พอจะถึง ๖ ตุลาทุกปี ความรู้สึกรวมหมู่ต่อเหตุการณ์หฤโหดในอดีต กลับมาบีบคั้นภาวะจิตใจของคนไทยจำนวนหนึ่งเสมอ ตลอด ๔๖ ปีที่ผ่านมา แต่ละปีมีปฏิกิริยาแสดงออกต่างบ้างเหมือนบ้าง แต่ไม่พ้นไปจากความสลดและกดดันที่ไม่เคยมีการชำระสะสาง
ประเด็นใครฆ่าหรือใครสั่งไม่เป็นปัญหาเท่า ทั้งที่รู้ๆ กันอยู่ก็ไม่สามารถเอาผิดหรือเรียกร้องความรับผิดชอบได้ ไอ้เหยหรืออีหายังคงลอยนวลอยู่เสมอ ที่ทำกันได้แต่ละปีดีที่สุดคือนำความจริงออกมาตีแผ่ ให้ประชาชนทั้งหลายรับรู้ ด้านทนกันได้ ‘ชั่งหัวมัน’
ปีนี้มีการเสวนาในหมู่ผู้รู้ ผู้ช่ำชองเกี่ยวกับเหตุการณ์ ทั้งในทางวิชาการ หลักกฎหมาย และข้อเท็จจริง ต่างปราศัยกันอย่างถึงแก่น โดยเฉพาะประเด็นสิทธิมนุษยชน และ “ความยุติธรรมที่ยังเอื้อมไม่ถึง” อันโยงใยไปถึงพันธกรณีในทางสากล
ประเด็นสำคัญที่ถูกละเลยมานาน แล้วผู้เกี่ยวข้องกำลังจะทำลืม เพื่อที่จะได้นับหนึ่งใหม่ในเครื่องทรงใหม่ ก็คือ ทำไมประเทศไทยไม่ยอมให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรม รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อสะสางอาชญากรรมแห่งรัฐที่กระทำต่อมวลชน
ประเด็นนี้ควรที่จะใช้ย้อนไปจัดตั้งความจริงทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์เดือนตุลา ๒๕๑๙ เช่นเดียวกับเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษา-พฤษภา ๒๕๕๓ ปิยบุตร แสงกนกกุล แห่งคณะก้าวหน้าเสนอให้ทำการเรียกร้องต่อ “พรรคการเมืองทุกพรรค” ให้เริ่มกระบวนการ
นอกจากให้สัตยาบรรณธรรมนูญกรุงโรมแล้ว ควรรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ‘เฉพาะช่วงเวลา’ ตามธรรมนูญข้อ ๑๒(๓) สำหรับเหตุการณ์ “สลายชุมนุม พฤษภา ๕๓ สงครามยาเสพติด หรือเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้”
พวงทอง ภวัครพันธุ์ กล่าวในการเสวนาตอนหนึ่งว่า “Justice delayed is justice denied เรามักโจมตีฝ่ายที่ใช้ความรุนแรง แต่ฝ่ายที่อ้างว่าแคร์คนตายก็ล่าช้าด้วยเหมือนกัน #6ตุลา บอกว่าอย่าฟื้นฝอยหาตะเข็บ ปัจจุบันก็บอกว่าต้องเลือกตั้งเป็นรัฐบาลก่อน
ความยุติธรรมมันสำคัญน้อยกว่าทุกเรื่องและรอได้เสมอ” อย่างนั้นหรือ เธอตัดพ้อ ส่วน ธิดา ถาวรเศรษฐ อดีตประธาน นปช.ว่า การไปร้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศนั้นไม่เพียงกรณีปี ๕๓ แต่รวมถึงครั้งอื่นๆ เพราะ “ประเทศไทยถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก”
อาจารย์ธิดาเล่าถึงการเรียกร้องในตอนนั้น มีอัยการของไอซีซีมาคุยกับ สุรพงษ์ โตวิจักชัยกุล รัฐมนตรีต่างประเทศของพรรคเพื่อไทย แต่ถูกผลักไส “ดิฉันไม่แน่ใจว่ารัฐมนตรีสับสน” หรือเปล่า รัฐบาลตอนนั้นห่วงว่าให้สัตยาบันแล้วจะกระทบสถาบันกษัตริย์
เมื่อต้นเดือนพฤษภา ปี ๕๕ วารุณี ปั้นกระจ่าง ผู้อำนายการกองกฎหมาย กระทรวงต่างประเทศตอบข้อซักถามเรื่องนี้ว่าปัญหาที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ไม่กล้าให้สัตยาบัน เพราะข้อ ๒๗ ของธรรมนูญฯ บอกว่าประมุขแห่งรัฐไม่ได้รับยกเว้นถ้ากระทำผิด
แต่รัฐธรรมนูญไทย (ฉบับปี ๒๕๕๐) ขณะนั้นระบุไว้ในมาตรา ๘ ว่า พระมหากษัตริย์จะถูกฟ้องร้องหรือกล่าวหาอย่างใดๆ ไม่ได้ ตีความกันว่ารวมถึงคดีความในศาลอาญาระหว่างประเทศด้วย แต่ต่อมาในปี ๖๓ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ให้ความเห็น
ว่าพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐในระบอบรัฐสภาไทย ย่อมไม่เป็นผู้กระทำความผิดอยู่แล้ว พล.ท.พงศกร รอดชมพู ระบุว่า “ไม่ได้หมายความว่าพระมหากษัตริย์กระทำการใดๆ ก็ไม่ผิด” แต่มีผู้บริหารประเทศกระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย
“ดังนั้น ประมุขในระบอบการปกครองที่เป็นระบบรัฐสภา จะไม่มีโอกาสทำผิดได้เลย เป็นเรื่องของฝ่ายการเมืองทั้งนั้น” แต่เหตุการณ์เมื่อ ๖ ตุลา ๑๙ ก็มีรอยเปื้อน ถ้านำประเด็นนี้มาโต้เถียง ในเมื่อไม่เพียงกำลังตำรวจ ตชด. เฮลิค้อปเตอร์ของทัพบก
กับมวลชนเชิดชูสถาบันฯ ที่ได้รับการปลุกปั่นจากวิทยุยานเกราะและหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ก่อเหตุร้ายทำลายชีวิต และทำร้ายกระทั่งศพซึ่งถูกฆาตกรรมแล้ว หลังการปราบปรามราบคาบ พระบรมโอรสาฯ เสด็จออกให้กำลังใจแก่ตำรวจ ทหาร ลูกเสือชาวบ้านและนวพล
เหตุการณ์ครั้งนั้นอาจมีผลต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยหลังปี ๒๕๕๓ ก็ได้ ทั้งๆ ที่อัยการไอซีซี ยืนยันกับรัฐมนตรีต่างประเทศ ตามที่ อจ.ธิดาเล่า “คุณใช้ ๑๒ วงเล็บ ๓ น้า คุณไม่ต้องให้สัตยาบันน้า คุณไม่ต้องกลัวเลยว่าประมุขของคุณจะโดนเล่นงานน้า ไม่เกี่ยวเลย
เฉพาะกรณีนี้แค่เปิดประตูให้ไอซีซีมา เพื่อจะมาหาหลักฐานรวบรวม” รัฐมนตรีต่างประเทศไทยก็ยังไม่ยอมเล่นด้วย น่าจะเป็นเพราะการขึ้นศาลไอซีซีไม่มีจำกัดอายุความ
(https://bpi-icb.org/เสวนา ๖ ตุลา ๖๕, https://progressivemovement.in.th/article/692/ และ https://prachatai.com/journal/2012/08/41934)