วันพุธ, ตุลาคม 19, 2565

รัฐสยดสยอง ระบอบอารมณ์ความรู้กับประสาทสัมผัสที่ถูกควบคุมด้วยรัฐสยาม - 1984 ไทยสไตล์ ?


Pinyapan Potjanalawan
October 13

[รัฐสยดสยอง ระบอบอารมณ์ความรู้กับประสาทสัมผัสที่ถูกควบคุมด้วยรัฐสยาม] เวลาคนทั่วไปได้ยินคำว่า ประวัติศาสตร์ พวกเขาน่าจะนึกถึงเรื่องชาติ ศาสน์ กษัตริย์มากกว่า อาจจะงงว่า อารมณ์ความรู้สึกนี่มันวัดจับต้องได้จนเขียนถึงมันได้เป็นหนังสือประวัติศาสตร์เชียวหรือ
.
"รัฐสยดสยอง" ได้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดี ตั้งแต่ชื่อเรื่อง หน้าปก โครงเรื่องไปจนถึงสำนวนที่อ่านแล้วลื่นไหล ราวเดินอ่านไปบนพื้นที่นองไปด้วยลิ่มเลือดและน้ำหนองจากศพ
.
คำบรรยายที่กล่าวถึงศพบนเชิงตะกอนที่เริงระบำเพราะเปลวไฟ เอ็นของศพที่หลุดออกมาจากกระตุกเร่าๆ คงเป็นภาพติดตาหลายคนไปด้วย
.
นอกจากสัมผัสดังกล่าว สำหรับผู้มากจินตนาการ คงจะได้กลิ่มคาวขี้ กลิ่นฉุนแสบจมูกของเยี่ยวมนุษย์ ก้อนโปรตีนเน่า น้ำโสโครกน้ำครำลอยออกมาจากหน้ากระดาษไปด้วย ถ้าใครเคยขึ้นมาจากนรก อาจจะพอจำความร้อนจากขุมและกระทะทองแดง บางคนอาจเคยเป็นเปรตที่แบกไข่ของตัวเอง เพราะเคยเป็นผู้พิพากษาที่ฉ้อฉล
.
ฉากต่างๆ เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีที่มาจากทั้งคัมภีร์ศาสนา ปากคำจากชาวต่างชาติ ตัวกฎหมายจารีตนครบาล คดีที่เก็บในหอจดหมายเหตุ คำพิพากษา กระทั่งคำวินิจฉัยของกษัตริย์ เพื่อสร้างโครงเรื่องในการเล่าว่า ที่ผ่านมานั้นรัฐสยามมีพัฒนาการในการควบคุมและจัดการกับ "ความสยดสยอง" ผ่านเครื่องรับรู้ของมนุษย์อย่างไรบ้าง
.
ก่อนสู่สมัยใหม่หรือยุคอาณานิคม การควบคุมสังคมจะถูกกำกับด้วยการขู่ประชาชนให้กลัวด้วยตัวบทกฎหมาย และการประจานความผิดที่เจ็บปวด ทุกข์ทรมาน กระทั่งการแสดงการประหารคนเป็นๆ ต่อหน้าธารกำนัล ว่ากันว่า กฎหมายบางอันระบุด้วยซ้ำว่า ถ้ามีเพื่อนบ้านฆ่าตัวตาย หรือคนฆ่ากัน เพื่อนบ้านที่อยู่รอบข้างต้องรับผิดชอบ ทำให้มีกรณีที่คนตายแบบไม่ปกติเช่นนี้ ถูกอำพราง เช่น เอาไปทิ้งน้ำ เพื่อตนจะไม่ต้องรับผิด
.
แต่พอฝรั่งเข้ามา การเรียกร้องหาความศิวิไลซ์ก็ตามมาเช่นกัน ความสยดสยองที่เพื่อใช้ข่ม ขู่ กดหัวราษฎรให้หวาดกลัวอย่างถึงขีดสุดเป็นสิ่งมิพึงจะแสดงต่อพื้นที่สาธารณะอีกต่อไปแล้ว ความเหนียมอายดังกล่าวนำมาซึ่งกลไกที่ผู้เขียนเรียกว่า "ผู้จัดการความสยดสยอง" ซึ่งแบ่งเป็น "ขุนกะเฬวราก" ทำหน้าที่คล้ายสัปเหร่อ จัดการควบคุมการจัดการศพในที่สาธารณะ ไม่ให้การจัดการศพ เผาศพเป็นที่อุจาดตา
.
ต่อมา คือ กรมตะเวนและกองสุขาภิบาล ที่เป็นตำรวจที่ทำหน้าที่ราวเทศกิจ คือ เป็นผู้ตรวจตรา สอดส่อง จับผิดผู้ทิ้งขยะ และสิ่งโสโครกในที่สาธารณะ (ที่ฮาคือมีคดีหนึ่งมีคนเอาซากม้ามาทิ้งกลางถนนมั้ง แล้วจับได้ว่าเป็น "แขก"ที่เป็นพลตระเวนนั่นเอง) การขี้บนถนนและที่สาธารณะเป็นสิ่งที่ปกติที่ชนชั้นนำสยามไม่ยอมให้เกิด ดังนั้น สุขาภิบาลที่เกิดขึ้นที่ท่าฉลอม ที่เชื่อกันผิดๆว่าคือ ท้องถิ่นแห่งแรก นั้น มันคือ กลไกจัดการความเน่าของเมือง โดยไม่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจใดๆ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
.
ส่วนที่ 3 โรงพยาบาล ที่สัมพันธ์กับการแพทย์สมัยใหม่และสุขอนามัยของเมือง แต่ที่ตลกร้าย คือ โรงบาลมันเป็นพื้นที่แห่งความตาย และเชื้อโรค คนจำนวนมากกลัวมากที่จะไปโรงบาล โดยเฉพาะกลัวว่าจะเจอผีหลอก (สยดสยองมั้ยล่ะมึง)
.
สุดท้าย คือ กลไกระบบยุติธรรมที่เรียกว่า "สนามสถิตยุติธรรมสยาม" แต่เดิมในยุคจารีต คุกนี่นรกขนาดที่ว่า เวลานักโทษนอนจะถูกผูกตรวนติดกัน ไม่มีปล่อยไปขี้ไปเยี่ยว การปลดทุกข์ก็ทำกันตอนนอนนั่นแหละ เช่นเดียวกับการลงโทษโหดๆ แบบจารีตนครบาล ตัดคอกันที่จุดเกิดเหตุเพื่อข่มให้คนหวาดกลัวให้โทษ ระบบกฎหมายใหม่ที่เข้ามา ได้พยายามล้างภาพป่าเถื่อนนี้ออกไป ทัณฑ์ทรมานถูกยกเลิก การประหารก็พยายามทำลับตาคนมากหน่อย เช่น ว่ากันว่าตรงวัดมักกะสันที่ติดคลอง เคยเป็นลานประหาร ก็มีการแนะนำว่าควรจะหลบๆ ไปหน่อยเพราะคนผ่านไปผ่านมาตรงคลองนั้นเยอะ (นึกถึงเรานั่ง BTS ผ่านค่ายทหารแล้วมีคนยิงเป้าโชว์ดู) คำตัดสินหลายคดี ถูกร.5 ปรับโทนให้ soft ลง ตัดทัณฑ์ทรมานออกไป อย่างไรก็ตาม การใช้ความรุนแรงก็ยังจำเป็นกับกรณี "กบฏ" ในสายตารัฐ
.
หากมองดูอีกมุม จะเห็นว่านี่คือ ความเปลี่ยนแปลงการจัดการ "เมือง" ผ่านประเด็นความสยดสยองก็ว่าได้ พื้นที่แห่งความสยดสยองแบบเดิมนั้นผูกอยู่กับวัด เราจะได้ยินวัดสุทัศน์บ่อยมากในฐานะที่คนเอาศพไปทิ้ง สัปเหร่อจะเฉาะเนื้อให้แร้งที่แย่งกับหมากินกัน วัดพลับพลาไชย เป็นลานประหารที่ถูกพูดถึงบ่อยมากๆ แม่น้ำลำคลอง เป็นทั้ง crime scene และเป็นที่ทิ้งทำลายหลักฐาน รวมไปถึงแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค ยุคใหม่จึงมากับการสร้างพื้นที่สมัยใหม่ที่เปี่ยมสุขอนามัย ในตะวันตกเองในยุคกลาง ความโสโครกเช่นนี้ก็ไม่ต่างกัน ยิ่งช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่คนเข้าเมืองมามากๆ นี่ยิ่งรวมความโสโครก
.
ในอีกด้าน แม้ว่ารัฐจะกระทำปู้ยี่ปู้ยำผู้คนและพื้นที่ แต่หนังสือนี้ได้ทำให้เราพบเห็นชีวิตของไพร่ ทาส ชาติพันธุ์ต่างๆ ปรากฏออกมาพร้อมกับหลักฐานที่อยู่ท่ามกลางความสยดสยอง ความเน่าเหม็น ความรุนแรงที่ชนชั้นนำสยามเริ่มเดือดร้อนรำคาญ แต่เป็นไปได้ว่าสามัญชนอาจไม่รู้สึกอะไรกับมันมากด้วยความเคยชินและสะดวกตัว ดังที่ฝรั่งเห็นว่า คนสยามนี่ยังไงก็ต้องอาบน้ำให้สบายตัว แต่บ้านช่องจะสกปรกโสโครกยังไงก็ไม่เป็นไร
.
ชื่อตัวละครที่ถูกกำกับด้วยชาติพันธุ์ และสถานที่ทำให้เรานึกหน้าตาคร่าวๆ ของคนในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี เช่น ทาสญวน แถบวัดสมณานัมบริหารฆ่าเด็กหญิง ลูกนายเงินเพื่อลักของมีค่า อ้ายนวมเขมร ปล้นควายปะกันตูนัก ตองซู่ อ้ายจีนโฮ่ว่าจ้างให้วางเพลิงที่บ่อนเมืองพิชัย ฯลฯ
.
ว่าจะไปซื้อที่งานหนังสือ แต่ทางมติชนส่งมาให้ก่อน จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้ครับ