วันอังคาร, มิถุนายน 21, 2565

ปิยบุตร แสงกนกกุล “ผมต้องกลับมาพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง”



5
“สิ่งที่ทำให้ผมคิดว่า ผมต้องกลับมาพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น มาจากการชุมนุมของราษฎร ตั้งแต่ช่วงปี 63-64 เราเป็นนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้มาตลอด ผมว่าผมพอมีทักษะ มีความรู้ในการสื่อสารเรื่องพวกนี้ให้เป็นระบบ ในการอภิปรายถกเถียงได้ เห็นน้องๆ เขาออกไปแสดงออกขนาดนี้ เราคิดว่าต้องออกไปช่วยสนับสนุนเรื่องวิชาการ ความรู้ต่างๆ แล้วก็แน่นอนว่า ตัวผมปลอดโปร่งมากขึ้นเพราะโดนตัดสิทธิ์ โดนยุบพรรค ก็มีอิสระมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด ผมแสดงออกอะไรไป มันไม่เกี่ยวกับพรรค เพราะผมไม่ได้สังกัดแล้ว ส่วนใครจะบอกว่าโยงใยก็สุดแท้แต่เขา เราไม่ต้องประคับประคององค์กรของเรา ทำให้แสดงออกได้มากขึ้น”

6
“เวลาเป็นนักวิชาการ นักทฤษฎี เสนอเรื่องนั้นเรื่องนี้ ถ้าเลือกได้ ผมก็คงอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยได้ต่อไป แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจลงมาปฏิบัติเองเพราะเรามองเห็นแล้วว่า สิ่งที่เราเสนอ มันไม่มีคนเอาไปทำ คนเห็นด้วยเยอะ แต่ไม่มีคนทำ ระยะหลังตอนเราจัดงานนิติราษฎร์ ตอนท้ายจะเปิดเวทีให้ซักถามตอนท้าย หลังๆ เริ่มมีคนพูดว่า รู้หมดแล้ว เห็นด้วยหมดเลย แต่ว่าแล้วเมื่อไรอาจารย์จะลงมาทำ ..ผมเก็บไปคิดคนเดียว ไม่ได้ปรึกษาในกลุ่ม คือมันก็น่าคิด ว่าถ้าเราเสนอแล้ว เราผลักดันแล้วเขาไม่ทำ พรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ทำ เราอาจต้องทำเอง จุดชี้ขาดคือตอนแพ้ประชามติ 7 สิงหาฯ 59 ผมคิดว่าถ้าปล่อยไปอย่างนี้จะสู้กับเขายังไง ก็เลยตัดสินใจลงมาปฏิบัติเอง หวังว่าด้วยสติปัญญา ด้วยพลังที่เรามีอยู่บ้าง มันจะดึงคนให้เข้ามาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง มีเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ๆ ที่เติบโตมาอีก”

7
ประเด็น
“ผมเห็นว่าการแบ่งเหลืองแดงแบบเดิมในยุคหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาหรือออกจากวิกฤติได้ ไม่ว่าคุณเป็นเสื้อเหลือง เสื้อแดง เพียงฝ่ายเดียว คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้อีกแล้ว เราจำเป็นต้องเปลี่ยนด้วยกัน เปลี่ยนด้วยการตั้งโจทย์ใหม่ เพราะมันไม่ใช่เหลืองกับแดงทะเลาะกัน ไม่ใช่เหลืองเชียร์พรรคหนึ่ง แดงเชียร์พรรคหนึ่ง แต่มันต้องเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รวมใจกัน ผมเรียกว่าเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์รบกับหนึ่งเปอร์เซ็นต์ เหลืองอยู่ในเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์นี้ แดงก็อยู่ในเก้าสิบเก้าเปอร์เซ็นต์นี้ เพียงแต่ว่าที่ผ่านมามันถูกแบ่งเพราะคุณเชียร์กันคนละพรรค แน่นอนว่ายังมีปัญหาเรื่องการสลายชุมนุม และอื่นๆ นี่ต้องคิดบัญชีกัน กระบวนการทางกฎหมายต้องคิดบัญชี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทำยังไงให้ปัญหาที่ฝ่ายเหลืองก็เจอ แดงก็เจอ จะโยงไปถึงคนหนึ่งเปอร์เซ็นต์ มันคือปัญหาในทางโครงสร้าง เราเลยตัดสินใจตั้งพรรคขึ้นมา แลกกับการที่ต้องลดเพดานในการนำเสนอลง”

8
กลืนเลือด..
“ผมเคยให้สัมภาษณ์ไปครั้งหนึ่ง โดยใช้คำว่ากลืนเลือด คือวันนี้ 27 พฤษภาฯ ครบสี่ปีพอดีที่ผมประชุมตั้งพรรค วันที่ผมกลืนเลือดคือ 15 มีนาฯ 61 วันนั้นเราจดแจ้งชื่อพรรคอนาคตใหม่กับ กกต. ฝ่ายที่เขาไม่ชอบพวกผม ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เมื่อเห็นหน้าผม เห็นธนาธร ก็กังวลแล้วว่าพวกนี้ตั้งพรรคการเมือง จะทำอะไรกัน และวันนั้นก็โดนเพื่อนพ้องน้องพี่สื่อสารมาว่าถ้ายังติดเรื่องนี้ มันไปต่อไม่ได้ หรือไปต่อยาก ก็เรียกว่ากลืนเลือด ถ้าย้อนเวลาได้ ผมคิดนะว่าอาจไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้น แต่โอเค เป็นความผิดพลาดที่ตัดสินใจไป กระนั้นก็ตาม ถ้าใครอ่านผมดีๆ ผมเป็นคนเขียนนโยบายพรรคเรื่องรณรงค์หาเสียง เกี่ยวกับประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ในนั้นผมไม่ได้พูดว่าเราจะแก้ 112 แต่ผมพูดเรื่องการแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาททั้งระบบ คือมันอาจไม่ใช่ข้ออ้าง แต่อย่างน้อยเป็นร่องรอยความพยายามของผมที่อยากผลักดัน หรือพูดอะไรเรื่องพวกนี้อยู่บ้าง ภายใต้ข้อจำกัดที่มี”

9
“จนมาถึงพระราชกำหนดโอนกำลังพล จริงๆ มันปิดประชุมไปแล้ว จู่ๆ มี พรก. นี้ เลยต้องเปิดประชุมพิเศษขึ้นมา โอ้โฮ รอบนั้นผมคิดว่าถ้าผมไม่ต่อสู้ หรือไม่ทำอะไรเลย ชีวิตผม.. มันไม่ใช่เกียรติคุณส่วนบุคคล มันคือสิ่งที่เราพูด เรารณรงค์มาตลอด คือมันไม่ใช่ผมแล้ว เท่ากับขายวิญญาณให้ซาตานไปแล้ว ถ้าผมไม่ทำอะไรกับพระราชกำหนดโอนกำลังพลเลย เหมือนผมขายวิญญาณให้ซาตาน ขายชีวิตความคิดให้การมาเป็นนักการเมือง ประชาชนคงผิดหวังเพราะเขาเห็นผม เลือกผม คงจะเห็นว่าผมเคยเสนอประเด็นอะไรก้าวหน้าบางอย่างอยู่ ใช่มั้ยครับ ฉะนั้น เรื่องนี้ยังไงก็ถอยไม่ได้”

10
“นี่เป็นที่มาของการพูดคุยกับสมาชิกในพรรค ผลออกมา โหวตไม่เห็นด้วย 70 คน ผมเป็นคนอภิปราย ส่วนตัวลึกๆ ผมเชื่อว่า.. มันไม่มีบทพิสูจน์หรอกนะ แต่ผมเชื่อว่าการโหวต พรก.ฉบับนี้เป็นต้นเหตุสำคัญของสองเรื่องคือ หนึ่ง, ทำให้ ส.ส. หลายคนไม่ไปต่อกับเรา เพราะรู้ว่าอันตรายแล้ว เขาเลือกที่จะไปที่อื่น และสอง, อาจเป็นเหตุที่คนมีอำนาจรู้สึกว่าให้ผมอยู่ในสภาแห่งนี้ไม่ได้แล้วมั้ง ..เราไม่รู้ ว่ามาจากอะไร แต่ถ้าให้ย้อนเวลากลับหลังไป ผมก็ทำอีกนะ”

11
“ทุกวันนี้ ถ้ามีอะไรสักอย่างที่อยากแก้ ผมอยากแก้ตอนแถลงข่าวตั้งพรรค ว่าผมไม่น่าถอย เอาให้มันตรงไปตรงมาดีกว่า ผมกลับมานั่งนึก เขาคงไม่มาห้ามผมหรอก คงปล่อยให้ตั้งพรรคไป เพียงแต่ว่าการทำงานภายในมันอาจจะยากขึ้น ในทางกลับกัน พอมานั่งคิด การถอยเรื่องนั้น พอเกิดกระแสสามนิ้วขึ้นมา พรรคก้าวไกลตัดสินใจกลับมาเดินเรื่องนี้ต่อ มันก็สามารถเปลี่ยน ส.ส. ในพรรคหลายคน คือเราเห็นพัฒนาการ ส.ส. ในพรรคหลายคนที่ช่วงแรกไม่ค่อยกล้า โอ้โฮ หลังๆ มีแต่คนมาขออภิปราย เท่าที่มีคนมาเล่าให้ฟังนะครับ หลายคนอยากอภิปรายประเด็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มากขึ้นเรื่อยๆ ผมถึงบอกว่าบางทีถ้าต้องการขยับก้าวหน้าอะไรสักอย่าง อาจต้องสังเวยบางอย่างแลกกัน”

12
สิ่งที่นับเป็นความสำเร็จ พึงพอใจ หรือก้าวหน้า ที่ย้ายสถานะจากนักวิชาการมาเป็นนักการเมือง ?
“อันแรก ผมไม่กล้าพูดร้อยเปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวจะหาว่าคิดเข้าข้างตัวเองเกินไป แต่ผมว่าไม่มากก็น้อย การที่ผมกับธนาธรตั้งพรรคอนาคตใหม่แล้วเดินสู้กับการเมืองในระบบเก่า มีส่วนทำให้เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองมากขึ้น แม้วันนี้เขาจะเลือกอนาคตใหม่ เลือกก้าวไกลอีกมั้ย หรือเขาไม่เลือกแล้ว เขาว่าเราทำน้อยไป เขาไปไกลกว่าเราแล้ว อย่างน้อยที่สุดเราน่าจะเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เขาสนใจการเมือง และคิดว่าสำคัญกับชีวิตเขาด้วย ผมว่าเรื่องนี้ประสบความสำเร็จ

“กับอันที่สอง ผมพยายามพูดมาโดยตลอด ตั้งแต่ตั้งพรรค เราเชื่อว่าการเมืองคือความเป็นไปได้ ที่ผ่านมาการเมืองเป็นข้อจำกัด เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วก็ต้องจำกัดเท่าที่เขาให้เราเดิน แต่ผมพยายามทำให้สิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ ให้มันเป็นไปได้ เราอาจยังไม่ได้ทันที แต่อย่างน้อยมันมีแนวโน้ม เช่น การตั้งพรรคแบบนี้ขึ้นมา เอาคนใหม่ๆ มาลง มันก็เป็นไปได้ การอภิปรายในสภาโดยคนหน้าใหม่ๆ ก็เป็นไปได้ กระทั่งการโหวตไม่เอาพระราชกำหนดโอนกำลังพล ที่ผ่านมาไม่มีคนเชื่อว่าจะมีใครโหวต เอ้า ก็เป็นไปได้ ..หลังๆ เพื่อนพี่น้องผมในพรรคก้าวไกลอภิปรายเรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์ จากคนที่ไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ ก็เป็นไปได้ ภาพใหญ่คือพอเราเชื่อว่าสิ่งที่เป็นไปไม่ได้มันเป็นไปได้ มันเกิดความหวังขึ้นมา คิดว่าสองข้อนี้น่าสนใจ คือเป็นแรงกระตุ้นให้เยาวชนคนรุ่นใหม่สนใจการเมือง และสอง, คนมองว่าการเมืองคือความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลง”



27
ตามที่เป็นข่าวเมื่อวาน ปิยบุตร แสงกนกกุล ถูกฟ้องคดี 112

เขาเขียนแจ้งข่าวว่า–

“ผมนำเสนอความเห็นทางวิชาการ เขียน อภิปราย เกี่ยวกับประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์และเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ทั้งในระดับรัฐธรรมนูญและระดับพระราชบัญญัติมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ตั้งแต่สมัยยังเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนกระทั่งเข้าสู่แวดวงการเมือง ตลอดเวลามากกว่า 10 ปี จนถึงปัจจุบัน ไม่มีการแสดงความเห็น การเขียน การพูดของผมครั้งใดที่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างแน่นอน ผมแสดงความเห็นในเรื่องเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ก็ด้วยจิตสำนึกและเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย เพื่อรักษาประชาธิปไตยและรักษาสถาบันกษัตริย์ให้ดำรงอยู่รอดปลอดภัยภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปกำลังเผชิญกับความท้าทายของยุคสมัย”

28
“ไม่มีความเห็นใดของผมที่ต้องการเปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ ไม่มีความเห็นใดของผมที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มีแต่ความเห็นที่ปรารถนาดีต่อสังคมไทย ต้องการให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกคนทุกรุ่นทุกวัย ทุกความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ โดยยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ได้ต่อไป

“ตลอดชีวิตของผม ไม่เคยเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา จนกระทั่งเข้าสู่แวดวงการเมือง ก่อตั้งพรรคการเมือง ผมจึงได้เป็นผู้ต้องหาครั้งแรกในคดีดูหมิ่นศาล และความผิดอาญาทางคอมพิวเตอร์ และเป็นจำเลยครั้งแรกในคดีความผิดตาม พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะและความผิดฐาน ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นี่เป็นครั้งแรกที่ผมถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ กลายเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานนี้ ไม่ต้องคิดอย่างสลับซับซ้อนก็คงตอบได้ว่า สถานะผู้ต้องหาและจำเลยในคดีเหล่านี้ ผมได้มาก็เพราะสัมพันธ์กับบทบาททางการเมือง”

29
“บรรดา ‘นักร้อง’ Hyper Royalist /Ultra Royalist ฟ้องผมในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะต้องการหยุดไม่ให้ผมพูด แต่หยุดผมไม่ได้หรอกครับ ผมจะเดินหน้าแสดงความเห็นทางวิชาการ รณรงค์ข้อเสนอต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไป เพื่อพิสูจน์ว่าความเห็นและข้อเสนอแบบผมต่างหากที่จะช่วยรักษาสถาบันกษัตริย์ให้อยู่รอดปลอดภัยในยุคปัจจุบัน พฤติกรรมของพวกเขาต่างหากที่จะผลักดันสังคมไทยไปถึงทางตัน และไม่เป็นคุณต่อสถาบันกษัตริย์

“ผมจะไปพบคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนที่ สน. ดุสิต ในวันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน นี้ เวลา 10.00 น. –แล้วพบกันครับ”

30
‘เอาจนได้’ ผมคิดถึงข้อความพาดหัวข่าว

และคำบอกเล่าอันหนักแน่นของเขา “ผมต้องกลับมาพูดเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างจริงจัง”.

อ่านบทสัมภาษณ์เต็มที่ Nan Dialogue