วันอังคาร, พฤศจิกายน 09, 2564
ประเทศไทยจะเข้าสู่การกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติครั้งที่สาม 10 พ.ย. 2564 ชวนอ่านรายงานถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
15h ·
+++ไทยใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงข้อหา ม.112 จำกัดสิทธิและดำเนินคดี ปชช. กว้างขวาง+++
ในวันที่ 10 พ.ย. 2564 เวลา 15.00–18.30 น. ประเทศไทยจะเข้าสู่การกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนโดยคณะทำงานกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะ (Universal Periodic Review Working Group) ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเป็นครั้งที่สาม
>>การถ่ายทอดสดผ่านทางเว็บไซด์ https://bit.ly/2YjxCRN
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านรายงาน UPR รอบที่ 3 ที่ทางศูนย์ทนายฯ ได้ร่วมส่งรายงานกับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ ถึงคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council หรือ HRC)
.
+++ไทยไม่รับข้อเสนอ ยกเลิก-แก้ไข กฎหมายไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมถึงข้อหา “หมิ่นกษัตริย์” +++
.
นับตั้งแต่มีการรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557 ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามในการควบคุมและจำกัดประชาชนในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นทางออนไลน์หรือการชุมนุมสาธารณะ ด้วยการดำเนินคดีประชาชนเป็นจำนวนมากโดยกฎหมายที่ไม่สอดคล้องมาตรฐานระหว่างประเทศ ถึงแม้ว่าจะหมดยุค คสช. ไปแล้ว แต่การดำเนินคดีในรัฐบาลปัจจุบันที่สืบทอดต่อจาก คสช. ยังคงมีความคล้ายคลึงที่ไม่ต่างกันมากนัก
.
ระหว่างกระบวนการ UPR ครั้งที่ 2 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 รัฐบาลไทยได้ยอมรับข้อเสนอแนะ ที่เสนอให้รับรองและเคารพเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นจาก 11 ประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอแนะที่เสนอให้ทบทวน แก้ไข หรือยกเลิกกฎหมายและข้อบังคับที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก จาก 14 ประเทศ เช่น ประเทศเยอรมัน และเบลเยียม
.
แต่รัฐบาลไทยยังใช้กฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและละเมิดพันธกรณีของประเทศไทยต่อกฎหมายระหว่างประเทศ มาเป็นเครื่องมือเพื่อดำเนินคดีประชาชนในวงกว้าง ได้แก่ ข้อ 5 คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งยังไม่ถูกยกเลิกและยังคงมีผลบังคับใช้หลังการยุบ คสช. ในเดือน ก.ค. 2562, ข้อหามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) ตามประมวลกฎหมายอาญา, ข้อหามาตรา 326 (หมิ่นประมาท) และ 328 (หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา) ตามประมวลกฎหมายอาญา, และ มาตรา 14 ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ ข้อหาละเมิดอำนาจศาล
.
อีกทั้ง รัฐบาลไทยไม่ยอมรับข้อเสนอแนะที่เสนอให้ยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือ หมิ่นประมาทกษัตริย์ และให้ยุติการใช้ข้อกฎหมายดังกล่าวโดยมิชอบเพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกจาก 8 ประเทศ และประกาศเพียงว่ารับทราบข้อเสนอที่เสนอแนะเพิ่มเติมให้ยกเลิกการบังคับโทษจำคุกขั้นต่ำภายใต้มาตรา 112 จาก 2 ประเทศ
.
+++ ศาลตัดสินคดีหมิ่นกษัตริย์โทษจำคุกกว่า 70 ปี ในยุค คสช. 1 และ 2 - ละเมิดหนักสิทธิในการประกันตัว +++
.
ในช่วงหลังการรัฐประหารเมื่อเดือน พ.ค. 2557 ถึง ม.ค. 2561 ทางการยังดำเนินการจับกุม ควบคุมตัว ดำเนินคดี และจำคุกบุคคลภายใต้ข้อหา 112 กว่า 50 คน และมี 14 คนที่ถูกจำคุก โดยมีการตัดสินโทษจำคุกที่สูงที่สุดภายใต้มาตรา 112 อยู่ 2 คดี ได้แก่
.
คดีของวิชัย (สงวนนามสกุล) จากการโพสต์ภาพและข้อความบนเฟซบุ๊ก 10 ครั้ง ศาลทหารเห็นว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท 10 กรรมและตัดสินจำคุกเป็นเวลาถึง 70 ปี โดยลดโทษให้เหลือ 35 ปี เนื่องจากรับสารภาพในชั้นศาล และและคดีของอัญชัญ ปรีเลิศ จากการโพสต์เนื้อหาออนไลน์ ศาลอาญาเห็นว่าเป็นความผิด 29 กรรมและตัดสินจำคุก 87 ปี โดยลดโทษให้เหลือ 43 ปีกับ 6 เดือน เนื่องจากสารภาพในชั้นศาล
.
ปัญหาที่พบเจอภายใต้การดำเนินคดีด้วยข้อหา 112 ได้แก่ ศาลทหารและศาลยุติธรรมมีแนวโน้มพิพากษาลงโทษผู้ต้องคดีนี้ด้วยอัตราโทษที่สูงขึ้น จากเดิมกรรมละ 5 ปี เป็นกรรมละ 8-10 ปี, การพิจาณาคดีพลเรือนที่ศาลทหาร, จำเลยถูกตัดสิทธิยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา อย่างน้อย 10 คดี, ไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีโดยเปิดเผย อย่างน้อย 18 คดี, ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว อย่างน้อย 46 คน อย่างสิรภพที่โดนคุมขังระหว่างพิจารณานานกว่า 5 ปี, ไม่ได้รับสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วทำให้จำเลยจำนวนมากเลือกรับสารภาพแทนการต่อสู้คดี, และ 11 คดีถูกโอนมาที่ศาลยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งศาลยุติธรรมพิจารณาและทำคำพิพาษาต่อ โดยไม่ได้สืบพยานเอง
.
เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2563 การจับกุม ดำเนินคดี และควบคุมตัวด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์เกิดขึ้นเป็นระลอกสอง หลังจากที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่ามาตรา 112 จะเป็นหนึ่งใน “กฎหมายทุกฉบับทุกมาตรา” ทำให้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 จนถึง 31 ต.ค. 2564 มีผู้ดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวแล้วกว่า 154 คน รวมเยาวชน 12 คน
.
อีกทั้งในช่วงระหว่างวันที่ 9 ก.พ. ถึง 25 มี.ค. 2564 ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาดังกล่าว 12 คน ถูกคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีและระหว่างการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาและจำเลยที่ได้รับสิทธิในประกันตัว แต่กลับโดนจำกัดสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการแสดงออกและเข้าร่วมการชุมนุมด้วยเงื่อนไขการประกัน
.
+++ ข้อเสนอะแนะ +++
.
ทั้งนี้ ทางศูนย์ทนายความฯ และองค์กรสิทธิมนุษยชนจึงมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ในกระบวนการ UPR รอบที่ 3 หลักๆได้แก่
.
1. แก้ไขมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทย เพื่อยกเลิกโทษจำคุกต่อการกระทำผิดอันเกิดจากการใช้โดยชอบธรรมซึ่งสิทธิที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก
.
2.ประกันถึงสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมแก่จำเลยข้อหาหมิ่นพระมหากษัตริย์ย์ รวมถึงสิทธิในการประกันตัว
.
3.กำหนดให้ระงับและชะลอ การดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ต่อบุคคลซึ่งเพียงแค่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก
.
4.ปล่อยตัวบุคคลทั้งหมดที่ถูกคุมขังในเรือนจำภายใต้มาตรา 112 เพียงเพราะการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเขาที่จะมีเสรีภาพในความคิดเห็นและการแสดงออก
.
5. สงวนอำนาจที่จะแจ้งความฟ้องร้องด้วยมาตรา 112 ให้แก่สำนักพระราชวังแต่เพียงผู้เดียว
.
.
อ่านบทความ UPR เรื่องการแก้ไขกฎหมายรวมถึงข้อหาม.112: https://tlhr2014.com/archives/37356
อ่านบทความ UPR ทั้งหมด: https://tlhr2014.com/archives/tag/upr
อ่านรายละเอียดกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามระยะของประเทศไทย ครั้งที่ 3 (Universal Periodic Review): https://bit.ly/3k7D3Ll