ตอนแรกตั้งใจจะมาด่าเป็นหลัก
— พรรคก้าวไกล - Move Forward Party (@MFPThailand) July 21, 2022
ว่าสั่งทุบอนุสาวรีย์ที่เกี่ยวข้องกับ 2475 ทำพระแสงอะไร
แต่หัวหน้าพรรคบอกว่าด่าอย่างเดียวไม่ได้ต้องมีข้อมูลด้วย
เลยตั้งทีมไปค้นข้อมูลกันดู
ค้นไปค้นมาปรากฎว่าโกงกันยับ
โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำลายประวัติศาสตร์ 2475
จงรักภักดีกันจนน้ำลายไหล pic.twitter.com/XJbk3fb3F3
'ก้าวไกล' เปิดหลักฐาน กองทัพล็อกงานให้ผู้รับเหมา แบ่งเค้กหลายพันล้าน ปมทำลายอนุสาวรีย์ 2475
2022-07-21
ประชาไท
ปมความผิดปรกติในการประมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำลายอนุสาวรีย์ที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 'ก้าวไกล' อภิปรายไม่ไว้วางใจ เปิดข้อมูลทุจริตการก่อสร้างของกองทัพในยุค พล.อ.ประยุทธ์ ล็อกผลผู้ชนะการประมูลชัดเจน หลักฐานมัดผู้รับเหมาเริ่มทำงานก่อนชนะการประมูลนานหลายเดือน ด้าน 'ประยุทธ์' แจงผู้รับเหมาไม่ขอรับเงินค่าจ้าง
21 ก.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อมวลชนว่า วันนี้ (21 ก.ค.)ที่อาคารรัฐสภา อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส. พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โดยนางอมรัตน์ กล่าวถึงความผิดปรกติในการประมูลโครงการที่เกี่ยวข้องกับการทำลายอนุสาวรีย์ที่มีความเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หลายโครงการภายใต้การดูแลของกองทัพ ที่ชัดเจนว่าเป็นการล็อกผลการประมูลให้กับผู้รับเหมาบางราย
อมรัตน์ชี้ให้เห็นว่า กรณีโครงการรื้อถอนอนุสาวรีย์พระยาพหล และจอมพล ป. ที่กองทัพบกเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภูวเนศ โดยเสนอราคา 1,173,000 บาท จากราคากลาง 1.2 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 27,000 บาท โดยโครงการนี้กองทัพบกได้ประกาศผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 23 เมษายน 2564 แต่ปรากฎชัดเจนว่าผู้รับเหมาได้เข้าไปทำการรื้อถอนอนุสาวรีย์ก่อนแล้วตั้งแต่เดือน มกราคม 2563 หรือได้เริ่มทำงานก่อนที่จะประกาศตัวผู้ชนะการเสนอราคา ถึง 15 เดือน
รวมทั้งโครงการสร้างแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 และงานปรับปรุงภูมิทัศน์ ที่จะนำมาแทนที่อนุสาวรีย์พระยาพหลที่เพิ่งทำการรื้อถอนออกไป กรมยุทธโยธาทหารบกเป็นผู้จัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการคัดเลือก โดยบริษัท ไอยเรศ จำกัดชนะการคัดเลือก ด้วยการเสนอราคา 59,873,500 บาท จากราคากลาง 59,993,500 บาท โดยโครงการนี้ได้มีการประกาศตัวผู้ชนะการเสนอราคาในวันที่ 14 ก.ค. 2564 และทำการเซ็นสัญญากันในวันที่ 27 ส.ค. 2564
แต่เมื่อดูจากแผนที่ทางดาวเทียมพบว่ากองทัพได้ให้ผู้รับเหมาเริ่มทำงานไปล่วงหน้าแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 โดยภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นว่าในช่วงเดือนเมษายน 2564 โครงการที่ว่านี้ได้คืบหน้าไปมาก จนโครงสร้างฐานรากของแท่นพระบรมราชานุสาวรีย์ ร.9 ใกล้เสร็จสมบูรณ์สามารถมองเห็นได้ชัดจากภาพถ่ายทางดาวเทียม
“ทั้ง 2 กรณีชัดเจนว่าเริ่มการก่อสร้างกันตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศราคากลาง ยังไม่มีการประกวดราคา ยังไม่มีการทำสัญญา พูดง่ายๆ กองทัพล็อคผู้รับเหมา แล้วให้เข้าไปทำงานล่วงหน้า“
นอกจากโครงการของกองทัพบกแล้ว อมรัตน์ ยังเปิดโครงการก่อสร้างบ้านพักรับรองผู้บัญชาการทหารเรือหลังใหม่ พร้อมรื้อถอนบ้านพักหลังเดิม วงเงิน 65 ล้านบาทอีกด้วย โดยอมรัตน์ชี้ให้เห็นว่าโครงการของกองทัพเรือก็ไม่ต่างกันเนื่องจากกองทัพเรือได้ทำการประกาศราคากลางของโครงการดังกล่าวในวันที่ 15 มี.ค. 2562 ปรากฎว่ามี 3 บริษัทเข้าร่วมยื่นเสนอราคาแข่งขัน โดยบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ จำกัก (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประมูลงานดังกล่าวในวันที่ 27 พ.ค. 2562 และได้ทำการเซ็นสัญญาก่อสร้างในอีก 2 วันถัดมา คือวันที่ 29 พ.ค. 2562
แต่เมื่อตรวจสอบภาพถ่ายทางดาวเทียมกลับพบว่าผู้รับเหมาได้เข้าทำการรื้อถอนบ้านพักเดิมและทำการสร้างใหม่แล้วตั้งแต่ก่อนวันที่ 22 ก.พ 2562 หรือก็คือผู้รับเหมาได้เข้าทำการสร้างคฤหาสน์หลังใหม่ให้กับผู้บัญชาการกองทัพเรือล่วงหน้า 3 เดือนก่อนที่จะรู้ผลว่าใครเป็นผู้ชนะการประมูล
“แท้จริงแล้วเวลาที่มีโครงการก่อสร้างในกองทัพนั้น ได้มีการแอบล็อคผู้ชนะการประมูลกันก่อนเรียบร้อยแล้วแบ่งกันล่วงหน้าว่างานนี้เป็นของใคร งานนั้นเป็นของใคร จากนั้นก็จ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชาให้พวกนายพลไปตามลำดับชั้น แล้วค่อยทำการการประมูลหลอกๆ กันอย่างที่เห็น” อมรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงประเด็นแท่นประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 9 ว่า เดิมมีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยงบประมาณรายจ่าประจำปี 64 ของกองทัพ ด้วยวิธีระบบคัดเลือกผู้ประกอบการ 3 ราย เสนอวงเงินในการก่อสร้าง 59 ล้านบาท ภายหลังจากการทำสัญญาและระหว่างการจัดทำการก่อสร้างทางผู้ทำสัญญาได้แจ้งความประสงค์ที่จะบริจาคสิ่งปลูกสร้างที่แล้วเสร็จ อันได้แก่ แท่นประดิษฐาน และปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมถึงสาธารณูปโภคตามรูปแบบที่สัญญากำหนดเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกองทัพบก โดยไม่ขอรับเงินค่าจ้างที่ระบุในสัญญา และยินยอมในการยกเลิกสัญญาโดยไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น รวมทั้งกรมยุทธโยธาทหารบกได้ส่งคืนงบประมาณดังกล่าวที่ยังไม่มีการเบิกจ่ายให้แก่ผู้ประกอบการ ให้กับกองทัพบกต่อไปแล้ว
นายกฯ ชี้แจงเพิ่มเติมเรื่องการตั้งข้อสังเกตว่าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ไม่ได้เข้ามาตรวจสอบการก่อสร้างในครั้งนั้นว่ากองทัพบกได้รับการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการจาก สตง. เพื่อขอรับทราบข้อมูลในการก่อสร้างและได้ชี้แจงว่าไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการดำเนินการภายใต้ทุนทรัพย์ของบริษัทและผู้มีจิตศรัทธาที่ทำการก่อสร้าง และมอบให้กองทัพบกโดยไม่คิดมูลค่า สตง.ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ เหล่านี้แล้ว