วันเสาร์, กันยายน 07, 2567

คุณภาพของระบบประกันรายได้ยามแก่ชราไม่ได้ขึ้นกับ ‘ภาษี’ แต่ขึ้นกับ ‘เงินสมทบประกันสังคม’ - อ่าน แต่ละประเทศบังคับนายจ้างและลูกจ้างจ่าย ‘สมทบ’ ประกันสังคมกันกี่เปอร์เซ็นต์ ?



แต่ละประเทศบังคับนายจ้างและลูกจ้างจ่าย ‘สมทบ’ ประกันสังคมกันกี่เปอร์เซ็นต์ ?

THE OPENER
6 SEP 2024

คุณภาพของระบบประกันรายได้ยามแก่ชราไม่ได้ขึ้นกับ "ภาษี" แต่ขึ้นกับ "เงินสมทบประกันสังคม"

เวลาเราคุยว่า ประเทศแต่ละประเทศมี "ประกันสังคม" มากน้อยแค่ไหน หรือมี การประกันรายได้ยามแก่ชรา (ที่นิยมเรียกว่า "บำนาญคนแก่") เท่าไร แล้วมีการพูดถึงประเทศที่มีสวัสดิการแบบนี้ดี ชาวไทยจำนวนไม่น้อยจะตั้งคำถามทันทีว่า "แล้วเค้าจ่ายภาษีเท่าไร?”

จริงๆ การตั้งคำถามแบบนี้ คือ คำถามที่เกิดจากความไม่เข้าใจระบบ "ประกันสังคม" ทั่วไปในโลก เพราะโดยทั่วไป เงินในส่วนของการ "ประกันสังคม" จะเป็นเงินอีกก้อนที่แยกออกจาก "ภาษี" ซึ่งหมายถึง "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" หรือพูดง่ายๆ เวลาไปถามคนที่ทำงานในต่างประเทศว่า "โดนภาษีเท่าไรต่อเดือน” สิ่งที่เค้าตอบก็มักจะตอบว่า "หักโน่นนี่แล้ว เหลือเท่านี้" ซึ่งไอ้สิ่งที่ที่ว่า "โน่นนี่" นี่แหละ "เงินที่ไม่ใช่ภาษี" ที่โดนหักเข้าพวกกองทุนประกันสังคมของประเทศ

ประเทศส่วนใหญ่ใช้ระบบแบบนี้ เพราะจะทำให้การจัดการเงินประกันสังคมเป็นสัดส่วน และเปิดโอกาสให้คนที่ตัดสินใจออกจากระบบประกันสังคมของประเทศ (เช่น จะยกเลิกสัญชาติ) ได้เงินคืนเป็นก้อนด้วย แต่เหนือสิ่งอื่นใดเหตุผลที่สำคัญก็คือ มันมีความจำเป็นต้องแยกงบประมาณส่วนนี้เอาไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้รัฐบาลไม่สามารถดึงไปใช้เป็นงบประมาณเพื่อกิจการอื่นๆ ของรัฐได้

พูดให้ชัดก็คือ ในส่วนของ "เงินประกันสังคม" ของกองทุนประกันสังคม ทั่วๆ ไปกองทุนก็จะบริหารเป็นสามส่วนหลักๆ คือ การประกันการเจ็บป่วย ประกันการว่างงาน และประกันรายได้ยามแก่ชรา ซึ่งเงินส่วนใหญ่แบบใหญ่ที่สุดเลยของกองทุนประกันสังคมทั่วโลก คือ ส่วนที่ใช้ประกันรายได้ยามแก่ชรา

ภายใต้ระบบนี้ เราก็ต้องเข้าใจอีกว่าในทุกประเทศที่มีระบบนี้ ระบบการจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคม จะมีส่วนของนายจ้างและส่วนของลูกจ้างเสมอ ลูกจ้างจะโดนหักเงินเดือนส่งเข้ากองทุนประกันสังคมส่วนหนึ่ง และนายจ้างก็ต้องจ่ายด้วย โดยวิธีคิดหลักๆ แบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มที่เชื่อว่านายจ้างและลูกจ้างต้องสมทบเท่ากัน เช่น เยอรมนี อังกฤษ และอดีตชาติอาณานิคมอังกฤษ กับอีกแบบเชื่อว่า นายจ้างจะต้องจ่ายมากกว่า เช่น ฝรั่งเศส สเปน และพวกอดีตอาณานิคมของฝรั่งเศสและสเปน เป็นต้น

นี่คือพื้นฐาน และอัตราการ "สมทบเงินเข้าประกันสังคม" ก็เป็นข้อมูลสาธารณะที่พวกบริษัทด้านการตรวจสอบบัญชีระดับโลกอย่าง KPMG ทำการเผยแพร่เป็นสาธารณะให้เราเข้าไปดูแบบเทียบกันได้ทั้งโลก ซึ่งรวมๆ ความต่างของการสมทบเข้าประกันสังคมในแต่ละประเทศที่ต่างกัน ก็ทำให้ลูกจ้างแต่ละประเทศมีประสบการณ์ต่างกัน และนำมาสู่การสะสมทุนในกองทุนประกันสังคมต่างกัน



ตัวอย่างเช่น สมมติเราเงินเดือน 10,000 บาท ถ้าเราอยู่เมืองไทย เราโดนหักเงินเดือนสมทบเข้าประกันสังคม 500 บาท นายจ้างสมทบอีก 500 บาท เป็นการสมทบต่อเดือน 10% หรือถ้าเราอยู่เวียดนาม เราเงินเดือนมูลค่า 10,000 บาท เราโดนหักเงินสมทบเข้าประกันสังคม 1,100 บาท และทางนายจ้างก็ต้องสมทบต่อเดือนอีก 2,200 บาท ทำให้การสมทบร่วมกันต่อเดือนมากถึง 33% ซึ่งในแง่นี้ ถ้าเราทำงานที่เวียดนาม จะรู้สึกว่าได้เงินเดือนน้อยกว่าเพราะโดนหักเงินเข้าประกันสังคมมากกว่า นายจ้างก็รู้สึกว่ามีต้นทุนในการจ้างคนมากกว่า เพราะต้องจ่ายเงินสมทบเข้าประกันสังคมมากว่า แต่ในระยะยาว คนเวียดนามก็จะได้บริการ "ประกันสังคม" ได้เงิน "ประกันสังคม" ในรูปแบบของ "บำนาญผู้สูงอายุ" คืนมากกว่าคนไทย เพราะสำหรับคนเงือนเดือน 10,000 ในไทยจะมีเงินเข้าไปในกองทุนประกันสังคมเพียง 1,000 บาท แต่ในเวียดนาม จะมีเงินเข้าไปมากถึง 3,300 บาท เป็นต้น

เวียดนาม เป็นเคสที่น่าสนใจมาก เพราะถ้าสังเกตในโลก อัตราการสมทบประกันสังคมของประเทศที่พอจะเรียกได้ว่าจ่าย "บำนาญผู้สูงอายุ" แบบพอให้ประชาชนใช้ในยามแก่ ต้องมีการบังคับเก็บเงินสมทบเข้าประกันสังคมต่อเดือนประมาณ 30% ของเงินเดือนขึ้นไป (นับรวมทั้งการหักเงินเดือนลูกจ้างและการสมทบของนายจ้างแล้ว) และเวียดนามถือว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีการสะสมเงินเข้าระบบประกันสังคมสูงมากๆ และจะเห็นเลยว่า ถ้าเวียดนามกลายมาเป็นประเทศร่ำรวยเมื่อไร ระบบประกันสังคมเค้าจะแทบไม่ด้อยกว่าชาติตะวันตกเลย

แต่ในแง่นี้ เราจะยิ่งเห็นเลยว่า การเก็บเงินสมทบเข้าประกันสังคมของไทยนั้นอาจดู "ต่ำเกินไป" ถ้าเทียบกับสัดส่วนของเงินเดือน (โดยยังไม่ต้องพูดถึงเพดานเงินเดือนสูงสุดในการสมทบประกันสังคมที่ 15,000 บาท) เพราะการเก็บรวมกันแค่ 10% ของเงินเดือน คือ การเก็บแทบจะต่ำที่สุดในโลกแล้วในประเทศที่มีระบบประกันสังคม โดยประเทศที่มีระบบประกันสังคมที่เก็บเงินสมทบต่ำกว่าไทยอาจมีแค่พวก พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย และประเทศแอฟริกาบางประเทศเท่านั้น และที่อยากให้สังเกตคือ ชาติที่รายได้ต่อหัวต่ำกว่าไทยอย่างเวียดนามและไนจีเรีย ยังมีการบังคับเก็บเงินสมทบส่วนนี้มากกว่าไทยเลยเพื่อไปสร้างระบบประกันสังคม

แต่ก็นั่นเอง นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญ คือในชาติที่ประชากรยังเติบโต หลายประเทศใช้เทคนิคในการเก็บเงินสมทบประกันสังคมสูงสำหรับคนวัยทำงาน เพื่อเอามาเป็น "เงินบำนาญผู้สูงอายุ" รวมถึงให้บริการด้านประกันสังคมอื่นๆ ซึ่งจริงๆ แม้แต่พวกชาติที่ประชากรลดลงอย่างชาติยุโรป ทุกวันนี้การบังคับเก็บเงินสมทบเข้าระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นจากคนวัยทำงานก็ทำเป็นปกติ เพราะถ้าชาติเหล่านี้ไม่เก็บเงินพวกนี้เพิ่ม ก็จะไม่มีกระแสเงินสดเข้ามาจ่ายบำนาญรายเดือนให้ผู้สูงอายุในประเทศตนเอง ซึ่งพอระบบพวกนี้จะไปไม่ไหว เงินเข้ามาไม่พอ การขยายการเริ่มจ่ายบำนาญผู้สูงอายุจาก 65 เป็น 67 อะไรพวกนี้ก็เริ่มเกิดขึ้น

โดยพร้อมกันนั้น ประเทศเหล่านี้ก็มีการรับพวกแรงงานข้ามชาติมาเข้าระบบแรงงาน เพื่อเพิ่มเงินสมทุบเข้ากองทุนประกันสังคมด้วย โดยบางประเทศที่ "ถังแตก" จริงๆ ก็จะมีมาตรการ "ไม่คืนเงินสมทบประกันสังคม" ให้เหล่าแรงงานข้ามชาติเวลากลับประเทศ ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือเหมือนเป็นการหลอกต่างชาติมาทำงานจ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมของตนเพื่ออุ้มระบบประกันสังคมที่แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ไม่ได้ใช้

แต่ทั้งหมดทั้งมวล ถ้าเราจะคุยกันบนฐานว่าอยากให้คนไทยมี "บำนาญคนแก่" แบบพอใช้จริงๆ บทสนทนามันไม่ควรจะเป็นเรื่องของการไปไล่เก็บภาษีทหารหรือกระทั่งคนรวย แต่ระบบจะยั่งยืนได้มันต้องเกิดจากการสมทบเข้าประกันสังคมที่มากขึ้นของมนุษย์เงินเดือนและนายจ้าง ซึ่งก็แน่นอนเพดานเงินเดือนสูงสุดของการสมทบที่ 15,000 บาท ก็อาจต้องยกเลิกไป และขยายขึ้นอีกอาจเป็นสองสามเท่าตัวเป็นอย่างต่ำ แล้วอัตราการสมทบที่ 5% ทั้งนายจ้างและลูกจ้างก็อาจต่ำไป และถ้าจะเอาให้ "พอใช้" จริงๆ ก็อาจต้องบังคับสมทบเพิ่มกันอีก 10% ทั้งสองฝั่ง หรือให้มีการหักเงินเดือนลูกจ้าง 15% ต่อเดือนเข้าประกันสังคม พร้อมกับนายจ้างก็สมทบอีก 15% เข้าระบบประกันสังคม

ดังนั้น คำถามเรื่องการพัฒนาระบบประกันสังคมที่มาก คณิตศาสตร์การเงินและการคลังง่ายๆ ก็คือ เพื่อจะมีเงินใช้ยามเกษียณที่เพียงพอ ลูกจ้างยินดีจะโดนหักเงินเดือนเพิ่มอีก 10% เข้าระบบประกันสังคมหรือไม่? และนายจ้างพร้อมจะสมทบเข้าประกันสังคมเพิ่มอีก 10% หรือไม่?

คำถามสุดท้ายมันไม่พ้นอะไรแบบนี้ เพราะสุดท้ายเงินมันเสกออกมาจากอากาศไม่ได้ (เว้นแต่จะอยากให้เงินเฟ้อจนไม่เหลือค่าแบบเวเนซุเอลา) เงินในอนาคตของเรา มันก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเก็บออมเงินในปัจจุบันไว้เท่าไร และระบบประกันรายได้ยามชราภาพ เอาจริงๆ เราจะมองมันเป็นระบบ "บังคับออมเงินให้มีใช้ยามแก่" ที่บริหารจัดการโดยรัฐก็อาจไม่ผิดอะไร

ประเด็น คือ ระบบมันไม่ "ฟรี" แน่ๆ โดยทั่วไประบบประกันรายได้ยามชราภาพของประเทศไหนที่ยั่งยืนก็ไม่ฟรี และตัวเลขทั่วโลกก็ชี้แล้วว่าถ้าจะจ่ายเงินสมทบ ให้ระบบนี้ทำงานได้จริงๆ มันต้องมีต่ำๆ 30% ของเงินเดือน

อ้างอิง
Employee social security tax rates
Employer social security tax rates
เงินประกันสังคม 750 บาท ถูกหักแล้ว ไปอยู่ไหน?
Insights into the Tax Systems of Scandinavian Countries