วันเสาร์, กรกฎาคม 23, 2565

#สรุปอภิปรายประเด็นวัคซีนAZ ที่ทำให้ อนุทิน หัวเสีย


Voice TV
Yesterday

#สรุปอภิปรายประเด็นวัคซีนAZ
นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ ส.ส.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย อภิปรายเรื่องการบริหารโควิดที่ล่าช้าและผิดพลาดของรัฐบาลตั้งแต่ช่วงต้น และการบริหารวัคซีนที่ผิดทิศทาง ตอนนี้ไม่ขาดแคลนแล้วจึงไม่ค่อยมีใครสนใจมากนัก แต่พบว่ามีการสูญเสียงบประมาณจำนวนไม่น้อย
นพ.สุรวิทย์ กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่าตัวเลขต่างๆ น่าจะต่ำกว่าการรายงานอย่างเป็นทางการ
รายงานติดเชื้อทั้งหมด 6.5 ล้านคน คาดการณ์ว่าน่าจะมากกว่า 8 ล้านคน
รายงานเสียชีวิตทั้งหมด 3 หมื่นคน คาดการณ์ว่าน่าจะมากกว่า 5 หมื่นคน
โดยการกดจำนวนผู้ติดเชื้อนั้นทำได้ง่ายมากคือ ไม่ตรวจ RT-PCR ส่วนจำนวนการตาย หากตายเพราะโควิดแล้วมีโรคประจำตัว ก็บันทึกว่าสาเหตุการตายเป็นเพราะโรคประจำตัว
ส.ส.เพื่อไทยยังระบุว่า 10 วันหลังประกาศให้สวมหน้ากากโดยสมัครใจ พบว่า
มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 14.38%
เข้ารับการรักษาที่ รพ.เพิ่ม 9.02%
“ตัวเลขที่ไม่บอกความจริงกับประชาชน ใครจะรับผิดชอบ” นพ.สุรวิทย์ตั้งคำถาม
ในส่วนการรักษานั้น นพ.สุรวิทย์ระบุว่า ส่วนใหญ่ได้เฉพาะยาพารา ยาแก้แพ้ ส่วนยารักษาโควิดจริงๆ นั้นมีไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ดี นพ.สุรวิทย์ระบุด้วยว่า ฟาวิพิราเวียร์ไม่ใช่ยาที่เหมาะสมกับการรักษาโควิด โดยอ้างอิงถึงคำอธิบายของนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนของไทย รวมถึงองค์การอนามัยโลกที่ก็ไม่ได้รับรองให้ใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิด ส่วนญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้คิดค้นและผลิตก็เลิกใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาโควิดมา 2 ปีแล้ว ดังนั้น รัฐบาลไทยควรต้องซื้อโมลนูพิราเวียร์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่า แต่ปรากฏว่ารัฐบาลกลับยกเลิกซื้อยาโมลนูพิราเวียร์ แล้วไปซื้อฟาวิพิราเวียร์ 17 ล้านเม็ดมูลค่าเกือบ 300 ล้านบาท น่าเสียดายที่จะสูญเปล่า
“เรามีความเหลื่อมล้ำในการรักษา เพราะยามีจำกัดมาก ในช่วงเวลาเดียวกันประชาชนได้ฟาวิพิราเวียร์ แต่รัฐมนตรีที่อายุเพียง 56 ปีได้ยาโมลนูพิราเวียร์” นพ.สุรวิทย์กล่าว
นพ.สุรวิทย์ยังอภิปรายด้วยว่า สายพันธุ์โอมิครอนเริ่มพบในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 64 เริ่มเข้ามาในประเทศไทยต้นปี 65 จึงมีเวลาที่จะต้องจัดหาวัคซีนที่เหมาะสม โดยมีข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ออกมาแล้วที่พบว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา (AZ) ไม่ใช่วัคซีนทีมีประสิทธิภาพสำหรับสายพันธุ์นี้
10 ธ.ค.2564 สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของอังกฤษระบุว่า AZ ประสิทธิภาพป้องกันโอมิครอนเท่ากับ 0
20 ธ.ค.64 งานวิจัยจาก THE LANCET วารสารทางการแพทย์ระดับโลกยืนยันว่า AZ ป้องกันโอมิครอนไม่ได้
ช่วงเวลาเดียวกัน อินเดียซึ่งเป็นประเทศผลิต AZ ก็ลดการผลิตลงครึ่งหนึ่ง เพราะไม่มีคำสั่งซื้อ
ยุโรปรณรงค์ฉีดเข็มสามด้วย mRNA
นพ.สุรวิทย์ระบุว่า ขณะนั้นประเทศไทยฉีดแล้ว 100 ล้านโดส ยังต้องฉีดกระตุ้นอีก 51 ล้านโดส ซึ่งควรเป็นวัคซีน mRNA เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา แต่วันที่ 21 ธ.ค.64 ครม.อนุมัติงบซื้อวัคซีนรับมือโอมิครอน โดยซึ้อไฟเซอร์เพียง 30 ล้านโดส แต่ซื้อ AZ ถึง 60 ล้านโดส ด้วยวงเงิน 18,762 ล้านบาท
เมื่อดูราคาเฉลี่ยต่อโดสของ AZ จะพบว่าเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า เรียกว่าซื้อแพงที่สุดในโลกที่ราคา 312.7 บาทต่อโดส
เดือน พ.ย.63 ซื้อ 26 ล้านโดส ราคาโดสละ 233 บาท
เดือน มี.ค.64 ซื้อ 35 ล้านโดส ราคาโดสละ 182 บาท
เดือน ธ.ค.64 ซื้อ 60 ล้านโดส ราคาโดสละ 313 บาท
เดือน ม.ค.65 ครม.อนุมัติงบเงินกู้ 1,400 ล้านบาท ซื้อ AZ เพิ่มอีก 10 ล้านโดส ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ได้ผลในการป้องกัน
“เป็นที่น่าสงสัยว่านี่เกี่ยวกับฝีมือการเจรจา หรือมีเหตุผลอื่น” นพ.สุรวิทย์กล่าว
นพ.สุรวิทย์ ระบุว่า ปัจจุบันมีวัคซีนที่เหลือตกค้าง ส่งให้ รพ.สต.ต่างๆ 11 ล้านโดส รอวันหมดอายุ ดูแล้วเป็น AZ และซิโนแวค ที่ไม่ค่อยมีใครฉีด มีมูลค่ารวมกันถึง 4,000 ล้านบาท และหากดูในภาพรวม ประเทศไทยมี AZ ค้างสต๊อกที่รอวันเททิ้งมากถึง 30 ล้านโดส คิดเป็นมูลค่าเกือบ 10,000 ล้านบาท
“สิ่งที่ควรทำขณะนี้รัฐบาลควรยุติการซื้อ AZ เปลี่ยนแปลงสัญญาเจรจาต่อรองไปซื้อ mRNA แต่นายกฯ ทำเพียงลดการสั่งซื้อ แต่ยังซื้อเติมตลอด และยังทยอยเข้ามาอีก 22 ล้านโดส รวมแล้ว 52 ล้านโดส รวมมูลค่าเกือบ 17,000 ล้านบาท”
เรื่องนี้ทำเอา #อนุทินชาญวีรกูล เจ้ากระทรวงหัวเสีย ลุกขึ้นชี้แจงทันทีว่าอย่าด้อยค่าวัคซีน
รมว.สาธารณสุขระบว่า AZ ไว้วางใจมาตั้งฐานการผลิตประเทศไทย ให้เราเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้น อย่าไปฟังข้อมูลไม่กรองแล้วเอามาพูด ทั้งที่ส.ส.สุรวิทย์เองก็เคยทำงานในกระทรวงสาธารณสุข ทำไมทัศนคติต่อสธ.เปลี่ยนแปลงไป
ข้อมูล สธ.พบว่า เมื่อประชาชนได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น ไม่พบการเสียชีวิตหากได้รับวัคซีนตามที่ สธ.แนะนำและลดการเจ็บป่วยอาการหนัก วัคซีนยังทำงานอย่างเต็มที่ในทุกแบบ ไม่นานนี้มีการเผยแพร่งานวิจัยที่ทำร่วมกันระหว่างม.นเรศวรและมหิดล ว่า วัคซีนสามารถรักษาชีวิตผู้ป่วยได้ถึง 4.9 แสนคน ฉะนั้นอย่าด้อยค่าวัคซีน
“วัคซีนทีไทยมีอยู่ ไม่มีวัคซีนรอวันหมดอายุ และยังมียารักษาโรคโควิดเพียงพอ สิ่งที่ควรจะทำในฐานะผู้แทนราษฎรคือ ไปขอร้องประชาชนมาฉีดวัคซีนให้มากที่สุด” อนุทินกล่าว
"ข้อมูลที่ท่านมานำเสนอเป็นเท็จ ท่านไม่ได้กรอง แต่พวกผมหน้างานกรอง ก่อนมาพูดต้องถามแล้วถามอีก การเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้ไปสู่การรับรู้ของประชาชน โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสุขภาพของเขา เช่น การดูถูกการแพทย์ ด้อยค่าวัคซีน ด้อยค่ายา ด้อยค่าเวชภัณฑ์ ท่านโหดร้าย ท่านโหดมากเลย ท่านแลกทุกอย่างแม้แต่ชีวิตของพี่น้องประชาชน เพื่อเป้าหมายทางการเมือง" อนุทินกล่าว
เรื่องการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ อนุทินชี้แจงว่า สธ.ดำเนินการตามระเบียบจัดซื้อ บางครั้งเร่งด่วนก็เสนอ ครม. ศบค.ได้รับทราบและเห็นชอบ ยาต่างๆ เกี่ยวกับโควิดขึ้นทะเบียบแบบภาวะฉุกเฉิน เป็นยาที่หาไม่ได้ทั่วไปตามท้องตลาด ผู้ขายขายให้รัฐบาลโดยตรง ไม่ขายให้เอกชน ทำให้องค์การเภสัชกรรมต้องเข้ามาเป็นผู้จัดซื้อ เราใช้ยาที่ได้รับการรับรองจาก WHO ทุกตัว ฟาวิฯ ท่านบอกญี่ปุ่นเลิกใช้ เราก็ซื้อจากญี่ปุ่นอยู่ ยี่ห้ออเมริกันที่ท่านเสนอ เราก็ซื้อมารักษาผู้ป่วย เอามาใช้ตามข้อแนะนำของคณะแพทย์ที่ร่วมกันพิจารณา โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด เพิ่งขึ้นทะเบียนเมื่อต้นปีนี่เอง
“ท่านบอกซื้อ AZ เยอะ ก็ต้องเยอะ เราต้องฉีดเสริมภูมิคุ้มกันไม่ใช่ฉีด 4 เข็ม 5 เข็มแล้วหยุด อย่าลืมว่าต้องฉีดเสริมภูมิคุ้มกันอีก บอกมีอยู่แล้ว 50 ล้านโดส เราต้องฉีดภูมิคุ้มกันให้กับ 70% ของประชากรประเทศไทย ผมว่าอาจจะวัคซีนขาด แต่ฐานการผลิตเขาอยู่ในประเทศไทย ถ้ามีความขาดแคลนก็ยังจัดหาได้ ที่สำคัญ AZ ออกรายงานแล้วเรียบร้อยแล้วว่าบูสเตอร์โดสของเขาที่ผลิตในประเทศไทย สามารถให้ภูมิคุ้มกันสูงถึง 73% ไม่ต่างจากวัคซีน mRNA หรือชนิดอื่นๆ”
อนุทินกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามเมื่อพบว่าผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวหลายโรคภูมิไม่ขึ้น ดื้อวัคซีน สธ.ก็ได้ไปขอ ครม.ให้ปรับเปลี่ยนดีล จากที่สั่ง AZ 60 ล้านโดส ปัจจุบันส่งมาแล้ว 20 ล้านโดส เมื่อเห็นว่ามียา LAAB- Long Action Antibodies ฉีดเสริมภูมิคุ้มกันและรักษาโรคโควิดได้ดีกว่ากินยาเม็ด กรมควบคุมโรคก็ไปเจรจาและได้รับความร่วมมือจาก AZ ประเทศไทย เปลี่ยนวัคซีนบางส่วนที่สั่งซื้อไป เป็น LAAB
อ่านที่ https://www.voicetv.co.th/read/U59k9FZlg