เหตุที่พวกเขาต้องใช้ความรุนแรง มีการใช้ประทัด เพราะ "สำหรับพวกเขาก็คือ อย่างน้อยทำให้รัฐบาลรู้ว่าเขามีตัวตน ทำให้รัฐบาล รู้ว่าปัญหาของพวกเขามันยังดำรงอยู่" ซึ่งเป็นวิธีที่เยาวชนกลุ่มนี้ใช้สื่อสารกับรัฐhttps://t.co/nwRfyY3rve#ม็อบ12มิถุนา65
— พี่ครับ พี่ครับ มึงอะครับพี่ (@Scarlett_xx9) June 12, 2022
เหตุใดการชุมนุมของมวลชนอิสระหรือที่เรียกชื่อกันว่า "ทะลุแก๊ซ" กลับมาอีกครั้ง ผศ.ดร.กนกรัตน์ ซึ่งลงพื้นที่ศึกษาวิจัยถึงที่มาของการเกิดขึ้นของการชุมนุมที่แยกดินแดง สัมภาษณ์เยาวชนผู้ร่วมชุมนุม 30 คน เมื่อปี 2564 กล่าวกับบีบีซีไทยว่า เพราะนับตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่ม "ทะลุแก๊ซ" ยุติลง รัฐบาลยังไม่เคยศึกษาปัญหาว่า อะไรคือที่มาของ "ม็อบ" ในครั้งนั้นเลย ซึ่งพวกเขาไม่ได้มีข้อเรียกร้องเพียงให้ พล.อ. ประยุทธ์ลาออกเท่านั้น อีกทั้งยังจบด้วยการจับกุมผู้เข้าร่วมชุมนุม เกือบ 400 คน ประเมินจากการสังเกตการณ์ ที่คาดว่าแกนนำที่อยู่แถวหน้ามีอย่างมากประมาณ 500-600 คน
"การแก้ปัญหาของรัฐกลับดำเนินคดีเพิ่มต้นทุนให้กับผู้เข้าร่วมชุมนุม แล้วก็ปล่อยให้ม็อบสลายไป ท่ามกลางปัญหาที่ค้างคา อันนี้คือเรื่องแรกที่ว่าทำไมทะลุแก๊ซจึงกลับมา"
เยาวชนลูกหลานชนชั้นล่างในเมือง กับเศรษฐกิจปากท้องที่ไม่ถูกแก้ไข
ผศ.ดร. กนกรัตน์กล่าวว่า เงื่อนไขของการผ่อนปรนมาตรการของโรคโควิด-19 เอื้อต่อการที่ผู้เรียกร้องสิทธิทางการเมืองในการออกมาร่วมชุมนุม ทว่าอีกประเด็นสำคัญคือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่แย่ลงกว่าปีที่แล้ว แม้ว่าจะเริ่มเปิดมากขึ้นจากโควิดแล้วก็ตาม
นักวิชาการจุฬาฯ กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจที่แย่ลงกว่าปีก่อน ทำให้ชีวิตของเยาวชนที่ร่วมชุมนุม "ทะลุแก๊ซ" ซึ่งจากการลงพื้นที่ทำวิจัยแบบคร่าว ๆ เมื่อปีที่แล้ว เป็นกลุ่มลูกหลานชนชั้นล่างในเมือง เด็กที่หลุดออกจากการศึกษา เยาวชนที่พอจะลืมตาอ้าปากได้ก่อนโควิด ถูกดึงกลับมาสู่ความยากจนในช่วงโควิด เป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบทันที เพราะพวกเขาเป็นทั้ง แรงงานในภาคไม่เป็นทางการและเป็นเยาวชนด้วย จึงเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐที่ผู้ใหญ่เข้าถึงได้ เช่น การมีเงินเยียวยา หรือสวัสดิการต่าง ๆ ที่รัฐให้ ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนกับแรงงานในและนอกระบบที่เป็นผู้ใหญ่
"เศรษฐกิจแบบนี้เขายังถูกทอดทิ้ง ยังเป็นคนที่ตกอยู่ในความยากจนและไม่สามารถเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ได้เลย เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับว่า สถานการณ์ของเยาวชนที่มาช่วงกลางคืน (วันที่ 11 มิ.ย.) ก็แย่กว่าเดิม หลายคนแทบจะกลายเป็นเด็กไร้บ้าน ไม่มีทั้งงาน ไม่มีทั้งบ้าน ถูกครอบครัวทอดทิ้ง หลังจากถูกดำเนินคดีแล้ว พูดง่าย ๆ ปัญหากลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข แถมยังหนักขึ้น"
แม้รัฐบาลใกล้หมดวาระ แต่กลุ่มนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นทันที
แม้รัฐบาลใกล้หมดวาระในช่วงต้นปี 2566 และบรรยากาศเริ่มเข้าสู่การเตรียมตัวเลือกตั้ง ผศ.ดร. กนกรัตน์กล่าวว่า ปัญหาของกลุ่มเยาวชนในลักษณะมวลชนอิสระหรือ "ทะลุแก๊ซ" เป็นปัญหาที่ต้องการความเร่งด่วนในการแก้ปัญหา เป็นความเร่งด่วนที่แตกต่างกับข้อเรียกร้องในการชุมนุมของเยาวชนเมื่อปี 2563 ที่มาชุมนุมเพราะรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพทำให้โอกาสที่เขาจะไปถึงฝันประสบความสำเร็จมันเกิดขึ้นได้ยาก แต่สำหรับกลุ่มทะลุแก๊ซ ความเร่งด่วนคือ เรื่องการดำรงชีวิต
"เยาวชนทะลุแก๊ซ ปัญหาของเขา มันเป็นปัญหาที่หมายถึง life or death ในวันนี้ เขาจะเป็นหรือจะตาย พรุ่งนี้จะมีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านไหม เขาจะต้องกลายเป็นคนไร้บ้านหรือเปล่า เขาจะเอาเงินที่ไหนไปผ่อนมอเตอร์ไซค์ สำหรับเขามันคือความเป็นความตาย เพราะฉะนั้นคือ ทางออกของเขา มันไม่ใช่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งใหม่เท่านั้น ซึ่งเขาก็อาจจะเรียกร้อง แต่ว่ามันไม่ใช่ทางออกในระยะสั้น คือยังไงก็ตาม พวกเขาต้องการทางออกในระยะสั้น และการเปลี่ยนแปลงในระยะสั้นทันที"
ผศ.ดร. กนกรัตน์ ยังเปิดเผยการสัมภาษณ์เชิงลึกถึงเหตุที่พวกเขาต้องใช้ความรุนแรง มีการใช้ประทัด เพราะ "สำหรับพวกเขาก็คือ อย่างน้อยทำให้รัฐบาลรู้ว่าเขามีตัวตน ทำให้รัฐบาล รู้ว่าปัญหาของพวกเขามันยังดำรงอยู่" ซึ่งเป็นวิธีที่เยาวชนกลุ่มนี้ใช้สื่อสารกับรัฐ
"นี่คือส่วนหนึ่งของการต่อสู้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา เขาเผชิญแบบนี้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เขาเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ละเมิดในทุกมิติ นี่คือสิ่งที่เขารีแอคต่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปกติ"
โซเชียลมีเดียของ "มวลชนอิสระ" เผยจุดยืน
เพจเฟซบุ๊ก "ทะลุแก๊ซ - Thalugaz" ซึ่งเมื่อปี 2564 เป็นเพจศูนย์กลางที่นัดหมายการชุมนุม มีความเคลื่อนไหวติดตามเหตุการณ์การชุมนุมตลอดคืนที่ผ่านมา ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. เพจโพสต์ข้อความเนื้อหาว่า ประชาชนกำลังเดือดร้อนจากการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และต้องการให้ยุบสภาอย่างเร่งด่วน และไม่ให้ทหารและ "มือที่มองไม่เห็น" เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง พร้อมยืนยันถึงการเป็น "มวลชนอิสระ" ที่ไม่ต้องมีแกนนำ
"ทำไมการเรียกร้องให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญเท่าประเด็นอื่น ทุกครั้งที่มีคนออกมาประท้วงเรื่องน้ำมันแพง ของแพง ค่าครองชีพสูง ไรเดอร์ถูกกดขี่ค่าแรงถึงไม่ได้รับความสนใจจากคนในสังคม หรือต้องทำตามแกนนำ นักกิจกรรม และผู้ลี้ภัยอย่างเดียวจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้อง" เฟซบุ๊ก "ทะลุแก๊ซ - Thalugaz" ระบุ
ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก "14 ขุนพลคนของราษฎร lll" ซึ่งมีการเคลื่อนไหวรายงานเหตุการณ์การชุมนุมที่ดินแดงเช่นกัน โพสต์ข้อความว่า การกลับมารวมตัวอีกครั้ง "คงเป็นความคับแค้นและความเกลียดชังที่มีต่อรัฐบาล"
"ตอนจบม็อบดินแดงปีที่แล้วเกิดคำพูดที่ว่า จะให้พวกเราไปยืนจับไมค์จัดม็อบแบบสันติ พวกเราคงทำไม่ได้ ใช่ครับพวกเราทำไม่ได้จริงๆเพราะเราเคยทำแล้วหลังจากจบม็อบที่ดินแดงผมและหลายๆกลุ่ม พยายามทำแล้วแต่ไม่เคยได้รับความสนใจจากขบวนการสันติ ไม่เคยได้รับความสนใจจากสื่อ..."