ไม่ใช่ myth แต่เป็น misinformation มานมนาน ไม่เคยมีใครคิดจะ set the record straight จนกระทั่งถึงยุค ‘สลิ่ม’ คนนั้นอ้างว่านั่นที่ดินพระราชทาน คนนี้เคลมว่านี่ที่ดินของทหาร สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัยชั้นนำของไทยสองแห่ง
กรณีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นในยุคหลังเหตุการณ์พฤษภา ๓๕ จะมีการอ้าง ‘ตำนาน’ ลอยๆ จากผู้ที่เคลิบเคลิ้มกับระบบศักดินา ว่าที่ดินของจุฬาฯ ซึ่งระยะหลังๆ โด่งดังมากในทางธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นั้นเป็นทรัพย์สินของกษัตริย์ราชวงศ์จักรีพระราชทานให้
ก็ได้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ทำการ “จัดหลักฐานให้ตรงตามความจริง” โดยชี้แจงว่าที่ดินดังกล่าว เนื้อที่ ๓ แปลง รวม ๑,๑๙๖ ไร่ ๓๒ ตารางวานั้น ในปี ๒๔๕๙ รัชกาลที่ ๖ ทรงออกโฉนดที่ดินสามแปลงซึ่งมีผู้เช่าครอบครองอยู่แล้วเป็นของพระองค์เอง
หลังการอภิวัฒน์สยาม ๒๔๗๕ คณะราษฎรจัดระเบียบทรัพย์สินฯ ให้ที่ดินนั้นเป็นของ ‘ส่วนพระมหากษัตริย์’ กระทรวงการคลังดูแล ไม่ใช่ ‘ส่วนพระองค์’ จนปลายปี ๒๔๘๓ รัชสมัยในหลวงอานันทมหิดล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ออก พรบ.โอนกรรมสิทธิ์
ยกที่ดินทั้งหมดให้อยู่ในครอบครองมหาวิทยาลัย ไม่ต้องจ่ายค่าเช่ารายปี (สัญญาทุก ๓๐ ปี) ให้กับสำนักงานทรัพย์สินอีกต่อไป แต่กระนั้นความเชื่อตำนานก็ยังเหนือกว่า ‘ข้อเท็จจริง’ เรื่อยมา โดยเฉพาะตลอดรัชสมัย ร.๙
เดชะบุญข้อเท็จจริงที่ถูกบิดเบือนกลับมาหลอกหลอนอีกในสมัยรัชกาลที่ ๑๐ นี้ จึงได้มีการขุดคุ้ยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของจริงขึ้นมายันกัน ดีกว่าปล่อยลอยชาย เรื่อยๆ มาเรียงๆ แล้วมีการสร้างรั้วเหล็กสูงลิบล้อมรอบเหมือนพระที่นั่งอานันท์ฯ
ส่วนที่ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ก็เกือบๆ จะโดนทหารฮุบไป เมื่อครั้งมีการย้ายภาคปริญญาตรีไปยังที่ใหม่ศูนย์รังสิต ซึ่งทางมหาวิทยาลัยซื้อไว้ในยุค อจ.ป๋วย อึ้งภากรณ์ เป็นอธิการบดี ที่ดินท่าพระจันทร์ก็ยังอยู่ยงคงกระพัน
รอดปากเหยี่ยวปากครุฑมาได้ ด้วยเผด็จการทหารครั้งนั้นชื่อ ถนอม-ประภาส ภายใต้ ร.๙ ไม่ใช่เผด็จการ สาม ป. ภายใต้ ร.๑๐ ละมัง หลังจากมีสลิ่มปกป้องสถาบันเคลมกันว่าที่ มธ.ท่าพระจันทร์เป็นที่พระราชทาน เพราะเคยเป็น ‘วังหน้า’ มาก่อน
พูติกาล ศายษีมา เป็นผู้คุ้ยความจริงมาเคาะกะโหลก ว่าหลังจากมีการยุบตำแหน่ง ‘วังหน้า’ (น้องกษัตริย์) ในสมัยรัชกาลที่ ๕ พื้นที่นั้น กองพันทหารราบที่ ๔ เข้าไปใช้ประโยชน์เป็นโรงทหาร กระทั่งนายปรีดี พนมยงค์ ดำริจะสร้าง ม.ธรรมศาสตร์และการเมือง
“จึงได้ติดต่อขอ ‘ซื้อ’ ที่ดินบริเวณดังกล่าวจากหลวงชาญชิดชิงชัย และได้ดำเนินการจนแล้วเสร็จ หลังจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ทำการลงมติและตราเป็นพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน” จากทหารไปสู่มหาวิทยาลัย ในปี ๒๕๗๗
“สำนักไหนหมายชูประเทศชาติ” แห่งนี้น่าจะเป็นแหล่งประสิทธิประสาทวิชาให้เกิด ‘การเมืองดี’ ได้ต่อไปอีกนานเท่านาน
(https://prachatai.com/journal/2022/07/99457 และ https://prachatai.com/journal/2020/12/90811)