ศาลแขวงปทุมวันใช้โวหารมากกว่าหลักความยุติธรรมแห่งกฎหมาย พิพากษา ‘อั้ว’ จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ กับ ‘เพ็นกวิน’ พริษฐ์ ชีวารักษ์ ว่ามีความผิด พรก.ฉุกเฉิน ที่เป็นตัวการจัดชุมนุม #saveวันเฉลิม เมื่อมิถุนา ๖๓ ให้จำคุกและปรับ แต่รอลงอาญา
แม้นว่าจะมีผู้พิพากษาหรือนายตำรวจสักคนมาลำเลิกบุณคุณภายหลังว่า นั่นเป็นความผิดเล็กน้อยมะโนสาเร่ โทษก็เบา คุก ๒ เดือน ปรับหมื่นเดียว แล้วยังให้รอลงโทษอีกตั้ง ๒ ปี เป็นความกรุณาปราณีล้นพ้นแล้ว
ทว่าความจริงคือความจริงว่าศาลพิพากษาความผิดที่ไม่เป็นความผิด เพียงต้องการแสดงอำนาจว่านี่ศาลนะเท่านั้น เรื่องอย่างนี้เขาทำกันจนเหลิงในฝ่ายผู้ใช้อำนาจ และเกิดชินชาในหมู่ผู้ต้องทัณฑ์บางคน หรือนักการเมืองชั้นเชิงสูงลิบ
แต่มันไม่ใช่ ‘revenge’ หรือการแก้แค้นที่เสิร์ฟเมื่อเย็นถึงจะดี มันเป็นการบิดเบี้ยวทั้งกฎหมายและตรรกะในการใช้เหตุผลให้สนองต่อความต้องการกำหราบ กำจัด เสียงรบกวนของพวกเรียกร้องความเท่าเทียม ความเที่ยงธรรม และความก้าวหน้า
คดีนี้จำเลยสามคน (บวก ‘รุ้ง’ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่ไม่ถูกดำเนินคดี ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราวไป ไม่ต้องวางหลักทรัพย์ประกัน แต่ให้ทำสัญญาว่าจะไม่ทำผิดที่ระบุ มิฉะนั้นจะถูกปรับ ๒ หมื่นบาท) ถูกข้อหาร่วมกันจัดชุมนุม ชักนำคนจำนวนมากมามั่วสุม
“ทำให้ผู้ชุมนุมต้องเข้ามาใกล้ชิดกันเพื่อฟังการปราศรัยในลักษณะไหล่ชนไหล่ ซึ่งจำเลยทั้งสองควรมีความตระหนักว่าการจัดกิจกรรมเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดต่อการแพร่ระบาดของโรคได้” มิใยจำเลยจะอ้างว่า ในวันเวลาดังกล่าวไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน
อีกทั้งการที่ผู้จัดชุมนุม “มีความเกรงกลัวต่อการติดเชื้อ เห็นได้จากการสวมใส่หน้ากากอนามัยล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และพยายามเว้นระยะห่างจากผู้อื่น” ศาลบอกว่านี่แหละคือการยอมรับในตัวแล้วว่าการติดเชื้อเกิดขึ้นได้ ดังที่มี “จำนวนมากและรุนแรงในต่างประเทศ”
ยิ่งกว่าศรีธนญชัยไหมล่ะ ศาลแขวงปทุมฯ ส่วนการที่อั้วไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ก้ถือเป็นความผิดที่เธอปฏิเสธความ ‘อยุติธรรม’ สั่งปรับ ๒ พันบาท แต่การที่เพ็นกวิ้นและรุ้ง ‘อารยะขัดขืน’ ฉีกหมายเรียก ไม่เข้ารายงานตัว ศาลผ่านประเด็นนี้ไป
เราสันนิษฐานว่าศาลคงเกรงจะเป็นงานล้านมือ เพราะทั้งสองนี่ได้ต่อสู้มาอย่างทรหดหลายคดี หลายการคุมขัง ครั้งนี้เพียงต้องการสั่งสอนอั้วเพิ่มอีกคน เอาคดีปักหลังไว้ก่อน คำแถลงของกวิ้นต่อศาลเป็นกรณีพิเศษหลังคำพิพากษาบ่งลักษณะ ‘ศาลจิงโจ้’ อย่างดี
“ศาลและตุลาการไม่มีความกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน...เสรีภาพในการชุมนุมเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพในการชุมนุม ก็ไม่มีประชาธิปไตย” คำพิพากษาจึงเป็นตรายางของการล้มล้างประชาธิปไตย
ข้อที่ชี้ชัดไปยิ่งกว่า ว่าศาลไม่ได้เห็นแก่สิทธิเสรีภาพของประชาชน ตรงที่ศาลไม่ให้มีการจดบันทึกคำแถลงของพริษฐ์ อันควรเป็นทางปฏิบัติพื้นฐาน แสดงว่าศาลไม่แยแสว่าผู้ถูกกล่าวหาจะว่าอย่างไร
และการส่งคำพิพากษาไปให้อธิบดีผู้พิพากษาภาค ๑ ตรวจสอบก่อน มิได้หมายความว่าทำให้คำพิพากษาถูกต้องได้ ในเมื่อความยุติธรรมแท้จริง ไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งทางการบริหารของผู้พิพากษา มากไปกว่าจิตสำนึกและระดับปัญญา
(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/pfbid025DPbcD และ https://www.facebook.com/thai.udd.news/posts/pfbid02fq7H)