“ภาพเขียนที่ศิลปินถ่ายทอดออกมาเพื่อสะท้อนความรู้สึกของตนที่มีต่อบุคคล” Joe Gordon เขียนประโยคนี้คงไม่ตั้งใจให้เป็นคำถาม หากแสดงความเห็นเพียงว่าภาพชุดนี้ก็เป็นศิลปะ ซึ่งถูกใช้เป็นสื่อในการแสดงความคิดของผู้เขียน
Jaran Ditapichai นักสิทธิมนุษยชนลี้ภัย พาดพิงถึงภาพหนึ่งในชุดนี้โยงใยไปถึงผลงานศิลปะทางการแสดงละครเรื่อง ‘เจ้าสาวหมาป่า’ อันทำให้ ‘กอล์ฟ’ พรทิพย์ “ถูกจับ-ถูกขับด้วยข้อหาหมิ่นกษัตริย์ ตาม ม.๑๑๒ ถือเป็นการปราบปรามผู้รังสรรค์ศิลป์”
ศิลปะเป็นการแสดงออกถึง “จินตนาการ มโนสำนึก มิใช่ความคิดเห็นธรรมดา ซึ่งนานาชาติรับรองให้แสดงอะไรได้หมด” เขาว่า “มิฉนั้น ลิเก ละคร ภาพยนต์เกี่ยวกับจักรๆ วงศ์ๆ ภาพล้อกษัตริน์ ล้อผู้นำ ฯลฯ จะไม่มี” แต่นี่คือสิ่งที่ผู้เผด็จการต้องการ
ข่าวประชาไทรายงาน ถึงการที่ ทอปัด อัฒอนันต์ นักเขียนภาพประกอบถูกตำรวจนับโหลบุกเข้าจับกุมตัวที่บ้านพัก ระหว่างรักษาตัวจากอาการติดโรคโควิด หลังจากมีคนแจ้งความระบุชุดภาพที่ปรากฏในอินสตาแกรมรูปหนึ่งนั้น
“มีกางเกงในคลุมหน้าอยู่” แล้วได้ “ตีความในความเห็นของตนว่า ภาพจิตรกรรมดังกล่าวนั้นสื่อความหมายถึง ร.๑๐ ว่ามีความมักมากในกามารมณ์” นี่เมื่อมีการสืบพยานในการพิจารณาคดี ก็ต้องพิสูจน์ว่า ในความเป็นจริงคืออย่างนั้นหรือไม่
ถ้าใช่ ความจริงข้อนี้ใครเอาไปสื่อสารเป็นจินตนาการบนรูปภาพ เป็นการกระทำผิดตาม ม.๑๑๒ ไหม ถ้าผิดเพราะอะไร แสดงให้เห็นในสิ่งที่ดี หรือแสดงสิ่งไม่ดีให้ปรากฏ จนทำให้เสื่อมเสียต่อกษัตริย์
น่าจะเป็นเพราะตำรวจไม่แน่ใจในประเด็นดังกล่าว จึงยอมให้ทอปัดได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว ด้วยวงเงิน ๙ หมื่นบาท เมื่อบ่ายวานนี้
ก่อนจากกัน ใคร่ชวนให้คะนึงถึงคุณค่าของศิลปะ ในข้อสำคัญประการหนึ่ง
ที่ว่า “Beauty is in the eye of the beholder.” ใครจะว่าสวยไม่สวย น่าคิด น่าเกลียดหรือน่ากลัว ย่อมอยู่ที่รากฐานแห่งทัศนคติของคนนั้น ความงามของศิลปะย่อมอยู่ในตัวของผลงาน กับจินตนาการของผู้ที่รังสรรค์มัน