ทะลุแก๊ซ - Thalugaz
13h
เป็นบทสัมภาษณ์ที่เข้าใจบริบทของผู้ชุมนุมม็อบดินแดงดีมาก อยากให้อ่านครับ
We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง
18h
"ความวุ่นวายเกินไปไม่ใช่สันติวิธี กลับกลายเป็นการนิยามที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน มากกว่าที่จะส่งเสริมบทบาทของประชาชนในทางการเมือง"
.
คุยกับ 'คุณณรรธราวุธ เมืองสุข' สื่อมวลชนอิสระ และผู้ประสานงานสมาพันธ์สื่อไทยเพื่อประชาธิปไตย (DemAll) ถึงนิยามของคำว่า 'สันติวิธี' ในยุคสมัยที่ชนชั้นนำพยายามเหนี่ยวรั้งความเปลี่ยนแปลง
.
𝐐: มีคนบอกว่า ม็อบที่ใช้ชื่อว่า 'ทะลุแก๊ส' สร้างความวุ่นวายเกินไป ตรงนี้มองอย่างไรครับ
.
𝐀: ต้องตั้งคำถามกลับว่า คนที่มองเห็นความวุ่นวาย กำลังมองจากมุมไหน สถานะของคุณต่อโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม คืออะไร แน่นอนว่าหากกินดีอยู่ดี คงมองเห็นความวุ่นวาย เพราะคนที่ปากท้องอิ่มจะไม่ชอบภาวะความโกลาหลนัก
.
แต่กับคนที่อยู่ในอีกมิติของสังคม ต้องปากกัดตีนถีบ ดิ้นรนทำมาหากิน แล้วต่อสู้มาตั้งนานในข้อเรียกร้องเดียวคือให้ผู้นำรัฐบาลลาออก แต่ไม่สำเร็จเสียที เขาอาจมองว่าสิ่งที่คนกรุงเทพฯ เผชิญความรุนแรงจากม็อบ อาจน้อยไปสำหรับการมีรัฐบาลเช่นนี้ด้วยซ้ำ
.
ผมอยากให้ทำความเข้าใจตัวตนและสถานะของม็อบทะลุแก๊ส เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจ เพราะกลุ่มนี้หากในห้วงเวลาปกติ คือเด็กแว้น เด็กเสเพล พื้นฐานเด็กช่าง รวมถึงเด็กที่เรียนไม่จบในระบบการศึกษา ที่คนชั้นกลางมองอย่างรำคาญมานานแล้ว
.
เหตุผลที่พวกเขาออกมาแสดงออกมันถูกผลักดันจากปัญหาสำคัญคือเศรษฐกิจ เท่าที่ผมสัมผัส เปอร์เซ็นต์ส่วนใหญ่ของเด็กรุ่นนี้คือพวกพึ่งพาตนเองตั้งแต่อายุยังน้อย เช่น ทำงานพิเศษหาเงินเรียนเอง เป็นไรเดอร์บ้าง วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างบ้าง
.
คนพวกนี้ไม่ได้เชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยในแง่อุดมคติ ไม่สนใจซ้ายหรือขวา ไม่รู้จัก จิตร ภูมิศักดิ์ นอกเหนือไปจากเพลง
.
การแสดงออกทางการเมืองผ่านการประท้วงคือสิ่งที่พวกเขาพบว่ามันสามารถสำแดงตัวตนได้ดีกว่าการแว้นรถที่สนุกกันเองในหมู่เพื่อนฝูง การประท้วงทำให้สื่อสนใจ สังคมสนใจ แล้วพวกเขาเองก็สื่อสารกับสังคมหลายครั้งแล้วว่า
.
เขาได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล และต้องการให้รัฐบาลลาออก
.
พวกขี้รำคาญจะบอกว่าเอาอีกแล้ว เขาต้องการอะไรกันแน่? ทั้งที่ถ้าดูพลวัตรการแก้ปัญหา รัฐไม่ได้แสดงถึงการรับฟังแล้วสร้างกระบวนการแก้ปัญหาใดๆ แต่ใช้ความรุนแรงปราบปรามอย่างเดียว
.
เราจะเห็นตำรวจไล่ฟาด กระโดดถีบรถแล้วเหยียบหัว ใช้กระสุนยางเล็งหัวเลย นี่คือสิ่งที่พวกเขาเผชิญและกลายเป็นแรงผลักให้ออกมาทำเช่นเดิมซ้ำๆ
.
เพราะข้อเรียกร้องไม่เคยถูกรับฟัง และรัฐพยายามถีบให้เขากลับไปอยู่ในซอกหลืบไร้ค่าในสังคมเหมือนเดิม
.
𝐐: คุณเป็นสื่อมวลชน ม็อบทะลุแก๊ส เลยจุดที่เรียกว่าสันติวิธีไปหรือยัง
.
𝐀: ดอกไม้ไฟ ประทัด มันได้สร้างผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปหรือไม่ ถ้าเราลงไปคุยกับคนที่อยู่ในชุมชนแถวนั้น ถามว่าเขามองยังไง เทียบกับกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา ชาวบ้านเขาเกลียดอย่างหลังมากกว่านะ หรือที่ตำรวจใช้กระบองไล่ฟาด หรือความรุนแรงแบบมือที่ 3 สร้างสถานการณ์ ใช้อาวุธจริงมายิงผู้ชุมนุม อันนี้คือความรุนแรงยิ่งกว่า
.
ก่อนจะมองว่า ดอกไม้ไฟ ประทัด เป็นสันติวิธีหรือไม่ เราต้องถามว่า ในขณะนี้สังคมไทยเหลืออะไรที่เป็นสันติวิธีที่ฝ่ายรัฐยอมรับได้บ้าง ที่ผ่านมา พวกเครื่องขยายเสียง รถแห่ ป้ายผ้า ทุกอย่างผิดหมด ถูกดำเนินคดีหมด ไปรวมตัวนั่งกันเงียบๆ แล้วรัฐรับฟังและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ไหม ก็ไม่เคยเลย
.
มันจึงต้องหาอุปกรณ์เครื่องมือมาใช้ แต่ทะลุแก๊สไม่ใช่ม็อบที่มีแกนนำ ไม่มีนักไฮด์ปาร์ก แล้วเขาสื่อสารกันยังไง ก็ผ่านอุปกรณ์ที่เขามองว่าเบาที่สุดแล้ว และตรงกับธรรมชาติตัวเองคือ ดอกไม้ไฟ ประทัด ในมุมของรัฐพวกนี้คือสิ่งที่ต้องควบคุมเหมือนอาวุธ แต่ในมุมของวัยรุ่นเขามองว่าไม่ใช่อาวุธ เพราะอยู่ในมือพวกเขาต่างหากเลยถูกมองว่าเป็นอาวุธ
.
พวกนายทุน ชนชั้นกลางจุดกันโครมครามทุกเทศกาลไม่เป็นไร อันนี้ผมเคยลงไปคุยกับพวกเขาเองนะ เขาเลยเอาออกมาใช้กัน ถามว่าเจ้าหน้าที่บาดเจ็บไม่เรียกว่าสันติวิธีใช่หรือไม่ ต้องถามกลับว่า เจ้าหน้าที่ผู้บาดเจ็บเข้าไปทำไม คือเข้าไปปราบนะครับ
.
มีแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ไม้กระบอง คือจะเข้าไปล้อมไล่ฟาด ถ้าเรามองว่าทุกอย่างที่เห็นคือไม่สันติวิธี ตู้คอนเทนเนอร์ของรัฐก็ต้องอยู่ในนิยามที่ไม่สันติวิธีเช่นกัน เพราะในเชิงสัญลักษณ์มันคือเครื่องมือในการจำกัดเสรีภาพ กระทบกับคนทั่วไปมากกว่าม็อบอีก
.
𝐐: มีนักวิชาการหรือนักกิจกรรมทางสังคมออกมาบอกว่า เราคงต้องนิยามคำว่าสันติวิธีกันใหม่ คิดเห็นอย่างไรครับ
.
𝐀: ผมเห็นด้วยว่าต้องนิยามกันใหม่ เพราะที่มันไหลอยู่ในกระแสหลักแต่เดิมก็เป็นนิยามสันติวิธีที่มองจากชนชั้นกลางค่อนบน คือความวุ่นวายเกินไปไม่ใช่สันติวิธี กลับกลายเป็นการนิยามที่จำกัดเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน มากกว่าที่จะส่งเสริมบทบาทของประชาชนในทางการเมือง
.
นิยามสันติวิธีที่เราใช้กันอยู่พูดตรงๆ คือเข้าทางตีนรัฐหมด เพราะคำพวกนี้สายม็อบจะได้ยินจากหน่วยเจรจาของตำรวจที่มายืนพูดกล่อมให้ประชาชนกลับบ้าน โดยอ้างว่าการชุมนุมวันนี้ขัดต่อหลักกฎหมายเยอะแยะไปหมด
.
ฉะนั้น ในมุมของรัฐอะไรที่ขัดกับกฎหมาย มันไม่ใช่สันติวิธีทั้งหมด แต่การชุมนุมโดยอิงความหมายสันติวิธีตรงๆ มันโคตรจะไร้พลัง ไม่มีทางที่รัฐไทยจะรับฟังพวกเขา
.
ผมยกตัวอย่างที่ชายแดนใต้ เขาจับอาวุธต่อสู้มาหนักหน่วงหลังปี 2547 ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่สันติวิธีแน่ๆ เพราะใช้กองกำลังติดอาวุธ แต่ปี 2550 นักศึกษาและประชาชนรวมตัวกันชุมนุมที่มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำต่อประชาชนมลายูในพื้นที่เป็นเวลากว่า 5 วัน
.
สุดท้าย รัฐแสดงท่าทีว่ารับฟัง มีการรับข้อเรียกร้องไปพิจารณา ตั้งกรรมการโน่นนี่นั่นเหมือนจะดี แต่สุดท้ายคืออะไร คือหายเข้าสายลม แกนนำนักศึกษารุ่นนั้นถูกตีเข้าแบล็คลิสต์เป็นพวกสนับสนุนแบ่งแยกดินแดนหมด ถูกติดตาม ตรวจค้น ถูกไอโอของรัฐป้ายสีให้เป็นโจร แย่ลงกว่าเดิมด้วยซ้ำ
.
ถามว่าท่าทีการชุมนุมแบบนี้รัฐชอบไหม ชอบ ควบคุมง่าย แต่สิ่งที่รัฐจะทำต่อไปคือ กดไม่ให้ส่งเสียงออกมาเลย ฉะนั้น จะนิยามสันติวิธียังไงก็ได้แต่อย่าลดทอนพลังของประชาชน
.
𝐐: ในฐานะสื่อมวลชน ถ้าต้องนำเสนอเรื่องราวนี้ จะนำเสนอด้วยท่าทีแบบไหน
.
𝐀: คุณต้องเข้าใจว่า ไม่ว่ารัฐหรือชนชั้นกลางค่อนบน จะเข้าใจบทบาทของสื่อมวลชนคล้ายกัน คือเหมือนเป็นผู้ช่วยพนักงาน สื่อต้องช่วยรัฐประชาสัมพันธ์ หรือนำเสนอสิ่งดีๆ ออกไป
.
ฉะนั้น ไอ้คำว่านำเสนอสิ่งดีๆ ออกไป ย่อมไม่สามารถนำเสนอข่าวม็อบทะลุแก๊สที่ดินแดงได้อย่างแน่นอน เพราะมันเป็นภาพอุจาดของรัฐและชนชั้นกลางค่อนบนผู้รากมากดีทั้งหลาย
.
จะให้รายงานว่าคนพวกนี้เป็นลูกหลานคนจนเมืองออกมาประท้วงเพราะการบริหารเศรษฐกิจล้มเหลว คนพวกนี้ก็ไม่ยอมรับว่าพวกทะลุแก๊สรู้ดีกว่าตนเองหรอก
.
ลูกคนจนจะไปรู้อะไรมาก มันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกโว้ย แล้วภาพอย่างใช้ดอกไม้ไฟ พลุแฟลร์ ประทัด มันเป็นภาพที่ดูกระด้างกระเดื่อง หัวขบถ ทำนองนั้น
.
จริงๆ ที่ดินแดงการทำงานของสื่อไม่ง่าย นอกจากเรื่องภาพต่างๆ ที่รัฐอ่อนไหวมากอย่างที่พูด อีกส่วนคือมันมีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันฯ อยู่ด้วย ก็เป็นเสียงที่รัฐไม่อยากให้พูดถึงและไม่อยากได้ยิน แม้ว่าข้อเรียกร้องนี้จะน้อยมากนะที่ดินแดง
.
คือมีบางเฉดเท่านั้นเองที่พูดข้อเรียกร้องนี้ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ส่วนใหญ่จะจำกัดที่รัฐบาล แล้วออฟฟิศสื่อหลายองค์กรไม่อยากให้พูดเรื่องข้อเสนอปฏิรูปสถาบันฯ
.
อีกส่วนคือ การกันสื่อออกเพื่อไม่อยากให้เห็นความรุนแรงในการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งแอคชั่นแบบนี้พูดตรงๆ คือช่างภาพข่าวจะชอบ มันมีอะไรให้ถ่าย แต่มักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกันสื่อออก จนถึงขั้นทำร้ายสื่อก็มี
.
อ้างว่ายิงกระสุนยางผิดพลาด โยนแก๊สน้ำตาใส่บ้าง จนถึงล่าสุดคือมาอ้างเรื่องบัตรสื่อ เข้าไปจำกัดไม่ให้ไลฟ์สด คือไม่ง่ายเลย
.
ฉะนั้น ถ้าถามว่า สื่อมวลชนควรนำเสนอด้วยท่าทีแบบไหน ก็ต้องบอกว่า ด้วยท่าทีของสื่อมวลชนที่อิงข้อเท็จจริงรอบด้าน อย่างน้อยต้องให้สังคมเข้าใจว่ากลุ่มพวกนี้คือประชาชน ไม่ใช่แกงสเตอร์เหมือนที่เคยรายงานกัน ไม่ควร Romanticize ผู้ชุมนุม คือเวลาคนมารวมตัวกันมันมีทั้งสิ่งที่ต้องรับฟังและการแสดงออกที่ผิดพลาดบ้างเป็นเรื่องปกติ
.
นำเสนอข้อเท็จจริงตรงไปตรงมาให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์กันได้ แต่ไม่ควรสร้างภาพให้เขาเลวร้ายเกินกว่าวัยรุ่นที่ออกมาแสดงพลังทางการเมือง เพราะการสร้างภาพที่เลวร้ายคือการออกใบอนุญาตให้รัฐใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุม แล้วมันจะส่งผลต่อพลังของประชาชนในอนาคต
.
ไม่ควรแสดงท่าทีรำคาญหรือเรียกร้องในเชิงลดทอนการต่อสู้ ทั้งหมดมันต้องย้อนกลับไปพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐสร้างกระบวนการรับฟังแต่แรก ผมไม่คิดว่าสถานการณ์มันจะมาถึงขั้นนี้
.
𝐐: ม็อบทะลุแก๊สบอกว่าพวกเขาเป็น 'คนชายขอบ' ของกรุงเทพฯ ตรงนี้มองอย่างไรครับ
.
𝐀: มันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องรับฟัง ทะลุแก๊สมีผู้ชุมนุม 2 ส่วนหลักๆ คือลูกหลานคนจนเมืองที่แทรกอยู่ตามซอกซอยตึกใหญ่ๆ ในใจกลางเมือง ทั้งย่านดินแดง อนุสาวรีย์ ห้วยขวาง พระราม 9 เพชรบุรี ฯลฯ อยู่บ้านเช่า หรือบ้านตนเองตามชุมชนแออัดริมคลองเน่าๆ ผมเคยติดตามเข้าไปสัมภาษณ์ บ้างก็อยู่แฟลต
.
กับอีกส่วนคืออยู่ชายขอบจริงๆ คือชุมชนตามเขตรอบนอกกรุงเทพฯ หนอกจอก มีนบุรี อีกฝั่งหนึ่งมาจากบางแค บางบอน หลายเขตในฝั่งธน คำว่าชายขอบในที่นี้ คือเป็นกลุ่มที่ถูกหลงลืมไปในการพัฒนา ปัญหาใหญ่สุดของคนพวกนี้คือเศรษฐกิจ เขาไม่ได้งอมืองอเท้านะ หลายคนทำงานตั้งแต่อายุ 14-15 ปี ออกจากการศึกษาในระบบ
.
เป็นพนักงานพาร์ทไทม์เพราะอายุไม่ถึง เป็นไรเดอร์ คนขับวิน เป็นเด็กรถคอกช่วยขึ้น-ลงสินค้า ถ้าตามกฎหมายแรงงานมันผิด แต่ทำไงได้ เขาไม่มีทางเลือก
.
เวลาเกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือนโยบายกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทันที ตกงาน ไม่มีข้าวสารกรอกหม้อ คิดดูว่ากรุงเทพฯ มีประชากรแท้กับประชากรแฝงเท่าไหร่ คนกลุ่มนี้เป็นชนชั้นที่ใหญ่มาก เขาก็แย่งงานกันไม่ไหว แล้วเสียงของคนกลุ่มนี้ไม่เคยถูกรับฟังเลย พอเขาแสดงพลังทางการเมือง สังคมไทยก็ทำตัวไม่ถูก
.
เพราะที่ผ่านมาเราชินแต่การประณามเวลาเห็นพวกเขาแว้น เห็นรถคอกควันดำ ทั้งที่จริงๆ นี่คือเสียงที่สร้างสรรค์ แต่เพราะไปไล่พลเอกประยุทธ์ พวกเขาเลยโดนตู้คอนเทนเนอร์กีดกันให้กลับไปเป็นเสียงไร้ค่าในสายตาของรัฐต่อไป
.
𝐐: การที่เรามีคุณชัชชาติเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพคนใหม่ ดูเหมือนมีความหวังใหม่ๆ เกิดขึ้น คิดว่าจะช่วยบรรเทาความทุกข์ของกลุ่มทะลุแก๊สได้บ้างไหม
.
𝐀: ว่ากันตรงๆ อำนาจของผู้ว่า กทม.มันจำกัดมากในแง่การชุมนุมเรียกร้อง เพราะมันเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับอำนาจของรัฐบาลโดยตรง ประชาชนแค่ใช้พื้นที่ของกรุงเทพฯ ส่งเสียงถึงรัฐบาล แล้วเรื่องที่เรียกร้องหลักเลยคือให้พลเอกประยุทธ์ลาออก ทุกข์ของเขาคือรัฐบาล ตรงนี้ไม่เกี่ยวกับชัชชาติแน่ๆ
.
แต่ผมก็ไม่ได้อยากเห็นผู้ว่าฯ กทม.มีบทบาทแค่ส่งคนงานมาฉีดล้างเก็บกวาดร่องรอยการชุมนุมและช่วยทางตำรวจหรือรัฐบาลในการปิดถนนหรือสถานที่บางแห่ง เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หรือแยกดินแดง เหมือนที่ผู้ว่าฯ คนเก่าเคยทำมา
.
ผมเชื่อว่าคุณชัชชาติฉลาดและมีทางออกให้ม็อบมากกว่าการอำนวยความสะดวกให้ม็อบตรงๆ จนถูกโจมตีว่าหนุนหลังม็อบ แต่ผมคิดว่าในแง่ผู้ว่าฯ อาจช่วยแก้ปัญหาบางส่วนที่ทำได้เลย
.
เช่น ยกระดับคุณภาพชีวิตคนจนเมือง การสร้างชุมชนน่าอยู่ ในทางเศรษฐกิจ อาจส่งเสริมการจ้างงานสร้างรายได้เท่าที่กรุงเทพมหานครทำได้
.
ด้านการศึกษาก็ต้องเข้าไปดูเด็กที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกนอกระบบ ตรงนี้กรุงเทพมหานครทำได้ ถามว่าบรรเทาทุกข์ได้ไหม ผมว่าคุณชัชชาติมีทางออกแน่ๆ
.
อย่างน้อยๆ ผมเชื่อว่าเราจะเห็นภาพเขาลงมาคุยกับทางผู้ชุมนุมแน่นอน แต่ก็อย่างที่บอก เขาเรียกร้องกับรัฐบาลไม่ใช่ผู้ว่าฯ ตรงนี้เราจะปัดความรับผิดชอบของรัฐบาลโดยตรงไมได้หรอก
.
#เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ
.
หากเห็นด้วย ชวนลงชื่อที่ Change.org/WeAllVoters เสียงทุกเสียงของท่านมีค่ายิ่ง หลังจากยื่น กมธ.กระจายอำนาจที่รัฐสภาไปแล้ว เราได้รับเชิญให้เข้าไปคุยข้อเรียกร้องของเราทุกคน
.
ใกล้เลือกตั้งใหญ่ เราจะนำไปยื่นแก่พรรคการเมืองเพื่อผลักเป็นนโยบาย ระหว่างนี้รอติดตามกิจกรรมจากเรา นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปสังคมการเมือง เพื่อสู่กระบวนการอื่นๆ ต่อไป
.
ขอให้ถึง 50,000 รายชื่อ
.
ขอบคุณภาพประกอบจาก mgronline.com