วันเสาร์, ตุลาคม 22, 2565

โตโน่ ต้องอ่าน - ประสบการณ์เฉียดตายในแม่น้ำโขง ของอดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ



โตโน่ ภาคิน : ประสบการณ์เฉียดตายในแม่น้ำโขง ของอดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ

20 ตุลาคม 2022
ณภัทร เวชชศาสตร์
ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย

จากกรณี โตโน่ ภาคิน จัดกิจกรรมว่ายน้ำข้ามโขงในวันที่ 22 ตุลาคม ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์ในสังคมอย่างมาก เหล่าบุคคลในวงการว่ายน้ำทะเลเปิดและแม่น้ำก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ออกมาแสดงความเห็นถึงการกระทำของโตโน่

บีบีซีไทย ชวนพูดคุยกับอดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ และนักไตรกีฬามืออาชีพ ที่เคยมีประสบการณ์ “เกือบเอาตัวไม่รอด” ในการว่ายน้ำในแม่น้ำโขง ว่า พวกเขาต้องเตรียมตัวอย่างไร และอุปสรรคเจอมีอะไรบ้าง

“ตอนแข่งว่ายน้ำที่แม่น้ำโขง รอบ ๆ ก็จะเป็นแหล่งชุมชน มีป่าไม้บ้าง สิ่งที่ผมเจอตลอดทางการว่าย ก็จะเป็นพวกเศษไม้ ซากสัตว์ที่ลอยผ่าน หรือไม่ก็ขอนไม้ที่เกือบเฉียดหน้า ซึ่งถ้าโดนเต็ม ๆ ก็คงจะเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน” กลย์ธัช คุณาบริมาส อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ และนักไตรกีฬา เล่าให้ทางบีบีซีไทยฟังถึงประสบการณ์การแข่งว่ายน้ำในรายการ “โขงนทีไตรกีฬา” จ.นครพนม เมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2563

“ต้องเข้าใจก่อนว่า ร่างกายของมนุษย์ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้อยู่ในน้ำ ไม่เหมือนการวิ่ง การเดิน ดังนั้น การจะว่ายน้ำในระยะทางที่ไกล ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ก็ต้องอาศัยการฝึกซ้อมที่นาน ขั้นต่ำคือ 6 เดือน เพื่อให้ร่างกาย กล้ามเนื้อ และสมองได้จดจำความรู้สึกที่อยู่ในน้ำ”

กลย์ธัช เล่าต่อว่า โดยปกติจะลงแข่งขันว่ายน้ำทั้งในสระว่ายน้ำ บึง ทะเลเปิด และแม่น้ำเป็นประจำอยู่แล้ว ตั้งแต่ระยะสั้น 50 เมตร จนถึงระยะทางร่วม 5 กิโลเมตร ซึ่งการซ้อมแต่ละครั้ง ก็จะแตกต่างกันไป

กลย์ธัช คุณาบริมาส อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ และนักไตรกีฬา

“ถ้าเรารู้ว่า เราจะไปแข่งที่แม่น้ำ อย่างเช่นแม่น้ำโขง ก็ต้องมีการลงซ้อมในสระ ว่ายทำระยะทาง สลับกับลงไปว่ายในแหล่งน้ำธรรมชาติบ้าง อย่างเช่นบึง และก่อนที่จะมีการแข่งขันก็ควรจะต้องลงสถานที่จริงอย่างน้อย 1-2 วันก่อนแข่ง เพื่อให้เข้าใจสภาพน้ำตรงนั้น”

ด้าน พรสุดา ไวนิยมพงศ์ อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ ผู้ทำสถิติการว่าย 10 กิโลเมตร ที่ 2 ชั่วโมง 18 นาที และเคยเข้าร่วมการแข่งขันนานาชาติมาหลายรายการ อย่างเช่น 4th Asian Beach games 2014 กล่าวว่า “โดยปกติเวลาแข่งว่ายน้ำ แค่แข่งระยะทาง 200 เมตร ก็ต้องมีการฝึกซ้อมขั้นต่ำ 5,000 – 6,000 เมตรอยู่แล้ว ถ้าจะว่ายระยะทาง 10 กิโลเมตร ก็ควรจะต้องซ้อมอย่างน้อยวันละ 20 กิโลเมตร แบ่งเป็นเช้า 10 กิโลเมตร เย็น 10 กิโลเมตร และยังไม่รวมการเวทเทรนนิ่งอีก”

พรสุดา ไวนิยมพงศ์ อดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติ

พรสุดา เสริมว่า การซ้อมว่ายน้ำระยะทาง 10 กิโลเมตร ไม่ใช่เป็นการว่าย 10 กิโลเมตรเลยทีเดียว แต่จะว่ายเป็นโปรแกรม เช่น 1 กิโลเมตร 3 เที่ยว และผสมกับการว่ายแบบอื่น เป็นต้น

การออกแบบโปรแกรม จะมีโค้ชผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลอยู่อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้การฝึกซ้อม ก็เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพของร่างกาย พัฒนาความทนทานของกล้ามเนื้อ ความแข็งแรง สร้างความมั่นใจให้กับนักกีฬาในการว่ายไปให้ถึงจุดหมาย ในระยะเวลาที่กำหนดไว้

กลย์ธัช ให้ความเห็นสำหรับคนทั่วไปที่อยากว่ายน้ำในทะเลเปิดหรือแม่น้ำ ว่า สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือการเตรียมตัว เพราะอย่างนักกีฬาที่มีความชำนาญ ก็ต้องมีการวางแผนการฝึกซ้อมอย่างน้อย 1 ปี หรือถ้าเวลาน้อยจริง ๆ ก็ไม่ควรต่ำกว่า 6 เดือน

“ถ้าร่างกายไม่พร้อม โอกาสที่จะโดนกระแสน้ำพัด หรือจมน้ำก็มีสูง แม้จะมีทุ่นติดอยู่ที่ตัวก็ตาม”

อุปกรณ์ไม่พร้อม อาจจะเพิ่มอุปสรรคการว่ายได้

พรสุดา เล่าว่า อุปกรณ์ที่ใช้ว่ายในสระว่ายน้ำทั่วไปกับแหล่งน้ำธรรมชาติ จะมีความแตกต่างกันพอสมควร เพราะหากใช้อุปกรณ์ผิดประเภท ก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้

“อย่างน้อย ชุดว่ายน้ำก็ควรเป็นชุดที่สั่งทำเฉพาะสำหรับการว่ายในทะเลเปิด หรือแม่น้ำ เพราะเราไม่รู้ว่ามันจะสัตว์มีพิษหรืออะไรรึเปล่า และหากไปใช้เว็ทสูท (wet suit) ทั่วไป ก็อาจจะทำให้ชุดมีการดูดซับน้ำตลอดการว่าย ส่งผลให้น้ำหนักมากขึ้น การว่ายต้องใช้แรงมากขึ้น”


"ถ้าจะว่ายระยะทาง 10 กิโลเมตร ก็ควรจะต้องซ้อมอย่างน้อยวันละ 20 กิโลเมตร"

ชุดที่นักกีฬาว่ายน้ำใส่ว่ายในทะเลเปิดจะแบ่งเป็นสองประเภท
  • สปีท สูท (speed suit) จะเป็นลักษณะสวมทั้งตัว มีแขนกุด ผ้าไม่ค่อยซับน้ำ เป็นที่นิยมใส่ในกลุ่มนักกีฬา เพราะช่วยให้การหมุนของแขนมีความคล่องตัว
  • เว็ทสูท (wet suit) แบบไตรกีฬา จะเป็นลักษณะสวมทั้งตัว คลุมทั้งแขน มีความหนา เหมาะกับการว่ายในน้ำที่อุณหภูมิต่ำ ตัวช่วงไหล่จะมีความยืดหยุ่นเป็นพิเศษ แตกต่างจากเว็ทสูทที่ใช้สำหรับการดำน้ำลึก
“ในบางประเทศก็มีกฎบังคับว่านักกีฬาต้องมีการใส่เว็ทสูท เพราะอุณหภูมิน้ำในต่างประเทศจะค่อนข้างเย็น อย่างตอนที่ผมเคยว่ายที่แม่น้ำโขง ตอนนั้นอุณหภูมิน้ำก็อยู่ที่ 22 องศาฯ ได้ ถ้าไม่ใส่ โอกาสที่จะเกิดอาการช็อคน้ำ และเสียชีวิตมีสูงมาก” กลย์ธัช กล่าว


"หากเกิดอาการเหนื่อยมาก ๆ ก็สามารถเกาะทุ่นรอความช่วยเหลือได้”

“บางทีชุดว่ายน้ำ ถ้าไม่เหมาะสม ก็อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ ถ้าชุดดูดซับน้ำมากมันก็จะเป็นตัวถ่วงให้เรา ยังไม่รวมเรื่องการที่ผิวหนังต้องเสียดสีกับชุดตลอดเวลา ดังนั้น นักกีฬาส่วนใหญ่จะนิยมทาวาสลีนไว้ที่คอเสมอ เพราะถ้าเกิดคอเป็นแผล โอกาสที่แผลจะติดเชื้อมีค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในแม่น้ำโขง” พรสุดา เสริม

นอกจากชุดว่ายน้ำ ก็จะเป็นเรื่องของแว่นตา และหมวก ซึ่งพรสุดาให้ความเห็นว่า “การใส่หมวกว่ายน้ำในระยะทางไกล ๆ บางทีอาจจะไม่จำเป็น เพราะหมวกว่ายน้ำมันจะค่อนข้างรัดศีรษะ อาจจะก่อให้เกิดอาการปวดหัว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความถนัดของแต่ละคน”

“สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะสำหรับนักว่ายน้ำมือสมัครเล่น ก็จะเป็นเรื่องทุ่นผูกตัว เพราะจะเป็นสัญลักษณ์บอกตำแหน่งว่าตัวของเราอยู่ตรงไหน หรือหากเกิดอาการเหนื่อยมาก ๆ ก็สามารถเกาะทุ่นรอความช่วยเหลือได้” กลย์ธัช กล่าว

ความเสี่ยงในการว่ายน้ำโขง ในฤดูน้ำหลาก

ปกติแล้ว การว่ายน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติจะแบ่งออกเป็นสามแหล่งน้ำ ได้แก่ บึง ทะเลเปิด และแม่น้ำ ซึ่งทั้งสามแหล่งน้ำมีความแตกต่างกัน โดยส่วนใหญ่ บึง จะได้รับความนิยม เพราะไม่ค่อยมีกระแสน้ำ และง่ายต่อการจัดการด้านความปลอดภัย ในขณะที่ทะเลจะมีคลื่นลม กระแสน้ำ แต่ด้วยพื้นที่กว้าง การจัดการเรื่องความปลอดภัยจะทำได้ค่อนข้างสะดวกกว่าแม่น้ำ

“ตอนที่ผมว่ายในแม่น้ำโขง แค่เอามือมาไว้ตรงหน้าก็มองไม่เห็นแล้ว และเราจะรู้ได้ไงว่ามีอะไรลอยมากับน้ำบ้าง อย่างที่ผมบอกว่าเกือบจะโดนขอนไม้กระแทกหน้าไปเหมือนกัน แม้ทางผู้จัดจะมีการเตรียมตัวแล้วระดับนึง แต่ความเสี่ยงมันก็ยังมี” กลย์ธัช กล่าว


"แม้ทางผู้จัดจะมีการเตรียมตัวแล้วระดับนึง แต่ความเสี่ยงมันก็ยังมี” กลย์ธัช

นักว่ายน้ำทั้งสองให้ความเห็นในทางเดียวกันว่า ฤดูน้ำหลาก เป็นฤดูที่ไม่ควรมีการว่ายน้ำที่สุด ด้วยปัจจัยดังนี้
  • ทัศนวิสัยที่ต่ำ: การมีทัศนวิสัยต่ำ อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุชนกับวัตถุที่ลอยมาตามน้ำ โดยเฉพาะในช่วงน้ำหลากก็จะเป็น เศษดินโคลน กิ่งไม้ ขอนไม้ หรือซากสัตว์
  • กระแสน้ำ: แม้การว่ายตามกระแสน้ำ จะเป็นการทุ่นแรงพอสมควร แต่โอกาสที่จะหลุดจากทุ่นจับก็มีสูง “บางทีนักว่ายน้ำจับทุ่นไม่ทัน ก็อาจจะหลุดออกนอกกระแสไปได้ จะว่ายสวนก็ไม่ไหวเพราะกระแสน้ำเชี่ยว” กลย์ธัช เสริม
  • อุณหภูมิ: ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำลดลงอย่างมาก โอกาสที่นักว่ายน้ำจะเป็นตะคริวจะค่อนข้างสูง หรือหากไม่มีการอบอุ่นร่างกายที่เพียงพอก็อาจทำให้เกิดอาการช็อคน้ำและเสียชีวิตได้
  • น้ำวนกลางแม่น้ำโขง: ด้วยกระแสน้ำที่มีความเชี่ยว มีโอกาสที่ก่อให้เกิดน้ำวนกลางแม่น้ำได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับภูมิประเทศว่าบริเวณที่มีการว่ายมีลักษณะเป็นแก่งหิน หรือลานทราย
นอกจากนี้ พรสุดา ให้ความเห็นว่า การศึกษานอกจากการดูกระแสลม กระแสน้ำแล้ว ก็ควรต้องดูเรื่องพยากรณ์เสริมขึ้นมาด้วย เพราะหากระหว่างการว่ายเกิดมีพายุเข้ามา โอกาสที่เกิดอุบัติเหตุมันก็สูงขึ้น และประสิทธิภาพการช่วยเหลือมันก็มีต่ำลง


“มันก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานหนักขึ้น หากเราไม่ประเมินสถานการณ์ให้ดี”

ด้าน กลย์ธัช บอกว่า ทุกการแข่งขัน ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่จะมีการทำความสะอาดสถานที่เสมอ อย่างกรณีแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เคยมีการจัดการแข่งขัน ก็จะใช้อวนดักขยะ ซึ่งการเตรียมตัวก็ต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์

ความเห็นจากอดีตนักกีฬาว่ายน้ำทีมชาติต่อการว่ายของโตโน่

“จริง ๆ การที่คุณโตโน่ จะว่ายข้ามแม่น้ำโขงเป็นระยะทางร่วม 15 กิโลเมตร ต้องเข้าใจก่อนว่า 15 กิโลเมตรคือมีกระแสน้ำช่วย การว่ายทำความเร็วอาจจะไม่จำเป็น แต่จะเป็นในเรื่องของการว่ายประคองตัวเองให้อยู่ในร่องน้ำที่กำหนด” พรสุดา ให้ความเห็นในเชิงการว่ายน้ำ

“ถ้าไม่มีการเตรียมตัวให้ดี และไม่มีความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อม ความเสี่ยงก็สูงเหมือนกัน เพราะอย่างที่บอก ขนาดนักกีฬายังต้องเตรียมตัวอย่างน้อยขั้นต่ำ 6 เดือน แต่ถ้าพื้นฐานดีอยู่แล้ว ก็อาจจะมีความเป็นไปได้”



ส่วน กลย์ธัช ให้ความเห็นว่า แม้อาจจะมีความเป็นไปได้ที่จะว่ายตามระยะทางที่กำหนด แต่การที่มีการจัดกิจกรรมในช่วงฤดูที่ไม่เหมาะสม จะเป็นการใช้ทรัพยากรมหาศาลโดยใช่เหตุรึเปล่า เช่น หน่วยกู้ภัย หน่วยพยาบาล และหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่ง ก็มีความเห็นแตกออกเป็นสองทาง ทั้งมองว่าการกระทำของคุณโตโน่เป็นการใช้ชื่อเสียงตัวเองสร้างประโยชน์ให้สังคม ในขณะที่อีกส่วนมองว่าอาจจะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

“ถ้าต้นตอของปัญหาไม่ถูกพูดถึง และไม่ถูกแก้ จะต้องมีการว่ายน้ำแบบนี้อีกกี่ครั้ง”

เสียงจากคนจังหวัดนครพนม

นายนิธิ บุญนิธิ รองประธาน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้า (Young Entrepreneur Chamber of Commerce: YEC) ให้ความเห็นว่า ผลกระทบของการจัดงานในนครพนม ทำให้เสียงแตกออกเป็นสองฝั่ง

ฝั่งสนับสนุนซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่ เห็นว่า เป็นการทำความดี ช่วยเหลือโรงพยาบาล ในขณะที่อีกฝ่ายที่ส่วนใหญ่จะเป็นคนในอำเภอเมืองมองว่าไม่เหมาะสม เพราะถือเป็นการสร้างความยุ่งยากให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่ต้องซัพพอร์ทในงานกิจกรรม

“โดยปกติแล้ว การจัดงานระดุมทุนที่จังหวัดนครพนม จะเป็นลักษณะการจัดวิ่ง ปั่นจักรยานข้ามสะพานแม่น้ำโขง ไทย-ลาว มากกว่า ส่วนการว่ายน้ำจะเป็นลักษณะการแข่งไตรกีฬา ไม่มีการระดมทุน”

จากการประชุมการจัดเตรียมงาน “One Man and The River หนึ่งคนว่าย หลายคนให้” ลงวันที่ 26 กันยายน 2565 เผยว่ากิจกรรมครั้งนี้ จะมีการใช้หน่วยงานทั้งหมด 33 หน่วยงาน เช่น สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ตำรวจภูธรนครพนม โรงพยาบาลนครพนม และเทศบาลเมืองนครพนมที่จะจัดเตรียมนางรำทั้งหมด 200 คน สำหรับกิจกรรมนี้ เป็นต้น