โดย ณัชปกร นามเมือง
Thairath Plus
Summary
- ระบบการเลือกตั้งที่น่าจะใช้คือระบบ ‘บัตรสองใบ' เลือก ส.ส. เขตจำนวน 400 คน ส่วนบัตรเลือกตั้งใบที่สองใช้สำหรับเลือกพรรคการเมืองเพื่อนำมาคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน
- วิธีการคำนวณแบบหาร 100 เอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (100 คน) แล้วถึงคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองแต่ละพรรคตามสัดส่วนคะแนน ดังนั้น ข้อเสนอนี้จึงถูกเรียกว่า สูตร ‘หาร 100’ วิธีนี้ทำให้พรรคใหญ่แข็งแกร่ง เพราะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นส่วนเสริม
- วิธีการคำนวณแบบหาร 500 เอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (500 คน) แล้วถึงมาคำนวณหาจำนวน ส.ส. พึงมีของแต่ละพรรค ดังนั้น ข้อเสนอนี้จึงถูกเรียกว่า สูตร ‘หาร 500’ วิธีนี้ทำให้พรรคเล็กได้ประโยชน์ เพราะพรรคใหญ่อาจไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
อะไรคือระบบเลือกตั้งแบบปี 2540
ระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 มีชื่อเรียกทางการว่า ระบบเลือกตั้งแบบผสมเสียงข้างมาก (Mixed Member Majoritarian: MMM) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อว่า ระบบเลือกตั้งผสมแบบคู่ขนาน มีจุดเด่นสำคัญอยู่ที่การใช้ ‘บัตรสองใบ' บัตรเลือกตั้งใบแรกสำหรับการเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต จำนวน 400 คน 400 เขต ทั่วประเทศ ส่วนบัตรเลือกตั้งใบที่สองใช้สำหรับเลือกพรรคการเมืองเพื่อนำมาคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน ตามสัดส่วนคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ระหว่างที่รัฐสภากำลังจะพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อให้กลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนานเหมือนปี 2540 กลับมีความพยายามจากพรรคการเมืองขนาดเล็ก และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มีความใกล้ชิดกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามจะเล่นแร่แปรธาตุให้เนื้อหาของร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ให้คล้ายระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed Member Proportional: MMP) แต่ยังเปิดช่องให้จัดสรรที่นั่งแบบ 'ปัดเศษ' ได้ ทำให้พรรคเล็กยังมีโอกาสไปต่อ แต่ก็แลกมากับการเป็น ‘สภาสหพรรค’ แบบการเลือกตั้งปี 2562 ร่วมถึงตัดโอกาสพรรคใหญ่แลนด์สไลด์ (ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภา) เหมือนเมื่อครั้งใช้ระบบเลือกตั้งแบบปี 2540
เพื่อไทย-พลังประชารัฐ ยืนยันตาม กมธ. ใช้สูตร ‘หาร 100’ เปิดโอกาสพรรคใหญ่แลนด์สไลด์
ในร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับ กมธ.วิสามัญฯ ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า จะใช้สูตร ‘หาร 100’
อธิบายง่ายๆ สูตรหาร 100 คือ แยกการคำนวณ ส.ส.แบบแบ่งเขต และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อออกจากกันอย่างชัดเจน โดยให้เอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (100 คน) แล้วถึงคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองแต่ละพรรคตามสัดส่วนคะแนน ดังนั้น ข้อเสนอนี้จึงถูกเรียกว่า สูตร ‘หาร 100’
โดยวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ตามสูตร 100 มีวิธีการคำนวณอย่างง่าย ดังนี้
1. นำคะแนนเสียงของทุกพรรคการเมืองมาหารจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ (100 คน) เพื่อหา ‘คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.หนึ่งคน’
2. นำคะแนนเสียงของแต่ละพรรคการเมืองมาหารด้วยคะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.หนึ่งคน เพื่อหา ‘ส.ส.บัญชีรายชื่อ’ ของแต่ละพรรค
ยกตัวอย่างเช่น
- คะแนนเสียงของทุกพรรครวมกัน 40,000,000 เสียง คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน เท่ากับ 40,000,000/100 = 400,000
- ถ้าพรรคการเมือง A ได้คะแนนเสียงจำนวน 10,000,000 เสียง พรรค A จะมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เท่ากับ 10,000,000/400,000 = 25 คน
- ถ้าพรรคการเมือง A ได้จำนวน ส.ส.เขต จำนวน 200 คน เท่ากับว่า พรรค A จะได้รับ ส.ส.ทั้งหมด 200+25 = 225 คน
พรรคการเมืองที่ครองเสียงข้างมากสามารถผลักดันนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้ เหมือนเมื่อครั้งพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี 2544 พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งในสภา 248 จาก 500 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 200 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 48 ที่นั่ง สามารถตั้งรัฐบาลผสมน้อยพรรคและดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงได้สำเร็จ
อย่างไรก็ดี ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนานถูกมองว่า เอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีจำนวน ส.ส.เขต มากอยู่แล้ว ก็จะยิ่งได้ที่นั่งในสภาเพิ่มจนล้นเกินจากคะแนนนิยมที่แท้จริงของคนทั้งประเทศ อย่างการเลือกตั้งในปี 2548 พรรคไทยรักไทยได้ควบรวมพรรคขนาดกลางที่มีฐานเสียงตามภูมิภาคเข้ามาเป็นพรรคเดียวกัน ส่งผลให้พรรคไทยรักไทยครองที่นั่งในสภามากถึง 377 จาก 500 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.เขต 310 ที่นั่ง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 67 ที่นั่ง โดยมีสัดส่วนที่นั่งในสภาคิดเป็น 75.4 เปอร์เซ็นต์
แต่พรรคไทยรักไทยได้รับคะแนนเสียงจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ 18,993,073 เสียง หรือคิดเป็น 61 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งหมายความว่า พรรคไทยรักไทยได้ที่นั่งมากกว่าจำนวนคะแนนเสียงที่แท้จริง
พรรคเล็ก จับมือ ส.ว. เสนอสูตร ‘หาร 500’ ใช้ระบบเลือกตั้ง MMP ฉบับพิสดาร-เกิดสภาสหพรรค
แม้ว่าในร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับ กมธ.วิสามัญฯ จะเสนอให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่บรรดา ส.ส.พรรคเล็ก เช่น พรรคเสรีรวมไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคพลังท้องถิ่นไท และ ส.ว. ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาล อาทิ พลเอกอกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนเตรียมทหารของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พลอากาศตรีเฉลิมชัย เครืองาม น้องชายของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี พยายามจะเปลี่ยนวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส.ใหม่ ให้กลับไปเป็นเหมือนระบบเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 (MMA) แต่มีการดัดแปลงให้สอดคล้องกับระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ
กล่าวคือ ในการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ให้เอาคะแนนเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองทั้งหมดมาหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (500 คน) แล้วถึงมาคำนวณหาจำนวน ส.ส.พึงมีของแต่ละพรรค ดังนั้น ข้อเสนอนี้จึงถูกเรียกว่า สูตร ‘หาร 500’
โดยวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. ตามสูตร 500 มีวิธีการคำนวณอย่างง่าย ดังนี้
1. นำคะแนนเสียงของทุกพรรคการเมืองมาหารจำนวน ส.ส.ทั้งหมด (500 คน) เพื่อหา ‘คะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.หนึ่งคน’
2. นำคะแนนเสียงของแต่ละพรรคการเมืองมาหารด้วยคะแนนเฉลี่ย ต่อ ส.ส.หนึ่งคน เพื่อหา ‘ส.ส.พึงมี’ ของแต่ละพรรค
3. นำจำนวน ส.ส.พึงมี ของแต่ละพรรค มาลบด้วยจำนวน ส.ส.เขต ที่พรรคการเมืองนั้นได้รับ เพื่อหา ‘ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ’
ยกตัวอย่างเช่น
- คะแนนเสียงของทุกพรรค 40,000,000 เสียง คะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน เท่ากับ 40,000,000/500 = 80,000ถ้าพรรคการเมือง A ได้คะแนนเสียงจำนวน 10,000,000 เสียง พรรค A จะมี ส.ส.พึงมี เท่ากับ 10,000,000/80,000 = 125 คน
- ถ้าพรรคการเมือง A ได้จำนวน ส.ส.เขต จำนวน 100 คน เท่ากับว่า พรรค A จะได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 125-100 = 25 คน
- แต่ถ้าพรรคการเมือง A ได้จำนวน ส.ส.เขต จำนวน 200 คน เท่ากับว่า พรรค A จะได้รับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 125-200 = -75 คน เท่ากับว่า จะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เหมือนที่พรรคเพื่อไทยเคยเจอสถานการณ์นี้ในการเลือกตั้งปี 2562
ในระบบเลือกตั้งแบบ MMP เราอาจจะกล่าวได้ว่า จำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็น ‘ส่วนต่าง’ ระหว่าง ส.ส.พึงมี กับ ส.ส.เขต หากพรรคการเมืองได้ ส.ส.เขต จำนวนมาก ก็มีโอกาสที่ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง แต่จำนวน ส.ส. ยังเป็นไปตามสัดส่วนคะแนนที่พรรคการเมืองได้รับจากประชาชนทั้งประเทศ ดังนั้น พรรคขนาดใหญ่จึงได้รับผลกระทบจากระบบเลือกตั้งแบบนี้ และมีโอกาสน้อยลงที่จะครองเสียงข้างมากแบบเด็ดขาดในสภา เว้นแต่ได้รับเสียงจากประชาชนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง
แต่ความน่ากังวลในข้อเสนอระบบเลือกตั้ง MMP ฉบับพรรคเล็กและ ส.ว. ยังมีความพิสดารอยู่คือ การจัดสรรที่นั่งให้กับพรรคการเมืองตามเศษทศนิยม โดยไม่มีเกณฑ์ขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้เกิดกลุ่ม ส.ส.ปัดเศษขึ้นอีกครั้ง และจะส่งผลให้เกิดสภาสหพรรค หรือ สภาที่มีพรรคการเมืองหลายสิบพรรคจนส่งผลให้การเมืองขาดเสถียรภาพจากการต่อรองทางการเมืองของพรรคขนาดเล็กและขนาดกลาง และทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากที่สุดในสภาไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายได้ตามที่หาเสียงไว้
นอกจากนี้ ปัญหาสำคัญจากการออกแบบระบบเลือกตั้งให้เป็น MMP ฉบับพิสดาร คือ การสร้างสภาที่ไม่มีพรรคการเมืองไหนสามารถครองเสียงข้างมากเด็ดขาดได้ ซึ่งจะส่งผลให้ ‘พรรค ส.ว.’ ที่มี 250 เสียง ยังคงเป็นผู้กุมบังเหียนทางการเมืองหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าที่เกิดขึ้นในปี 2566
ศาลรัฐธรรมนูญ อาจจะเป็นผู้ชี้ขาดด่านสุดท้ายว่ากติกาเลือกตั้งใหม่จะใช้แบบไหน
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเสนอสูตรคำนวณการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน เป็นผลมาจากการลงมติรับหลักการร่างแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภา โดยมีแค่ร่างรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์เพียงร่างเดียวที่ผ่านการเห็นชอบ เนื่องจาก ส.ว.แต่งตั้ง ให้ความเห็นชอบครบตามเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวมีการแก้ไขที่ไม่สมบูรณ์ เพราะหลงเหลือบางมาตราที่ทำให้เกิดความลักลั่นระหว่างระบบเลือกตั้งใหม่ที่เป็นแบบคู่ขนาน (MMM) และระบบเลือกตั้งเก่าที่เป็นแบบจัดสรรปันส่วนผสม (MMA)
ปัญหาความลักลั่นดังกล่าวส่งผลต่อการพิจารณากฎหมายลูกอย่าง ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. แม้ว่าในการพิจารณากฎหมายวาระที่หนึ่ง ร่างกฎหมายทุกฉบับจะเสนอให้ใช้สูตรคำนวณและระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน (สูตรหาร 100) แต่ทว่าเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่ชั้นการพิจารณาของ กมธ. กลับมีการตีความใหม่ว่า รัฐธรรมนูญสามารถใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วมผสม (MMP) ได้ จนกลายมาเป็นสูตรหาร 500 ในที่สุด
จากความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ทำให้เกิดสงครามจิตวิทยาขึ้นมาว่า สูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. จะจบแบบไหน และไม่ว่าผลการลงมติจะเห็นด้วยกับแนวทางไหน ก็มีโอกาสที่จะถูกคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือหมายความว่า ผู้ที่จะใช้อำนาจชี้ขาดทางนิติบัญญัติกลับกลายเป็นศาลรัฐธรรมนูญ
ถ้าดูจากที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ จะพบว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เป็นผู้กำหนดทิศทางอยู่เบื้องหลัง ดังนั้น การให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ชะตากติกาการเลือกตั้งฝนด่านสุดท้าย จึงอาจไม่ใช่การวินิจฉัยปัญหาในข้อกฎหมาย แต่เป็นการวินิจฉัยถึงผลประโยชน์ทางการเมืองที่ฝ่ายรัฐบาล