490*
ผินเป็นหัวหอกเก่ายึดอำนาจ
การเมืองชาติอนาถนักในศักดิ์ศรี
ทำลายเสือเครือข่ายสายปรีดี
สายเสรีไทยสี่ขุนพลภูพาน

จำลองดาวเรืองเมืองสารคาม
หนึ่งดาววามนักสู้ผู้กล้าหาญ
กล่าวหาสังคมนิยมอุดมการณ์
ถูกสังหารบ้านเมืองลือเรื่องราว

ทองอินทร์สิ้นดับอาภัพคน
ในถนนการเมืองกลุ่มปีกหนุ่มสาว
ถวิลดับสิ้นร่วงสี่ดวงดาว
เตียงดับด้าวดาวหล่นสกลนคร

หนึ่งตำนานการต่อสู้การเมือง
ไฟฟุ้งเฟื่องเรื่องราวอุทาหรณ์
อำมาตยาปรากฏในบทตอน
ขุดรากถอนไม่สิ้นแผ่นดินดาน

สหชีพกลีบร่วงรังรวงรัก
คนในพรรคนักการเมืองอีสาน
นักต่อสู้สี่ขุนพลภูพาน
รัฐประหารการเมืองการปกครอง

ชนชั้นนำต่ำตื้นยั้งยืนอยู่
ประชาชนทนสู้อยู่ทั้งผอง
ปืนก็ปืนยืนหยัดเจนจัดมอง
ฟ้าดำหมองร้องไห้หยาดไหลริน

เจ้าอุปถัมภ์ค้ำจุนขุนนางเลี้ยง
ระบบเลือกตั้งเสียงสุดเสี่ยงสิ้น
ทำลายล้างสร้างเสร็จทุกเม็ดดิน 
กรวดทรายหินสิ้นหลักชงักงัน

รัฐสร้างชาติบาดหมางกลางแผ่นดิน
ขาดแหว่งวิ่นดิ้นรนต่างชนชั้น
สู้กับปืนกลับยื่นยังยืนยัน
จารีตกีดกลางกั้นบั่นลิดรอน

กบฏบวรเดชประเทศชาติ
ยึดอำนาจไม่สำเร็จระเห็จก่อน
แค้นเคืองคิดจะล้มคณะราษฎร 
การเมืองร้อนย้อนแย้งรุนแรงรบ

ปราบกบฎอนุสาวรีย์บางเขน
เคยตั้งเด่นสง่างามความสงบ
สร้างตรงนั้นวันนี้หามีพบ
ขุดถอนหลบครบครันมิทันไร
*นิราศที่ราบสูง