วันเสาร์, กันยายน 07, 2567

ชวนอ่านอีกครั้ง "ภาวะคลุมเครือการตามหา 'ต้าร์-วันเฉลิม' ถึงเวลาเดินหน้ากระบวนการยุติธรรมฝั่งไทย-กัมพูชา.



วันผู้ลี้ภัยโลก: ภาวะคลุมเครือการตามหา “ต้าร์-วันเฉลิม” ถึงเวลาเดินหน้ากระบวนการยุติธรรมฝั่งไทย-กัมพูชา

20/06/2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ผ่านมาแล้ว 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ “ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมด้านประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ และผู้ลี้ภัยทางการเมืองในประเทศกัมพูชา ได้หายตัวไปที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563 ชะตากรรมของวันเฉลิมยังคงอยู่ในความคลุมเครือ ไม่ต่างกับการดำเนินการเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงที่ยังคงอยู่ในขั้นตอนการตั้งเรื่องก่อนการพิจารณาคดี เพื่อสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปทั้งของทางการไทยและทางการกัมพูชา

4 มิถุนายน 2564 สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิมสื่อสารถึงทางการไทยและกัมพูชาว่า “ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทั้งสองประเทศจะเดินหน้าตามมาวันเฉลิม พร้อมยอมรับว่าวันเฉลิมอยู่ในประเทศกัมพูชาก่อนหายตัวไป”

วันที่ 20 มิถุนายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้เป็น “วันผู้ลี้ภัยโลก” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนสรุปทบทวนถึงความ (ไม่) คืบหน้าล่าสุดของคดีการติดตามหาตัววันเฉลิม ผู้ลี้ภัยไทยที่ถูกบังคับสาบสูญไปในกัมพูชาคนนี้อีกครั้ง

ไร้การระบุถึงผู้กระทำ กัมพูชาเพียงตั้งข้อหา “การควบคุมตัว การกักขังที่มิชอบด้วยกฎหมาย และการครอบครองอาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาต” ในชั้นสอบสวนก่อนการพิจารณาคดี

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ผู้พิพากษาไต่สวน (Investigating Judge) ประจำศาลแขวงกรุงพนมเปญ ออกหมายเรียกให้สิตานัน พี่สาวของวันเฉลิมที่อยู่ที่ประเทศไทย มาปรากฏตัวต่อหน้าศาลที่ประเทศกัมพูชา เพื่อไต่สวนข้อมูลเกี่ยวกับการหายตัวไปของวันเฉลิม บริเวณ Mekong Garden Apartment อำเภอ Chroy Changva กรุงพนมเปญ

ในหมายเรียกระบุว่าการไต่สวนนี้เกี่ยวข้องกับข้อหา “การควบคุมตัว การกักขังที่มิชอบด้วยกฎหมายและการครอบครองอาวุธโดยไม่ได้รับอนุญาต” มาตรา 253 และมาตรา 490 ตามประมวลกฎหมายอาญาของกัมพูชา โดยยังไม่ได้ระบุถึงผู้กระทำการว่าหมายถึงผู้ใด ทำให้ผลการสืบสวนก่อนการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาไต่สวนเมื่อครั้งที่สิตานันเข้าพบ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563 และการจะทำความเห็นส่วนตัวเพื่อส่งเรื่องกลับไปให้พนักงานอัยการประจำศาลในพื้นที่ (Royal Prosecutor) ต้องจับตาว่ามุ่งเป้าหมายไปให้ถึงผู้ลงมือกระทำความผิดตามข้อหาที่ได้ตั้งไว้นี้หรือไม่



สิตานันยังเปิดโอกาสที่เหลืออยู่ให้กระบวนการยุติธรรมของกัมพูชา หาตัวผู้ลงมือกระทำว่าเป็นใคร ซึ่งจากหลักฐานที่เธอมีผู้กระทำ คือ กลุ่มคนติดอาวุธไม่ทราบชื่อ จำนวน 3-4 คน โดยบุคคลเหล่านี้สวมชุดดำ และใช้รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นไฮแลนด์เดอร์ สีน้ำเงินเข้มหรือดำ หมายเลขทะเบียนรถ 2X-2307 เป็นพาหนะในการลงมือตรงหน้าคอนโดที่น้องชายของเธออาศัยเพื่อลี้ภัยอยู่ในกรุงพนมเปญ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 และ 19 มกราคม 2564 สิตานันยังได้ยื่นคำร้องเพิ่มเติมถึงผู้พิพากษาไต่สวนของศาลแขวงกรุงพนมเปญ ให้มีการเรียกพยานบุคคลและพยานเอกสารที่จะสามารถระบุถึงผู้ลงมือกระทำและเหตุแวดล้อมอีกด้วย




เป็นที่น่าสังเกตว่า ในขณะที่การสืบสวนก่อนการพิจารณาคดีของศาลแขวงกรุงพนมเปญยังไม่สิ้นสุด รัฐบาลกัมพูชากลับมีหนังสือ 3 ฉบับ ตอบกลับถึงคณะกรรมการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บังคับบุคคลสูญหาย (CED) ของสหประชาชาติ ความโดยสรุปว่า การสอบสวนโดยทันทีของกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลกิจการด้านตำรวจแห่งชาติ พบว่าวันเฉลิมไม่มีรายชื่อเป็นผู้พักอาศัยในคอนโดที่อ้าง ขณะที่ทางการก็พยายามตามหาหลักฐานจากกล้องวงจรปิดที่อ้างว่าเป็นที่เกิดเหตุ ก็ไม่พบข้อสรุปว่ามีเหตุดังกล่าว พาหนะที่อ้างว่าใช้ก่อเหตุพบว่าไม่ได้จดทะเบียนไว้แต่อย่างใด และพยานบุคคลจำนวน 3 คน ที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณที่อ้างว่าเป็นที่เกิดเหตุ พวกเขายืนยันว่าไม่มีการลักพาตัวในบริเวณนั้น

การค้นหาความจริงระหว่างประเทศไทยและกัมพูชาในอนาคต จึงกลายเป็นต้องพิสูจน์ยืนยันความจริงอีกว่า มีการลักพาตัวเกิดขึ้นในประเทศกัมพูชาจริงด้วย

ไทยตั้งเป้าสอบ “วันเฉลิมอยู่ในกัมพูชาจริงหรือไม่ เหตุลักพาตัวเกิดขึ้นที่ใด” อัยการสูงสุดหรือดีเอสไอองค์กรใดเป็นเจ้าภาพ

วันที่ 2 มิ.ย. 2564 ครอบครัววันเฉลิมได้รับการยืนยันจาก พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งออกมาพบและรับหนังสือการติตตามความคืบหน้าจากสิตานันด้วยตนเองว่า ดีเอสไอกำลังอยู่ระหว่างตรวจสอบความเชื่อมโยง รวมทั้งเรื่องเอกสารต่างๆ เช่น พาสปอร์ต แต่ยังยืนยันไม่ได้ว่า วันเฉลิมสูญหายในต่างประเทศจริงหรือไม่

ดีเอสไอจึงยังไม่ได้รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ นับแต่เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 ที่ดีเอสไอรับเรื่องมาต่อจากอัยการสูงสุด และคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและบังคับให้หายสาบสูญ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

ในขณะที่ชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองโฆษกอัยการสูงสุด ชี้แจงแก่สิตานันในวันเดียวกันว่า การสอบสวนของพนักงานอัยการจะเกิดขึ้นเมื่อมีข้อเท็จจริงว่า การกระทำความผิดเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรไทย ซึ่งต้องรอผลการไต่สวนของศาลกัมพูชา โดยทางอัยการก็ยังไม่ชัดเจนว่า ขณะนี้ยังเป็นขั้นตอนการดำเนินการของศาลกัมพูชา หรือรอฟังคำสั่งของศาล

ความคลุมเครือในอำนาจหน้าที่ระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อตั้งคดีการค้นหาวันเฉลิมเป็นอุปสรรคที่สิตานันต้องเผชิญมาตั้งแต่ในช่วงต้นของการค้นหาตัวน้องชายต่อทางการไทย เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาของไทยในปัจจุบันยังไม่มีการบัญญัติความผิดข้อหาการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นการเจาะจงว่าเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรใด รวมทั้งมีประเด็นเรื่องความขัดกันของเขตอำนาจกระบวนการยุติธรรมไทยและกระบวนการยุติธรรมกัมพูชาว่าสิตานันจะเลือกให้ประเทศใดดำเนินการ

ในขณะที่สิตานันมั่นใจว่าน้องชายของเธอหายตัวไปขณะที่อาศัยอยู่ที่ประเทศกัมพูชา โดยถูกบังคับให้สูญหาย ถูกประทุษร้าย ถูกทำร้ายร่างกาย หรือถูกทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ อันเข้าข่ายเป็นคดีที่มีโทษตามกฎหมายไทยที่ได้กระทำการนอกราชอาณาจักรไทย หรือคดีนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ประกอบมาตรา 20 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อัยการสูงสุดจึงควรเป็นเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวนการหายตัวไปของวันเฉลิม สิตานันจึงไปยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุดไว้ตั้งแต่ 23 มิถุนายน 2563 รวมถึงไปให้ข้อเท็จจริงและส่งหนังสือยืนยันข้อเท็จจริงอีกหลายครั้ง

ด้วยความซับซ้อนของคดี พยานหลักฐานอยู่ในต่างประเทศ และเพื่อให้เกิดการอำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ไทยดำเนินการระหว่างประเทศได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สิตานันจึงตัดสินใจเข้ายื่นหนังสือต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษให้รับคดีของวันเฉลิมเป็นคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2563 เพิ่มเติม

ตามมาตรา 21 พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2557 ซึ่งกล่าวถึงคดีพิเศษว่าเป็นคดีทางอาญาที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ เป็นคดีที่มีความซับซ้อนและต้องมีการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานเป็นพิเศษ, เป็นคดีที่มีผลกระทบต่อความสงบ เรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความมั่นคงของประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, เป็นการกระทำความผิดข้ามชาติที่สำคัญ, คดีที่มีผู้ทรงอิทธิพลที่สำคัญเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน และคดีที่มีพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ต้องหา

เมื่อระยะเวลาล่วงเลยมาได้ครบปีที่น้องชายสิตานันหายตัวไป สิตานันกลับมาพบความจริงว่าทั้งอัยการสูงสุดและดีเอสไอส่งเรื่องไปมาระหว่างองค์กรในหลายคราว

วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 กรมสอบสวนคดีพิเศษออกคำชี้แจงว่ากรณีวันเฉลิมนั้น เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุดในการทำคดีนอกราชอาณาจักร แต่แล้วในช่วงธันวาคม 2563 อัยการสูงสุดได้ข้อสรุปว่ายังไม่สามารถสรุปได้ว่าการหายตัวไปของวันเฉลิมเกิดขึ้นที่กัมพูชาหรือไม่ และยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าวันเฉลิมถูกกระทำตามข้อหาดังกล่าวหรือไม่

เรื่องของวันเฉลิมจึงถูกส่งกลับไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการเพื่อหาข้อเท็จจริง โดยทางกรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 และตั้งเป้าหมายการดำเนินการถึงการมีอยู่ของวันเฉลิมในกัมพูชา และเหตุการณ์ลักพาตัวเกิดขึ้นที่ใด

การส่งเรื่องกลับไปมาของทางอัยการสูงสุดและกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังคงเป็นเหมือนการรับไม้ส่งกันไปมา สร้างความคลุมเครือในอำนาจการสืบสวนสอบสวนของทั้งสององค์กรในคดีการบังคับบุคคลให้สูญหาย แสดงให้เห็นช่องว่างของการที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับกรณีบังคับสูญหายโดยตรง และที่สะท้อนถึงการขาดการสืบหาชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิมอย่างแท้จริง

ตัวตนและที่อยู่ของวันเฉลิมในประเทศกัมพูชา ข้อเท็จจริงที่ไทย-กัมพูชารับทราบมาโดยตลอด สิตานันยื่นหลักฐานหนักแน่นเป็นทางการ

8 ธันวาคม 2563, 19 มีนาคม 2564 และ 25 มีนาคม 2564 คือ วันและปีที่สิตานันเข้าให้ข้อมูลและยื่นหลักฐานสำคัญยืนยันความมีตัวตนและที่อยู่ของวันเฉลิมต่อศาลแขวงกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และสำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในประเทศไทย ตามลำดับ เอกสารสำคัญประกอบด้วย

1. หนังสือเดินทางไทย ชื่อ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ วันที่ออก 17 JUL 2013 วันที่หมดอายุ 16 JUL 2018

2. หนังสือเดินทางกัมพูชา ชื่อ SOK HENG ภาพนายวันเฉลิม วันที่ออก 21 AUG 2015 วันที่หมดอายุ 21 AUG 2025

3. หนังสือบันทึกข้อความ ของ กก.3 บก.ปอท. ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2561 รายงานผลการสืบสวน ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กชื่อ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษินแน่ๆ” ซึ่ง กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เคยดำเนินคดีกับเพจนี้ ตามคดีอาญาที่ 55/2560 น่าเชื่อว่า นายวันเฉลิมเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กดังกล่าว

พ.ต.ท.พันธุ์ล้าน ปฐมพรวิวัฒน์ สว.กก.3 บก.ปอท. ได้ดำเนินการสืบสวนข้อมูลเพิ่มเติม กรณีถิ่นที่อยู่น่าเชื่อว่า นายวันเฉลิมหลบหนีอยู่ต่างประเทศ รายละเอียดตามภาพ ที่ระบุข้อความว่า

ภาพที่ 1. ใช้รถแท็กซี่ทะเบียน 25-8194

ภาพที่ 2. ภาพและข้อความว่า Mekong Garden Apartment & Condo

ภาพที่ 3. แผนที่ Mekong Garden Apartment & Condo ตัวเมืองพนมเปญ

ภาพที่ 4. สภาพทางเข้า Mekong Garden Apartment & Condo

ภาพที่ 5. มีข้อความว่า วันที่ 15 กุมพาพันธ์ 2559 รถแท็กซี่กลับมาที่ Mekong Garden

4. รายงานผลการสอบสวนความผิดซึ่งมีโทษตามกฏหมายไทยได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ หรือ บก.ปอท. ส่งถึงอัยการสูงสุด ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2563 ระบุว่า
  • จากการที่ พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ บก.ปอท. ให้ดำเนินคดีกับเฟซบุ๊กเพจ “กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ๆ” ตามความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฐานทำให้เสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ
  • ปอท. ได้สอบสวนรวบรวมหลักฐานในคดีนี้ทราบว่า ผู้ดูแลระบบดังกล่าว คือ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หมายจับ ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2561 โดยผู้ต้องหามีถิ่นที่ประเทศกัมพูชา และไม่มีข้อมูลการเข้าประเทศ จึงเชื่อว่า การกระทำความผิดดังกล่าวได้กระทำนอกราชอาณาจักรไทยและเกี่ยวข้องกับราชอาณาไทย ซึ่งการกระทำความผิดที่มีโทษตามกฏหมายไทยได้กระทำนอกราชอาณาจักรไทย เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20
6. เอกสารคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 44/2557 ที่มีชื่อ นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ต้องเข้ารายงานตัวต่อ คสช.



สิตานันได้ค้นหาข้อเท็จจริงเหล่านี้ แจ้งให้หน่วยงานรัฐทั้งสองฝั่งทราบ และเคยให้สัมภาษณ์ว่า พยานหลักฐานเหล่านี้มีความครบถ้วน ว่าทางการไทยรู้อยู่ตลอดมาวันเฉลิมนั้นลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในกัมพูชา ขึ้นอยู่ว่าทางการไทยจะมองอย่างไร การไปยื่นต่อดีเอสไอ ทางดีเอสไอบอกว่า 6 เดือนจะให้คำตอบ เราจึงต้องติดตามว่า เขาปฏิบัติด้วยความจริงใจหรือไม่อย่างไร

“หลักฐานการติดตามตัวนั้น ทางการไทยจะปฏิเสธการรู้เห็นไม่ได้ หน่วยงานติดต่อกัน ระบุว่า วันเฉลิมอยู่กัมพูชา เราเชื่อว่า ทางการไทยและกัมพูชา ทราบว่า ไม่ว่าจะทางนิตินัย พฤตินัย ต้องขอเอกสาร ทางต.ม. สายการบิน ตรวจสอบได้ ทางกัมพูชาน่าจะมีเอกสารเข้าออก ซึ่งเรามีแต่สำเนาในการจองตั๋ว แต่เราไม่พบพาสปอร์ต เพราะเราเข้าห้องพักของวันเฉลิมไม่ได้ เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้าไป”

ภาวะคลุมเครือในอำนาจหน้าที่การตามหาวันเฉลิมของทางการไทย การปฏิเสธข้อเท็จจริงที่เป็นจุดเกาะเกี่ยวเหตุการณ์ในกัมพูชาต่อเวทีโลก และความล่าช้าในกระบวนการสืบสวนสอบสวนก่อนการพิจารณาคดีของทางการกัมพูชาที่ขัดแย้งกับหลักฐานที่ปรากฎต่อสาธารณะอย่างไม่น่าเชื่อ ทำให้ชะตากรรมและที่อยู่ของวันเฉลิมยังเป็นความคืบหน้า ที่ (ไม่) คืบหน้า

การสืบสวนสอบสวนอย่างแท้จริงต่อกรณีวันเฉลิม หาตัวผู้กระทำการและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นจุดเริ่มต้นของความปลอดภัยของผู้ลี้ภัยทางการเมืองไทยที่จำใจต้องออกจากประเทศด้วยเหตุผลเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และการตามหาความจริงจะเป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งว่าในภูมิภาคเอเชียนี้จะปลอดจากการบังคับอุ้มหายได้หรือไม่


(https://tlhr2014.com/archives/31029)

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง:

ดีเอสไอยังไม่รับเป็นคดีพิเศษ: 1 ปี บังคับสูญหาย “วันเฉลิม” – 2 ปี “สยาม”
Brief: Missing In Cambodia – An Update สรุปงานเสวนาอัพเดตกรณีอุ้มหาย “ต้าร์” วันเฉลิม
พี่สาวยืนยันจะให้การต่อตุลาการผู้ไต่สวนคดี กรณีบังคับสูญหาย “วันเฉลิม” ณ ศาลกรุงพนมเปญ
4 สิ่งควรรู้ในคดี “วันเฉลิม” ก่อนสิตานันเข้าพบผู้พิพากษาไต่สวนที่กรุงพนมเปญ
เปิดหนังสือไทย-กัมพูชา ตอบกลับกลไกยูเอ็น ยังไร้ร่อยรอยชะตากรรมวันเฉลิม
เมื่อ พ.ร.บ.อุ้มต้องไม่หาย แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรในสังคมที่การบังคับสูญหายไม่เป็นความผิดทางอาญา
“รัฐอาชญากร ใน อาชญากรรมรัฐ”: 1 ปี การอุ้มถูกอุ้มหายของ “วันเฉลิม” มองผ่านมุมอาชญาวิทยา
จาก ‘ผู้ถูกกระทำ’ สู่ ‘ผู้กระทำการ’: การก้าวผ่านของครอบครัวเหยื่อผู้ถูกบังคับให้สูญหาย