วันจันทร์, กรกฎาคม 04, 2565

สภาพจิตใจทะลุแก๊สในเรือนจำ


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
June 1

สถานการณ์โดยรวมของผู้ต้องขังกลุ่มทะลุแก๊สหลังถูกคุมขัง พบว่า แทบทุกคนมี #สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ มีความกังวล จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
.
อาทิ อาการนอนไม่หลับ ทานอาหารได้น้อยลง อารมณ์แปรปรวน ฯลฯ โดยสาเหตุความเครียดของกลุ่มทะลุแก๊สแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่ ความเป็นอยู่ของครอบครัว ชีวิตการเรียน การทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ของเรือนจำ ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการถูกคุมขังในเรือนจำ หลังจากศาลไม่ให้สิทธิในการประกันตัว
.
สาเหตุความเครียดและความกังวลของกลุ่มผู้ต้องขังทะลุแก๊ส แบ่งออกเป็น 4 ประเด็น ดังนี้
.
1) ความเป็นอยู่ของครอบครัว
.
พบว่า มีผู้ต้องขังทะลุแก๊สที่มีคนรักกำลังตั้งครรภ์อยู่ถึง 2 ราย ได้แก่ พลพลและณัฐพล ทำให้พวกเขากังวลว่าคนรักจะอาศัยอยู่เพียงลำพังได้หรือไม่ นอกจากนี้ผู้ต้องขังเกือบทุกรายต้องทำงานเป็น ‘เสาหลัก’ เพื่อเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว หลายคนมีภาระและหนี้สินที่ต้องผ่อนปรน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ เป็นต้น
.
การที่พวกเขาถูกคุมขังอยู่ทำให้เกิดความกังวลว่า ภาระดังกล่าวจะตกไปอยู่กับครอบครัวคนอื่น ซึ่งไม่มีกำลังที่จะจัดการได้ และเป็นการเพิ่มภาระให้พวกเขาลำบากมากขึ้นด้วย
.
2) ชีวิตการเรียน
.
ในจำนวนผู้ต้องขังทะลุแก๊ส 11 ราย มีอย่างน้อย 3 ราย ที่มีสถานภาพเป็นนักเรียนและนักศึกษา ได้แก่ วัชรพล, ใบบุญ และร็อก ซึ่งขณะนี้สถานศึกษาหลายแห่งเปิดทำการเรียนการสอนแล้ว ทำให้พวกเขาเกิดความกังวลว่าอาจจะถูกตัดสิทธิ์ในการเรียนต่อหรืออาจจะสำเร็จการศึกษาล่าช้ากว่าเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นไปอย่างน้อย 1 ปีหรือไม่
.
โดยเฉพาะ ‘ร็อก’ ที่ศึกษาอยู่ชั้น ปวส. สาขาไฟฟ้ากำลัง ที่วิทยาลัยเทคนิคนนทบุรี ในช่วงต้นสัปดาห์หน้า (วันที่ 4-8 ก.ค. 2565) วิทยาลัยกำหนดสอบวัดผลปลายภาคเพื่อเตรียมปิดเทอม ซึ่งร็อกกังวลกับเรื่องนี้เป็นอย่างมากและร้องไห้กับทนายความกับทุกครั้งเมื่อพูดเรื่องการเรียน
.
3) ชีวิตการทำงาน
.
พบว่า มีผู้ต้องขังทะลุแก๊สหลายรายทำงานแล้ว ทำให้พวกเขากังวลว่า เมื่อถูกคุมขังอยู่ในคดีนี้จะถูกสั่งให้ออกจากงานประจำหรือไม่ เพราะเมื่อนายจ้างขาดกำลังคน ก็จำเป็นจะต้องหาคนใหม่มาทำแทน ซึ่งพบอีกว่าผู้ต้องขังส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ “รับจ้างใช้แรงงาน” ที่ไม่ได้มีการทำสัญญาการจ้างงานเป็นกิจจะลักษณะ ฉะนั้นพวกเขาจึงสามารถถูกเลิกจ้างได้ทุกเมื่อ โดยที่นายจ้างไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าและไม่มีการจ่ายเงินค่าชดเชยอีกด้วย
.
นอกจากนี้ นายจ้างในสถานประกอบการหลายแห่ง มีกฎการจ้างงานข้อหนึ่งว่า หากลูกจ้างหยุดทำงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ‘จะถูกปรับเงิน’ ซึ่งค่าปรับขึ้นอยู่กับนายจ้างจะกำหนด โดยเฉพาะในสถานการณ์ความฝืดเคืองทางเศรษฐกิจ พวกเขากังวลอีกว่าถ้าถูกเลิกจ้างงานขึ้นมาจริง โอกาสหางานประจำใหม่นั้นยากลำบาก
.
4) สภาพความเป็นอยู่ของเรือนจำ
.
สวัสดิการพื้นฐานในเรือนจำและการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดและความกดดันต่อพวกเขา ตัวอย่างเช่น ประเด็น ‘น้ำดื่มในเรือนจำไม่ได้มาตรฐาน’ โดยผู้ต้องขังทะลุแก๊ส พบว่า น้ำดื่มที่เรือนจำจัดสรรให้มีกลิ่นคลอรีนฉุนจมูกมาก บางห้องขังน้ำดื่มมี ‘ลูกน้ำยุง’ และตะกอนปนเปื้อนอยู่ด้วย
.
หนึ่งในผู้ต้องขังทะลุแก๊สพบว่า ห้องขังของตัวเองไม่มี หนังสือและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นเพียง 2 สิ่งที่ทำให้ผู้ต้องขังรู้สึกผ่อนคลายและบรรเทาความเครียดให้น้อยลงได้ แม้จะร้องขอเรือนจำไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับแต่อย่างใด
.
ด้าน ‘การเลือกปฏิบัติของผู้คุมเรือนจำ’ พบว่า ผู้ต้องขังทะลุแก๊สรายหนึ่งที่ถูกขังแยกจากเพื่อนได้รับความกดดันจากการถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ อีกทั้งยังถูกลงโทษอย่างไม่สมเหตุผลและเกือบถูกผู้คุมใช้ความรุนแรงด้วยการใช้กระบองฟาดเพื่อลงโทษอีกด้วย
.
นอกจากนี้ พบว่าปัญหาที่ผู้ต้องขังทะลุแก๊สทุกคนพบเจอและเห็นพ้องเป็นเสียงเดียวกันก็คือ ประเด็นเรื่อง ‘อาหารในเรือนจำ’ โดยพบว่า อาหารในเรือนจำกินไม่ได้ รสชาติจืดชืด บางครั้งเนื้อสัตว์ไม่สุก อาหารส่วนใหญ่แทบไม่มีเนื้อสัตว์เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหาร ส่งผลให้พวกเขากินอาหารได้น้อยลง โดยแทบทุกคนกินได้เพียงวันละ 1 มื้อเท่านั้น
.
.
วิกฤตสภาพจิตใจ
.
จากสาเหตุความเครียด แรงกดดัน และความกังวลจากสาเหตุข้างต้นทั้ง 4 ประการ ส่งผลให้ผู้ต้องขังทะลุแก๊สแทบทุกรายประสบปัญหามีความเครียดสะสม ซึมเศร้า จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยแบ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องขังทะลุแก๊สได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
.
ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
.
พบว่า ผู้ต้องขังทะลุแก๊สแทบทุกคนมีอาการนอนไม่หลับ กินอาหารได้น้อยลง ส่วนใหญ่กินเพียงวันละ 1 มื้อเท่านั้น น้ำหนักตัวลดลง สุขภาพอ่อนแอ ด้านอารมณ์พบว่า ส่วนใหญ่มีความรู้สึกหงุดหงิด ซึมเศร้า ไม่มีความสุข รู้สึกสิ้นหวังในชีวิต มีความคิดอยากทำร้ายตัวเอง คิดฆ่าตัวตาย รวมถึงคิดหาหนทางในการระบายความเครียด ขณะเดียวกันก็อาจแสดงออกในรูปแบบของการต่อต้านผู้มีอำนาจด้วยเช่นกัน
.
ประท้วงกระบวนการยุติธรรม
.
ความเครียดและความวิตกกังวลในหลายด้านข้างต้นที่เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขศาลไม่ให้สิทธิในการประกันตัว ประกอบกับผลพวงผลกระทบทั้งที่เกิดขึ้นรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและด้านอารมณ์จิตใจ ท้ายที่สุดพวกเขาได้ปะทุแรงกดดันเหล่านั้นออกเป็น ‘การแสดงออก’ บางอย่าง ในลักษณะของการประท้วงและต่อต้านกระบวนการยุติธรรม
.
โดยพบว่าขณะนี้มีผู้ต้องขังทะลุแก๊สอย่างน้อย 4 ราย เลือกใช้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสันติเพื่อประท้วงต่อศาลที่มีคำสั่งให้ฝากขังและไม่ให้สิทธิประกันตัว
.
กรีดแขนตัวเองประท้วง
.
‘ใบบุญ’ และ ‘พุฒิพงษ์’ กรีดแขนประท้วงศาล เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 25 มิ.ย. 2565 โดยใช้คมของฝาปลากระป๋องกรีดข้อแขนตัวเองคนละหลายสิบแผล ในลักษณะของการกรีดตามแนวขวางบนหน้าแขนเต็มบริเวณแขนตั้งแต่ข้อมือไปจนถึงข้อศอก โดยขณะนี้ทั้งสองปลอดภัยดี บาดแผลได้รับการปฐมพยาบาลเบื้องต้นแล้ว
.
หลังเกิดเหตุการณ์กรีดแขนประท้วงของทั้งสองคน ทราบจากผู้ต้องขังว่า ราชทัณฑ์มีมาตรการห้ามและเข้มงวดเรื่องการนำวัตถุมีคมและอาหารกระป๋องขึ้นไปบนห้องขังอย่างเด็ดขาด โดยจะให้รับประทานประเภทดังกล่าวได้เมื่ออยู่ด้านล่าง ขณะที่มีผู้คุมดูแลสอดส่องอย่างเข้มงวดเท่านั้น
.
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 นัสธี ทองปลาด ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการกรีดแขนประท้วงของทั้งสองคนกับสื่อมวลชน โดยส่วนหนึ่งระบุว่าบาดแผลของทั้งสองไม่รุนแรง มีลักษณะ “ถลอกคล้ายเวลาเราโดนหนามต้นไม้ขูดข่วน”
.
สวนทางกับการเข้าเยี่ยมของทนายที่พบว่า บาดแผลของทั้งสองมีมากกว่าสิบแผล ขนาดบาดแผลลึกพอสมควร โดยเฉพาะ ‘พุฒิพงษ์’ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดต้องเย็บบาดแผลเพื่อปิดปากแผล อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเล่าว่า ขณะกรีดแขนนั้นเลือดได้ไหลอาบออกมาจากเป็นจำนวนมาก จนเพื่อนผู้ต้องขังร่วมห้องตกใจและเรียกผู้คุมเข้ามาปฐมพยาบาลเบื้องต้น
.
ต่อมา เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2565 เพจเฟซบุ๊ก ‘ประชาสัมพันธ์ กรมราชทัณฑ์’ ออกแถลงการณ์ โดยมีส่วนหนึ่งระบุถึงสาเหตุของการกรีดแขนของทั้งสองคนว่ามาจาก ความเครียดที่ ‘ทนายความไม่เข้าเยี่ยม’
.
เรื่องนี้ใบบุญได้ชี้แจงว่า ก่อนหน้านี้ เขาและเพื่อนมีความเครียดเรื่องทนายไม่มาเข้าเยี่ยมจริง แต่ภายหลังทนายความได้เยี่ยมแล้วครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิ.ย. 2565 ในวันนั้นทำให้เขาและเพื่อนทราบจากทนายว่า ศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันหลังญาติยื่นประกันผู้ต้องขังทะลุแก๊ส 5 ราย เป็นครั้งที่ 2 ฉะนั้นเหตุผลหลักของการกรีดแขนในค่ำวันที่ 25 มิ.ย. จึงไม่ใช่เพราะทนายไม่เข้าเยี่ยม แต่เป็นเพราะว่า ‘ต้องการประท้วงศาลที่สั่งขังและไม่ให้ประกันตัว’
.
อดอาหารประท้วง
.
‘ธีรวิทย์’ อดอาหารประท้วงมาตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 2565 ซึ่งเป็นเวลาหลังถูกส่งไปคุมขังในเรือนจำเพียง 1 วัน โดยเขาประทังชีวิตด้วยน้ำเปล่าและเกลือแร่เท่านั้น
.
จนถึงตอนนี้ธีรวิทย์อดอาหารเป็นเวลามากกว่า 10 วันแล้ว โดยเขามีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรงเดินขนาดต้องใช้วิธีการค่อยๆ เคลื่อนตัวด้วยการ ‘คลาน’ แต่หลังจากเขาตรวจพบว่าตัวเอง ‘ติดโควิด’ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ธีรวิทย์ถูกแยกออกไปกักตัว และขณะนี้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว ทนายจึงไม่สามารถเข้าเยี่ยม ทำให้ไม่ทราบอาการและความคืบหน้าของเขาอีกเลยหลังจากวันที่ 27 มิ.ย. 2565
.
พยายามฆ่าตัวตายประท้วง
.
‘พลพล’ ตัดสินใจพยายามฆ่าตัวตายด้วยการ ‘ทานยาแก้ปวดเกินขนาด’ เป็นจำนวน 64 เม็ด ในช่วงค่ำของวันที่ 24 มิ.ย. 2565 ซึ่งขณะนี้เข้ารับการรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว โดยผลพวงจากการทานยาเกินขนาดทำให้เขามีอาการ ‘ไตอักเสบ’ และต้องอยู่รักษาตัวที่โรงพยาบาลต่อไปอีก 7-10 วัน (ตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2565)
.
อ่านประมวลสถานการณ์วิกฤตสภาพจิตใจทะลุแก๊สในเรือนจำ: https://tlhr2014.com/archives/45496