วันเสาร์, กันยายน 07, 2567

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผย มีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่ต้องการปิดปากและเซ็นเซอร์ไม่ให้งานดังกล่าวมีการพูดถึงหรือแม้แต่จัดแสดงนิทรรศการถึงกรณีเคสผู้ถูกบังคับสูญหายที่เป็นคนไทย และในเวลาต่อมามีการระบุชื่อกรณีอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ผู้จัดงานมีการพูดถึงหรือจัดแสดงกรณีของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์”


Cross Cultural Foundation (CrCF)
9 hours ago
·
การจัดงานเสวนาเรื่อง “แล้วเธอจะปลอดภัยที่ปลายทาง: ยุติการอุ้มหาย รับมือภัยปราบปรามข้ามชาติ” (Justice has no Boundary: Uniting Against Enforced Disappearance and Confronting Transnational Repression) เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะองค์กรร่วมจัดขอเรียนให้ทราบว่า มีความพยายามจากหลายหน่วยงานที่ต้องการปิดปากและเซ็นเซอร์ไม่ให้งานดังกล่าวมีการพูดถึงหรือแม้แต่จัดแสดงนิทรรศการถึงกรณีเคสผู้ถูกบังคับสูญหายที่เป็นคนไทย และในเวลาต่อมามีการระบุชื่อกรณีอย่างชัดเจนว่าไม่ต้องการให้ผู้จัดงานมีการพูดถึงหรือจัดแสดงกรณีของ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” ผู้ลี้ภัยและนักกิจกรรมทางการเมืองไทย ถูกบังคับให้สูญหายในประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2563
.
ความพยายามในการกดดันไม่ให้พูดถึงกรณีอุ้มหายคนไทย และการเจาะจงไปที่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นั้นมีปรากฏให้เห็นชัดในวันที่ 3 กันยายน 2567 สองวันก่อนถึงวันงาน เมื่อสมาคมแห่งหนึ่ง ผู้ให้เช่าสถานที่จัดงาน ส่งอีเมลแจ้งผู้จัดงานโดยเนื้อหามีใจความว่า เนื่องจากสมาคมเป็นองค์กรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง และมีกฏไม่อนุญาตให้จัดแสดงหรือกล่าวถึงกรณีต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในวงเสวนาหรือนิทรรศการ
อย่างไรก็ตาม ทางองค์กรผู้จัด ได้ตอบกลับและชี้แจงกับทางสมาคม เพื่อเน้นย้ำว่างานดังกล่าวเป็นงานที่มุ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และองค์ความรู้ เพื่อร่วมหาแนวทางแก้ไขและป้องกัน เป็นการแสดงให้เห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการบังคับบุคคลให้สูญหายและการปราบปรามข้ามชาติ
.
ต่อมา ในวันที่ 4 กันยายน 2567 หนึ่งวันก่อนวันงาน ช่วงเวลาประมาณ 16.00 น. องค์ร่วมจัดงานได้เดินทางไปยังสถานที่จัดงาน และพูดคุยกับทางสมาคม รวมถึงได้ส่งรายละเอียดงานและอุปกรณ์ที่จัดงานทั้งหมด เช่น ภาพและเนื้อหาสิ่งของที่จะจัดแสดงในนิทรรศการ สไลด์ของวิทยากร ไฟล์วิดีโอต่างๆ ที่จะเปิดภายในงาน เป็นต้น ให้แก่สมาคม ตามที่ทางสมาคมประสงค์ขอดูเพื่อต้องการตรวจสอบ โดยแจ้งว่าจะแจ้งให้ผู้จัดทราบอีกครั้งหนึ่งว่าจะสามารถจัดแสดงทั้งหมดได้หรือไม่
.
ต่อมาเวลาประมาณ 18.40 น. ทางสมาคม ได้ส่งอีเมลมายังองค์กรผู้ร่วมจัดโดยมีใจความว่า แม้ทางสมาคม จะเข้าใจว่าการเสวนาเรื่องสิทธิมนุษยชนนั้นมักจะต้องกล่าวถึง “ประเด็นอ่อนไหว” แต่ทางสมาคม จำเป็นต้องการทำให้มั่นใจว่าพื้นที่ของสมาคม จะคงความเป็นกลางและสามารถเข้าถึงทุกคนได้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางตามหน่วยงานต้นสังกัด และแนวทางของกรรมการสมาคม จึงขอให้ไม่มีการจัดแสดงรูปภาพ หรือสิ่งของใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับ “วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” นักกิจกรรมทางการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงในนิทรรศการหรือภายในหอประชุมที่จัดงานเสวนา เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาใดๆ โดยหลักการความเป็นกลาง (neutrality) เป็นหลักการสำคัญขององค์กร
.
นอกจากนี้ ในคืนวันเดียวกัน มูลนิธิผสานฯ ได้รับแจ้งจากหนึ่งในองค์กรผู้ร่วมจัดงาน ขอให้ทบทวนเรื่องกิจกรรมการเปิดตัวหนังสือ “ราคาของความจริง: บันทึกการตามหาน้องชายและเส้นทางรณรงค์ยุติการบังคับสูญหายของสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์” โดยองค์กรผู้ร่วมจัดดังกล่าวให้ข้อมูลว่าถูกข่มขู่และตักเตือนจากกรรมการขององค์กร ในทำนองว่าให้ระวังเรื่องการกล่าวถึงกรณี วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ภายในงานเป็นพิเศษ ทั้งนี้มีการประเมินว่าอาจเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์และการทำงานร่วมกันขององค์กรร่วมจัดดังกล่าวและหน่วยงานด้านความมั่นคงหน่วยงานหนึ่ง เพื่อจำกัดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ทีมงานจึงตัดสินใจเลื่อนการเปิดตัวหนังสือและไม่จัดแสดงผลงานที่มีภาพของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
.
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม ซึ่งได้จัดเตรียมนำเสื้อฮาวายสีแดง และแว่นตาของวันเฉลิม มาในงานเพื่อเตรียมจัดแสดงในนิทรรศการไม่ได้จัดแสดง รวมถึงหนึ่งในป้ายนิรทรรศการที่มีข้อมูลและภาพวันเฉลิม และวิดีโอที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับกรณีการอุ้มหายในไทยซึ่งมีกรณีของวันเฉลิมอยู่ในเนื้อหาวิดีโอ ถูกสั่งห้ามไม่ให้นำออกมาจัดแสดงโดยเจ้าของสถานที่ในช่วงเช้าของวันจัดงาน
.
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรมของประชาชน เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากความพยายามที่จะกดดันและแทรกแซง เซ็นเซอร์ไม่ให้มีการกล่าวถึงกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงอย่างกรณีการอุ้มหายในไทย โดยเฉพาะการเจาะจงกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์นั้น เป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นอย่างรับไม่ได้ เป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงออกที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญไทยอันเป็นกฎหมายสูงสุด และไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และขอเรียกร้องให้
.
1. สมาคมเจ้าของสถานที่จัดงานจะต้องทบทวนวิธีการทำงาน และแนวทางการทำงาน เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถคงความเป็นมืออาชีพและโปร่งใสในการให้บริการได้อย่างเต็มที่ และไม่ทำให้ผู้อื่นต้องเกิดความเสียหาย
2. สมาคมเจ้าของสถานที่จัดงานจะต้องชี้แจงถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงไม่ให้ผู้จัดงานกล่าวถึงกรณีการอุ้มหายไทย โดยเฉพาะการเจาะจงกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ แม้จะทราบดีว่ากรณีเหล่านี้ และงานเสวนาในครั้งนี้เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองแต่อย่างใด
3. ขอให้องค์กรผู้ร่วมจัด ต้องทบทวนแนวทางการทำงานและความเป็นอิสระขององค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถเป็นองค์กรที่เป็นพื้นการเรียนรู้ ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความอิสระ โดยไม่ถูกครอบงำจากความพยายามในการแทรกแซงหรือข่มขู่จากหน่วยงานใด
4. หน่วยงานด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ต้องออกมาชี้แจ้งถึงกรณีที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นหน่วยงานที่พยายามกดดันไม่ให้มีการกล่าวถึงกรณีวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
.
ประเทศไทยให้สัตยาบันสารเพื่อเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นการประกาศเจตนารมณ์ว่าจะร่วมมือกับประชาคมโลกในการดำเนินมาตรการใดเพื่อป้องปรามให้มั่นใจว่าจะไม่มีบุคคลใดถูกบังคับให้สูญหายได้ อีกทั้งประเทศไทยยังมีกฎหมายภายในประเทศอย่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปราม การทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ที่มีเจตนารมณ์เพื่อป้องปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายในไทยอย่างมีประสิทธิภาพ และอำนวยให้ผู้เสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงดังกล่าวได้รับความเป็นธรรมทั้งในกระบวนการยุติธรรม และการชดใช้เยียวยาในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ และสังคม
.
สุดท้าย โดยแถลงการณ์ฉบับนี้ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอยืนหยัดเคียงข้างครอบครัวของผู้เสียหายจากการถูกบังคับให้สูญหายทุกครอบครัว และจะเดินหน้ารณรงค์ เพื่อให้สังคมระลึกผู้ถูกบังคับให้สูญหายทุกคนต่อไปในทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี เพื่อให้ชื่อของพวกเขาไม่ถูก “อุ้มหาย” ได้อีกต่อไป
.
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
กรุงเทพมหานคร
6 กันยายน 2567