The Momentum
16h
‘สิตานัน’ ถูกปฏิเสธการเข้าพบทูตกัมพูชา
หลังถามถึงความคืบหน้า ‘บังคับสูญหายวันเฉลิม’
ที่ใช้เวลาล่วงเลยไปแล้ว 2 ปี
.
วันนี้ (2 มิถุนายน 2565) เวลา 10.00 น. ‘เจน’ - สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของ ‘ต้า’ - วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักพัฒนาเยาวชนและนักกิจกรรมทางการเมืองผู้เรียกร้องประชาธิปไตย เดินทางไปยังสถานทูตกัมพูชา ถนนประชาอุทิศ 4 พร้อมกับกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน เพื่อยื่นหนังสือขอเข้าพบเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ถามถึงความคืบหน้าเรื่องการสอบสวนคดีการหายตัวไปของวันเฉลิม ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2563
.
เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาดูแลความสงบเรียบร้อยชี้แจงต่อสิตานันและผู้ชุมนุมว่า ได้รับหนังสือสอบถามความคืบหน้าการอุ้มหายวันเฉลิมที่แฟกซ์ถึงสถานทูตกัมพูชาเรียบร้อยแล้ว แต่หน่วยงานไม่สามารถรับข้อเรียกร้องตามที่กล่าวอ้างได้ เนื่องจากเป็นการทำผิดหลักระเบียบขั้นตอน และการขอเข้ายื่นเอกสารในวันนี้ก็ผิดกฎระเบียบ เพราะต้องยื่นเรื่องผ่านกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการติดต่อประสานงานกับทางสถานทูตกัมพูชาต่อไป ดังนั้น วันนี้จึงต้องขอให้กลับไปก่อน
.
สิตานันจึงอ่านแถลงการณ์ประณามความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม ตั้งคำถามต่อรัฐบาลกัมพูชาที่ไม่สามารถหาตัวผู้กระทำผิดต่อน้องชายของเธอได้ จนเวลาล่วงเลยมาถึงวันนี้
.
“ครอบครัวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ขอแสดงความกังวลต่อความล้มเหลวของประเทศกัมพูชา ในการดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีการบังคับสูญหายที่กระทำต่อนักกิจกรรมไทย เป็นผลให้ผู้กระทำผิดลอยนวล เราขอประณามรัฐบาลกัมพูชาที่ไม่สามารถดำเนินการค้นหาตัววันเฉลิม ที่ไม่ได้ทำการสืบสวนสอบสวนคดีอย่างโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ”
.
สิตานันยังเล่าถึงเนื้อหาในเอกสารที่สำนักงานอัยการสูงสุดไทยตอบกลับมา หลังจากส่งหนังสือชี้แจงไปยังกรมการกงสุลกัมพูชา เพื่อขอทราบความคืบหน้ากรณีบังคับสูญหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลชั้นต้นแขวงกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 ที่ชี้แจ้งเพียงสั้นๆ ว่า
.
1. คดีอยู่ในขั้นตอนการไต่สวนเพิ่มเติมของศาลชั้นต้นแขวงกรุงพนมเปญ เป็นความลับที่ไม่สามารถให้ข้อมูลกับผู้ใดได้
2. สถานเอกอัครราชทูตไทยในพนมเปญจะติดตามความคืบหน้าจากผู้พิพากษาไต่สวนต่อไป
.
นอกจากนี้เอกสารที่ลงวันที่ 1 มีนาคม 2565 ยังระบุว่า กรมสอบสวนคดีความพิเศษ (DSI) ได้ดำเนินการสอบถ้อยคำ รับข้อมูลเอกสาร และประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานอื่นทั้งในไทยและกัมพูชาแล้ว แต่สิตานันยืนยันว่าไม่ได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมจากกรมสอบสวนคดีพิเศษจนถึงปัจจุบัน
.
สิตานันและผู้ชุมนุมจึงเรียกร้องให้กัมพูชาที่เป็นหนึ่งในสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (International Convention for the Protection of all Persons from Enforced Disappearance: ICPPED) ดำเนินการสอบสวนคดีดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพิจารณาพยานหลักฐานทั้งชื่อบุคคล โทรศัพท์ เอกสารการเดินทาง และเอกสารประวัติขอลี้ภัยจากไทยสู่กัมพูชาของวันเฉลิม หลักฐานสำคัญเหล่านี้ยังอยู่ในมือของศาลชั้นต้นพนมเปญ จึงขอให้มีการสอบสวนตามหาผู้กระทำความผิดร่วมกับหน่วยงานในไทย เพื่อตามตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรม
.
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถือเป็น 1 ใน 7 นักกิจกรรมทางการเมือง ที่หายตัวไปอย่างปริศนาในยุครัฐบาล คสช. ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 วันเฉลิมตัดสินใจลี้ภัยการเมืองไปอยู่ที่กัมพูชา ครั้งสุดท้ายที่พบเห็นเขาคือวันที่ 4 มิถุนายน 2563 เวลา 17.54 น. ขณะกำลังยืนซื้อลูกชิ้นปิ้งในพนมเปญ และกำลังคุยโทรศัพท์กับสิตานันผู้เป็นพี่สาว เขาถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ใช้อาวุธบังคับขึ้นรถเอสยูวีสีดำ คำพูดสุดท้ายของวันเฉลิมที่พี่สาวได้ยินคือ “โอ๊ย หายใจไม่ออก” ก่อนที่รัฐบาลกัมพูชาจะระบุว่าวันเฉลิมอยู่ในสถานะบุคคลสูญหาย
.
ย้อนอ่านบทความ 1 ปี การหายตัวของวันเฉลิม และบุคคลอีก 10 คนที่หายตัวอย่างไร้คำตอบได้ทาง https://themomentum.co/report-whereiswanchalerm/
.
ภาพ: จารุเดช ไชยเลิศ
.
#TheMomentum #StayCuriousBeOpen #วันเฉลิมสัตย์ศักดิ์สิทธิ์ #สิตานันสัตย์ศักดิ์สิทธิ์
#อุ้มหายวันเฉลิม #บังคับสูญหายวันเฉลิม #เอกอัครทูตกัมพูชา #สถานทูตกัมพูชา