วันเสาร์, กันยายน 14, 2567

5 เรื่องใหญ่วัดใจรัฐบาล กล้าแก้ปัญหาทุนต่างชาติหรือไม่ ขณะที่ พิชัย วอน อย่าโจมตีสินค้าจีน


พรรคประชาชน - People's Party
11 hours ago
·
[ 5 เรื่องใหญ่แก้วิกฤตการผลิตไทย รัฐบาลกล้าทำหรือไม่? ]
.
หลายปีที่ผ่านมานี้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับการไหลทะลักของสินค้านำเข้าผ่านหลายช่องทาง ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ การทุ่มตลาดด้วยสินค้าราคาต่ำ และการประกอบธุรกิจผ่านนอมินีของคนต่างชาติ จนผู้ประกอบการไทยประสบความเดือดร้อนกันไปทั่ว
.
แม้รัฐบาลจะดูใส่ใจกับเรื่องนี้ โดยมีการบรรจุประเด็นปัญหาอยู่ในคำแถลงนโยบาย กล่าวถึงความท้าทายที่ SMEs กำลังเผชิญการแข่งขันด้านราคาของสินค้านำเข้า และการวางนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันทีในการดูแล ส่งเสริม และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ
.
แต่ในความเป็นจริง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเดียวกันนี้แทบไม่ได้ทำอะไร กล้าๆ กลัวๆ ดังที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ว่าจะ “ไม่เน้นการตอบโต้ เพราะอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและหวั่นจะกระทบการส่งออก”
.
นั่นคือการเปิดหัวย้อนทบทวนมาตรการของรัฐบาลที่ผ่านมา โดย ดร.ชาย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งได้ร่วมอภิปรายซักถามต่อการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (12 ก.ย.)
.
การปล่อยปละละเลยที่ผ่านมาของรัฐบาล ย่อมมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้ในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้าจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์คือ 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของ GDP สอดคล้องกับที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประเมินผลกระทบจากสินค้าต่างชาติราคาต่ำ ว่ากระทบมากถึง 25 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 46 กลุ่ม ตั้งแต่ต้นปี 2567 โรงงานปิดตัวเฉลี่ย 111 โรงต่อเดือน กำลังการผลิตในโรงงานหลายแห่งลดต่ำกว่า 30%
.
[ 3 มิติการรุกคืบทุนต่างชาติยึดหัวหาดเศรษฐกิจไทย ]
.
ทุนต่างชาติรุกคืบเศรษฐกิจไทยได้ไหลลื่นด้วยปัจจัย 3 ด้าน
.
ด้านที่ 1) จากนโยบายรัฐบาลที่เชิญชวนต่างชาติให้มาลงทุน โดยหวังให้นักลงทุนมาอุดหนุนผู้ประกอบการไทย ซื้อ local content จากผู้ประกอบการไทย
.
แต่กลับกลายเป็นว่าต่างชาติขนมาทั้งห่วงโซ่อุปทาน เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า ที่รัฐบาลหวังว่าค่ายรถจะมาซื้อชิ้นส่วนในประเทศ แต่ปรากฏว่ามีการซื้อ local content น้อยมาก ไม่ถึง 20,000 ล้านบาทอย่างที่รัฐบาลเคยอ้างถึง โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ระบุว่ามูลค่าที่เกิดขึ้นจริงมีเพียงหลักร้อยล้านเท่านั้น เพราะมีเพียง 2 ค่ายรถ EV ที่มีแนวโน้มใช้ local content จริงจัง
.
ด้านที่ 2) สินค้าราคาต่ำจากต่างชาติผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่วันนี้ขายทุกอย่าง ที่ผ่านมาคนไทยบริโภคสินค้าจีนมากขึ้นทุกประเภท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ไทยที่เน้นขายสินค้าราคาต่ำและต้องพึ่งพาตลาดในประเทศ
.
ที่น่ากลัวคือสินค้าจำนวนมากมีข้อน่ากังวลเรื่องความปลอดภัย ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง อาหารเสริม ซึ่งสินค้าจำนวนมากบนแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่มีทั้ง มอก. และ อย.
.
ไม่ใช่แค่สินค้าออนไลน์เท่านั้นที่กำลังก่อปัญหา แต่สินค้าผ่านช่องทางปกติก็เช่นกัน อย่างกรณีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหล็กคุณภาพต่ำที่ถูกนำเข้า โดยอาศัยช่องโหว่ระบุพิกัดศุลกากรเป็นพิกัดอื่นเพื่อเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD (Anti-dumping) ที่ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
.
ด้านที่ 3) การใช้นอมินี ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นในทุกธุรกิจในทุกพื้นที่ ตั้งแต่ร้านอาหาร ท่องเที่ยว เกษตร ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ สถาบันการศึกษา ผับ บาร์ ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ
.
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรง อย่างเช่น ในภาคเกษตร ที่วันนี้มีการรุกไปในหลายสินค้า มีทุนต่างชาติทั้งเข้ามาปลูกและมารับซื้อในประเทศไทยเอง เช่น ลำไย ที่วันนี้ที่ลำพูนมีล้งลำไย 5 เจ้าเป็นของทุนต่างชาติ ซึ่งคาดว่าเครือข่ายเดียวกันทั้งหมด ปีหนึ่งลำพูนผลิตลำไย 2 แสนตัน มากสุด 4 แสนตัน
ถ้าทุนต่างชาติร่วมกันกดราคาเหลือแค่กิโลกรัมละ 1 บาท ก็ทำให้รายได้ของเกษตรกรลำไยในลำพูนหายไปแล้ว 400 ล้านบาท
.
อีกกรณีตัวอย่างคือธุรกิจขนส่ง สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเคยยื่นข้อร้องเรียนถึงกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ว่าปัจจุบันมีรถบรรทุกจากต่างชาติโดยเฉพาะจีน เข้ามาวิ่งในไทยร่วม 10,000 คัน โดยรถเหล่านี้ขนสินค้าที่สั่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์วันละหลายแสนชิ้น ไม่มีมาตรฐาน ราคาต่ำ โดยวิธีการคือต่างชาติมาซื้อหัวบริษัทไทย หรือไม่ก็ตั้งบริษัทเองโดยหานอมินีมาถือหุ้น ทั้งหมดเพื่อให้ได้ใบอนุญาตขนส่ง
.
ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงการรุกเข้ามาของทุนต่างชาติในรูปแบบอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น
.
๐ แอปพลิเคชันรับชำระเงินต่างชาติ ที่ร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งวันนี้ QR Code ที่ให้สแกนเป็นการโอนเงินไปบัญชีธนาคารในต่างประเทศโดยตรง
๐ ขนส่งจากต่างชาติ ที่ปัจจุบันมีการดำเนินการการอย่างผิดกฎหมาย ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก หรือการใช้นอมินี ขนสินค้าราคาต่ำคุณภาพไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศไทยง่ายมาก และมีการโฆษณากันอย่างโจ่งแจ้ง
๐ การใช้วีซ่าผิดประเภท ทั้งฟรีวีซ่าและวีซ่านักเรียนนักศึกษาไปทำงาน ซึ่งปัจจุบันปรากฏในภาพข่าวทั่วไปถึงกรณีการตรวจจับพบคนงานใช้วีซ่าผิดประเภท
๐ สำนักงานบัญชี สำนักงานทนายความ ที่เป็นตัวการสำคัญช่วยจัดตั้งธุรกิจนอมินี ซึ่งปีที่แล้วกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจพบ 2 สำนักงานบัญชีทนายความที่เป็นคนช่วยจัดตั้งบริษัท โดย 2 รายนี้จัดตั้งบริษัทมามากกว่า 200 บริษัท
๐ ซุปเปอร์แอพของต่างชาติ ทั้งสั่งอาหาร ของใช้ บริการ Delivery ค่าบริการโอนไปต่างประเทศโดยตรง บางครั้งคนส่งของเป็นคนต่างชาติด้วยซ้ำ
.
“จากสถานการณ์ทั้งหมด ทำให้เงินไหลออกไปต่างชาติทั้งหมด ผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้จนต้องปิดตัว ผู้บริโภคไทยเสี่ยงอันตรายจากสินค้าคุณภาพต่ำ แรงงานไทยถูกแย่งงาน และในระยะยาว เมื่อผู้ประกอบการไทยตายไปแล้ว โครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศจะมีความเสี่ยงถูกผูกขาดจากธุรกิจต่างชาติ แพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นค่าธรรมเนียมได้ไม่จำกัด คนที่เป็นเจ้าตลาดกำหนดราคาได้ คนซื้อก็ผูกขาดกำหนดราคารับซื้อได้”
.
[ 5 คำถามที่รัฐบาลต้องตอบ วัดใจความจริงจังแก้ปัญหาทุนต่างชาติ ]
.
สิทธิพลชี้ว่าเมื่อสถานการณ์ย่ำแย่และรุนแรงมากขึ้น ผ่านไป 1 ปี รัฐบาลจึงรู้ตัวว่าต้องดำเนินการอะไรสักอย่างแล้ว และได้มีการออกมาตรการมา 5 ข้อ พร้อม 63 แผนปฏิบัติการ ตามมติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2567
.
ซึ่ง 5 มาตรการดังกล่าวหากอ่านผ่านๆ ก็ดูดีทุกข้อ แต่ก็ทำให้เกิดคำถามที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้เช่นกัน คือ
.
1) มาตรการเกี่ยวกับการตรวจจับสินค้าไม่มีมาตรฐาน หรือ มอก. ซึ่งในปี 2566 มีการดำเนินคดียึดอายัดสินค้าได้เพียง 200 ล้านบาท จากตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่าปีหนึ่งหลักแสนล้าน ซึ่งถือว่าน้อยมาก นั่นเป็นเพราะปัจจุบันเรามี มอก. ที่สามารถไปยึด อายัด และดำเนินคดี ได้เพียง 144 มาตรฐาน
.
คำถามคือในเมื่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ก่อตั้งมาหลายปี การเพิ่งมีมาตรฐานออกไปเพียง 144 มาตรฐาน จะเพิ่มทันกับปัญหาหรือไม่? การที่ สมอ. ไม่มีอำนาจดำเนินการกับผู้สั่งซื้อสินค้าตรงจากแพลตฟอร์มต่างประเทศจะทำอย่างไร? การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า จะเพิ่มเท่าไร ป้องกันการหลุดรอดได้แค่ไหน? ปัจจุบันมีการจ่าย “ภาษีเหมา” รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? คลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับเก็บสินค้าเพื่อส่งออกโดยไม่ต้องเสียภาษี ปัจจุบันมีความเสี่ยงสินค้าถูกลักลอบเอาออกมาขายในประเทศโดยไม่จ่ายภาษี จะแก้ไขอย่างไร?
.
2) ปัญหานอมินี ที่ทั้งปี 2566 มีการจับกุมได้ 8 ราย ซึ่งจากการสืบสวนขยายผลโดยดีเอสไอ พบว่า 2 ราย เป็นสำนักงานบัญชีและสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเป็นผู้ถือครองหุ้นถึง 267 บริษัท
.
คำถามคือเป็นไปได้อย่างไร ที่กรณีนอมินีเกิดขึ้นทั่วบ้านทั่วเมืองขนาดนี้แต่กลับจับได้แค่ 2 ราย?
.
ปัญหาคือที่ผ่านมาการตรวจสอบนอมินีมีการปฏิบัติที่ทั้งน้อยเกินไป โทษเบาเกินไป คืบหน้าช้า คนทำผิดลอยนวล ส่งผลให้ไม่เกิดความเกรงกลัว จึงพากันทำกันเป็นล่ำเป็นสัน
.
3) การกำกับแพลตฟอร์มต่างชาติ ทั้งประเด็นให้มีสำนักงาน และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหากขายสินค้า
.
คำถามคือกรณีกำกับแพลตฟอร์มให้จดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทย ไม่ทราบกฎหมายเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว จะเสร็จเมื่อไหร่? ที่กระทรวงพาณิชย์เคยบอกว่าอาจขัดต่อข้อตกลงหรือมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ สรุปแล้วขัดหรือไม่ขัด? และถ้าแพลตฟอร์มละเลยปล่อยให้มีสินค้าไม่มี อย. หรือ มอก. อยู่บนแพลตฟอร์ม กฎหมายลงโทษได้หรือไม่ เช่น สั่งปิดแพลตฟอร์มหรือบางส่วนของแพลตฟอร์มได้หรือไม่?
.
ส่วนเรื่องมาตรการให้ผู้ค้าต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คำถามคือถ้าไม่จดจะทำอย่างไร? แพลตฟอร์มต่างชาติที่ยังมาขึ้นทะเบียน VAT on Electronic Service (VES) ไม่ครบ และที่ขึ้นทะเบียนแล้วมีแนวโน้ม แจ้งรายได้ต่ำกว่าความจริง กรมสรรพากรมีอำนาจบังคับหรือไม่?
.
4) การให้กรมการค้าต่างประเทศอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ในการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า คำถามคือจะทำอย่างไร? โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้นำเข้าเลี่ยงไปใช้พิกัดศุลกากรอื่นทำให้ไม่ต้องเสียภาษี AD ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการตอบโต้ทางการค้า เช่นนี้รัฐจะทำอย่างไร?
.
สิทธิพลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ได้สอบถามแนวทางแก้ปัญหาไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมศุลกากร และ สมอ. ต่างก็ตอบว่าได้ดำเนินการครบถ้วนตามกรอบอำนาจที่หน่วยงานมีแล้วทั้งสิ้น
.
5) การช่วยเหลือ SMEs ขยายการส่งออกผ่าน e-commerce คำถามคือจะทำอะไร และต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร? ตามแผนนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยบูรณาการแผนงานและส่งเสริมพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ซึ่งในปี 2566 สสว. มีโครงการสร้างความพร้อมให้ SMEs ที่เน้นเรื่องความเป็นสากล ใช้งบประมาณไปจำนวนมาก แต่จากการประเมินพบว่าความคุ้มค่าต่ำกว่างบประมาณที่ใช้ คำถามคือ สสว. จะทำอะไรได้ดีกว่าเดิม?
.
ในเรื่องขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน e-commerce จะทำอะไรและทำอย่างไร? จะป้องกันการปลอมแปลงสินค้าไทยที่ขายกันอย่างเกลื่อนกลาดอยู่บนแพลตฟอร์มของต่างชาติอย่างไร? จะเอาสินค้าใหม่ๆ ไปบุกตลาดต่างชาติอย่างไร?
.
[ 1 ปีแห่งความสูญเปล่า : รัฐบาลจะปกปองผลประโยชน์ผู้ประกอบการไทยได้กี่โมง? ]
.
สิทธิพลชี้ว่านอกจาก 5 มาตรการที่รัฐบาลออกมาแล้ว สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก็คือปัจจัยสนับสนุน
.
ทั้งแอปพลิเคชันโอนเงินไปต่างชาติ ขนส่งผิดกฎหมาย ใช้วีซ่าผิดประเภท กำจัดสำนักงานบัญชีหรือทนายความที่ให้การสนับสนุนนอมินี กำกับแอปพลิเคชันที่ให้บริการธุรกิจต่างชาติอย่างเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรง และตัดวงจรปัญหา
.
และสุดท้าย รัฐบาลควรถอดบทเรียนจากมาตรการที่ต่างประเทศที่ใช้ในการดูแลผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศล้วนมีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยผู้ประกอบการ เช่น สหรัฐอเมริกาที่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการ หรืออินโดนีเซียที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างชาติหลายรายการ ทั้งสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ซึ่งเราสามารถถอดบทเรียนมาปรับได้ตามความเหมาะสม
.
คำถามสุดท้ายที่ประชาชนและภาคเอกชนฝากมา คือสิ่งที่รัฐบาลระบุไว้ในคำแถลงนโยบายว่า “จะปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย” คำถามคือกี่โมง?
.
#พรรคประชาชน #แถลงนโยบาย #ประชุมสภา #sme