วันอาทิตย์, ตุลาคม 02, 2565

เบื้องหลังภาพถ่ายที่ดังไปทั่วโลกของนศ.ผู้ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขาม วันที่ 6 ตุลา 2519


45 ปี 6 ตุลา
September 16, 2016

พูดคุยกับ Neal Ulevich ช่างภาพเจ้าของรางวัล Pulitzer Prize 1977
ก่อนอื่นต้องอารัมภบทนิดหน่อยว่าอยู่ดีๆทำไมถึงเพิ่งจะไปคุยกับเขา เรื่องของเรื่องก็มีอยู่ว่า เราจะขับรถไปเยี่ยมเพื่อนที่เมือง Boulder รัฐ Colorado แล้วก็เผอิญนึกขึ้นได้ว่า Neal เขาอยู่ที่รัฐนี้แต่ไม่รู้ว่าเขาอยู่ใกล้กับเมืองที่เพื่อนเราอยู่หรือไม่ พอติดต่อไป เขาก็ติดต่อกลับมาทันทีว่า เขาอยู่ที่เมือง Thornton ซึ่งห่างจากเมืองที่เพื่อนเราอยู่แค่สามสิบนาทีขับรถ อยากพบและพูดคุยกับเราแต่เขาก็จะกำลังเดินทางไปจีนในช่วงที่เราจะเดินทางไป Colorado เพราะฉะนั้นเวลาที่จะได้เจอกันก็มีแค่อาหารค่ำก่อนเขาจะเดินทางไปจีนในวันรุ่งขึ้น
เราไปถึงบ้านเขาที่ Thornton เวลาหกโมงครึ่ง ก็พบว่าเขาออกมารอต้อนรับเราอยู่แล้ว และเชื้อเชิญให้เข้าไปในบ้าน พร้อมกับออกตัวว่าบ้านรกหน่อยนะ เพราะกำลังต้องแพคของเตรียมเดินทาง บ้านของเขาเต็มไปด้วยของที่สะสมมาเป็นเวลาหลายปีในช่วงที่เขาทำงานอยู่ในเอเชีย ตั้งแต่ปี 1974 เวียดนาม 1975-1978 ไทย หลังจากนั้นก็ไปๆมาๆระหว่าง ญี่ปุ่น จีน จนกระทั่งกลับมาประจำที่สหรัฐอเมริกาในปี 1990 และไม่ได้กลับไปประเทศไทยอีกเลย
Neal ชายวัย 70 ปี นอกจากจะเป็นช่างภาพชั้นเยี่ยมแล้ว เขายังเป็นคุณพ่อลูกสอง และคุณตาของหลานสาว ทำสวนครัวในช่วงฤดูร้อน และมีงานอดิเรกประกอบเครื่อง electronic ที่มี kits ให้ทำในฤดูหนาวยามที่หิมะตกซึ่งไม่สามารถออกไปไหนได้
หลังจากนั้น เราก็บอกว่าวันนี้เราอยากมาพูดคุยกับเขาถึงเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีที่แล้วที่เขาได้บันทึกภาพไว้ พร้อมกับมอบของฝากจากมหาวิทยาลัยที่เขาเป็นศิษย์เก่าพร้อมกับหมวกแก๊ป 40 ปี 6 ตุลา ซึ่งดูเหมือนเขาจะประทับใจมาก (แม้กระทั่งตอนจะลาจากกัน เขาก็พร่ำพูดว่า หมวกใบนี้เป็นสิ่งล้ำค่ามากเหลือเกิน)
เราไปทานอาหารที่ร้านเวียดนาม ระหว่างรอสั่งอาหาร ซึ่งดูเหมือนอาหารจะไม่เป็นที่สนใจของทั้งเราและเขา การพูดคุยก็เริ่มขึ้นทันที
Neal เล่าว่าเขาเป็นนักข่าว AP ที่ทำข่าวอยู่ในเวียดนาม แต่ถูกเรียกตัวให้มาประจำที่กรุงเทพฯประเทศไทย เมื่อปี 1975 บ้านพักเขาอยู่ในซอยเทียนเล็ง สีลม ใกล้สวนพลู ในเวลานั้น ใกล้บ้านพักของ มรว คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งเขาบอกว่าไม่ต้องกลัวอันตราย เพราะมีตำรวจอารักขาอยู่ตลอดเวลา
เขาเล่าว่าเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 1976(2519) เวลาประมาณหกโมงครึ่ง เขาได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนนักข่าวเอพี (คนไทย ชื่อว่าสุรินทร์ เรืองดิษฐ์)ว่า เกิดเหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเองรีบนั่งแท๊กซี่ออกไปทันทีพร้อมกล้องคู่ใจ ก่อนออกจากบ้านได้กำชับภรรยาว่าอย่าออกไปไหน เพราะอาจเกิดอันตรายได้ เพราะตอนนั้นเขาก็ไม่แน่ใจว่าเกิดอะไรขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันแน่
พอเขาไปถึงที่หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประมาณเจ็ดโมงครึ่ง เขาก็เห็นควันและได้ยินแต่เสียงปืนดังไปหมด เขารออยู่ข้างนอกมหาวิทยาลัยประมาณ 40 นาทีจึงเดินตามพวกฝ่ายขวาที่พังประตูมหาวิทยาลัย(คาดว่าประตูหอใหญ่)เข้าไปข้างใน เขาบอกว่าแปลกมากที่ตอนนั้นไม่มีใครสนใจเขาเลยทั้งๆที่เขาถือกล้อง สิ่งที่เขาสังเกตเห็นก็คือ รอบนอกของมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยกระทิงแดง ส่วนข้างในเต็มไปด้วยทหาร อีกอย่างที่เขาสังเกตก็คือ มีแต่การยิงจากข้างนอกเข้าไปในมธ.เท่านั้น เพราะตอนเขาเข้าไปเขาก็ต้องหมอบเพราะกลัวกระสุนปืน(เขาเองก็เพิ่งมาทราบภายหลังว่าเพื่อนช่างภาพ UPI คนที่ถ่ายภาพตำรวจคาบบุหรี่ขณะเล็งปืนหน้ามหาวิทยาลัย ถูกยิงที่คอ ถูกส่งโรงพยาบาลซึ่งเขาจำไม่ได้ว่าโรงพยาบาลอะไร โชคดีที่ลูกกระสุนทะลุ ไม่ฝังใน และเช็คเอ้าท์จากโรงพยาบาลในเวลาสองสามวันต่อมา)
เขาเล่าว่า เมื่อเขาเข้าไปถึงในสนามบอล ก็เห็นนักศึกษานอนอยู่เกลื่อนกลาด พร้อมกับเจ้าหน้าที่ถือปืนควบคุมอยู่ เขาใช้ค่ำว่า at that time student already surrendered เขารีบถ่ายภาพอย่างรวดเร็วเท่าที่จะทำได้ และออกมาทันที เพราะจากประสบการณ์ที่เขาทำงานในเวียดนาม เขาคาดว่าหากเจ้าหน้าที่เห็นเขาซึ่งถือกล้องอยู่ กล้องที่เขาถ่ายภาพไว้อาจโดนยึดไป และภาพที่เขาถ่ายทั้งหมดนั้น อาจไม่มีโอกาสได้เล็ดรอดไปได้ แต่สิ่งที่เขากลับต้องตะลึงงันไปมากกว่านั้นก็คือ เมื่อเขาออกจากประตู ซึ่งคาดว่าเป็นประตูหอประชุมใหญ่ เขาเห็นคนกลุ่มใหญ่มุงดูอะไรกันอยู่ ด้วยสัญชาตญาณช่างภาพ เขาจึงสอดแทรกตัวเองเข้าไป และเห็นคน 2 คนถูกแขวนไต้ต้นไม่ในบริเวณเดียวกัน ห่างกันเดินประมาณ 10-15 วินาที เขารีบถ่ายภาพโดยรวดเร็ว และรีบออกจากที่นั่นทันทีเพราะกลัวโดนยึดกล้อง ได้แท๊กซี่ฝั่งตรงข้ามเพื่อตรงไปสำนักงานเอพี ประจำประเทศไทย
เมื่อไปถึงสำนักงาน เขาเล่าภาพเหตุการณ์ที่ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้หัวหน้าเขารับทราบ แต่หัวหน้าเขากลับพูดว่า “ไม่อยากเชื่อเลยว่าจะเป็นเรื่องจริง คนไทยไม่ทำเรื่องอย่างนี้หรอก” Neal จึงรีบจัดการจัดล้างฟิล์มและเอาภาพให้หัวหน้าดู หัวหน้าเขาจึงได้ส่งนักข่าวเอพีและช่างภาพอีกสองคน หลังจากนั้น Neal จึงจัดการส่งภาพไปยังสำนักงานใหญ่เอพีที่ญี่ปุ่น เราเองฟังแล้วยังไม่ค่อยเข้าใจขั้นตอนการส่งภาพไปลงข่าวในสมัยนั้นนัก ตามที่เขาเล่ารู้สึกว่าจะยุ่งยากและมีหลายขั้นตอนทีเดียว เขาต้องส่งรูปที่ละใบที่สำนักงานไปรษณีย์ ซึ่งต้องทำเรื่องขออนุมัติทีละรูปจากหัวหน้าไปรษณีย์ก่อนจึงจะสามารถส่งได้ ซึ่งเขาห่วงว่าพนักงานไปรษณีย์จะไม่ได้รับอนุมัติจากหัวหน้าให้ส่งหรืออาจจะถูกบล๊อก ปรากฎว่าพนักงานไปรษณีย์ที่รับรูป เห็นรูปแขวนคอแล้วยังออกปากว่าถ่ายรูปได้ดี และรูปทั้งสิบเจ็ดรูปที่เขาส่งไปนั้นก็ได้รับการอนุมัติทั้งหมด แต่ละรูปต้องได้รับการคอนเฟริ์มจากโตเกียวว่าได้รับแล้ว จึงส่งรูปใบถัดไปได้ เขาจึงใช้เวลานานมากจนกระทั่งบ่ายการส่งรูปจนเสร็จสิ้น หลังจากนั้นเขาก็กลับไปสำนักงานและอยู่ที่นั่นจนถึงประมาณสี่โมงเย็น เขายังเล่าอีกว่าเพื่อนนักข่าวและช่างภาพที่ไปทำข่าวหลังจากที่เขากลับมาแล้วเล่าให้ฟังถึงการเผา ซึ่งเขาจำได้ว่าชื่อ มังกร คำเรืองวงศ์ และ Chee
เขาเล่าว่าเขาอยากหาทางออกจากเมืองไทย เพราะไม่แน่ใจในสถานภาพของเขาเมื่อภาพถูกเผยแพร่ออกไป แต่การณ์กลับตาระปัดเพราะเมื่อรูปที่เขาถ่ายได้รับรางวัล Pulitzer นั้น หนังสือพิมพ์ไทยได้กล่าวถึงการได้รับรางวัลของเขาแต่ไม่ได้กล่าวถึงภาพที่ได้รับรางวัลแต่อย่างใด
เขายังพูดส่งท้ายด้วยว่า เวลาที่เขาทำงานในสงครามเวียดนามเขารู้ว่าจะยืนอยู่ตรงไหนจะปลอดภัย แต่เหตุการณ์หกตุลาเป็นการยิงกราดไปทั่วยิ่งกว่าสงคราม และเขาไม่รู้จะถูกยิงหรือไม่หรืออย่างไร
เขายังเล่าว่าเกือบจะครบรอบหกตุลาในทุกๆที เขามักจะได้รับการติดต่อจากคนที่ศึกษาเรื่องราวหกตุลา หรือว่าต้องการขอนุญาตใช้ภาพที่เขาได้รับรางวัล ซึ่งเขาได้ชี้แจงว่าต้องขออนุญาตจากสำนักงานใหญ่เอพี ประจำนิวยอร์ค เพราะคิดว่าฟิล์มทั้งหมดยังคงเก็บอยู่ที่นั่นจนบัดนี้
สุดท้ายเราได้ขออนุญาตถ่ายภาพเขาพร้อมกับหมวกที่ระลึก 40 ปี 6 ตุลา และขออนุญาตจากเขาหากเราจะนำรูปภาพของเขาและเล่าเรื่องราวที่เราคุยเขาให้เพื่อนๆฟังบ้าง