วันอาทิตย์, มิถุนายน 19, 2565

เสียงจากทะลุแก๊ซ ที่มีมากกว่าเสียงพลุและเสียงเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์


We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง
13h

“มากกว่าเสียงพลุและเสียงเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ คือเสียงร้องไห้จากความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ผู้ชุมนุมม็อบดินแดงส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยเยาวชนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา แรงงานหาเช้ากินค่ำ คนตกงานและคนไร้บ้าน ทุกคนเป็นผลผลิตโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยว และได้รับผลกระทบจากการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์”
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทวิตเมื่อ 17 มิ.ย. 65 แจ้งว่า ตร.ดำเนินคดีผู้ชุมนุม #ทะลุแก๊ซ รวม 13 ราย ใน 4 คดี จาก 3 ชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา65 / #ม็อบ14มิถุนา65/ #ม็อบ15มิถุนา65 ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัว 11 ราย อ้างข้อหาร้ายแรง โทษสูง ใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะ
.
หากได้ประกันอาจหลบหนี โดยหนึ่งในนั้นเป็นเยาวชนอายุ 15 ปี
.
เราคุยกับ 2 เสียงจากทะลุแก๊ซ แน่นอนว่า นี่ไม่ใช่เสียงแทน ‘ทั้งหมด’ ของผู้ชุมนุม โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน และเป็นโพสต์ที่ยาว โปรดอ่านด้วยความอดกลั้น อย่างน้อยๆ ‘อาจ’ บอกได้ว่า พวกเขาต้องการอะไร
.
𝐏𝐚𝐫𝐭 𝟏: เสียงที่ 1
.
𝐐: ม็อบทะลุแก๊ซ มีแผนว่าจะชุมนุมไปถึงเมื่อไหร่ครับ
.
𝐀: ไม่มีแผนครับ มีแต่เป้าหมายว่าจะกดดันจนกว่ารัฐบาลประยุทธ์หมดอำนาจ ทั้งๆ ที่ก็รู้นะว่าแค่ประยุทธ์ออกคงไม่พอ เพราะมรดก คสช. ยังอยู่ และโครงสร้างสังคมไทยยังเละเทะแบบนี้ แต่ทำยังไงได้ล่ะ คนมันจะอดตายแล้ว ความหวังที่ดูเป็นไปได้ที่สุดในตอนนี้คือเปลี่ยนรัฐบาล
.
จริงๆ ถ้ายอมยุบสภาก็จบแล้ว แต่ถ้ายังเลือกฝืนอยู่จนครบวาระ พวกคุณก็อาจเหนื่อยหน่อยนะ อย่างน้อยก็ขอให้นอนหลับไม่สบายทุกๆ คืน เชื่อเถอะว่าพวกคนมีอำนาจต่อให้รำคาญใจการประท้วงรายวันมากแค่ไหน ก็ยังสบายกว่าประชาชนเยอะ สบายกว่าคนไร้บ้านที่นอนรอความตายริมถนน สบายกว่าเด็กที่หลุดระบบการศึกษามาทำงานเป็นแรงงานตั้งแต่วัยรุ่น
.
สบายกว่าไรเดอร์ที่ขี่รถฝ่าแดดฝ่าฝนเพื่อแลกกับค่ารอบไม่กี่บาท สบายกว่าคนตกงานที่ไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะเอาอะไรกิน สบายกว่าชาวไร่ชาวนาที่กังวลว่าจะหาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าหนี้สิน สบายกว่านักโทษทางการเมืองที่เฝ้ารอความหวังและอิสรภาพอยู่ในคุก
.
สบายกว่าคนแก่ที่ยังต้องแบกสังขารมานั่งขายขนมไทยข้างเซเว่น พวกมันเครียดก็นั่งรถหรูกลับบ้านหลังโต แดกอาหารราคาแพง ง่วงก็เปิดแอร์นอนแผ่ขาบนเตียง 6 ฟุต ไม่ได้เครียดแล้วกระโดดสะพานพระราม 9 แบบคนจนที่มืดแปดด้าน
.
𝐐: ข้อเสนอที่ให้ประยุทธ์ลาออกดูเหมือนเป็นไปได้ยาก คิดจะทำยังไงต่อ
.
𝐀: พวกเขาไม่ยอมออกหรอกครับ มองว่าการกดดันของประชาชน และนักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยไม่สามารถทำให้รัฐบาลเส้นใหญ่อย่างประยุทธ์จะลาออกได้ ยกเว้นแต่เทวดาจะสงสารคนไทยแล้วสาปให้พวกนี้เสียชีวิตกะทันหัน
.
เพราะประชาชนไม่มีอำนาจสเกลใหญ่หนุนหลัง ระบบที่สร้างปีศาจอย่างรัฐบาลเผด็จการนี่แหละที่ควรถูกทำลาย ประเทศอื่นยังเจอแค่กำแพงทหาร กำแพงนักการเมืองชั่ว แต่กำแพงของประเทศไทยมันซับซ้อนและมีหลายชั้นมากกว่าที่ตาสามารถมองเห็นได้
.
เช่น กำแพงไทยเฉย กำแพงสลิ่ม กำแพงข้าราชการ กำแพงนักการเมือง กำแพงเจ้าสัวนายทุน กำแพงอีลีท กำแพงตำรวจ กำแพงทหาร กำแพงศาล และกำแพงศักดินา เป็นต้น ในเมื่อเป้าหมายมันเป็นไปได้ยาก สิ่งที่ควรทำสุดคือพยายามลุกขึ้นสู้ต่อไป สู้ทุกแนวทางที่สามารถทำได้
.
ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนระบบไม่ได้ อย่างน้อยก็ได้เปลี่ยนความคิดของคนในสังคม และช่วยส่งเสียงให้โลกได้รับรู้ถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งมันจะนำมาสู่การแก้ไขและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป เพราะสำหรับพวกเราแล้ว การเปลี่ยนแปลงแค่เล็กน้อย มันก็คือการเปลี่ยนแปลง
.
𝐐: มีผู้คนจำนวนมากที่เข้าใจความซับซ้อนของผู้ชุมนุม ทะลุแก๊ซ แต่ก็กังวลว่าจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ทั้งจากมือที่ 3 ด้วย ตรงนี้จะจัดการอย่างไร
.
𝐀: เรื่องมือที่ 3 มันเป็นความเสี่ยงของทุกม็อบนะ ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบันก็หนีไม่พ้นกลลวงนี้ ดังนั้น วิธีรับมือไม่มีครับ เพราะแผนการต่างๆ เองยังไม่มี ใครที่บอกว่าม็อบมีเบื้องหลังและท่อน้ำเลี้ยงคือเพ้อเจ้อมาก มันออร์แกนิก เป็นไปตามสัญชาตญาณของผู้ต่อต้านและผู้ถูกกดขี่ล้วนๆ
.
สมมติว่าถ้าเจอเหตุการณ์มือที่ 3 วางระเบิดสถานที่ราชการ แล้วโยนว่าเป็นฝีมือของพวกทะลุแก๊ซ สังคมก็คงไม่ได้ตกใจอะไรมากมาย เพราะมีภาพลักษณ์ไปทางแนวผู้ก่อความไม่สงบอยู่แล้ว แต่ก็น่าจะถูกด่าและโดนสาปแช่งมากกว่าเดิม
.
แล้วยังไงต่อล่ะทีนี้ เจ้าหน้าที่รัฐก็แถลงการณ์ใหญ่โตว่าจับตัวผู้ก่อการร้ายได้ นายกฯ ด่ากราดออกสื่อ ฝ่ายสลิ่มก็คงปั่นกระแสเหตุการณ์นี้ยิ่งกว่าคดีฆ่าคนตาย สื่อประโคมข่าว 3 วัน 7 วัน สุดท้ายรัฐก็ออกกฎหมายควบคุมเด็ดขาดเพื่อปิดหูปิดตาประชาชน
.
คุ้นๆ ว่าเหตุการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นไหม ก็เสื้อแดงโมเดลไงครับ แต่มันจะทำแบบเดิมไม่ได้หรอก เพราะคนสมัยนี้ไม่ได้โง่เหมือนเมื่อก่อนที่รัฐจูงจมูกมาให้ล้างเลือดเสื้อแดงในกิจกรรม Big Cleaning Day ขนอุปกรณ์ทำความสะอาดมากันเพียบ
.
พอพูดถึงเรื่องนี้ก็แอบกลัวนะว่าถ้าวันหนึ่งมีการสลายชุมนุมอย่างรุนแรง แบบเอาทหารขนอาวุธสงครามลงมาปราบ มีสไนเปอร์จ่อยิงหัวบนตึก จะมีคนสมน้ำหน้าแล้วรอล้างเลือดพวกเราไหม
.
𝐐: อยากสื่อสารอะไรถึงสังคม
.
𝐀: มากกว่าเสียงพลุและเสียงเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์ คือเสียงร้องไห้จากความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ผู้ชุมนุมม็อบดินแดงส่วนใหญ่ประกอบด้วยเยาวชนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา แรงงานหาเช้ากินค่ำ คนตกงาน และคนไร้บ้าน
.
ทุกคนเป็นผลผลิตจากโครงสร้างสังคมที่บิดเบี้ยวและได้รับผลกระทบการบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐบาลประยุทธ์ ความโกรธแค้นมีตั้งแต่ระดับเบาคือเกลียดเผด็จการ เกลียดรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพ ระดับกลางคือได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้ยากจนกว่าเดิม ตกงาน มีหนี้สิน
.
และมีความโกรธแค้นในระดับสูงสุดเนื่องจากคนในครอบครัวเสียชีวิตจากพิษเศรษฐกิจและโรคระบาดโควิด ในการทำงาน ถ้าเราทำพลาดก็อาจถูกไล่ออกจากงานทันที แต่ทำไมรัฐบาลนี้ถึงมีสิทธิ์อยู่ต่อถึง 8 ปี ทำไมพวก กปปส.ที่เป่านกหวีดเรียกทหารมาอยู่ในสภาถึงได้เป็นรัฐมนตรีมีหน้ามีตาในสังคม
.
ในขณะที่ประชาชนต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบเอาชีวิตรอดในแต่ละวัน มันน่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอว่าทำไมม็อบที่ดินแดงจึงขับเคลื่อนด้วยพลังแค้น ยิ่งตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าต้านก็ยิ่งเดือด จนวันหนึ่งผู้ใหญ่มาเตือนว่า ระวังไร้อนาคตนะ แล้วทำไมต้องกลัวในเมื่อมันไม่มีอนาคตให้คาดหวังอยู่แล้ว ทุกวันนี้มีแต่ปัจจุบันที่จะรอดหรือไม่รอดแค่นั้น
.
𝐐: ในการชุมนุมอาจมีคนต่างจังหวัดรวมอยู่ด้วย อยากให้พูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ
.
𝐀: ผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดส่วนมากเป็นคนที่เข้ามาหางานทำในกรุงเทพฯ ซึ่งลำบากกว่าคนในพื้นที่จริง ๆ ซะอีก เพราะไหนจะต้องทำงานส่งเงินไปให้ครอบครัวใช้ จ่ายหนี้สิน ค่าเช่าห้อง ค่ากิน ค่าเดินทางสารพัด ต่อให้กรุงเทพฯ มีผู้ว่าที่เก่ง ดี มีความสามารถก็ไม่ทำให้ความยากจนในพื้นที่หมดไป
.
เพราะคนต่างจังหวัดก็ยังคงไหลมาหางานทำเรื่อยๆ เนื่องจากจังหวัดอื่นๆ มีอัตราการจ้างงานน้อย ค่าจ้างต่ำ มีความเหลื่อมล้ำสูง การคมนาคมก็ไม่สะดวกสบาย มันเป็นเรื่องของโครงสร้างสังคมที่ล้มเหลวทั้งประเทศ เหมือนร่างกายของมนุษย์ ต่อให้อวัยวะหนึ่งดี แต่อวัยวะอื่นพัง มันก็ไปต่อไม่ได้ ดังนั้น นอกจากรัฐสวัสดิการแล้ว การ ‘กระจายอำนาจ’ สู่ ‘ท้องถิ่น’ คือแนวทางการแก้ปัญหาเบื้องต้นที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมได้
.
เพราะเงินภาษีจะได้นำไปถูกใช้อย่างทั่วถึงมากกว่ารวมศูนย์ทุกอย่างอยู่ที่กรุงเทพฯ ประกอบกับการมีผู้ว่าฯ ที่เกิดจากการแข่งขันและมาจากการเลือกตั้งของคนในพื้นที่ จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการช่วยเหลือจากภาครัฐมากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นคนในภูมิลำเนา จึงเข้าใจปัญหา บริบท และความต้องการที่เหมาะสมกับพื้นที่
.
เหตุผลเหล่านี้ทำให้คิดว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศเป็นวิธีแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่น่าสนใจ และเป็นไปได้มากกว่าการกู้เงินมาแจกให้ประชาชน ซึ่งมันไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด
.
𝐏𝐚𝐫𝐭 𝟐: เสียงที่ 2
.
𝐐: ม็อบทะลุแก๊ซ มีแผนว่าจะชุมนุมไปถึงเมื่อไหร
.
𝐀: ถ้าหมายถึง ‘ทะลุแก๊ซ’ ผมไม่รู้เหมือนกันครับ เพราะไม่ได้มีอยู่แค่กลุ่มเดียว และเราก็เป็นเพียงอีกหนึ่งกลุ่มย่อยของทะลุแก๊ซ ถ้าถามแค่ของเรา อยากทำตอนไหนก็ทำครับแล้วแต่อารมณ์ อย่างม็อบทะลุโลงก็เป็นความร่วมมือจากมวลชนอิสระหลายๆ กลุ่ม
.
และอันที่จริงการต่อสู้ของเราก็ไม่ได้มีแค่การออกไปชุมนุม เป้าหมายมันคือการเปลี่ยนความคิดผู้คนและทำให้ผู้คนกล้าตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดในประเทศนี้ ทำไมมีม็อบ ทำไมมีคนต่อต้านรัฐบาล ทำไมมีคนโดน 112 เพราะทำโพลล์ ฯลฯ
.
𝐐: ข้อเสนอที่ให้ประยุทธ์ลาออกดูเหมือนเป็นไปได้ยาก คิดจะทำยังไงต่อ
.
𝐀: ผมมองว่ามันเป็นเรื่องที่ยากเสมอในการต่อสู้กับอะไรก็แล้วแต่ที่ถือครองอำนาจอยู่ และในความหมายที่ผมจะสื่อพวกเขาคือรัฐ ที่มีทั้งอำนาจและกำลังทางกายภาพ รวมถึงกำลังทางกฎหมาย แล้วยิ่งเขามองว่าผู้คนที่ตั้งคำถามกับเขาหรือต่อต้านนั้นคือปฏิปักษ์ คือสิ่งที่ต้องจัดการ
.
แน่นอนว่าเขาก็ต้องหาทางที่จะปราบปรามทั้งในแง่การใช้กำลังทางกายภาพ เช่น กองกำลังตำรวจ หรือการใช้วิธีทางการกฎหมายปราบปราม ซึ่งเราเรียกมันว่านิตินัยสงคราม ประเด็นการใช้กฎหมายสรุปได้ว่ามันคือความลำเอียงและไม่เที่ยงตรง ของกระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ ที่เลือกข้างและถูกผู้มีอำนาจใช้มันเพื่อหวังผลจะปราบปรามผู้ต่อต้านได้
.
หรือแม้แต่การตัดสินหลายคดีอย่างมีข้อกังขาจนทำให้สังคมตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม จนไม่เชื่อมั่นอีกต่อไป
.
และผมไม่ได้พูดถึงเฉพาะการเคลื่อนไหวแค่ในส่วนของม็อบแบบดินแดง ผมพูดถึงการต่อสู้อื่นๆ เช่น ที่โดนฟ้องด้วยมาตรา 112 เพราะเลือกที่จะออกมาตั้งคำถาม ทำโพลล์ แต่กลับต้องติดอยู่ในคุกไม่เห็นดาวไม่เห็นเดือนไม่เห็นตะวัน สิ่งเหล่านี้ไม่ปกติในสากลโลก
.
ดังนั้น มันก็ต้องมามองในภาพรวมว่าถ้าเป็นเช่นนี้การเคลื่อนไหวจะเป็นยังไงต่อ เพราะเราเป็นเพียงจิกซอว์ชิ้นเล็ก ๆ อีกชิ้นในการต่อสู้เท่านั้น เราไม่สู้ก็ยังมีคนอื่นสู้อยู่ดี ขบวนการแรงงาน ขบวนการเฟมินิสม์ ขบวนการกลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิที่พึงมี
.
สิ่งเหล่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในประเทศนี้ เราสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มอื่นๆ อยู่แล้ว มีการต่อสู้ที่หลากหลายรูปแบบให้คุณเลือกทำ ถ้าถามว่าเราจะทำยังไงต่อ ก็ทำแบบเดิมครับ เพราะเราก็ไม่เคยบอกด้วยว่าการต่อสู้ของเรามีเพียงการออกไปยิงพลุ เราอาจจะไปยืนหยุดขัง ไปช่วยตีแผ่ปัญหาคนจนเมือง คนไร้บ้าน ความเหลื่อมล้ำต่างๆ ที่ไม่ได้มีแค่คนดินแดงเผชิญ
.
สิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงและสู้กับมันจริงๆ คือ ‘ระบบที่สร้างคนแบบประยุทธ์ขึ้นมา’ มันคือประเด็นหลัก เราไม่ต้องการให้มีอิทธิพลอะไรเข้ามาแทรกแซงอำนาจประชาชนอีกแล้ว เราไม่ต้องการระแวงว่าทหารจะรัฐประหารตอนไหนอีก
.
ถ้ามีคนคิดว่าการชุมนุมของเราจะเป็นสาเหตุของการรัฐประหารครั้งใหม่ แปลว่าพวกเขาไม่เคยเห็นประเทศอื่นๆ ว่าเป็นยังไง เขาต่อสู้กันแบบไหน และประเทศที่จะมีการรัฐประหารเพราะกลุ่มผู้ชุมนุมออกไปยิงพลุใส่ตำรวจ ผมว่ามันตลก
.
𝐐: มีผู้คนจำนวนมากที่เข้าใจ ความซับซ้อนของผู้ชุมนุม ทะลุแก๊ซ แต่ก็กังวลว่าจะเกิดเหตุรุนแรงขึ้น ทั้งจากมือที่ 3 ด้วย ตรงนี้จะจัดการอย่างไร
.
𝐀: ต้องขอบคุณสำหรับคนที่พยายามทำความเข้าใจกับการเคลื่อนไหวแบบม็อบดินแดง และการจะตั้งคำถามหรือข้อสงสัยนั้นไม่ผิดครับ เรายินดีตอบ เพราะในการต่อสู้ผู้คนมีสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์ได้ แตะต้องได้ แต่มันต้องไม่ใช่การใส่ความหรือบิดเบือนข้อเท็จจริง
.
ถ้าถามถึงความรุนแรง ‘ส่วนใหญ่’ ว่าเริ่มต้นจากไหน หลักฐานมากมายจะพุ่งไปที่รัฐ แต่ผู้มีอำนาจกลับบอกว่าเจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ตอบโต้ป้องกันตัว เขาเคยเห็นจริงๆ หรือเปล่าว่าตอนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมันเป็นยังไง
.
ผมขอถามกลับว่าแล้วประชาชนมีสิทธิ์ตอบโต้หรือเปล่าถ้าเจ้าหน้าที่รุนแรงก่อนอย่างเกินเหตุจำเป็น ดังนั้นคำถามของปัญหาที่ว่าแล้วเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นจะจัดการยังไง คำตอบอยู่ที่รัฐครับ ไม่มีความรุนแรงก็ยากที่ผู้คนจะตอบโต้ มันก็แค่นี้เอง
.
หลายครั้งเราก็เห็นผู้ชุมนุมในนามทะลุแก๊สชุมนุมอย่างสงบมาแล้ว เพราะไม่มีเจ้าหน้าที่มาคุกคามรบกวน

จะเอาสันติวิธีแบบไหน แบบ ยีน ชาร์ป (นักวิชาการด้านสันติวิธี) หรือสันติวิธีแบบคนชายขอบ เราก็ทำมาหมดแล้ว แต่รัฐตอบสนองแตกต่างกันหรือเปล่า ไม่ครับ ก็ถ้าพวกเขาฟังข้อเรียกร้องของกลุ่มนักศึกษา เช่น กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ กลุ่มเยาวชนปลดแอก ฯลฯ แต่แรก จะไม่มีกลุ่มแบบทะลุแก๊ซเกิดขึ้นครับ
.
𝐐: อยากสื่อสารอะไรถึงสังคม
.
𝐀: ความเหลื่อมล้ำความอยุติธรรมแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของสังคมไทย อย่างเรื่องสิทธิแรงงานต่างๆ เพราะเราอยู่ในระบบทุนนิยมพวกพ้องที่กดขี่และเอาเปรียบ ทุกวันนี้ยกตัวอย่างการต่อสู้ของคนส่งอาหาร พวกเขาเป็นเพียงอีกส่วนย่อยของแรงงานจากทั้งหมดที่ออกมาสู้เรียกร้องสิ่งที่ควรได้
.
ถ้าคุณไปดูประวัติศาสตร์สแกนดิเนียเวีย เขาต่อสู้เรื่องพวกนี้ก่อนเรานานมากๆ จัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อมีอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ การยกระดับสิทธิแรงงาน เขาจะมีชื่อเรียกเลย ปกขาว-ปกน้ำเงิน ปกขาวคือพนักงานออฟฟิศ ปกน้ำเงินคือแรงงานในโรงงานอะไรแบบนี้
.
ขบวนการแรงงานก็เป็นอีกหนึ่งขบวนการต่อสู้ในไทย อย่างวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาซึ่ งเป็นวันแรงงานสากลโลก เราก็ได้ไปร่วม เพราะทะลุแก๊ซก็เป็นคนส่งอาหารเยอะแยะ มันมีความเชื่อมโยงกันอยู่ในทุกภาคส่วนการต่อสู้
.
ซึ่งเรามองว่าสังคมอย่างน้อยควรจะรับรู้ถึงต้นตอปัญหาที่ทำให้การประท้วงเกิดขึ้น ถ้าคุณเข้าใจการก่อตัวของทะลุแก๊ซ คุณอาจจะไม่ตั้งคำถามมากมายกับการเคลื่อนไหวเลยก็ได้ ผมว่าทุกขบวนการทุกกลุ่มเขามีเหตุผลของเขาทำไมถึงตั้งขึ้นมา แต่ที่แน่ๆ เรามีจุดยืนร่วมกันคือการต่อสู้กับระบบที่มันไม่ยุติธรรมต่อคนทั้งหมดทั้งมวล
.
แล้วก็อย่าลืมชาวเมียนมาครับ ตรงนี้ผมขอเสริมหน่อย การเรียกชาวเมียนมาหมายถึงเราเรียกรวมทั้งเขตพม่าและกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ด้วย ถ้าเรียกแค่พม่าก็หมายถึงแค่คนพม่า อย่างเรียกรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งชาวเมียนมาเขาก็กำลังสู้ในเรื่องที่ไม่ได้ต่างจากเราเลย ต่อสู้เพื่อปลดปล่อยตนเองจากอำนาจทหาร
.
ประเทศอยู่ติดเราขนาดนี้แต่ผู้คนโดนรัฐบาลทหารฆ่าตายทุกวันครับ เพียงเพราะเขาออกมาสู้เพื่อเสรีภาพ ลองย้อนไปดูเหตุการณ์ลุกฮือในพม่าก็ได้ เป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชน-นักศึกษา-พระ ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการทหาร
.
มันหมายถึงอะไรก็แล้วแต่ที่เกิดกับเขามันส่งผลต่อประเทศเราเช่นกัน แล้วก็อย่าลืมยูเครนครับ ปาเลสไตน์อีก จะบอกว่ามีอีกหลายที่ทั่วโลกที่กำลังมีสงคราม กำลังต่อสู้กับการกดขี่ มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอยู่ทั่วโลก ไม่ได้มีแค่คนไทยที่ทะลุแก๊ซครับ
.
𝐐: ในการชุมนุมอาจมีคนต่างจังหวัดรวมอยู่ด้วย อยากให้พูดถึงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ
.
𝐀: มีผู้ชุมนุมที่เป็นคนต่างจังหวัดครับ และปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศเราเป็น ‘รัฐอำนาจรวมศูนย์’ เมืองรองความเจริญห่างจากกรุงเทพฯ กี่เท่าตัว ทำไมคนต่างจังหวัดถึงแห่เข้าไปในเมืองกรุง เรื่องเล่านี้มีความเชื่อมโยงกับการผูกขาดอำนาจและความเจริญอยู่แล้ว
.
ซึ่งรากฐานพวกนี้ก็มีต้นตอมาจากรูปแบบการปกครองเมื่อสมัยก่อน ทำให้มีผู้คนมากมายที่ถูกตราหน้าว่าเป็นกบฎเพียงเพาะพวกเขาต่อต้านอิทธิพลของสยาม หรืออยากมีสิทธิในการจัดการดูแลตนเอง แต่ความคิดของพวกเขากลับถูกมองว่าเป็นการแข็งข้อต่อสยาม และแน่นอน ถูกปราบครับ
.
แนวคิดที่มองว่าประชาชนในจังหวัดอื่นไม่ควรแข็งข้อ ควรเชื่อฝั่งศูนย์กลางอำนาจ ก็ยังส่งต่อมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับผมประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ ดังนั้น จังหวัดอื่นก็ต้องมีสิทธิในการเลือกผู้นำของตนเองเหมือนกัน ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ
.
อย่างเรื่องระบบขนส่งสาธารณะ ผมไม่ได้บอกว่าทุกจังหวัดต้องมีรถไฟฟ้าบีทีเอสหรือเอ็มอาร์ทีเหมือนในกรุงเทพฯ แต่ทุกจังหวัดควรมีระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะกับประชากร เหมาะกับบริบทจังหวัดนั้นๆ
.
ถ้ามีการกระจายอำนาจและผู้คนมีสิทธิในการตัดสินใจมากขึ้นเองจริง เราจะได้เห็นสิ่งเหล่านี้ ความเจริญที่ถูกกระจายออกไป คือการเปลี่ยนแปลงที่ฝืนไม่ได้ เมื่อผู้คนเริ่มตื่นรู้และตระหนักว่าพวกเขาทำอะไรได้บ้าง แต่กลับกลายเป็นฝันร้ายของคนบางกลุ่ม ที่รู้ว่าตนจะไม่สามารถควบคุมทุกคนได้ดั่งใจนึกอีกต่อไปแล้ว
.
#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ
.
หากเห็นด้วย ชวนลงชื่อที่ Change.org/WeAllVoters เสียงทุกเสียงของท่านมีค่ายิ่ง หลังจากยื่น กมธ.กระจายอำนาจฯ ที่รัฐสภาไปแล้ว เราได้รับเชิญให้เข้าไปคุยข้อเรียกร้องของเราทุกคน
.
ใกล้เลือกตั้งใหญ่ เราจะนำไปยื่นแก่พรรคการเมืองเพื่อผลักเป็นนโยบาย ระหว่างนี้รอติดตามกิจกรรมจากเรา นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสังคมการเมือง เพื่อสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป
.
ขอให้ถึง 50,000 รายชื่อ
.
ขอบคุณภาพจาก LIVE REAL