การที่ ‘เนติบัณฑิตยสภาแห่งทวีปยุโรป’ และองค์กร ‘ทนายเพื่อทนาย’ ซึ่งเป็นองค์กรกฎหมายนานาชาติทั้งคู่ มีหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๑๐ แสดงความกังวลต่อกระบวนการสอบสวนข้อกล่าวหาว่า ทนายอานนท์ นำภา ‘ผิดมารยาท’ สภาทนายนั้น
มีนัยยะสำคัญต่อการบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกษัตริย์ไทย อย่างเกินขอบข่ายของหลักนิติรัฐ/นิติธรรม ซึ่งกลับมาโหมกระหน่ำต่อฝ่ายที่มีความคิดเห็นต่อระบบการเมืองปกครองในทางก้าวหน้า จึงเรียกร้องให้ทำการปรับเปลี่ยนปฏิรูป
ข้อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กองทัพ ศาล และทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปในทางเดียวกัน จากปิยบุตร แสงกนกกุล นักกฎหมายมหาชนและเลขาธิการคณะก้าวหน้า กับอานนท์ ทำให้ทั้งสองโดนแจ้งข้อหา ม.๑๑๒ อย่างสุกเอาเผากิน ไม่บังควร
ในกรณีของปิยบุตร ข้อกล่าวหา ๘ ประการจากนายเทพมนตรี ลิมปพยอม มีเพียงประเด็นเดียวที่ทางตำรวจเห็นว่า ‘อาจ’ เข้าข่ายการกระทำความผิด ส่วนการขยายผลข้อกล่าวหาอานนท์ โดยนายอภิวัฒน์ ขันทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ก็ถูกองค์กรสากลทักท้วง
คำร้องให้สภาทนายฯ สอบสวนกรณีอานนท์ปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ ๓ สิงหา ๖๓ ในการชุมนุม ม็อบแฮรี่พ็อตเตอร์ จะนำไปสู่การลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่งในสามแบบ อันเป็นผลให้มีการยับยั้งหรือกระทั่ง ‘ลบชื่อออก’ จากการประกอบอาชีพทนายของอานนท์
องค์กรทนายสากลทั้งสองเห็นว่านี่เป็นการนำกฎหมายปกป้องกษัตริย์มาทำร้าย ทำลายกันทางการเมืองโดยผู้ครองอำนาจต่อฝ่ายที่เห็นต่าง แย้ง หรืออยู่ตรงข้ามเท่านั้น จึงได้ทำหนังสือถึงผู้อยู่ในขอบข่ายจะได้รับความเสียหาย แต่ไม่ได้เสียหาย
เพื่อขอความกรุณาโปรดเกล้าฯ และได้ตระหนักว่าการนิ่งเฉยปล่อยให้กระบวนการบิดเบี้ยวกฎหมายซึ่งมีไว้สำหรับพระองค์ กลับกลายเป็นลิ่มทิ่มแทงสถานะทศพิธราชธรรมของพระองค์เองโดยใช่เหตุ โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกกล่าวหาได้แก้ต่างแล้วทุกข้อ
ที่สำคัญในคดีของอานนท์ ซึ่งอภิวัฒน์ยกเอาเนื้อถ้อยคำปราศรัยของเขาบางตอนมาใช้เป็นหลักฐานปรักปรำ เช่นประเด็นกษัตริย์รับสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น เป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ไว้
หลังจากที่ประยุทธ์รับว่า พระเจ้าอยู่หัวรับสั่ง “มีบทบัญญัติ ๓-๔ รายการ ที่จําเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอํานาจของพระองค์” แล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า “ขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ ไปแล้ว กลับมาปรับปรุงบางมาตราตามที่มีการแจ้งมา”
เฉกเช่นกรณีของปิยบุตร ซึ่งข้อหาที่ ๖ ระบุข้อความทวิตเตอร์ “สภาพสังคมปัจจุบันนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะอยู่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงได้อย่างสันติ” เป็นการให้เหตุผลทางวิชาการที่ ‘วิญญูชน’ ย่อมไม่เห็นเป็นความผิด ม.๑๑๒
ฉะนั้นทั้งเทพมนตรีและอภิวัฒน์จึงเป็นเพียงองคาพยพทางการเมืองของผู้ครองอำนาจ เบียดบังเอากฎหมายอันมีไว้เสริมเดชานุภาพ (หรือศักดิ์ศรี) กษัตริย์ มาเป็นเครื่องมือทำลายผู้ที่ตนไม่เห็นด้วย โดยไม่คำนึงว่าจะก่อผลกระทบให้แปดเปื้อนองค์กษัตริย์ไปด้วย
(https://facebook.com/story.php?story_fbid=642113540608041&id=100044282026811, https://tlhr2014.com/archives/44407 และ https://tlhr2014.com/archives/45032)