วันอาทิตย์, มิถุนายน 19, 2565

4 ลูกสาว..บนเส้นทางการเมือง 'เบนาซีร์ บุตโต' 'อ่องซาน ซูจี' 'นุรูล อิซซาห์ อันวาร์' ได้พิสูจน์ความสามารถของเธอแล้ว 'แพทองธาร ชินวัตร' กำลังรอการพิสูจน์


Subhatra Bhumiprabhas
Yesterday

ลูกสาวของพ่อ..บนเส้นทางการเมือง
ดิฉันสนใจเรื่องผู้หญิงบนเส้นทางการเมืองมานานแล้ว เคยเขียนไว้บ้างแล้วด้วย ตอนนี้เมื่ออ่านเรื่องของเบนาซีร์ บุตโต ทำให้อยากเขียนภาคต่อ และคิดว่าจะเขียนแน่ๆ ค่ะเมื่อหาเวลาได้
โพสต์นี้อยากนำเสนอภาพของลูกสาวสี่คนบนเส้นทางการเมืองของพ่อไว้ก่อนนะคะ ผู้หญิงทั้งสี่คนนี้เป็นลูกสาวของพ่อที่ได้รับความนิยมท่วมท้นจากประชาชน และถูกกำจัดออกจากการเมืองด้วยวิธีแตกต่างกันไป แต่พลันที่พวกเธอประกาศตัวเข้าสู่การเมือง ประชาชนที่นิยมบิดาของพวกเธอก็อ้าแขนโอบรับอย่างอบอุ่น นำพวกเธอสู่ชัยชนะบนเส้นทางการเมืองตามรอยบิดา
สองคนแรกคืออดีตนายกรัฐมนตรีเบนาซีร์ บุตโตแห่งปากีสถาน และด่อ อ่องซาน ซูจีแห่งพม่า กลายเป็นตำนานผู้นำหญิงไปแล้ว ส่วนสองคนหลังที่ดิฉันสนใจและนำมากล่าวไว้ในที่นี้ คือ
• นุรูล อิซซาห์ อันวาร์ บุตรสาวของอดีตรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราอิมแห่งมาเลเซียที่ภายหลังมีความขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด เขาก็ถูกกล่าวหาว่ามีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนขับรถและถูกจับเข้าคุก ถูกดำเนินคดี ชะตากรรมของพ่อนำพาลูกสาวออกมาต่อสู้บนเส้นทางการเมือง ปัจจุบันนุรูลเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นรองประธานพรรค People’s Justice Party ซึ่งมีมารดาของเธอเป็นประธานพรรค
• แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ถูกรัฐประหาร และอาของเธอคืออดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ถูกรัฐประหารด้วย แพทองธารเพิ่งเปิดตัวในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย และกลายเป็นจุดสนใจสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปีหน้า
NOTE:
• เบนาซีร์ บุตโต เข้าสู่การเมืองในปี 1977 เมื่ออายุ 24 ปี หลังบิดาถูกรัฐประหารและถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ
• อ่องซาน ซูจี เข้าสู่การเมืองในปี 1988 เมื่ออายุ 43 ปี หลังเกิดเหตุการณ์ 8888 ที่เผด็จการทหารปราบปรามนักศึกษาประชาชน เธอร่วมกับมิตรสหายเก่าของนายพลอ่องซาน บิดาของเธอ ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดีสู้กับเผด็จการทหารพม่า
• นุรูล อิซซาห์ อันวาร์ เข้าสู่การเมืองเมื่ออายุ 19 ปี มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งพรรค People’s Justice Party ในปี 1999 หลังบิดาถูกจองจำ
• แพทองธาร ชินวัตร วัย 35 ปีเพิ่งประกาศตัวเข้าสู่การเมืองในฐานะ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย”

Nithinand Yorsaengrat
13h
การเป็นลูกสาวของ "พ่อ" ผู้ถูกเครือข่ายอำนาจอีกฟากฝั่งกำจัดออกจากการเมืองอย่างอยุติธรรมแต่ยังคงได้รับความรัก ความศรัทธา และความเชื่อถือจากประชาชนจำนวนมาก ไม่ควรเป็นเงื่อนไขกีดกันผู้เป็นลูกสาวจากเส้นทางการเมือง โดยเฉพาะเมื่อผู้เป็นลูกสาวไม่ได้ "สืบทอด" ตำแหน่งของพ่อด้วยนามสกุล แต่พิสูจน์ตัวเองด้วยการกระทำให้ผู้คนในสังคมเห็นและยอมรับว่า เธอคือผู้หญิงที่มีความสามารถโดดเด่น มิใช่ "เสาไฟฟ้า" ไร้สมอง