วันอาทิตย์, กรกฎาคม 17, 2565

เกร็ดตุ๊กตาไม่อับเฉา ตุ๊กตานานาชาติที่ว่ากันว่าเพิ่งขุดพบแล้วมาตั้งตามจุดต่างๆ ของวัดพระแก้ว สำหรับคนที่ "เล่นภาพเก่า" น่าจะคุ้นกันดี เพราะในภาพถ่ายเก่าๆ มักมีพวกมันโผล่มาติดกล้องตัวสองตัว


Kornkit Disthan
Yesterday

ตุ๊กตาไม่อับเฉา
ตุ๊กตานานาชาติที่ว่ากันว่าเพิ่งขุดพบแล้วมาตั้งตามจุดต่างๆ ของวัดพระแก้ว สำหรับคนที่ "เล่นภาพเก่า" น่าจะคุ้นกันดี เพราะในภาพถ่ายเก่าๆ มักมีพวกมันโผล่มาติดกล้องตัวสองตัว
ตุ๊กตาพวกนี้แรกนำมาติดตั้งไว้คราวสมโภชพระนคร 100 ปี (พ.ศ. 2425) คือในรัชกาลที่ 5 จากนั้นพวกมันก็หายไป (น่าจะหายไปคราวฉลองพระนครครบ 150 หรือเปล่าก็ไม่รู้?) จนมาถูกพบอีกครั้ง แล้วกลับมายืนสลอนในวัดพระแก้วกันอีกครา
กะด้วยสายตา ตุ๊กตาพวกนี้ใช้หินคนละประเภทกับตุ๊กตาจีนที่เรามักเรียกว่า "ตุ๊กตาอับเฉา" ตามวัดหลวงต่างๆ ซึ่งมีมากและงามมากที่วัดโพธิ์กับวัดแจ้ง
ในฐานะผู้ไม่เชี่ยวชาญเรื่องหิน แต่ชอบสู่รู้แบบเดาๆ ผมคิดว่าตุ๊กตาหินวัดพระแก้วนี้น่าจะใช้หินเกาะสีชัง อย่างที่เรียกว่าศิลาลาย (ขาวดำ) เป็นแหล่งหินที่นิยมใช้กันแต่โบราณ นอกจากหินจากลพบุรี ราชบุรี เพชรบุรี
ว่ากันด้วยสุนทรียะแล้ว ตุ๊กตาพวกนี้ไม่งาม แม้จะดูแปลกตา ยิ่งแปลกตาในยุคสมโภชพระนคร 100 ปี ด้วยความที่มันประหลาด (exotic) เป็นคอนเทนต์ประเภท "สิบสองภาษา" ซึ่งคนสมัยก่อนชอบ เพราะทำให้ตื่นตาตื่นใจกับโลกภายนอก
"สิบสองภาษา" นี้แปลเป็นภาษาไทยรัชกาลที่ 10 ก็คือ "นานาชาติ" นั่นเอง
ที่มันเป็น exotic เพราะดูไม่เข้ากับวัดพระแก้ว แต่น่าจะเข้ากับงาน "นาเชอนัลเอกซฮิบิเชน" (National exhibition) ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดให้จัดขึ้นพร้อมกับการเฉลิมพระนคร มีการจัดแสดงข้าวของต่างๆ ในประเทศให้คนไทยได้เปิดหูเปิดตา
ตุ๊กตาพวกนี้น่าจะเป็นของจำพวก "เอกซฮิบิเชน" คือจัดแสดงให้คนไทยชมหน้าตาต่างด้าวด้วย และรักษาธรรมเนียมต่างชาติต่างภาษามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารด้วย สะท้อนถึงความเป็นศูนย์กลางจักรวาลแบบไทยๆ ดังที่วัดโพธิ์ก็มีภาพสิบสองภาษา แต่เหลืออยู่ไม่เท่าไรแล้ว ด้วยวาดเป็นจิตรกรรมจึงลบเลือนง่าย
กลับมาที่หิน ด้วยความที่ผมเดาว่ามันเป็นหินเกาะสีชัง ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ของนำเข้า แต่มีอักษรจีนสลักไว้ที่บางตัวเขียนว่า 粵東 (เยว่ตง)
เยว่ตงนี้หมายถึง ตะวันออก (ตง) ของแคว้นเยว่ (มณฑลกวางตุ้ง) หมายถึงเมืองคนแต้จิ๋วทั้งปวง คือ ซัวเถา ซัวบ้วย แต้จิ๋ว และเก๊กเอี๊ย
ช่างที่สลักอาจจะมาจากเมืองเหล่านี้
โดยเฉพาะเมืองเก๊กเอี๊ย (揭陽) นั้นขึ้นชื่อลือชาในเรื่องแกะสลักหินเป็นยิ่งนัก ถ้าไม่นำช่างเข้ามาก็ ส่งหินไทยไปให้สลัก แต่น่าจะอย่างแรกมากกว่า
ผมจึงสงสัยว่าเจ้าสิ่งที่เรียกว่า "ตุ๊กตาอับเฉา" ที่เรานำเข้าจากจีนน่าจะสั่งจากเก๊กเอี๊ยนี่เอง แต่รวมๆ แล้วตุ๊กตาจีนในไทยเป็นสกุลช่างเตี่ยซัว (潮汕) คือเยว่ตง/ถิ่นคนพูดแต้จิ๋วเกือบจะทั้งหมด
แต่ผมไม่เชื่อว่าตุ๊กตาพวกนี้คืออับเฉา (และยิ่งในวัดพระแก้วยิ่งไม่น่าจะใช่)
อับเฉานั้นเป็นภาษาจีน คือ 壓艙石 (จีนกลางออกเสียงว่า หย่าชัง/สือ) แปลว่า "หินถ่วงท้องเรือ" ส่วนใหญ่ที่หลงเหลือให้เห็นล้วนแต่เป็นหินก้อนบึกๆ หรือไม่ก็เป็นหินแผ่นโตๆ ไม่มีสลักเสลาให้วิจิตรบรรจง
ฝั่งไทยมักเล่ากันว่าไทยไปค้าที่เมืองจีนกลับมาเรือเปล่า กลัวจะเรือโคลงจึงเอาตุ๊กตาพวกนี้ถ่วงเรือมาด้วย
ลองคิดดูสิครับ เดินเรือเป็นเดือนๆ ผ่านคลื่นลม ตุ๊กตาจีนในไทยล้วนแต่ละเอียดละออ บางตัวลวดลายบอบบางราวกับผ้าลูกไม้ จะใช้เป็นถิ่นถ่วงเรือได้อย่างไร มิพังป่นปี้หรือ
ขนาดส่งของข้ามเขตกทม. กันทุกวันนี้ห่อกันเป็นขนมชั้นยังแตกวายป่วงเอาง่ายๆ
วัดโพธิ์นั้นตุ๊กตาแตกหักหลายตัว เพราะคนไปจับบ้าง ถูกลูกบอลเตะอัดเอาบ้าง ขนาดนี้ยังไม่รอด แล้วเจอคลื่นลมทะเลจีนใต้จะไปเหลือหรือ?
ดังนั้น ผมคิดว่าตุ๊กตาพวกนี้ไม่ใช่อับเฉาไว้ถ่วงเรือหรอก แต่สั่งเข้ามาจริงจังอย่างทนุถนอม
หรือหากไม่สั่งก็ทำขึ้นเองในประเทศสยามนี้โดยใช้ช่างจีน
โดยหินที่ใช้เป็นหินเขียวภูเขาไฟ/หินอัคนี ดังที่สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมด็จพระสังฆราชจอมกวีแห่งวัดโพธิ์ทรงเรียกว่า "เสลานิล"
แต่บางตำราก็บอกว่ามีการส่งแบบไปให้จีน "หล่อศิลาเทียม" ซึ่งแปลว่าตุ๊กตาพวกนี้บางตัวใช้หินปลอมกระมัง และใช้วิธีหล่อขึ้นรูปไม่ใช่สลักเอา ซึ่งผมยังค้นไม่เจอว่าคืออะไรและทำกันอย่างไร
ว่ากันตามหลักฐานประวัติศาสตร์ คนไทยไปค้าที่จีนไม่เห็นจะต้องสั่งอับเฉาที่แต่งเสียสะสวยให้ขาดทุนทำไม สู้เอาหินลุ่นๆ มาถ่วงไม่ดีกว่าหรือ หรือไม่ก็หินถ่วงนั่นแหละเอามาสลักตุ๊กตาในเมืองไทย ยิงปืนนัดเดียวได้กำไรสองต่อเห็นๆ
เรื่องกำไรของสยามนั้นสำคัญนัก ทางจีนสมัยชิงบันทึกว่า สยามเองนี่แหละที่หาเรื่องไปจิ้มก้องจีน (มาถวายคำนับพระเจ้ากรุงจีน) ทั้งที่จีนบอกให้มา 3 ปีครั้ง แต่สยามมาบ่อยครั้งเกิน เพราะต้องการค้าขายเอากำไร
นอกจากมาถี่จนน่าละเหี่ยใจ สยามยังตุกติกโดยใช้สิ่งที่เรียกว่า "สินค้าอับเฉา" (壓艙貨物) คือเอาสินค้าอ้างว่าเป็นอับเฉาถ่วงเรือมาเพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษีนั่นเอง
ฉลาดเป็นกรดแต่รุ่นบรรพชนจริงๆ พวกเรา
ป.ล. ตุ๊กตาหินวัดพระแก้วนั้น นานๆ ไปก็คงจะชินตากัน และมันทนทานเอาเรื่องอยู่ เพระเป็นหินแกร่ง ผิดกับ "ตุ๊กตาอับเฉา" ตามวัดต่างๆ ที่งามกกว่าหลายเท่า ทุกวันนี้พังพินาศรวดเร็วมาก ผมคิดว่าควรจะเริ่มเป็นห่วงกันได้แล้ว ขอบอกว่าตุ๊กตาพวกนี้เมืองจีนก็แทบไม่มีครับ เป็นสมบัติศิลปะจีนที่มีในเมืองไทยมากที่สุด แต่ก็ถูกละเลยมากที่สุดเหมือนกัน
.....

พิภพ บุษราคัมวดี
8h

ตุ๊กตาหินที่เพิ่งเจอในวัดพระแก้ว
ไม่ใช่ตุ๊กตาอับเฉาถ่วงเรือในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่น่าจะเป็นของจัดสร้างและทำขึ้นใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 4 และในคราวฉลองกรุงฯ 100 ปีในสมัยรัชกาลที่ 5
https://reporter-journey.com/3706/?fs=e&s=cl&fbclid=IwAR3uW27w-fSpBz7NHyef-fgvnSPdzUCZycGDSA7EUq9kCiLDX7bIlBPvdsU&fs=e&s=cl