วันพุธ, มกราคม 28, 2558

ทำไมประชาชน ทุกคน ทุกสี ทุกฝ่าย ทุกแนวคิดทางการเมือง ฯลฯ จึงควรค้าน ชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล ??!!



หยุดชุดกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล”

เครือข่ายพลเมืองเน็ต


หยุดดักฟัง หยุดชุดกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล” -- จะส่งเสริมเศรษฐกิจยุคข้อมูลข่าวสารได้ ต้องส่งเสริมการคุ้มครองข้อมูลข่าวสารเสียก่อน

เร็วๆ นี้มีการเสนอร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีการสื่อสารหลายฉบับอย่างต่อเนื่อง โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการไปแล้ว 10 ฉบับ และยังรอพิจารณาในขั้นตอนต่างๆ อีกอย่างน้อย 3 ฉบับ

พวกเราประชาชนดังที่ลงชื่อ เป็นห่วงว่าชุดกฎหมายทั้ง 10+3 ฉบับดังกล่าว ที่แม้บางส่วนจะเป็นประโยชน์ แต่ในภาพรวมแล้ว ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและผู้ประกอบการในหลายด้าน ผูกขาดการเข้าถึงทรัพยากร ไม่ได้ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลดังที่กล่าวอ้าง และมีลักษณะเหมือนกฎหมาย “ความมั่นคงดิจิทัล” เสียมากกว่า โดยมีข้อสังเกตดังนี้

ชุดกฎหมายเหล่านี้โดยเนื้อแท้ ไม่ใช่กฎหมาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” แต่เป็นชุดกฎหมายความมั่นคง ที่ให้อำนาจอย่างกว้างขวางกับหน่วยงานและพนักงานเจ้าหน้าที่

ชุดกฎหมายเหล่านี้ โดยเฉพาะร่างกฎหมาย 8 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในวันที่ 6 ม.ค. 2558 ถูกเสนออย่างเร่งรีบ ไม่อยู่ในวาระประชุมปกติ กระทั่งหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็ไม่เคยเห็นร่างมาก่อน จนน่าสงสัยว่าชุดกฎหมายที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจในวงกว้างเช่นนี้ มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาละเอียดรอบคอบเพียงพอหรือไม่

มีร่างกฎหมายใหม่และแก้ไขเพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ฉบับ (ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-มั่นคงไซเบอร์-ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์-ปราบปรามสิ่งยั่วยุ-วิธีพิจารณาความอาญา) ที่อนุญาตให้รัฐค้น ยึด อายัด ขอ เข้าถึง และดักรับข้อมูลได้ โดยไม่มีกลไกการพิจารณาตรวจสอบใดๆ จากหน่วยงานตุลาการที่เชื่อถือได้ หรือบางกรณีที่มีก็ไม่ชัดเจนเพียงพอ เป็นการคุกคามเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และกระทบต่อความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจด้านข้อมูลข่าวสาร

ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ทำลายความเป็นองค์กรอิสระของหน่วยงานกำกับกิจการ และฉวยโอกาสดึงคลื่นความถี่กลับมาอยู่ในมือรัฐบาลและกองทัพเหมือนสมัยก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำลายหลักการที่ว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และทำลายกลไกการแข่งขันเสรีเป็นธรรม

กองทุนที่มาจากค่าใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่และค่าธรรมเนียม ถูกเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปจากเดิมเป็นอย่างมาก จากเดิมเป็นกองทุนวิจัยพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ส่งเสริมการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ส่งเสริมจริยธรรมการประกอบวิชาชีพ ส่งเสริมการเข้าถึง ส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส) กลายเป็นกองทุนเพื่อให้รัฐและเอกชนกู้ยืม

ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ไม่แก้ปัญหาธรรมาภิบาลในการใช้งบประมาณและการใช้อำนาจ ซ้ำยังมีร่างกฎหมายใหม่ในชุดที่จะสร้างหน่วยงานที่มีโครงสร้างงบประมาณและการบริหารที่อาจเกิดปัญหาคล้ายกันขึ้นอีก 3 หน่วยงาน นอกจากนี้ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยงานใหม่เหล่านี้จะมีความรับผิดตามกฎหมายอย่างไร มีกลไกร้องเรียนตรวจสอบได้ทางไหน

ร่างกฎหมายทั้งหมดขาดกลไกคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิผู้บริโภคที่ชัดเจนอีกทั้งคณะกรรมการชุดต่างๆ ก็ไม่มีการรับประกันสัดส่วนจากผู้แทนด้านสิทธิ -- ที่เห็นชัดที่สุดคือคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตามร่างพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ตัดการรับประกันกรรมการด้านสิทธิและผู้บริโภคออกไป 3 ตำแหน่ง และเพิ่มกรรมการด้านความมั่นคงเข้ามา 2 ตำแหน่ง นอกจากนี้ยังใช้สำนักงานเลขานุการร่วมกับคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่ที่อาจขัดแย้งกัน จนทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลเป็นไปได้ยาก

ด้วยเหตุนี้ พวกเราประชาชนดังที่ลงชื่อ จึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่มีส่วนในการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 10+3 ฉบับ ตามรายชื่อด้านล่างนี้ ได้ทบทวนและระงับร่างกฎหมายที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำลายความเชื่อมั่นของการประกอบกิจการในเศรษฐกิจดิจิทัล
ooo

ตัวอย่าง
LETTER TO

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
คณะกรรมการกฤษฎีกา
สภาปฏิรูปแห่งชาติ

ขอให้ทบทวนร่างกฎหมายทั้ง 13 ฉบับที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล สื่อ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเหล่านี้ อย่างละเอียด และระงับร่างกฎหมายที่จะกระทบกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนและทำลายความเชื่อมั่นของการประกอบกิจการในเศรษฐกิจดิจิทัล ร่างกฎหมาย 13 ฉบับดังกล่าวได้แก่

1. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ….
2. ร่าง พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. [กำหนดให้มีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม]
3. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
4. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
5. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ….
6. ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. ….
7. ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. ….
8. ร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. ….
9. ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….
10. ร่าง พ.ร.ฎ.จัดตั้งสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

11. ร่าง พ.ร.บ.สภาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทย
12. ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา [เข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้ต้องสงสัย]
13. ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามสิ่งยั่วยุพฤติกรรมอันตราย [เข้าถึงข้อมูลข่าวสารผู้ต้องสงสัย กำหนดความรับผิดของผู้ให้บริการ]

Credit

เครือข่ายพลเมืองเน็ต


Jan 27, 2015 — ขอบคุณทุกคนที่ลงชื่อและชักชวนบอกต่อแคมเปญนี้ ตอนนี้เรามีเกิน 16,000 ชื่อแล้ว (หลังจากแผ่วๆ ไปในวันเสาร์อาทิตย์)
ooo


ถามมา-ตอบไป สำหรับคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมประชาชนทุกคนควรค้านชุดกฎหมายความมั่นคงดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง นกหวีด สลิ่ม ไม่มีสี ฯลฯ

ถาม: ถ้าไม่ได้ทำผิด จะต้องกลัวอะไร?
ตอบ: ง้ั้นพรุ่งนี้คุณส่งพาสเวิร์ดเฟซบุ๊ก โฟลเดอร์รูปภาพ อินสตาแกรม อีเมล อีแบงกิ้ง ฯลฯ ของคุณให้ตำรวจเลยดีไหม? ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด คุณก็ควรจะโอเคใช่ไหมถ้าตำรวจจะล้วงข้อมูลลับเหล่านี้ไป? ชุดกฎหมายนี้ให้อำนาจเขาทำอย่างนั้นโดยที่ไม่ต้องบอกเรา ไม่มีอำนาจศาลมาถ่วงดุล และเราไม่มีสิทธิทักท้วงหรือร้องเรียนใดๆ เลย

ถาม: เขาแก้กฎหมายไปจัดการพวกหมิ่นฯ ไม่เห็นคนอื่นต้องเดือดร้อน?
ตอบ: เจ้าหน้าที่มีอำนาจล้นฟ้าเพราะกฎหมายไม่กำหนดขอบเขตการใช้อำนาจที่ชัดเจน ดัก-แฮ็ก-ขอข้อมูลส่วนตัวของทุกคนได้โดยไม่ต้องขอหมายศาล ไม่ต้องบอกใคร ไม่มีกลไกรับผิด ต่อให้คุณเห็นด้วยกับนโยบายจับผู้กระทำผิดกฎหมายหมิ่นฯ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ใช้อำนาจในทางมิชอบ? ต่อให้เจ้าหน้าที่แค่ "พลาด" บังเอิญไปได้ข้อมูลส่วนตัวของเรามา ทั้งที่เราไม่ได้ทำผิดกฎหมายใดๆ แค่นี้เราก็ไม่มีทางรู้หรือร้องเรียนอะไรแล้ว อย่าว่าแต่จะฟ้องกลับ

ถาม: ฉันไว้ใจ คสช. เพราะเขาเจตนาดี ไม่ลุแก่อำนาจหรอกน่า
ตอบ: ต่อให้คุณไว้ใจ คสช. คุณไว้ใจผู้มีอำนาจคนอื่นๆ ที่ใช้อำนาจตามกฎหมายเหล่านี้ทุกคนไหม? ลำพังเจ้าหน้าที่ก็ดัก-แฮ็ก-ขอข้อมูลส่วนตัวได้แล้ว ลองคิดต่อไปว่า หลังจากที่ คสช. จัดการเลือกตั้ง บ้านเมืองกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย คุณจะไว้ใจผู้ครองอำนาจชุดถัดไปว่า จะใช้กฎหมายเหล่านี้อย่างมีวิจารณญาณ ไม่ใช้เล่นงานคู่ปรับทางการเมืองหรือไม่?

กฎหมายคือกฎหมาย ไม่ใช่คำสั่งเฉพาะกิจ ออกแล้วอยู่ไปอย่างถาวร ยุคนี้ไม่มีสภาปกติ ไม่มีฝ่ายค้าน ยากมากที่จะแก้กฎหมายเมื่อมันเข้า สนช. ไปแล้ว และการแก้กฎหมายก็เป็นเรื่องที่ยากเย็นแสนเข็ญมาทุกยุคทุกสมัย รวมพลังหยุดมันไว้ก่อนดีกว่า

ถาม: รัฐบาลนี้เป็นเผด็จการเต็มขั้น กฎอัยการศึกก็ยังอยู่ ค้านไปไม่มีประโยชน์หรอก
ตอบ: ไม่ลองก็ไม่รู้ ถ้าไม่มีกระแสต่อต้านจากหลายภาคส่วน ที่ปรึกษารองนายกฯ และ สพธอ. คณะยกร่างกฎหมายคงไม่ส่งสัญญาณถอย -- เราต้องรวมพลังกันกดดันและจับตาดูอย่างเข้มข้นต่อไป ไม่ให้เขาลักไก่ได้ง่ายๆ

ถาม: รัฐบาลหลายประเทศ อย่างอเมริกาก็สอดแนมเราอยู่แล้ว ต่อให้รัฐบาลออกกฎหมายชุดนี้มาก็ไม่แย่ลงหรอก
ตอบ: ลองถามตัวเองดูสิว่า ในฐานะคนไทย เราคิดว่าเจ้าหน้าที่ประเทศไหนจะอยากเอาข้อมูลเราไปใช้หาประโยชน์มากกว่ากัน -- เจ้าหน้าที่อเมริกันซึ่งอยู่ห่างจากเราข้ามทวีป หรือเจ้าหน้าที่ราชการไทย?

ถาม: ประเทศไทยโดนโจมตีจากแฮ็กเกอร์เป็นอันดับต้นๆ ในโลกเชียวนะ ต้องมีกฎหมายพวกนี้แหละดีแล้ว
ตอบ: ไม่มีใครปฏิเสธ "หลักการ" ของกฎหมาย แต่ประเด็นสำคัญอยู่ในรายละเอียด กฎหมายทุกฉบับจะต้องคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวและสิทธิผู้บริโภคของเรา ถ้าละเมิดสิทธิจะต้องละเมิดอย่าง "จำเป็นและได้ส่วน" (necessary and proportionate) กับระดับอันตราย แต่กฎหมายชุดนี้ไม่ได้เคารพในหลักการนี้เลย

เปรียบเสมือนกับรัฐอ้างว่า เครื่องบินสุ่มเสี่ยงที่จะมีผู้ก่อการร้าย ดังนั้นรัฐจะดักฟังการสื่อสารของผู้โดยสารทุกคนก่อนเดินทาง 1 เดือน และเมื่อมาถึงสนามบินจะต้องเดินแก้ผ้าขึ้นเครื่องบิน ไม่ใช่เดินผ่านเครื่องเอ็กซเรย์เฉยๆ

## ช่วยกันเผยแพร่แคมเปญ "หยุดชุดกฎหมาย "ความมั่นคงดิจิทัล"" ##

แชร์ลิงก์แคมเปญนี้ http://chn.ge/15CRmiu ให้กับเพื่อนๆ ญาติพี่น้อง และเพื่อนร่วมงาน ในช่องทางโซเชียลมีเดียของทุกคน ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ ฯลฯ

ตั้งกระทู้ชวนเพื่อนๆ พูดคุยประเด็นข้อกังวล ในเว็บบอร์ดกลุ่มของโรงเรียนหรือที่ทำงาน หรือในเว็บบอร์ดสาธารณะ โพสต์ลิงก์ข่าวที่เกี่ยวข้อง บทความวิเคราะห์ร่างกฎหมายจากที่ต่างๆ เพื่อเริ่มบทสนทนา และลิงก์กลับมาที่แคมเปญนี้ เพื่อชวนคนที่สนใจร่วมลงชื่อ

หรือใครจะลองวาดภาพ สร้างมีมล้อ หรือทำคลิปขำๆ เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ก็น่าจะสนุก

แสดงพลังสร้างสรรค์ของอินเทอร์เน็ต
การสื่อสารที่ปลอดภัยจงอยู่กับทุกคน smile emoticon

Credit
Sarinee Achavanuntakul




ooo

เตือนระวังภัยดักฟังข้อมูลทางไซเบอร์


ที่มา Voice TV

วสันต์ ลิ่วลมไพศาล จากเว็ปไซต์ข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ blognone" [บล็อค-นัน] แนะข้อควรระวัง หากมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติความมั่นคงไซเบอร์ และความพยายามดักฟังข้อมูลประชาชนโดยหน่วยงานความมั่นคง