วันเสาร์, กรกฎาคม 02, 2565

จาก "คณะ ร.ศ. 130" ถึง "คณะราษฎร 2475" ถึง "คณะราษฎร 2563" ภารกิจ - อุดมการณ์ที่ได้รับการ "สานต่อ"


คณะก้าวหน้า - Progressive Movement
June 29

[จาก "คณะ ร.ศ. 130" ถึง "คณะราษฎร 2475" ถึง "คณะราษฎร 2563" ภารกิจ - อุดมการณ์ที่ได้รับการ "สานต่อ"]
.
"ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ" นอกจากจะเป็นเนื้อร้องบางตอนของเพลง "ความฝันอันสูงสุด" แล้ว ยังเป็นชื่อหนังสือ ชุดกษัตริย์ศึกษาของ สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โดยมีผู้เขียนคือ ณัฐพล ใจจริง ที่ศึกษาเรื่องราวความเคลื่อนไหวของขบวนการต่อต้านการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475
.
และล่าสุด วลีนี้ก็ถูกใช้เป็น "หัวข้อ" ในการสนทนา ที่มูลนิธิคณะก้าวหน้า และ Doc club & pub ร่วมกันจัดขึ้น โดยมี ณัฐพล ใจจริง และ เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน
.
เริ่มต้น ณัฐพล เอ่ยแซวหัวข้อการพูดคุยว่า มีลักษณะย้อนแย้งมาก เพราะที่ว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนนั้น ไม่จำเป็นต้องฝันใฝ่อีกแล้วแล้ว และควรต้องเป็นจริงแล้ว แต่ก็คงเพราะผู้จัดงานคิดว่าในสภาวะการณ์แบบนี้ ตอนนี้ เรายังไม่ไปถึงอุดมคตินั้น จึงเกิดเป็นหัวข้อนี้ขึ้นมา
.
จากนั้น ณัฐพล นำภาพหนึ่งมาพูดเพื่อเปิดการสนทนา นั่นคือภาพเด็กผู้หญิง 2 คน ยืนเท้าสะเอว เชิดหน้า มองตรงไปข้างหน้า พร้อมกับอธิบายว่า ภาพของเด็กแบบนี้ก่อนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ไม่มีแน่ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าถามถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง เพื่อที่จะบอกว่าเยาวชนปัจจุบันนี้ไม่ได้ถูกโดดเดี่ยว ไม่ได้เป็นคนรุ่นใหม่ที่ก้าวร้าว เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีมาแล้วที่คิดแบบเดียวกัน นั่นก็คือ "คณะ ร.ศ. 130"
.
เมื่อ 120 ปีที่แล้ว มีทหารหนุ่มที่เพิ่งจบโรงเรียนนายร้อยมาใหม่หมาด อายุเฉลี่ยอยู่ที่ต้นๆ 20 ปี ได้รวมตัวกันก่อนตั้ง "คณะ ร.ศ..130" เพื่อทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในสมัยต้นรัชกาลที่ 6
.
"กล่าวได้มั้ยว่านี่คือเยาวชน 3 กีบ ยุคแรกๆ เป็นนักเรียนนายร้อย และหลายคนเป็นทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ด้วย ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นครั้งแรกเกิดในกองทัพ เพราะพวกเขาได้เรียนหนังสือ ได้เห็นการปฏิวัติจีน และมีความคิดที่จะปฏิวัติสยามเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่ไม่สำเร็จ ด้วยคิดไม่รอบคอบ" ณัฐพล กล่าว
.
ไม่รอบคอบ - นั่นหมายถึงการประชุมเตรียมก่อการที่เปิดให้ใครก็ได้เข้ามา เห็นหน้าค่าตากันหมด จนเมื่อมีคนนำเรื่องไปฟ้องเจ้านาย จึงถูกจับได้หมด ติดคุกกันกว่า 10 ปี ขณะที่บางคนก็ตายในคุกด้วย อย่าง ร.ต.วาส วาสนา ที่บอกกับเพื่อนก่อนตายว่า "ฝากลูก และฝากชัยโยถ้ามีโอกาสได้เห็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง"
.
นี่คือความคิด อุดมการณ์ที่เกิดขึ้นและที่สำคัญถูกส่งต่อมาถึง "คณะราษฎร" ที่สานภารกิจต่อได้สำเร็จในอีก 20 ปีต่อมา
.
และยืนยันด้วยหลังจากที่ ปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475 สำเร็จ ได้มีการเชิญแกนนำคณะ ร.ศ.130 ที่ได้รับการพระราชทานอภัยโทษก่อนหน้านั้นหมดแล้ว ให้มาพบเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกับแกนนำคณะราษฎร และพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา กล่าวกับคณะ ร.ศ.130 ตอนหนึ่งว่า "ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนที่เยอรมัน ก็เห็นจะเข้าอยู่ในคณะของคุณอีกคนเป็นแน่" ด้าน ปรีดี พนมยงค์ แกนนำคณะราษฎรสายพลเรือน ก็กล่าวในเหตุการณ์เดียวกันว่า "ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็ไม่มีคณะพวกผม"
.
ต่อกรณีนี้ เพนกวิน ในฐานะ 1 ในแกนนำคณะราษฎร 2563 ที่ปัจจุบันจะไปไหนมาไหนก็ต้องมีกำไลข้อเท้าติดตามควบคุมตัวไปด้วย เสริมว่า นี่คือหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมการชุมนุมของประชาชนในปัจจุบันถึงใช้ชื่อว่า "คณะราษฎร"
.
"ถ้าเรามองประวัติศาสตร์เป็นสายธาร คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นและยุคนี้ก็ยังอยู่ในแม่น้ำสายเดียวกัน แต่ระหว่างทาง อาจคดเคี้ยววกวนไปบ้าง ซึ่งก็เป็นปกติการต่อสู้ทางการเมือง ถามว่า เราฝันใฝ่สังคมแบบไหน ประเทศแบบไหน ก็คงเป็นอุมคติแบบเดียวกันกับ คณะ ร.ศ.130 และแบบคณะราษฎร 2475"
.
เหตุผลของการใช้ชื่อ "คณะราษฎร 2563" เพราะ 1.เป็นพัฒนาการต่อเนื่องกันมา และ 2.เป็นการต่อสู้ของราษฎร ซึ่งเพนกวินเข้าใจดีว่า การสร้างประชาธิปไตยไม่ได้ใช้เวลาเพียง 1-2 วัน แต่อย่างไรก็ตาม คณะราษฎร 2475 ได้ปลูกเมล็ดพันธุ์แล้ว เพียงแต่ยังไม่ตั้งมั่น รากแก้ยังไม่โต คนุร่นหลังต้องมาช่วยกันสานต่อ
.
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาศัยเหตุและปัจจัย ไม่ใช่คิดจะเปลี่ยนแล้วทำได้เลย ต้องปลูกฝังความคิดเป็นก้าวแรก
.
เพนกวิน ย้ำด้วยว่า ต้องทำให้การกระจายความคิดไปให้มากที่สุด เราต้องคุยกับคนที่คิดเหมือนและคนที่คิดไม่เหมือนกับเรา คุยกับคนที่ชอบและไม่ชอบเรา ต้องคุยกับคนอายุมากๆ ให้รู้เรื่อง และเป้าสำคัญที่ต้องทำคือ การสร้างเอกภาพหรือในที่นี่คือภารดรภาพ หรือความเห็นอกเห็นใจเข้าใจกัน บนฐานของความหลากหลายซึ่งในที่นี้คือเสรีภาพ และความเท่าเทียมซึ่งในที่นี้คือความเสมอภาค
.
"ความคิดความฝันของคนรุ่นใหม่ยุคนี้กับยุคโน้นไม่ต่างกันมาก ชื่อการเคลื่อนไหว การปลุกประวัติศาสตร์มาใช้ ก็เป็นตัวชี้วัดว่า อุดมการณ์ของคณะราษฎรยังอยู่ในใจคนรุ่นเรา แต่ความโชคดี เรามีมวลชนเสรีขึ้น วันนี้ ด้วยเทคโนโลยี คนแค่เพียงคนเดียวมีศักยภาพที่จะทำอะไรได้มากขึ้น เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น มีอิสระทางความคิด และอิสระทางเศรษฐกิจมากขึ้นกว่าแต่ก่อน" พริษฐ์ กล่าว
.
ปิดท้ายด้วยคำถามที่ว่าแล้วอีก 10 ปีข้างหน้า "ประชาธิปไตย" ในประเทศจะเป็นอย่างไร?
.
ณัฐพล ตอบด้วยการโชว์รูปปกหนังสือ 2 เล่ม หนึ่งคือ สี่แผ่นดิน ผลงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ขณะที่อีกหนึ่ง คือ แลไปข้างหน้า ผลงานของ ศรีบูรพา
.
จากนั้นก็อธิบายว่า นิยายสี่แผ่นดินที่นำมาทำเป็นละครวนแล้ววนอีกไม่รู้กี่รอบ คือความพยายามทำให้บ้านเมืองกลับไปสู่ในระบอบเก่า ขณะที่ แลไปข้างหน้า ของศรีบูรพา หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ซึ่งร่วมสมัยคณะราษฎร 2475 นั้น บอกว่า คนส่วนใหญ่ไม่อยากอยู่ในอดีตหรอก เขาอยากรู้อนาคตว่าจะดีกับเขาอย่างไร การที่หวังว่าคนส่วนใหญ่จะกลับไปอยู่ระบอบเดิมคือความเพ้อฝัน
.
เพนกวิน ชวนคิดด้วยการไปดูประวัติศาสตร์ความเปลี่ยนแปลงของโลก วิกฤตใหญ่ๆ ที่จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดจาก 1.โรคระบาด 2.ส่งคราม 3.สภาวะเศรษฐกิจ และ 4.ภัยธรรมชาติ
.
"พอทั้ง 4 ปัจจัยมาย่ำโลก จะทำให้เกิดความระส่ำระส่าย คนจะแสวงหาสิ่งใหม่ การตื่นรู้ก็จะมาจากสิ่งนี้ด้วย และวันนี้ คิดว่าเราคงเห็นกันด้วยตาตัวเองแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง วิกฤตเหล่านี้จะนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง แต่แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงไม่ได้มาเอง เพราะอีกฝ่ายก็รู้และพยายามทำทุกวิถีทางเช่นกัน ที่จะเปลี่ยนเป็นทางเขา ให้เป็นขวามากขึ้น เปลี่ยนให้ล้าหลังยิ่งขึ้น"
.
จึงเป็นหน้าที่เราที่จะต้องช่วยกันที่เปลี่ยนเพื่อไปสู่ความก้าวหน้า เพื่อสร้างประชาธิปไตย
.
เพนกวิน ทิ้งท้ายอย่าน่าคิดว่า "เวลาอยู่ข้างเรา แต่เราต้องลงมือทำด้วย ทำอย่างไรก็ได้ให้ฝ่ายสามกีบเกิดขึ้นเต็มไปหมด แล้วความเปลี่ยนแปลงจะไม่ไปอยู่ในมือฝ่ายขวา และอีก 10 ปี เราจะกลับมาฉลองวันชาติด้วยกัน ในวันนั้นที่ไม่มีใครต้องโดน คดี 112 และไม่มี 112 ให้ต้องพูดถึงกันอีกแล้ว"
.
#มูลนิธิคณะก้าวหน้า #คณะราษฎร #รศ130 #ปฏิวัติ