'ประยุทธ์'ขู่ล้มกระดาน
หากยังทะเลาะกันไม่เลิก! "ประยุทธ์"ขู่ล้มกระดาน "ยิ่งลักษณ์"ส่อถูกถอดถอน สนช.ตั้ง 60 คำถามเค้นปมจำนำข้าว
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ
ส่วนตั้งข้อสังเกตว่า การพบ สนช. และ สปช.เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการเข้าตอบข้อซักถามของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวนั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะเอามาโยงกันทำไม ทุกคนมีแผนงานของตัวเองอยู่แล้ว ต่อไปอาจไปโยงกันอีกว่าเมื่อมีการพิจารณาถอดถอนอยู่ กระทรวงพาณิชย์ก็ไปดำเนินคดีเรื่องข้าว ทั้งที่เขาได้เตรียมการมานานแล้ว เมื่อกระบวนการเสร็จสิ้นก็ต้องแจ้งความ แล้วจะมาหาว่าเป็นการไล่ล่ากันอีก ทั้งที่เป็นคนละเรื่อง ถ้าสื่อมวลชนเอามาโยงกันอย่างนี้ ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้ง
"ประยุทธ์"ชี้คดีถอดถอน"ผิดว่าไปตามผิด"
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่ สนช.มีความเห็นต่างเกี่ยวกับประเด็นการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ว่า ประเด็นดังกล่าวต้องฟังว่าฝ่ายกฎหมายเขาว่าอย่างไร เมื่อพิจารณาเสร็จแล้วก็จะทราบเองว่าจะทำได้หรือไม่ ถ้ารัฐธรรมนูญไม่อยู่จะใช้อะไรถอดถอน และต้องไปดูว่าพฤติกรรมเป็นอย่างไร เพราะบางครั้งพฤติกรรมกับกฎหมายก็ขัดแย้งกันอยู่ ทุกคนก็เห็นว่าบางเรื่องผิด แต่กฎหมายก็ปล่อยไปได้ เพราะมีทนายต่อสู้คดี เรื่องนี้ก็เหมือนคดีอื่น ถ้ามองทุกอย่างเป็นธรรมชาติก็จะไม่มีความขัดแย้ง แต่ถ้าหยิบยกมาเป็นประเด็น คอขาดบาดตายก็เป็นกันหมด ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนอื่นด้วย
"ผิดคือผิด กฎหมายว่าผิดก็ต้องลงโทษ แต่ถ้ากฎหมายว่าผิด แล้วไม่ลงโทษ แต่จิตสำนึกก็ต้องรู้ว่าผิดหรือถูก สังคมต้องช่วยกันบอกว่าพฤติกรรมผิดหรือไม่ แต่ตัวผมต้องว่าไปตามกฎหมาย ต้องใช้เหตุผล ประเทศต้องอยู่แบบนี้"
หนุน"กกต."จัดเลือกตั้งตามหลักสากล
ส่วนที่ สปช.เสนอให้ทหารเข้ามาควบคุมการเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทหารได้ดูแลความเรียบร้อยโดยรอบพื้นที่ที่มีการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ไม่มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ใครจะจัดการเลือกตั้งก็เหมือนกัน หากกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้จัด ก็ถือเป็นหลักสากล ส่วนกระทรวงมหาดไทย ตอนนี้ก็ถือว่าได้ช่วยงาน กกต.อยู่แล้ว เช่นเดียวกับ ทหาร ตำรวจ อาสาสมัครก็ช่วยงานการเลือกตั้งอยู่แล้ว แต่ประเด็นอยู่ที่ใครจะมาให้เลือกตั้ง คนที่มาให้ประชาชนเลือก เป็นคนดีและมีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นนักการเมืองที่คดโกงหรือไม่ ถ้าให้มาแก้กฎหมายทุกวันก็ตายเหมือนกัน
"ยิ่งลักษณ์"ส่อถูกถอดถอน-สนช.ทหารลังเล
ด้านความเคลื่อนไหวของ สนช.เกี่ยวกับการลงมติคดีการถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์ กรณีไม่ยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจะมีการลงมติถอดถอนในวันที่ 23 ม.ค.นั้น ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณการเคลื่อนไหวจาก สนช.ที่จะดำเนินการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์มากขึ้น โดยเฉพาะ สนช.สายทหารที่เป็นเสียงส่วนใหญ่ของ สนช.ทั้งหมด เริ่มหันมาสนับสนุนการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ เนื่องจากเห็นว่า มีหลักฐานที่ค่อนข้างชัด จากการที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ไม่ยอมยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าว
ขณะเดียวกันล่าสุด น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปแจ้งความต่อกองปราบปราม เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ดำเนินคดีกับคู่สัญญาในโครงการรับจำนำข้าว ที่ตรวจสอบพบข้าวไม่ได้มาตรฐาน จำนวน 77 ราย ซึ่ง สนช.สายทหารหลายคน มองว่า การไปแจ้งความดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณในการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์
"สนช.สายทหารหลายคนที่ยังมีความลังเล เริ่มเห็นคล้อยให้ถอดถอน นางสาวยิ่งลักษณ์มากขึ้น ทำให้คะแนนเสียงของ สนช.ที่จะถอดถอนจากเดิมที่คาดว่า มีอยู่ 80-90 เสียง มีจำนวนมากขึ้น อาจจะถึง 132 เสียง ซึ่งเพียงพอที่จะถอดถอนได้ แต่ยังขอรอฟังการตอบข้อซักถามของนางสาวยิ่งลักษณ์ ในวันที่ 16 ม.ค.ก่อนจะตัดสินใจอีกครั้งในการลงมติ ซึ่งยังมีเวลาการตัดสินใจอีก 1 สัปดาห์" แหล่งข่าว สนช.ระบุ
เชื่อเสียงสนช.ไม่พอถอดถอน"นิคม-สมศักดิ์"
ส่วนการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาส.ว.นั้น แหล่งข่าวระบุว่า เสียงของ สนช.ค่อนข้างชัดเจนว่า ไม่น่าจะเพียงพอในการถอดถอนทั้งสองคนได้ เนื่องจากเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่เป็นข้อกล่าวหาในการเอาผิดไม่มีผลบังคับใช้แล้ว และความผิดของนายนิคมและนายสมศักดิ์ เรื่องการตัดสิทธิการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มา ส.ว.ในวาระ 2 ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ เพราะเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามดุลยพินิจของประธานฯ ในการควบคุมการประชุม หากจะผิดก็เป็นแค่การทำผิดตามระเบียบข้อบังคับการประชุมเท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่จะดำเนินการถอดถอนได้
สนช.ตั้ง60ประเด็นซักถาม"ยิ่งลักษณ์
นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกกรรมาธิการซักถามคดีถอดถอนนายนิคม และนายสมศักดิ์ ออกจากตำแหน่ง และนายสมชาย แสวงการ โฆษกกรรมาธิการซักถามคดีถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ออกจากตำแหน่ง แถลงข่าวภายหลังการประชุมกรรมาธิการซักถาม
นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมาธิการซักถามคดีนายนิคมและนายสมศักดิ์ ได้มีการแต่งแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ในกรรมาธิการ โดยตั้ง พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ เป็นประธาน จากนั้นได้พิจารณาญัตติซักถามของสมาชิก สนช. ซึ่งจากการเปิดให้ สนช.ได้ยื่นญัตติคำถามคู่กรณีในคดีดังกล่าว ปรากฏว่า มีคำถามในคดีของนายนิคม ที่ได้ถาม ป.ป.ช.จำนวน 16 คำถาม ถามนายนิคม 17 คำถาม ส่วนคดีนายสมศักดิ์ มีคำถาม ป.ป.ช. 19 คำถามและถามนายสมศักดิ์ 9 คำถาม ทั้งนี้ได้มีการจัดกลุ่มคำถามแยกเป็น 3 กลุ่ม 1.ข้อเท็จจริง 2.ข้อกฎหมาย และ 3.ความเห็น อย่างไรก็ตามหากคู่กรณีไม่มาตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง เช่น การแถลงเปิดคดีนายสมศักดิ์ไม่ได้เดินทางมา กรรมาธิการก็จะสรุปว่ามีคำถามประเด็นใดบ้าง แต่จะไม่อ่านเนื้อหารายละเอียด ซึ่งผู้ที่ไม่มา ยังมีโอกาสที่จะรวบรวมคำถามในประเด็นดังกล่าวเพื่อมาแถลงปิดคดีก่อนที่จะลงมติถอดถอนได้
นายสมชาย กล่าวว่า ที่ประชุมกรรมาธิการซักถามคดีนางสาวยิ่งลักษณ์ มีมติตั้ง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นประธาน โดยขณะนี้ สนช.ได้ยื่นญัตติซักถาม 13 ราย ซึ่งเป็นคำถามต่อ ป.ป.ช.จำนวน 23 คำถาม และถามนางสาวยิ่งลักษณ์ 60 คำถาม ทั้งนี้จะพิจารณาแยกคำถาม โดยแบ่งเป็นประเด็นให้ชัดเจนเรียงลำดับเหตุการณ์และจัดกลุ่มคำถาม ส่วนที่อยู่นอกเหนือประเด็น หรือซ้ำก็จะตัดออกไป อย่างไรก็ตามคำถามที่สนช.ได้ยื่นญัตติถือเป็นความลับ ห้ามสมาชิก ข้าราชการ หรือสื่อนำไปเปิดเผย หรือเผยแพร่ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นความผิด
แย้มแนวคำถาม"ยิ่งลักษณ์-นิคม-ป.ป.ช."
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นคำถามที่ สนช.จะซักถามนางสาวยิ่งลักษณ์ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการขอทราบความชัดเจนเรื่องตัวเลขการขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวว่า มียอดการขาดทุนที่แท้จริงเป็นจำนวนเท่าใด เหตุผลที่ไม่สั่งยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว ภายหลังจากรับทราบความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงการวางแนวทางกลไกป้องกันการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวว่า มีความรัดกุมเพียงใด
ขณะที่คำถามคดีถอดถอนนายนิคมและนายสมศักดิ์ ส่วนใหญ่จะซักถามนายนิคมและนายสมศักดิ์ เรื่องการทำหน้าที่ระหว่างการทำหน้าที่ประธานควบคุมการประชุม เรื่องการเปลี่ยนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาใช้แทนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการเข้าชื่อเสนอมา และซักถามป.ป.ช.เรื่องข้อกฎหมายที่จะใช้ดำเนินการเอาผิดในกรณีดังกล่าว เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่มีผลบังคับใช้แล้ว
พท.ขู่ฟ้องศาลอาญาหากถูกถอดถอน
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวว่า นับจากวันที่มีการยุบสภา รัฐธรรมนูญถูกฉีกทิ้งแล้ว ทำให้มาตรา 270 และมาตรา 274 ที่ว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องถูกยกเลิกไปด้วย ดังนั้น สนช.จึงไม่มีอำนาจในการพิจารณา และไม่สามารถนำกฎหมายอื่นมาอ้างได้ เพราะการถอดถอนเป็นบทลงโทษ หากจะนำมาใช้ต้องระบุให้ชัดเจนว่าเป็นกฎหมายฉบับใด มาตราใด
ส่วนการตีความตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ที่ระบุให้ สนช.ทำหน้าที่แทน ส.ส.และ ส.ว.นั้น เป็นการให้อำนาจเฉพาะเรื่องทั่วไป เช่น การกลั่นกรองกฎหมาย แต่การถอดถอนด้วยอำนาจพิเศษต้องมีกฎหมายระบุไว้ชัดเจน ไม่สามารถอ้างประเพณีการปกครองได้
"ยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราทำตามช่องทางทำตามเอกสิทธิ ใครจะฟ้องร้องมิได้ และหากมีการถอดถอน เราจะไม่ยอมรับและจะฟ้องร้องต่อศาลอาญาแน่นอน"
"ประยุทธ์"ขอสื่อมุ่งสนใจเนื้อหาคดีถอดถอน
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นห่วงว่าวันนี้สังคมให้ความสำคัญเฉพาะเรื่องการเมือง ไม่ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจ และกลับมาถามว่าทำถึงไหน แต่เวลารายงานชี้แจงกลับไม่ได้สนใจ อย่างเช่นปัญหาในสนช.ท่านอยากให้ความมั่นใจกับทุกส่วนจากกรณีที่สื่อมวลชนถามนายกฯ ว่ามีการตีความเรื่องอำนาจในการรับเรื่องถอดถอน ก็ยืนยันว่าแม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ได้เขียนเอาไว้ตรงๆ ว่าให้มีอำนาจในการถอดถอน แต่ได้เขียนเอาไว้ว่าสนช.ปฏิบัติหน้าที่ในนามวุฒิสภา ก็มีความชัดเจนแล้วที่สนช.จำเป็นต้องรับเรื่องที่มีการเสนอเข้ามาโดยป.ป.ช. ถ้าไม่รับถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯย้ำว่าอยากให้สังคมให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระที่ป.ป.ช.เสนอเข้ามาว่าสาระคืออะไร ผู้ที่เกี่ยวข้องคือผู้นำรัฐบาลเป็นผู้กำหนดนโยบายแต่ละเรื่อง และมีความเสียหายเกิดขึ้นซึ่งสังคมประจักษ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้าวเสีย การซื้อข้าว หรือการรับจำนำในราคาที่สูงและบิดเบือนกลไกตลาด และจะไปขายในราคาที่ต่ำกว่า หรือจะไปรอว่าวันหนึ่งราคาในตลาดโลกจะสูงเท่าราคาที่รับจำนำมันเป็นไปได้หรือไม่ และข้าวยิ่งเก็บไว้นานยิ่งเสื่อมคุณภาพ จะหยุดนโยบายเหล่านั้นเพื่อหยุดความเสียหายได้หรือไม่ นั่นคือเรื่องที่ป.ป.ช.เขาเสนอ ส่วนนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ชี้แจงว่าตั้งใจเข้ามาทำหน้าที่เพื่อดูแลชาวนาไม่ตั้งใจทุจริต
“จึงอยากให้สังคมสนใจเนื้อหาสาระที่ป.ป.ช.เขายื่นอะไร เขาร้องเรื่องอะไร นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตอบตรงคำถามไหม ถ้าตอบตรงคำถามสนช.เขาก็เทคะแนนให้ ถ้าตอบไม่ตรงคำถามเขาก็เทคะแนนให้กับป.ป.ช. อยากให้สนใจตรงนี้”
กมธ.ยกเลิกโทษยุบพรรคการเมือง
ด้านความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรานั้น ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาในหลักการของการกำหนดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 68 ซึ่งได้ตัดความในส่วนของการยุบพรรคการเมืองออกไป เพื่อให้เกิดการสมดุลตามหลักการพื้นฐานในโลกที่คุ้มครองระบอบประชาธิปไตย โดยจุดสมดุลที่ว่าคือตัดส่วนของการยุบพรรคการเมืองออกไป เนื่องจากการยุบพรรคการเมืองถือเป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาอีกทั้งเป็นประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งของฝ่ายต่างๆ ที่รุนแรง