.....
Anusorn Unno
August 30
·
“ศาลรัฐธรรมนูญการวิจัย”
วันอังคารที่ผ่านมา ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายเกี่ยวกับจริยธรรมในการวิจัยที่มีปัญหากับศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี และศีลธรรม ซึ่งเสนอโดยหน่วยงานด้านอุดมศึกษาและการวิจัย แต่เป็นร่างกฎหมายที่จะสร้างความเสียหายให้กับวงการวิจัยรวมถึงสังคมไทยอย่างมาก ทั้งนี้ก็เพราะว่าจริยธรรมการวิจัยเกิดขึ้นเพราะมีการวิจัยที่สร้างปัญหา ดังกรณี Nuremberg Code ซึ่งเป็นหลักจริยธรรมการวิจัยสากลแรกสุด เกิดขึ้นเพราะมีการทดลองในเชลยศึกอย่างไร้มนุษยธรรมโดยนาซี เช่นเดียวกับ Belmont Report ซึ่งเป็นแหล่งอ้างอิงหลักของจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ในปัจจุบัน ก็เป็นผลมาจากการวิจัยโรคซิฟิลิสในชายผิวดำอย่างไร้จรรยาบรรณโดยหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ
ทว่าในประเทศไทยไม่เคยมีงานวิจัยใดที่มีปัญหาหรือว่าสร้างความเสียหายให้กับศาสนา ศีลธรรม จารีตประเพณี ในระดับรุนแรงจนถึงขนาดจะต้องมีการกำหนดให้มีกฎหมายและหน่วยงานจริยธรรมด้านนี้เป็นการเฉพาะ และไม่มีประเทศใดในโลกนี้ที่กำหนดให้มีกฎหมายจริยธรรมการวิจัยในศาสนา ศีลธรรม จารีตประเพณีในระดับประเทศ อย่างมากก็กำหนดเป็นแนวทาง (Guidelines) ให้สมาชิกในสมาคมใช้เป็นหลักยึดในการทำวิจัย เช่น American Academy of Religion ได้กำหนดแนวทางการทำวิจัยศาสนาให้กับสมาชิกและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
สาเหตุที่ไม่มีประเทศใดในโลกนี้กำหนดให้มีหลักเกณฑ์และหน่วยงานจริยธรรมการวิจัยในศาสนา ศีลธรรม และจารีตประเพณีในระดับประเทศ เป็นเพราะประเด็นเหล่านี้มีลักษณะนามธรรมและกว้าง อีกทั้งหลายกรณีมีความต่างกันจนยากเกินกว่าจะหาฉันทามติร่วมกันอย่างง่ายหรือโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ บางเรื่องศาสนาหนึ่งไม่ห้าม แต่ในอีกศาสนาเป็นบาป ขณะที่จารีตประเพณีของแต่ละกลุ่มแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง หลายสิ่งทำไม่ได้ในอดีต แต่ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ฉะนั้น การที่ร่างกฎหมายฉบับนี้กำหนดลักษณะการวิจัย “ต้องห้าม” ว่าประกอบด้วยงานวิจัยที่ขัดหรือแย้งกับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี และศีลธรรมในลักษณะต่างๆ จึงขัดกับสภาพการณ์ของสิ่งเหล่านี้ในระดับรากฐาน เป็นการใช้อำนาจกฎหมายในการผูกขาดความถูกต้อง ยุติการตั้งคำถามและอภิปราย ซึ่งเป็นการปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้และการเติบโตของสังคมในกระแสการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีหน่วยงานกำกับจริยธรรมการวิจัยจำนวนมากอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นจริยธรรมการวิจัยทั่วไปและจริยธรรมการวิจัยในสาขาวิชาชีพ และส่วนใหญ่ก็ครอบคลุมเรื่องศาสนา ศีลธรรม และจารีตประเพณีด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งมีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ ซึ่งสามารถกลั่นกรองประเด็นเหล่านี้ได้ ไม่จำเป็นจะต้องมีจริยธรรมการวิจัยว่าด้วยศาสนา ศีลธรรม และจารีตประเพณีเป็นการเฉพาะเพิ่มเข้ามาอีก
และที่สำคัญก็คือว่าระบบพิจารณาการให้ทุนโครงการวิจัยโดย “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ในปัจจุบัน มีการใช้เกณฑ์จริยธรรมเหล่านี้อย่างเข้มข้นหรือหลายกรณีก็ล้นเกินอยู่แล้ว ในทางปฏิบัติจึงแทบจะหาโครงการวิจัยโดยเฉพาะที่ได้รับทุนในระบบจะสร้างปัญหาให้กับศาสนา ศีลธรรม หรือจารีตประเพณีไม่ได้เลย ร่างกฎหมายฉบับนี้จึงยิ่งเพิ่มอำนาจให้กับ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” เหล่านี้ซึ่งหลายกรณีก็วินิจฉัยอย่าง “ไร้ศีลธรรม” เข้าไปอีก
ฉะนั้น แทนที่จะออกกฎหมายให้มีคณะกรรมการกำหนดนิยามและวินิจฉัยในสิ่งที่ขัดกับสภาพการณ์และให้อำนาจอย่างล้นเหลือในการควบคุมและแทรกแซงสถาบันและหน่วยงานด้านการวิจัยซึ่งจะสร้างปัญหาและมีความยุ่งยากในการดำเนินการตามมาอีกมาก ก็ควรกำหนดเป็นหลักการและแนวทางจริยธรรมการวิจัยอย่างกว้างให้แต่ละหน่วยงานนำไปปรับใช้ตามความเหมาะสม อย่างที่แวดวงจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ ก็น่าจะเพียงพอแล้ว
และจะว่าไป ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของเครือข่ายอำนาจเก่าที่เข้ายึดกุมทุกโฉมหน้าของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ องค์กรของรัฐ องค์กรอิสระ หรือว่าองค์การมหาชน ผ่านทางบุคคลโดยเฉพาะในแวดวงวิทยาศาสตร์สุขภาพด้วยความร่วมมือกับนักกฎหมาย ที่ใช้โวหารศีลธรรมในการควบคุมรวมถึงแทรกแซงกิจการสาธารณะของประเทศเรื่อยมา ทั้ง "ตามกฎหมาย" "นอกกฎหมาย" และ “เหนือกฎหมาย” ร่างกฎหมายจริยธรรมการวิจัยฉบับนี้จึงไม่ต่างอะไรจากการตั้ง “ศาลรัฐธรรมนูญการวิจัย” ที่ใช้ข้ออ้างเรื่องศีลธรรมในการควบคุมและขจัดคนหรือกลุ่มที่เห็นต่างในสังคม
https://www.amarintv.com/news/detail/230142
.....
ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง
13 hours ago
.
ความหยาบคาย/หยาบช้าที่กระทำต่อความรู้
.
ผมพูดไม่ออกเมื่อได้อ่านร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรม ฯ ที่ได้ออกมา ผมไม่เคยคิดว่าในช่วงชีวิตของผมจะได้พบเห็นการกระทำหยาบคายหยาบช้าเปิดเผยโจ่งแจ้งที่กระทำต่อการแสวงหาความรู้ในสังคมไทยเช่นนี้ แน่นอนเราอาจจะเคยพบเห็นความหยาบคายหยาบช้าทางการเมืองหลายมิติที่ได้เกิดขึ้น บางครั้งเป็นการใช้ความรุนแรงที่ก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมในสังคมไทย แต่ในครั้งนี้เป็นการทำลายรากฐานของสังคมไทยอย่างแท้จริง
.
ผมต้องบอกก่อนว่าความพยายามจะควบคุมความเปลี่ยนแปลงด้วยการปิดกั้นหนทางแห่งการแสวงหาความรู้ จะเป็นการกระทำที่สร้างความพินาศให้แก่ผู้ที่ต้องการจะควบคุมความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง แต่ก็น่าตกใจและแปลกใจอย่างยิ่งว่าชนชั้นนำผู้ที่ต้องการควบคุมความเปลี่ยนแปลงนั้น ไม่ได้คิดอะไร ไม่ได้รู้สึกอะไรจึงได้แสดงความหยาบคายหยาบช้าอย่างถึงที่สุดนี้
.
ความต้องการจะควบคุม “ความรู้” ที่ชนชั้นนำกระทำนั้นมีมาโดยตลอด เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เคยออกมาพูดสำทับไม่ให้นักวิชาการเคลื่อนไหวทางความคิดและการเมือง หรือการสร้างกฎหมายว่าด้วย “หนังสือต้องห้าม” เป็นต้น แต่การควบคุมแนวทางการแสวงหาความรู้เช่นนี้ด้วยการออกกฎหมายใช้อำนาจควบคุมโดยการอ้างอิงกับ “คำหลวง” ที่ดูเหมือนดี เช่น จริยธรรม ศีลธรรมอันดีงาม (ซึ่งที่ผ่านมาได้ถูกเปลือยให้เห็นแล้วว่าถูกใช้อย่างมีอกุศลจิต) รวมไปถึการสร้างคณะกรรมการฯพิจารณากรอบการแสวงหาความรู้ (ซึ่งก็รู้กันอยู่ว่าคนกลุ่มไหนจะได้นั่งเก้าอิ้กรรรมการนี้) นับเป็นสิ่งที่คิดสร้างขึ้นมาใหม่เป็นแสดงตัวว่าจะควบคุมกำกับความคิดของผู้คนด้วยอำนาจรัฐโดยตรง
.
น่าแปลกใจอีกว่า นายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้พูดต่อสาธารณะว่าในอนาคตจะ “ทำให้ทุกตารางนิ้วบนแผ่นดินไทย เป็นพื้นที่ให้คนไทยได้กล้าฝัน กล้าสร้างสรรค์ และกล้ากำหนดอนาคตของตัวเอง“ แต่รักษาการนายกรัฐมนตรีที่ทำงานรับใช้ตระกูลการเมืองตระกูลนี้มาหลายสิบปีกลับปล่อยกฏหมายเช่นนี้ปรากฏบนแผ่นดินได้ แสดงสิ่งที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปพูดก็เป็นเพียงการถ่มน้ำลายขึ้นฟ้าเท่านั้นเอง
.
สังคมความรู้ของสังคมไทยไม่สามารถจะทนต่อความหยาบคายหยาบช้าต่อความรู้เช่นนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะหาก พ.ร.บ. นี้ออกมาบังคับใช้จริง ความรู้และสิ่งที่ถูกบังคับให้รู้จะเหลือเพียงเศษเสี้ยวหรือซากเดนของความรู้ที่ไร้คุณค่าต่อสังคมไทย สังคมไทยกำลังเดินไปสู่อนาคตที่มืดมน
.
พลเมืองไทยทุกท่านครับ การหยุดยั้งการกระทำต่อความรู้เช่นนี้เป็นพันธกิจของทุกคนครับ เพราะเราทุกคนต้องการอยู่ในสังคมที่อุดมไปด้วยความรู้เพื่อที่ลูกหลานของพวกเราจะเติบโตมาอย่างไม่แคระแกร็นทางปัญญาอย่างที่ชนชั้นนำต้องการให้เป็น
.
พลเมืองไทยต้องสามัคคีกัน
อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์
.....
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Yesterday
·
ประชาสัมพันธ์
เสวนาทางวิชาการหัวข้อ “เสรีภาพทางวิชาการภายใต้ร่าง พ.ร.ฎ. หลักเกณฑ์การวิจัย ซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนาวัฒนธรรมจารีตประเพณี ”
วันอังคารที่ 3 กันยายน 2567
เวลา 14.00 – 16.30 น.
ห้อง 709 ชั้น 7 อาคารเกษม อุทยานิน (รัฐศาสตร์ 60 ปี)
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิทยากร
รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
ประธานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์
ศ.ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
อดีตอาจารย์ ภาควิชาปรัญชา
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ถ่ายทอดสดผ่าน
Facebook คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และ มติชนทีวี