วันพุธ, มกราคม 28, 2558

น่าเศร้า...ความหวังดีของคนๆหนึ่งถูกตีความไปอีกอย่างหนึ่ง..."ซัลมาน": คำพิพากษาและการลาจาก...112 the series


ที่มา ILAW

112 the series

"ซัลมาน": คำพิพากษาและการลาจาก

ภาพลักษณ์ของนักโทษคดี112 ที่คนส่วนหนึ่งในสังคมมักจินตนาการถึงคือ "ฮาร์ดคอร์เสื้อแดง" หรือ "ขบวนล้มเจ้า" ภาพลักษณ์เช่นนี้ทำให้หลายคนเลือกมองประเด็นในคดีมาตรา 112 ไปตามแนวความคิดของฝักฝ่ายการเมืองที่ตนเองสังกัด ทั้งที่นักโทษคดี112 ที่กล้ายืนยันว่ารักและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ และไม่ใช่คนที่สนใจหรือเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ได้มีแค่ "อากง" เพียงคนเดียว

ผมพบ "ซัลมาน" ครั้งแรกช่วงเดือนกันยายน 2556 ที่ห้องเยี่ยมของเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ขณะนั้น "ซัลมาน" เพิ่งเข้าเรือนจำได้ไม่นาน หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำคุกเขาด้วยมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพราะไปโพสต์ข่าวลือไม่เป็นมงคลในเว็บบอร์ดของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง ครั้งแรกที่พบกัน ผมเห็นหน้า "ซัลมาน" ไม่ชัดนัก เพราะเขาสวมหน้ากากเพราะกำลังป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ เท่าที่รู้คือเขาเป็นชายร่างสูง ผิวคล้ำ และตากลมโตสไตล์ชาวอาหรับ ส่วนผมบนศีรษะก็สั้นเกรียนเหมือนผู้ต้องขังคนอื่นๆ

การสนทนาระหว่างเราไม่ราบรื่นนัก เพราะมีพลาสติกแผ่นหนากั้นกลาง แถมยังมีอุปสรรคทางภาษา ไม่ว่าจะภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ "ซัลมาน" ก็พูดกระท่อนกระแท่นพอๆกัน

ภรรยาของเขา เล่าให้ผมฟังภายหลังว่า "ซัลมาน" เข้ามาเมืองไทยครั้งแรกในฐานะนักท่องเที่ยว เขาชอบประเทศไทยจึงเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างประเทศไทยกับซาอุดิอาระเบียหลายครั้ง จนกระทั่งได้พบกับคนที่เขารักและตัดสินใจแต่งงาน เขาจึงลงหลักปักฐานที่จังหวัดหนึ่งในภาคเหนือซึ่งเป็นบ้านของภรรยาจนมีลูกด้วยกันคนหนึ่ง เมื่อตั้งถิ่นฐานในเมืองไทย เขาเลี้ยงชีพด้วยการซื้อขายหุ้น แม้ว่า "ซัลมาน" จะแต่งงานและอยู่กินกับภรรยาชาวไทย แต่เขายังคงต้องเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างประเทศไทยกับแผ่นดินเกิดเช่นเดิม เพราะต้องไปเยี่ยมแม่ที่ชราและป่วย

ภรรยาของเขาเล่าต่อว่า "ซัลมาน" เป็นคนที่มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เขาเคยบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อสร้างมัสยิด เคยเลี้ยงอาหารคนยากจนหลายครั้ง รวมทั้งเคยสละเวลาไปสอนภาษาอาหรับให้กับชุมชนหรือโรงเรียนที่ต้องการด้วย โดยบอกว่ามาอยู่เมืองไทยก็ต้องทำอะไรเพื่อประเทศไทยบ้าง

โดยปกติ "ซัลมาน" ไม่ใช่คนที่สนใจการเมือง และ ไม่เคยไปร่วมชุมนุมทางการเมืองไม่ว่ากับกลุ่มใด อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเผยแพร่ข่าวลืออันไม่เป็นมงคลในโลกออนไลน์ช่วงปลายปี 2553 ซึ่งร้ายแรงพอที่จะทำให้หุ้นตกกว่า 10% ในวันเดียว "ซัลมาน" ในฐานะนักลงทุนที่เกือบหมดตัว จึงต้องเช็คข่าวจากเว็บไซต์ต่างประเทศรวมทั้งวิกิลีกส์อย่างกระวนกระวายเพราะกลัวการลงทุนผิดพลาด

เมื่อเห็นข่าวลือจากเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ เขาเข้าใจว่าเป็นเรื่องจริง จึงโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ดของบริษัทหลักทรัพย์ที่เขาเล่นประจำเป็นภาษาอังกฤษ สะกดแบบผิดๆ ถูกๆ เพื่อเตือนให้เพื่อนนักลงทุนชะลอการลงทุนออกไป เพราะไม่อยากให้ใครต้อง "เจ็บตัว" เหมือนเขา

ตัวเขาและคนในครอบครัวคงไม่คาดคิดว่า ความหวังดีในวันนั้นกลับเป็นเหตุให้ชีวิตของชายชาวต่างชาติ ที่รักประเทศไทย รักคนไทย และรักพระมหากษัตริย์ไทย ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

ภรรยาของเขาเล่าให้ผมฟังว่า เธอรู้สึกเหมือนเป็นเรื่องตลกร้ายที่ "ซัลมาน" ผู้ัที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันเบื้องสูงมาโดยตลอด ต้องถูกดำเนินคดีหมิ่นสถาบัน ก่อนหน้านี้ "ซัลมาน" เคยพาภรรยาและลูกน้อยเดินทางจากบ้านในภาคเหนือลงมาถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช และเคยส่งโปสการ์ดไปถวายพระพรเนื่องในวันพระราชสมภพด้วย ภรรยาของ "ซัลมาน" ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า แม้คนไทยจะรักสถาบัน แต่ก็คงมีคนจำนวนไม่มากนัก ที่จะเดินทางมาถวายพระพรอย่างจริงจัง โดยเฉพาะคนที่อยู่ไกลๆ

ในชั้นศาล "ซัลมาน" พยายามต่อสู้ว่า เขาไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ แต่โพสต์ข้อความดังกล่าวเพื่อเตือนนักลงทุนคนอื่นเท่านั้น เพราะเข้าใจว่านั่นคือข่าวจริง "ซัลมาน" รู้ภาษาไทยไม่มากนัก จึงไม่สามารถยืนยันข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศ กับข่าวของทางการไทยได้ "ซัลมาน" ยังชี้แจงต่อศาลด้วยว่า ตัวเขาเป็นผู้จงรักภักดี เคยเดินทางมาถวายพระพรที่โรงพยาบาล และยังบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะอยู่บ่อยๆ เพื่อทดแทนคุณของแผ่นดินไทย อย่างไรก็ตาม ข้อต่อสู้ของ "ซัลมาน" ก็เป็นเหมือนบูมเมอแรงที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเขาเอง

ในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลให้เหตุผลไว้ทำนองว่า จำเลยเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย มีภริยาเป็นคนไทย ยกย่องเทิดทูนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาโดยตลอด จำเลยย่อมทราบดีถึงฐานะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ การที่จำเลยนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อความซึ่งไม่เป็นความจริง และข้อความดังกล่าวเป็นข้อความที่มิบังควร ทั้งเป็นข้อความที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท จึงเป็นการลบหลู่พระเกียรติยศชื่อเสียงขององค์พระมหากษัตริย์ ถือเป็นการดูหมิ่น "ซัลมาน" ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี แต่ได้รับการลดโทษ 1 ใน 3 เหลือ 2 ปี

ช่วงเวลาแรกๆ ในเรือนจำภรรยาของ "ซัลมาน" กระเตงลูกวัย 5 ขวบ จากภาคเหนือมาเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆเรือนจำ เบื้องต้น "ซัลมาน" และภรรยาตั้งใจจะสู้คดีต่อในชั้นฎีกา แต่เพราะเขามีปัญหาสุขภาพและไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างต่อสู้คดีในชั้นฎีกา สุดท้ายครอบครัวจึงตัดสินใจถอนฎีกาและยื่นขอพระราชทานอภัยโทษโดยเร็วที่สุด "ซัลมาน" ได้รับการปล่อยตัวในเดือนมกราคม 2557 รวมระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำ 206 วัน

หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ ครอบครัวของ "ซัลมาน" ยังคงต้องเผชิญกับมรสุม เพราะตามกฎหมายคนเข้าเมืองของไทย ชาวต่างชาติที่ต้องโทษจำคุกถือเป็นบุคคลอันตราย จะต้องเดินทางออกนอกประเทศทันทีที่พ้นโทษ "ซัลมาน" จึงต้องถูกสั่งห้ามเข้าประเทศอย่างน้อย 5 ปี "ซัลมาน" ภรรยา และลูกน้อย ต้องเทียวไปเทียวมาระหว่างกรุงเทพกับบ้านที่ภาคเหนือ เพื่อติดต่อขอผ่อนผันการอยู่ต่อในราชอาณาจักรเดือนละครั้ง

ผมพบกับ "ซัลมาน" ครั้งแรกหลังเขาออกมาจากเรือนจำ ประมาณปลายเดือนเมษายน 2557 ระหว่างที่เขามากรุงเทพเพื่อยื่นเรื่องขอผ่อนผัน บทสนทนาโดยไม่มีแผ่นพลาสติกหนากั้นขวางทำให้การสื่อสารด้วยภาษาอันกระท่อนกระแท่นนั้นลื่นไหลกว่าเดิมมาก ระหว่างการสนทนา ผมสัมผัสได้ถึงความรู้สึกยอมรับในโชคชะตาของครอบครัว แต่ก็รู้สึกได้ว่าพวกเขายังแอบมีความหวังอยู่บ้างที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตาด้วยกันพ่อแม่ลูกต่อไป แม้จะดูเลือนรางก็ตาม

ในวันนั้นเราสนทนากันนานพอควร หลังอัพเดทเรื่องราวชีวิต คดีความ และสิทธิการเข้าเมืองเรียบร้อย ผมต้องขอตัวกลับบ้านก่อนเพราะภารกิจหน้าที่การงานรุมเร้า ขณะที่เพื่อนร่วมวงสนทนาอีกคนหนึ่งไปรับประทานอาหารค่ำกับ "ซัลมาน" และครอบครัวตามคำเชิญของเขา

ปาฏิหารย์ไม่ลอยมาง่ายๆ เสมอไป การผ่อนผันสิ้นสุดลงในเดือน พฤษภาคม 2557 

จากปากคำของภรรยา ในวันที่ "ซัลมาน" เดินทางออกนอกประเทศ เขาถูกสวมกุญแจมือระหว่างอยู่บนรถของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองราวกับเป็นอาชญากร

ถึงวันนี้ก็เป็นเวลาเกินครึ่งปีแล้วที่ครอบครัว "ซัลมาน" ต้องพลัดพรากจากกัน ผมแอบหวังว่าครอบครัวของเขาจะได้กลับมาอยู่กันพร้อมหน้าในเร็ววัน พร้อมๆกับนึกเสียดายว่าผมน่าจะตอบรับคำเชิญไปทานข้าวกับเขาในการพบกันครั้งสุดท้าย เพราะนั่นคงจะทำให้ผมได้รู้จักกับชายชื่อ "ซัลมาน" มากขึ้น