วันพุธ, พฤศจิกายน 17, 2564

เรื่องราวของ ‘#ทะลุแก๊ซ’ ผู้นิยามตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนอิสระ ถูกยัดเข้าไปในห้องขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว กว่า 1 เดือนแล้ว


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
13h ·

มากกว่าเดือนแล้ว ที่ผู้นิยามตนเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของมวลชนอิสระ ‘#ทะลุแก๊ซ#สูญเสียอิสรภาพ ผู้ต้องหา 6 คนที่ทนายความได้เข้าเยี่ยมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ พบว่าพวกเขา #เป็นมากกว่าเพียงคนที่ถูกจับ แล้วถูกยัดเข้าไปในห้องขังโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
.
นฤเบศร์, พิชัย และจิตรกร เป็นผู้ถูกคุมขังสามรายที่สะท้อนเสียงออกมาจากกรงขัง พวกเขาเป็นใคร ทำไมตัดสินใจมาร่วมชุมนุม และความคิดฝันของพวกเขาคืออะไร ชวนทำความรู้จักพวกเขามากขึ้น
.
++ #นฤเบศร์เด็กช่างกลบุรีรัมย์ ผู้ขับมอเตอร์ไซต์มาร่วมทะลุแก๊ซ ++
.
นฤเบศร์ (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 26 ปี มองกล้องบันทึกภาพและเสียง ผ่านโทรศัพท์มือถือสีดำแบบตั้งโต๊ะมาจากด้านในแดนควบคุมตัวที่ 2 ซึ่งเป็นแดนเฝ้าระวังโรคไวรัสโควิด-19 เขาพูดกับทนายด้วยเสียงที่แฝงไว้ด้วยความกังวลพอควร เมื่อถามว่าช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน
.
“ผมอยู่กับยายมาตั้งแต่จำความได้ครับ” เขาเริ่มแบบนั้นและเล่าถึงระดับการศึกษาว่าเรียนจบชั้นมัธยมต้นและต่อการศึกษาสายอาชีพด้านช่างกลในจังหวัดบุรีรัมย์ หลังเรียนจบช่าง เขาลองเปิดอู่ซ่อมรถอยู่พักหนึ่งและเลิกกิจการไป สายตาของเขาดูเสียดายอู่แรกที่เขาปลุกปั้นมากับมือไม่น้อย
.
“ผมทำรถมาพักหนึ่งหลังเรียนจบ รวมตัวกับรุ่นน้อง 7-8 คน อู่ทำหมด ทั้งปิดควันดำ ทำให้เครื่องแรงขึ้น แต่งรถ เปลี่ยนสายไฟ แต่ร้านมันไปไม่รอด ก็ปิดกันไป”
.
เขาพูดต่อด้วยน้ำเสียงยอมรับว่าเขาก็เกเรเรื่อยมาหลังจากนั้น เพราะต่างจังหวัดไม่มีอะไรทำ ค่อนข้างน่าเบื่อ เขาจึงไปกับเพื่อนบ้าง และไปหาของกินให้ยายบ้าง
.
เมื่อถามว่าไปตลาดหรือที่ว่าหาของกินให้ยาย นฤเบศร์ตอบกลับว่า “ไม่ครับ ไปนา ไปใส่บ่วงดักหนู ก็ได้หนูนา ไปยิงนกก็ได้นก ก็เอามาทำของกินกับยายครับ”
.
.
นฤเบศร์ดูสดชื่นขึ้นมานิดหนึ่ง เมื่อถามถึงเหตุที่เข้ามาร่วมชุมนุมที่ดินแดง “พอมีม็อบที่กรุงเทพฯ ผมก็อยากมาชุมนุมด้วย ผมก็โทรศัพท์ชวนเพื่อนมากัน ขับมอเตอร์ไซด์มาจากต่างจังหวัดด้วยกันหลายสิบคน แล้วก็มารวมกับพวกรุ่นพี่อาชีวะครับ” เขาเล่าว่าเพื่อนเขาหลายคนถูกจับและทยอยถูกส่งกลับต่างจังหวัด มีแต่เขาที่ยังติดอยู่ในเรือนจำนี้
.
ข่าวการถูกควบคุมตัวระหว่างชั้นสอบสวนของนฤเบศร์ในช่วงสถานการณ์ชุมนุมและจับรายวันที่ดินแดงในกรุงเทพ อาจจะยังเดินทางไปไม่ถึงยายอันเป็นที่รักของเขาที่บุรีรัมย์ เพราะทุกครั้งที่ถามว่าจะฝากอะไรถึงยายหรือไม่ เขายืนยันแค่ว่าเป็นห่วงยายมาก เขาไม่อยากให้ยายเป็นกังวลกับเรื่องของเขา
.
“ยายคงไม่คิดว่าผมต้องติดคุกครับ หากแกรู้ แกจะกังวล เรื่องเงินที่มาประกันตัว แค่เงินหมื่นก็ไม่มีครับ ผมไม่อยากให้ใครติดต่อยายเลย” นฤเบศร์พูดถึงยาย แต่ยังแฝงไว้ด้วยความกังวล และคิดหาทางออกทั้งปวงไม่ได้ว่าเขาจะหาเงินแสนมาจากไหนเพื่อประกันตัวออกจากเรือนจำนี้ เขาจึงสื่อสารกับทนายความเป็นนัยว่าครอบครัวเขาอาจไม่มีเงินมาประกันตัว
.
.
เมื่อถามถึงความใฝ่ฝันหรือคาดหวังในการออกมาเคลื่อนไหวของเขาคืออะไร หากวันหนึ่งเขาได้ออกจากเรือนจำเขาจะไปทำอะไร เขาคิดอยู่สักพัก “ผมมีความฝันว่าอยากเรียนหนังสือต่อครับ ให้มีวุฒิการศึกษามากกว่านี้ ผมอยากเป็นช่างกลครับ”
.
++ #พิชัยหนุ่มช่างยนต์ ผู้หาเลี้ยงตัวเองมาตลอด ช่วยดูแลน้องร่วมชุมนุมดินแดง ++
.
พิชัย (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 30 ปี เป็นอีกคนที่ทนายความได้เข้าเยี่ยม แต่ยังมีเวลาพูดคุยเรื่องราวชีวิตกับเขาไม่มากนัก เนื่องจากต้องเตรียมข้อมูลเรื่องการขอประกันตัว
.
พิชัยระบุว่าเขาจบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาช่างยนต์ในกรุงเทพฯ แล้วเขาก็ต้องไปเกณฑ์ทหารหนึ่งปี ก่อนออกมาดิ้นรนหางานทำในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้
.
“ผมทำงานหลักๆ ที่ห้างสรรพสินค้า ล่าสุดทำงานที่แผนกไฟในห้างใจกลางกรุงนี้แหละ ทำอยู่ 4-5 เดือน ก็ต้องออก ช่วงที่ห้างปิดโควิดกัน แล้วผมก็มาวิ่งส่งอาหารแทน”
.
พิชัยเล่าถึงครอบครัวเขาว่า พ่อกับแม่นั้นแยกกันอยู่ตั้งแต่เขายังเด็ก ตัวเขาเองต้องย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่ชั้นมัธยมต้น โดยมาอาศัยอยู่กับน้า และตอนนี้ แม่ของเขาที่อยู่ในต่างจังหวัดก็เสียชีวิตลงแล้ว ชีวิตของเขาจึงเหมือนกับคนกรุงเทพฯ เต็มตัว ทั้งที่เรียน ทำงาน และการทำกิจกรรมในเมืองหลวง
.
.
ในส่วนการไปร่วมชุมนุมที่ดินแดง พิชัยพูดหลายครั้งถึงการไปดูแลเพื่อนรุ่นน้องที่ร่วมชุมนุมบริเวณนั้น ในวันที่เขาถูกจับ พิชัยเล่าว่า หลังจากรถมอเตอร์ไซด์ของเขากับเพื่อนอีกสองคนล้มลง ตำรวจสายตรวจจำนวน 7-8 นาย ก็เข้าถึงตัวเขา จับคอและกระชากคอเสื้อเขาให้นั่งลง จนใบหน้าของพิชัยกระแทกกับพื้น มีรอยถลอก เลือดออก จนมีชายที่เป็นวินมอเตอร์ไซด์และมีทักษะหน่วยกู้ภัยด้วย เข้ามาช่วยห้ามเลือดให้เขา ทั้งที่ใบหน้าและขา เขายังพบต่อมาอีกว่าตัวเองโดนยิงด้วยกระสุนยางตรงด้านหลังอีกด้วย
.
ทั้งนี้ นฤเบศร์และพิชัยถูกจับกุม เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 06.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์ โดยถูกกล่าวหาว่าร่วมกันขว้างวัตถุคล้ายระเบิด ใส่รถยนต์สายตรวจ สน.ลุมพินี ถูกแจ้ง 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน, ร่วมกันทำให้เกิดเสียงหรือการกระทำความอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร
.
เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ทั้งคู่ถูกควบคุมตัวมาแล้ว 43 วัน
.
++ #จิตรกรหนุ่มผู้มีชีวิตลำพัง หาเลี้ยงชีพเองแต่วัยรุ่น วาดฝันเปิดร้านแฮมเบอร์เกอร์ ++
.
สำหรับจิตรกร (สงวนนามสกุล) หนุ่มวัย 22 ปี ท่าทางคล่องแคล่วเกินอายุ สบตาขี้เล่น เขาลูบขนแมวบนเก้าอี้สีขาวรอการพูดคุยกับทนายความภายในแดนควบคุมตัวที่ 2
.
“ครอบครัวผม พ่อเสียแล้ว แม่แยกทางกันไปแล้ว สรุปๆ ประมาณบ้านแตกสาแหรกขาด” เขาขยายความต่อว่า “ผมมีพ่อบุญธรรมเลี้ยง แต่แกก็มาเสียตอนผมอายุ 18-19 ปี ผมเลยออกมาอยู่คนเดียวให้รู้แล้วรู้รอด”
.
หลังจากนั้นการงานอาชีพอันหลากหลายก็พรั่งพรูออกมาจากปากเขา จิตรกรบอกว่าเขาออกจะเป็นคนไร้บ้าน ทำทั้งตกปลาเพื่อยังชีพ ทำงานรับจ้างเป็นช่างทาสีบ้าง ทำความสะอาดบ้าง เขาบอกด้วยว่างานอาสากู้ภัยก็เคยทำ
.
“รายได้ที่ผมได้ ต่ำสุดสองพันบาท มากสุดที่เคยได้ก็เป็นหมื่นนะ แต่บางเดือนไม่ได้เลยก็มี”
.
.
จิตรกรเล่าว่าเขาเคยมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนในเรือนจำบ้างแล้ว จากคดีก่อนหน้านี้ จึงปรับตัวได้ดีกว่าเพื่อนคนอื่นที่เข้ามาจากกรณีทะลุแก๊ซสิบกว่าคน เขาบอกว่าชีวิตช่วงหลัง มีคนมาคอยติดตามอยู่เรื่อย ด้วยความที่เป็นคนมีคดีมาก่อน ทำให้พบว่ามีตำรวจนครบาลคอยติดตาม โดยคดีชุมนุมที่เขาถูกกล่าวหาคดีแรกๆ เป็นคดีที่เขาถูกจับกุมในการชุมนุม #ม็อบ13กุมภา64 ที่มีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังศาลหลักเมือง ก่อนได้รับการประกันตัวในคดีนั้น
.
ส่วนการชุมนุมที่ดินแดง จิตรกรก็แวะเวียนมาร่วมกับกลุ่มเพื่อนและรุ่นน้อง เขาบอกถึงหน้าที่ในการดูแลรุ่นน้องผู้ชุมนุมคนอื่นอยู่บ้าง
.
.
เมื่อถามถึงความใฝ่ฝันในชีวิตของเขา แรกๆ จิตรกรตอบว่า “ผมไม่มีแผนในชีวิต ผมมีนกเป็ดเทศ ตัวเดียว ก็สุขใจ” เขาบอกว่านกเป็ดเทศนี้มีที่มา “มันชื่อ ‘โทนี่’ นะครับ ตัวขาว หัวแดง ผมโดนหลอกขายมา แพงด้วย คนขายบอกว่าเป็ดแมนดาริน เลี้ยงไปเลี้ยงมาตัวใหญ่เกือบเท่าห่าน” เป็ดเทศตัวนี้มีคนรับเลี้ยงให้เขา จิตรกรเล่าว่าเขาดูจะไร้บ้าน ก็เอาไปฝากคนอื่นที่มีบริเวณบ้านไว้แทน
.
แต่พอเล่าๆ ไป จิตรกรก็เผยความฝันเล็กๆ ของเขาว่า “ผมมีความฝันอยู่นะ ผมอยากเปิดร้านอาหาร ทำแบบแฮมเบอร์เกอร์ แบบ food street และอยากลองทำช่อง YouTube แบบเดินทางไปเรื่อยด้วย ผมทำอาหารเป็น แฮมเบอร์เกอร์เนี่ย พ่อบุญธรรมทำให้กินตั้งแต่ตอนเด็ก อาหารอิตาเลี่ยนกินมาเยอะ และผมก็ชอบทำแกงกะหรี่ ขนมจีนน้ำยาด้วย”
.
ก่อนจากกัน จิตรกรฝากและย้ำให้สั่งอาหารและเครื่องใช้จำเป็นให้เขาหน่อย เขาแจ้งว่าเอาไว้เผื่อเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย และเผื่อเหลือเผื่อขาด
.
ทั้งนี้ จิตรกรถูกจับกุมที่หน้าคอนโดบริเวณดินแดง จาก #ม็อบ6ตุลา ในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ถูกตำรวจ สน. พหลโยธิน แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา “มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ก่อนศาลอาญา รัชดา ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ทำให้จิตรกรถูกควบคุมตัวมาแล้ว 41 วัน
.
.
บันทึกเยี่ยม พฤศจิกายน 2564, เรือนจำพิเศษกรุงเทพ
.
อ่านเนื้อหาบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/37892