วันศุกร์, กันยายน 06, 2567

กว่า 50,000 ล้านบาท คือ มูลค่าความเสียหายที่คนไทยถูกสแกมเมอร์ออนไลน์หลอกลวง โดยเหล่ามิจฉาชีพใช้ประโยชน์จากโทรคมนาคมและไฟฟ้าของไทย ไทยคือขุมพลังของสแกมเมอร์รอบชายแดน มาตรการปราบปรามของไทยไม่ดีพอ


เจ้าหน้าที่ทหารพราน กองกำลังผาเมือง ขุดพบสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ฝังดินไว้ ระยะทาง 11.5 กิโลเมตร จากบ้านสันติสุข อ.แม่จัน จ.เชียงราย ไปยังประเทศเมียนมา เมื่อ 23 ก.ค. 2566

ซิม-สาย-เสา-ไฟ เมื่อไทยคือ “แบตเตอรี” ของสแกมเมอร์ออนไลน์รอบชายแดน

จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
5 กันยายน 2024

นับตั้งแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดระบบให้แจ้งความคดีอาชญากรรมออนไลน์เมื่อปี 2565 พบว่าคนไทยตกเป็นเหยื่อแก๊งสแกมเมอร์ออนไลน์หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากกว่า 300,000 คดี มูลค่าความเสียหายมากกว่า 30,000 ล้านบาท

ทางการไทยนำโดยฝ่ายความมั่นคงและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกปฏิบัติการระงับซิมการ์ด ตัดสายสัญญาณ รื้อหรือปรับเสาสัญญาณรอบชายแดนไทย ด้วยความหวังว่าจะตัดตอนวงจรสแกมเมอร์ที่ประชิดชายแดนไทยรอบด้าน

บีบีซีสำรวจความพยายามของมิจฉาชีพที่พยายามใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและโทรคมนาคมของไทยในการดำเนินการหลอกลวงผู้คนในประเทศต่าง ๆ เพื่อติดตามว่ามาตรการปราบปรามของไทยในตอนนี้ส่งผลกระทบอย่างไรต่อองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้บ้าง

ซิม สาย เสา เครื่องมือทำงานของสแกมเมอร์ข้ามชาติจากโทรคมนาคมไทย

ฐานยิงจรวดน้ำที่ประดิษฐ์จากท่อพีวีซี พร้อมด้วยสายไฟเบอร์ออปติกสำหรับส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและสายเคเบิล ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยตรวจยึดได้เมื่อวันที่ 2 ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมกับชายไทยวัย 30 ปี ที่กำลังพยายามลากสายโทรคมนาคมจากบ้านแม่กึ๊ดใหม่ ต.แม่กาษา อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าไปในเมืองชเวโก๊กโก่ อาณาจักรสแกมเมอร์ข้ามชาติที่ตั้งอยู่ตรงข้ามกัน และมีเพียงแม่น้ำเมยกั้นอยู่

“ใช้จรวดขวดน้ำเหมือนที่เด็กใช้ในการทดลองวิทยาศาสตร์ ใช้เอ็นมัดกับปลายขวดไว้ เพราะมีความเบา จากนั้นก็ให้คนฝั่งนู้นดึงสาวเส้นเอ็นขึ้นไป เพื่อลากสายเคเบิล” พล.ต.ต.สัมฤทธิ์ เอมกมล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก อธิบายให้เห็นภาพ

เมืองใหม่ในเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมาแห่งนี้ ขึ้นชื่อว่าเป็นฐานสแกมเมอร์ข้ามชาติ ดำเนินการโดย ยาไท่ อินเตอร์เนชันแนล โฮลดิ้ง กรุ๊ป (YATAI IHG) ร่วมทุนกับ พ.อ.ชิต ตุ ผู้นำกองกำลังกะเหรี่ยงแห่งชาติหรือเคเอ็นเอ (Karen National Army-KNA) ซึ่งเคยเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนกะเหรี่ยงหรือกะเหรี่ยงบีจีเอฟ (Karen Border Guard Force-Karen BGF) มาก่อน


ฐานยิงจรวดน้ำเพื่อโยงสายอินเทอร์เน็ตข้ามแดนไปยังเมืองชเวโก๊กโก่

การลักลอบวางสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงส่งผ่านสายใยแก้วนำแสง ข้ามแดนไปเมียนมาผ่านสะพานมิตรภาพด่านแม่สาย 1 เพื่อนำไปใช้ในงานคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์

วันต่อมา (3 ก.ย.) ห่างจากชายแดนไทย-เมียนมาประมาณ 1.6 กิโลเมตร บริเวณหมู่ 2 ต.แม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย ทางตำรวจและเจ้าหน้าที่ กสทช. พบการลักลอบติดตั้งส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตไป จ.ท่าขี้เหล็ก เมืองชายแดนของรัฐฉาน ประเทศเมียนมา และสามารถจับกุมชายชาวไทยอายุ 26 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านต้นสายสัญญาณดังกล่าวได้

“มันมีบ้านหลังหนึ่งเพียงหลังเดียวที่มีคนขอจดทะเบียนอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งหมด 21 ยูสเซอร์ (User) ซึ่งมันผิดปกติ” พล.ต.ท.กฤตธาพล ยี่สาคร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 กล่าว และบอกว่าทั้งหมดถูกจดทะเบียนขอใช้บริการจากผู้ให้บริการทุกรายในไทย โดยผู้ต้องหาติดตั้งอุปกรณ์จัดเส้นทาง (Switch) เพื่อรวมสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงส่งผ่านสายใยแก้วนำแสง จำนวน 1 เส้น ลากข้ามแดนจากบริเวณที่เกิดเหตุและข้ามแดนไปเมียนมาผ่านสะพานมิตรภาพด่านแม่สาย 1 เพื่อนำไปใช้ในงานคอลเซ็นเตอร์หลอกลวงผู้คนข้ามแดน

“เมียนมาเป็นแหล่งรวมของกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ของรัฐ (non-state armed groups ) ซึ่งควบคุมพื้นที่ชายแดนสำคัญและมีประวัติการทำงานกับกลุ่มอาชญากรที่ก่ออาชญากรรม กลุ่มติดอาวุธที่ไม่ใช่ของรัฐเหล่านี้เปิดกาสิโนจำนวนมากในเขตปกครองตนเองและในเมืองชายแดน เช่น ท่าขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ติดกับประเทศไทย” รายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) เมื่อปีที่แล้ว ระบุ

ในวันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจไซเบอร์ยังตรวจพบการลักลอบส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายด้วยสายอากาศแบบจานสะท้อนคลื่น ข้ามแม่น้ำโขงไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมทองคำของลาวซึ่งเป็นที่ตั้งของอดีตกาสิโนคิงส์โรมันส์อันโด่งดัง โดยส่งจากพื้นที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า พื้นที่นี้เป็นฐานการทำงานของกลุ่มไฮบริดสแกมที่หลอกลวงคนไทย โดยมีพฤติกรรมแฝงหาเหยื่อตามเว็บไซต์และแอปพลิเคชันหาคู่ เพื่อตีสนิทและหลอกให้ลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล

ขณะที่ นายจ้าว เหว่ย วัย 72 ปี ประธานบริษัทดอกงิ้วคำ ผู้ได้สัมปทานจากรัฐบาลลาวให้ลงทุนสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ เป็นเวลา 99 ปี ถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และแคนาดา โดยกล่าวหาว่าอาณาจักรและธุรกิจของเขาเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการหลอกลวงออนไลน์


การลักลอบส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายด้วยสายอากาศแบบจานสะท้อนคลื่น ข้ามแม่น้ำโขงไปยังพื้นที่เขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมทองคำของลาว

นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม บอกกับบีบีซีไทยว่า ขณะนี้สามารถตรวจสอบการใช้งานที่ผิดปกติได้จากการตรวจสอบการใช้งานเครือข่าย (Network traffic) ซึ่งทางผู้ให้บริการจะส่งรายงานมายัง กสทช.

“แต่มิจฉาชีพเขาก็ปรับตัวไว เมื่อก่อนเขาตั้งซิมบ็อกซ์ตามชายแดน ซึ่งผู้ประกอบการที่มอนิเตอร์ (monitor) อยู่ก็จะรู้ เพราะ cell site (ที่ตั้งสถานีฐาน) ชายแดนทราฟฟิกสูงผิดปกติมาก ตอนนี้เขาก็เอามาตั้งในประเทศไทยในพื้นที่ที่มีทราฟฟิกสูงอยู่แล้ว เช่น กรุงเทพมหานคร ทำให้ตรวจสอบยากขึ้นว่าทราฟฟิกตรงนั้นมันคืออะไร มันเป็นของมิจฉาชีพหรือประชาชนทั่วไป” เขาบอก

เกมแมวจับหนูเพื่อไล่ระงับสัญญาณโทรคมนาคมที่ส่งไปยังฐานสแกมเมอร์ข้ามแดนเหล่านี้ยังส่งผลให้ กสทช. สั่งให้ผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมของไทยรื้อถอน หรือปรับทิศทางสายอากาศเสาสัญญาณโทรคมนาคมจำนวนกว่า 390 สถานีที่อยู่รอบชายแดนบริเวณ จ.เชียงราย ตาก สระแก้ว จันทบุรี ระนอง สุรินทร์ และบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบว่ากลุ่มอาชญากรออนไลน์เข้ามาตั้งฐานในประเทศเพื่อนบ้าน และใช้โครงสร้างพื้นฐานของไทย


โรงแรมดอกงิ้วคำในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ

นอกจากนี้ได้ระงับเลขหมายโทรศัพท์ระบบ Pre-paid ที่มีการโทรออกมากกว่า 100 ครั้งต่อวันไปแล้วกว่า 63,000 เลขหมาย รวมถึงบังคับให้ผู้ถือครองซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่ตั้งแต่ 6-100 หมายเลขขึ้นไปต้องยืนยันตัวตนและลงทะเบียนกับผู้ให้บริการ ส่งผลให้มีซิมโทรศัพท์มากกว่า 1.89 ล้านเลขหมายที่ถูกระงับในกลุ่มผู้ถือครอง 6-100 เลขหมาย/คน และมากกว่า 1 ล้านซิมในกลุ่มผู้ถือครองมากกว่า 100 เลขหมาย/คน ขึ้นไป

ส่วนใหญ่แล้วมิจฉาชีพมักใช้ซิมโทรศัพท์ของไทยเพื่อใช้เปิดบัญชีม้า รวมถึงใช้โทรกลับเข้ามาในประเทศผ่าน Sim Box ซึ่งเป็นอุปกรณ์ช่วยให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์หรือมิจฉาชีพสามารถติดต่อผู้คนได้วันละหลายร้อยหมายเลขต่อวัน

ลักลอบนำเข้าสตาร์ลิงก์ (Starlink) ผ่านไทยเพิ่มขึ้น

จนถึงตอนนี้ ทางการไทยตรวจยึดสตาร์ลิงก์ (Starlink) บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านดาวเทียมของบริษัทสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ได้จำนวนมาก

พ.ต.อ.เผด็จ งามละม่อม รองผู้บังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง บอกกับบีบีซีไทยว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ตรวจยึดอุปกรณ์เหล่านี้ได้ ซึ่งเขามองว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการมาตรการควบคุมเสาสัญญาณโทรศัพท์สายส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต และซิมโทรศัพท์มือถือของไทยในช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุดตรวจยึดชุดอุปกรณ์สตาร์ลิงก์ได้ 180 ชุด จากทั้งหมด 20 คดี

จากข้อมูลล่าสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่าคดีอาชญากรรมออนไลน์ในประเทศไทยมีมากกว่า 6 แสนคดี มูลค่าความเสียหายมากกว่า 50,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับสแกมเมอร์และแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากกว่าครึ่งซึ่งมีมูลค่าเสียหายราว 30,000 ล้านบาท นับตั้งแต่เปิดให้บริการแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Thai Police Online เมื่อปี 2565

ด้านนายสุทธิศักดิ์ รองเลขาธิการ กสทช. เห็นด้วย และบอกว่าการนำเข้าอุปกรณ์สตาร์ลิงก์ทั้งหมดถือว่าผิดกฎหมายไทยในตอนนี้ เนื่องจาก กสทช. ยังไม่ได้อนุญาตให้สตาร์ลิงก์ดำเนินการในประเทศไทย

จุดที่ตรวจยึดอุปกรณ์ดังกล่าวได้มากที่สุดคือด่านศุลกากรเชียงแสนซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ รองลงมาคือด่านศุลกากรสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนใหญ่พบว่าผู้ส่งคือชาวจีนที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เป็นต้น

ขณะที่ชื่อผู้รับในประเทศไทยนั้นไม่ใช่เจ้าของตัวจริง แต่อาจเป็นคนไทยที่มีความสัมพันธ์หรือทำธุรกิจกับชาวจีนที่ทำงานเป็นแก๊งสแกมเมอร์ในประเทศเพื่อนบ้านของไทย โดยอุปกรณ์ทั้งหมดไม่ได้มีเป้าหมายลักลอบนำเข้ามาใช้ในประเทศไทย แต่ต้องการส่งต่อไปยังฐานสแกมเมอร์ที่ตั้งอยู่รอบชายแดนไทยอีกทอดหนึ่ง


ในปีนี้ ไทยตรวจยึดชุดสตาร์ลิงก์ที่กำลังจะส่งไปเมืองสแกมเมอร์รอบชายแดนได้เกือบ 200 ชุด

อย่างไรก็ตาม การตรวจยึดสตาร์ลิงก์ยังพบในเส้นทางที่ส่งออกไปยังชายแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และ อ.แม่สอด จ.ตาก ด้วย โดยไทยพีบีเอสรายงานว่าพบสตาร์ลิงก์บนอาคารสูงในเมืองสแกมเมอร์บริเวณชายแดน อ.แม่สอด, อ.พบพระ จ.ตาก รวมถึงชายแดน อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

“ไทยตั้งอยู่ตรงกลาง ระหว่างฐานที่มั่นของพวกเขาในคิงส์โรมันส์ที่ลาว ปอยเปตของกัมพูชา และฝั่งเมียนมาในเมียวดี ทั้ง 3 จุด ตรงนี้ จริง ๆ แล้วระดับหัวหน้าหรือผู้บงการแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่เชื่อมโยงกัน พวกเขาจึงมักเคลื่อนย้ายคน อุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านประเทศไทย เช่น ตอนนี้ในคิงส์โรมันส์น้ำท่วม เขาก็ขยับฐานมายังเมียวดีและปอยเปต ดังนั้นมันจึงเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะใช้ไทยในการเดินทางและขนส่งอุปกรณ์ต่าง ๆ ด้วยข้อได้เปรียบเรื่องถนนหนทางของไทยที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงค่าขนส่งที่สะดวกและถูกกว่า” รองผู้บังคับการปราบปราม กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ระบุ

นอกจากนี้เขายังบอกว่าในช่วงแรกกลุ่มมิจฉาชีพยังสำแดงกับศุลกากรว่าเป็นอุปกรณ์สตาร์ลิงก์ แต่เมื่อถูกกวดขันมากขึ้น พวกเขาก็สำแดงเท็จเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ๆ เช่น เครื่องขยายเสียง เป็นต้น เพื่อตบตาเจ้าหน้าที่

ไทยคือขุมพลังของสแกมเมอร์รอบชายแดน

นายรังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทน (สส.) บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน บอกว่า ประเทศไทยคือ “แบตเตอรี (Battery)” หรือ “ขุมพลัง” สำหรับสแกมเมอร์รอบชายแดน เนื่องจากประเทศมอบความอำนวยความสะดวกให้กับเหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัย 4 หรือโครงสร้างขึ้นพื้นฐาน

“ด้วยโครงสร้างของประเทศไทยที่มีไฟฟ้าค่อนข้างเสถียรกว่าประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงอินเทอร์เน็ตคุณภาพสูง ทำให้สแกมเมอร์เหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์จาก Supplies (ปัจจัย) เหล่านี้ได้” สส.จากพรรคประชาชน ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ รัฐสภา ระบุ

จากการสำรวจของ Ookla ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับโลก ระบุว่า เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ความเร็วเฉลี่ยของอินเทอร์เน็ตแบบบรอดแบนด์ (Broadband) ของไทยมีความเร็วอยู่ที่อันดับ 6 ของโลก

นายรังสิมันต์ยังชี้ให้เห็นว่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ขายให้กับ จ.ท่าขี้เหล็กของเมียนมา ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจของกลุ่มทุนจีนที่ไปตั้งฐานสแกมเมอร์และพนันออนไลน์ดำเนินต่อไปได้ เขาจึงต้องการให้ กฟภ. ระงับการขายไฟให้กับพื้นที่ดังกล่าว เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นแล้วบริเวณชายแดนแม่สอดที่ไทยระงับสัมปทานซื้อขายไฟฟ้าที่ส่งไปยังเมืองชเวโก๊กโก่และเคเค พาร์ค

อีกเหตุผลหนึ่งที่เมืองสแกมเมอร์เหล่านี้อาศัยพื้นที่ชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานทำงาน เนื่องจากทราบดีว่าอำนาจทางกฎหมายของไทยไม่สามารถข้ามแดนเพื่อเอาผิดกับองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ได้

“มันทำให้พวกเขารอดจากการถูกตรวจสอบหรือถูกทลาย” เขาบอก “ประเทศไทยจึงเป็นแบตเตอรี เราไม่ได้ให้แค่พลังงานไฟฟ้ากับพวกมิจฉาชีพ แต่เราให้ชีวิตกับองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ ทำให้เขาดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไปได้”

มาตรการปราบปรามของไทยดีพอหรือไม่ ?

สส.จากพรรคประชาชนเห็นว่าการทำงานของ กสทช. และฝ่ายความมั่นคงในช่วงที่ผ่านมาถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขายังไม่เห็นคือ มาตรการที่บังคับให้ผู้ให้บริการ (Provider) ต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการกระทำผิดที่เกิดขึ้นเมื่อพบการลักลอบส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตข้ามแดน

“ผมคิดว่า มันไม่ควรจบแค่ทำลายสายเคเบิลหรือตัดสายอินเทอร์เน็ต แต่มันรวมถึงการคิดไปข้างหน้าว่าคนที่อยู่ในองค์กรของ Provider นั้นมีส่วนในการทุจริตด้วยหรือไม่” นายรังสิมันต์ตั้งคำถาม โดยชี้ให้เห็นว่าเหตุใดทาง กสทช. จึงอนุญาตให้เอกชนตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมบริเวณชายแดนจำนวนมากในพื้นที่ประชิดเมืองสแกมเมอร์ในห้วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งที่ไม่ใช่จุดที่มีชุมชนหนาแน่นในฝั่งไทย

“ผมกังวลว่า regulator (ผู้กำกับดูแล) ของเราจะไม่มีความสามารถในการกำกับดูแลได้จริง และสุดท้ายก็โอนอ่อนไปตาม provider ซึ่งสุดท้ายแล้วผลประโยชน์ของประชาชนที่ควรได้รับการคุ้มครอง มันก็ไม่เกิดขึ้นจริง” นายรังสิมันต์ บอก

“หากเราสามารถขยายผลการจับกุมว่าเกี่ยวข้องกับ Provider รายใดได้และให้ทางเอกชนต้องชดเชยค่าเสียหายกับประชาชนไทยที่ถูกสแกมเมอร์หลอก ผมเชื่อว่าผู้ให้บริการจะเข้มงวดกับผู้ให้บริการในท้องที่มากขึ้น”

ทางด้านนายสุทธิศักดิ์บอกว่า กฎหมายของ กสทช. เน้นกำกับดูแลผู้ให้บริการเพื่อให้ความคุ้มครองกับผู้บริโภค ในกรณีที่พบการลักลอบต่อสายอินเทอร์เน็ตข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านนั้น ผู้ต้องหาที่เป็นประชาชนอาจมีความผิดในฐานะผู้ร่วมกระทำความผิดทางคดีอาญา ซึ่งตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการ แต่ กสทช. ไม่สามารถเข้ากล่าวโทษผู้ให้บริการได้

“จะไปบอกว่า Provider ผิดไม่ได้ เขาก็อ้างได้ว่าจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นการติดตั้งอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ด้วยจุดประสงค์อะไร” เขากล่าว และเชื่อมั่นว่าการให้เอกชนคอยติดตามแหล่งที่มีทราฟฟิกการใช้งานสูง ๆ จะสามารถทำให้การตรวจจับจุดลักลอบปล่อยสัญญาณได้ไม่ยาก


เมืองชเวโก๊กโก่ ติดชายแดนแม่สอดของไทย

รองเลขาธิการ กสทช. สายโทรคมนาคม บอกว่า ความเสียหายที่เกิดจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ออนไลน์นั้น ไม่ได้มีสาเหตุหลัก ๆ จากสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต แต่เกิดจากการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวกเกินไป

“หากเราตัดปัญหาการโอนเงินได้ มันก็จบ” เขาบอก “เราไปคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยมาโดยตลอดว่าปล่อยให้คน ๆ หนึ่งมีบัญชีธนาคารเป็นร้อย ๆ บัญชีได้อย่างไร คนทำธุรกิจยังมีไม่ถึง 300 บัญชีเลย”

“แบงก์ชาติต้องทำอะไรบ้าง สมาคมธนาคารแห่งประเทศไทยฯ ต้องอะไรบ้าง การโอนเงิน [ไปให้มิจฉาชีพ] มันเกิดจากโมบายแบงก์กิ้ง (Mobile Banking) เราไม่ได้เป็นคนไปผูกกับคุณเลยนะ แบงก์นั่นแหละที่เอาเบอร์มือถือไปผูกเอง แต่พอเกิดเรื่องคุณกลับบอกว่ามือถือนี่แหละคือคนผิด ซึ่งผมก็ค้านประจำ”


เสาสัญญาณที่หันหน้าไปทางเมืองเคเค พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่ติดชายแดน อ.แม่สอด จ.ตา

นายสุทธิศักด์เสนอว่าสถาบันการเงินควรกำหนดวงเงินและจำนวนครั้งในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้ง พร้อมกันนี้ควรหน่วงเวลาในการทำธุรกรรมเป็นระยะเวลา 2-3 วัน หากเป็นการโอนเงินในจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่ธนาคารในประเทศต่าง ๆ นิยมใช้


“แต่เขาก็บอกว่าไม่ได้ เดี๋ยวมันไปทำลายระบบเศรษฐกิจการเงินเสรี ผมก็ถามว่าแล้วเวลาเกิดปัญหาขึ้น ใครเป็นผู้รับผิดชอบ” พร้อมกับชี้ว่าการโอนเงิน 300-500 ครั้งต่อวันไม่ควรใช่เรื่องปกติสำหรับบัญชีธนาคารของบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่นิติบุคคล

“เพราะการโอนแต่ละ transaction (รายการเคลื่อนไหว) ธนาคารได้เปอร์เซ็นต์ ได้ค่าธรรมเนียมใช่ไหม ในแต่ละครั้ง” นายสุทธิศักดิ์ตั้งคำถาม

เช่นเดียวกัน นายรังสิมันต์เห็นด้วยว่าสถาบันการเงินควรเข้มงวดต่อธุรกรรมการเงินออนไลน์มากกว่านี้

“มันควรตั้งให้เป็นเรื่อง default (พื้นฐาน) เลยว่าธนาคารควรต้องชดเชยค่าเสียหายให้กับประชาชน หากความเสียหายเกิดขึ้นจากบัญชีม้า การหลอกลวงออนไลน์ต่าง ๆ ผมเชื่อว่าหากให้ธนาคารต้องชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้นในทุกกรณี สถาบันการเงินจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องตัวเอง” สส.พรรคประชาชน กล่าว

(https://bbc.in/4cSvsZw)