ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ Voice TV
ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่สนใจการเมือง
น่าจะช่วงที่หลังยุบพรรคอนาคตใหม่ แรกๆ ตามอ่านในโซเชียลมีเดียเราก็ยังไม่เข้าใจเท่าไหร่ ตอนนั้นเรียนอยู่ที่สิงคโปร์ เข้าใจแค่เรื่องรัฐบาลบริหารแย่ แต่กับเรื่องสถาบันกษัตริย์ยังไม่เข้าใจ แล้วก็ไม่ได้ต่อต้าน แค่งงว่าใช่เหรอ ถามตัวเองบ่อย จริงเหรอ พออ่านไปเรื่อยๆ มันเกิดคำถาม ทำไมภาษีประชาชนถึงไปลงที่งบสถาบันฯ เยอะขนาดนั้น
ตอนเด็กๆ มีใครปลุกความคิดไหม
ไม่มีนะ แค่รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เข้าใจความผิดปกติมาก่อน เพราะตอนเด็กๆ ไม่ได้สนใจ แต่พอเริ่มได้อ่าน ได้ผ่านตา เริ่มเห็นปัญหาจริงๆ ทั้งที่อยู่ตามข้างทางหรือตามอะไรก็ตาม ถึงได้รู้ แต่ตอนเด็กๆ ไม่มีต้นทุนอะไรมาก่อนเลย
จริงๆ เป็นเด็กขี้อายมาตั้งนานแล้ว ไม่ค่อยกล้าพูด เป็นเด็กเงียบๆ เก็บความรู้สึก ไม่ร้องไห้ ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก แต่พอช่วงมัธยม เรียนภาค English Program ที่ห้องคนไม่เยอะ ครูเริ่มให้เด็กออกไปพูดหน้าห้อง ก็เริ่มกล้าแสดงออกมากขึ้น มันค่อยๆ ปรับตัวได้ พอไปเรียนที่สิงคโปร์ก็มีความกล้ามากขึ้น
ชอบอ่านอะไรเป็นพิเศษไหม อย่างอานนท์ชอบจิตร ภูมิศักดิ์ ชอบเพลงลูกทุ่ง ของตะวันมีไหม
ต้องสารภาพตรงๆ ว่าเป็นคนไม่ชอบอ่านหนังสือมากๆ (หัวเราะ) บางทีเราอ่านหนังสือแล้วงง ต่อให้ไม่ได้อยู่ในคุก ไม่ได้อดอาหาร สมองยังทำงานปกติ ก็ไม่ชอบอ่านอยู่ดี ส่วนใหญ่ชอบดูคลิปมากกว่า น้อยมากที่จะอ่านหนังสือ ช่วงหลังๆ มาก็พยายามนะ แต่ก็ยังน้อยอยู่ดี
ตอนอ่านโซเชียลมีเดีย เจอข้อมูลอะไรพิเศษที่ฝังใจ
มันค่อยๆ ซึมซับไปเรื่อยๆ เรื่องที่ฝังใจจริงๆ คงเป็นเรื่อง 6 ตุลาฯ ที่เราได้เห็นคลิป มันสะเทือนใจ โกรธมาก
เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน อาจเพราะว่าเราเป็นมนุษย์ เห็นคนอื่นโดนกระทำ ต่อให้ไม่ใช่เรื่องของตัวเอง แต่มันรู้สึก พอเราเห็นว่ามันมีปัญหาก็รู้สึกว่าการนิ่งเฉยมันแก้ไขปัญหาไม่ได้ ก็เลยเลือกที่ทำอะไรสักอย่าง
อยู่สิงคโปร์กี่ปี
2 ปี พอมีโควิด ก็กลับบ้านมาเรียนออนไลน์ แต่ออกแล้ว อยากเรียนต่อนิติศาสตร์แทน เรียนเอาไว้เคลื่อนไหว จะได้รู้กฎหมายด้วย เพราะการที่เราติดคุกมันยิ่งทวีความอยากจะเปลี่ยนแปลง อยากปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รู้สึกว่าเราต้องเรียนให้หนัก ต้องมีสักหนทางแหละที่จะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยได้
อยู่ 2 ปี เห็นบ้านเมือง-คนหนุ่มสาวเขาเป็นไงบ้าง
อย่างที่รู้กัน บ้านเมืองเขา กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ จะเข้มงวดมาก บ้านเมืองเขาเลยสะอาดและปลอดภัยมาก เราเรียนวิทยาลัยที่มีคนต่างชาติมาเรียนค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่จะมีเพื่อนต่างชาติหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว อินโดนีเซีย อินเดีย แต่คนสิงคโปร์เองก็มีแต่ไม่เยอะมาก
เพื่อนเราที่เป็นชาวสิงคโปร์เขาค่อนข้างจะมีหัวก้าวหน้า เข้าใจเรื่องสิทธิ และเปิดรับความเท่าเทียมทุกรูปแบบ ช่วงที่เราติดคุกก็มีเพื่อนต่างชาติหลายคน รวมถึงพี่ๆ คนไทยที่เรียนด้วยกันที่สิงคโปร์ฝากจดหมายมา
ถ้าถามว่าคนหนุ่มสาวที่สิงคโปร์เขาเป็นยังไงหรือมีความคิดยังไง จดหมายฉบับหนึ่งของเพื่อนที่เขียนมาหาเราเขาว่าแบบนี้
“Hello tawan! i hope you’re oke inside & doing well as of now. im proud that you’re becoming who you are now & fighting for the rights of people 🤍 I hope you continue fighting & get out asap!!!”
เราดีใจและมีกำลังใจมากที่เพื่อนเขียนจดหมายมาหาเรา อย่างที่เพื่อนบอกว่าเพื่อนภูมิใจในตัวเราที่เราออกมาสู้เพื่อสิทธิของผู้คน เราเองก็ภูมิใจในตัวเพื่อนเหมือนกันที่เข้าใจสิทธิตรงนี้
เราอาจจะไม่ได้มีเพื่อนสิงคโปร์ที่สนิทเยอะ แต่ส่วนใหญ่ที่เรารู้จักเขาล้วนเป็นคนที่หัวก้าวหน้าและเข้าใจถึงความเท่าเทียมและสิทธิของตนเองและคนอื่น
ครอบครัวตะวันอินการเมืองไหม
ไม่เลย ทีแรกแม่ไม่รู้เรื่อง ส่วนพ่อมีอยู่วันหนึ่งตอนที่เราตาสว่างเรียบร้อยแล้ว พ่อพูดประโยคหนึ่งว่า “เพิ่งรู้เหรอ” เราก็อ้าว แต่พ่อไม่ได้สนใจมาก เขาทำงานของเขาปกติ แค่เข้าใจปัญหา
ที่บ้านไม่เคยมีใครเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง หลังๆ พอเราออกไปทำกิจกรรม แม่เริ่มเป็นห่วงว่าจะโดนอะไรไหม เขาก็ตามดูข่าวปกติ
ที่บ้านสนิทกันไหมกับพ่อแม่
ตอนเด็กๆ ค่อนข้างสนิทนะ มีช่วงไปเที่ยวด้วยกันบ่อยๆ ตอนมัธยมเป็นเด็กเรียบร้อย เลิกเรียนถ้าไปเที่ยวห้างแป๊บเดียวก็รีบกลับบ้าน พอเริ่มโตขึ้นระดับหนึ่งเราก็มีพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น ไม่ค่อยคุยกันเท่าไหร่
พอเคลื่อนไหวมากๆ มีขัดแย้งกันในบ้านบ้างไหม
ไม่เคย เขาแค่เป็นห่วงมากกว่า ช่วงแรกๆ ที่เราออกไปในฐานะมวลชน พ่อแม่ก็จะถามว่าอยู่ไหนแล้ว กลับบ้านหรือยังแค่นั้น จริงๆ เขารู้ว่าเราดื้อ แต่ไม่ได้ดื้อซี้ซั้วนะ สมมติเขาพูดมาแล้วเราคิดว่ามันไม่ใช่ก็จะดื้อ แต่ถ้าอันไหนที่เราเห็นว่าผิดจริงๆ ก็จะพยายามปรับปรุง
ตอนที่ไปม็อบช่วงแรกๆ ที่เจอแก๊สน้ำตา อีกวันต่อมาพ่อเขาก็พาไปซื้อหน้ากากกันแก๊ส เขารู้ว่าห้ามไม่ได้ก็ช่วยซัพพอร์ตในส่วนที่เขาทำได้
อ่านใจพ่อแม่ยังไง บางคนก็ตัดขาดกับครอบครัวไปเลย แต่ทำไมเขาไม่ห้ามเราแบบใช้ไม้แข็ง
คงเพราะพ่อเขาเข้าใจอยู่แล้วว่าการเมืองไทยเป็นมายังไง เขารู้ว่าควรจะแก้ไข แต่ก็ไม่ใช่คนที่จะออกหน้า ส่วนแม่คงมาเห็นทีหลัง เหมือนกับว่าเขาได้รับรู้ด้วยตัวเองว่ามีปัญหาอยู่จริงๆ เขาเข้าใจว่าเราทำเพราะอยากให้ประเทศพัฒนา มีอยู่วันหนึ่งที่ติดคุก ทนายกับแม่มาเยี่ยม แม่ก็พูดมาคำหนึ่งว่าดูแลรักษาสุขภาพดีๆ ออกมาก็มาสู้กับมันต่อ แปลว่าเขาเข้าใจ
เขาไม่ต้องออกไปกับเราก็ได้ ไม่ต้องไปยืนถือโพลล์กับเรา ไม่ต้องยืนบนเวทีกับเรา ขอแค่เขาเข้าใจก็เหมือนกับว่าเขาอยู่กับเราในทุกๆ ที่ แค่เขาไม่เคลือบแคลงใจก็ดีแล้ว เพราะเรารู้ว่ามีหลายบ้านที่เขามีปัญหากันหนัก พ่อแม่ลูกคุยกันไม่ได้
รู้สึกเสียดายเวลาวัยรุ่นของตัวเองไหม ตั้งแต่เคลื่อนไหวมา ติดคุกมา
ไม่เลย ไม่มีความรู้สึกว่าจะกลับไปแก้ไขอดีตอะไร ต่อให้มีทางเลือกว่าถ้าเราไม่อออกมาเคลื่อนไหวแล้วชีวิตเราจะดีกว่านี้นะ ไม่ถูกคุกคาม ไม่ถูกดำเนินคดี ใช้ชีวิตสบาย ก็ยังเลือกจะทำแบบเดิม
จำชัดๆ ได้ไหม วันไหนที่เราตัดสินใจว่าจะออกไปเคลื่อนไหวจริงจัง
ตอนนั้นนั่งดูไลฟ์สดอยู่บ้าน เพนกวินกับไมค์ถูกควบคุมตัวอยู่ในรถตำรวจ เพราะโดนอายัดตัวต่อ เขาโดนทำร้าย แล้วเขาตะโกนว่าหายใจไม่ออก เราทำอะไรไม่ได้ จะขับรถออกไป ก็ขับไม่เป็น ไม่รู้จะช่วยยังไง แต่โกรธมาก จากนั้นเลยไปสมัครเป็นการ์ดเลยของ We Volunteer ช่วยเท่าที่ทำได้
งานแรกที่เป็นการ์ดทำอะไร
วันที่รุ้งไปยื่นจดหมายถึงสำนักพระราชวัง ตรงสนามหลวง ที่ตำรวจฉีดน้ำใส่แล้วอ้างว่ามือลั่น ตอนนั้นยังอยู่ข้างหลังไม่ค่อยโดนอะไร แต่โดนเต็มๆ คือ 17 พฤศจิกาฯ ที่หน้ารัฐสภา แยกเกียกกาย วันนั้นกินข้าวไปน้อยมาก เป็นประจำเดือนด้วย แต่ลุยกันตั้งแต่บ่ายสองจนถึงสองทุ่ม
วันนั้นทำหน้าที่หิ้วน้ำไปข้างหน้า พอเขายิงแก๊สน้ำตามาก็เทดับ
อุปกรณ์ป้องกันพร้อมไหม
ไม่ ตอนนั้นคิดว่าคงไม่มีอะไรหรอก มีคนเอาหน้ากากมาให้ใส่ได้แป๊บนึง พอเห็นคุณลุงคนหนึ่งสำลักควันไม่ไหวแล้ว ก็เลยถอดให้เขา เราเลยอยู่ในสภาพไม่มีอะไรเลย มีแค่น้ำ วิ่งช่วยคนเจ็บเท่าที่ช่วยได้
งานในม็อบเยอะแยะ ทำไมเลือกไปเป็นการ์ด
จริงๆ ชอบเรื่องศิลปะการต่อสู้มาก แต่ว่าสู้ไม่เป็นนะ แค่ชอบดูในยูทูบ พวกที่เขาสอนป้องกันตัวเวลาถูกแทง ถูกโจมตีจากข้างหลัง พวกเทควันโดก็ชอบ เลยเลือกเป็นการ์ด
แล้วอยู่ในม็อบได้ใช้ไหม
ไม่เลย ไม่ได้เตะต่อยกับใครเลย แต่มีเหตุการณ์หนึ่ง ตอนนั้นไม่ได้ไปในฐานะการ์ด ม็อบที่หน้า ตชด. มีสาดสีด้วย วันนั้นตำรวจดันเข้ามา เราไม่รู้จะทำอะไร ก็ถีบโล่สู้เขาอยู่อย่างนั้น พอเขาอัดเรามา ตั้งสติได้ว่าต้องถีบอย่างเดียว มันท้าอัตโนมัติไปเลย แต่ไม่ได้โดนตัวเขานะ ถีบที่โล่เพื่อไม่ให้เขาเข้ามาหาเรา
อีกเหตุการณ์ 7 สิงหาคม ม็อบดินแดง ใกล้จะมีทะลุแก๊สแล้ว วันนั้นมีคนโดนตำรวจยิงแก๊สน้ำตาใส่ เราแว๊นมอเตอร์ไซค์ไปกับเพื่อน ตอนขี่หนีตำรวจ คฝ. รถไปเกยเกาะกลางแล้วล้ม คฝ.วิ่งเข้ามาจับแขนเราบิดแทบจะหักเลย เขามากันเป็นสิบคน เท้าเขาอยู่ตรงหน้าเรา เราก็ถีบลูกเดียว คิดแค่เอาตัวรอด ไม่เคยโมโหแล้วเข้าไปฟาดเขา
ออกจากคุกมาคิดเรื่องการต่อสู้ยังไง ทบทวนช่วงที่ผ่านมายังไง
รู้สึกว่าเราใช้โควตาครบแล้ว โควตามี 2 ระดับ โดน 112 ก่อนจะโดนก็ถามตัวเองว่าคุ้มไหม ต่อมาติดคุก เงื่อนไขมันจะหนักขึ้น พอมองย้อนกลับไปถามมันคุ้มไหม คุ้ม
คุ้มคืออะไร
ตอนโดน 112 จากเรื่องทำโพลล์ขบวนเสด็จกับไปไลฟ์สดม็อบชาวนาต้องย้ายที่เพราะขบวนเสด็จ ทั้งสองงานรู้สึกว่าคุ้มที่มีคนเห็นปัญหา ทำไมม็อบชาวนาต้องถูกย้าย คนหันมาสนใจม็อบชาวนามากขึ้น แม้ไม่ได้มากมาย แต่ก็มีคนเข้าใจมากขึ้น เรื่องโพลล์ก็มีคนพูดถึงประสบการณ์ที่ตัวเองเจอมากขึ้น รู้สึกว่าเราตีประเด็นแตกแล้ว ถือว่าคุ้มค่าแล้ว มากกว่านั้นคือคนตั้งคำถามนะว่า ทำไมเราต้องโดน 112 เพราะว่ามันไม่ยุติธรรม
คำว่าคุ้มของเราเป็นเพราะเป้าหมายของเราคือกลุ่มคนที่คิดเห็นตรงข้ามกับเราและกลุ่มไทยเฉย การที่พวกเขาได้รับรู้กิจกรรมของเราและได้รับรู้ว่าเราโดน 112 และรู้สึกว่าสิ่งที่เราโดนมันไม่ยุติธรรมและได้เข้าใจว่า 112 มันมีปัญหาจริงๆ นั่นแหละคือคุ้มสำหรับเราแล้ว
ตั้งแต่ทำกิจกรรมมา คิดถึง worst case กับตัวเองบ้างไหม
พูดตามตรงว่ากิจกรรมที่ทำไป ไม่ได้ประเมินว่าจะโดน 112 ด้วยซ้ำ เพราะว่าคิดมาแล้วว่าจะออกแบบกิจกรรมยังไงเพื่อไม่ให้โดน 112 ลองนึกภาพสิ แค่ทำโพลล์มันจะโดน 112 ได้ยังไง แต่พอโดนปุ๊บก็ประเมินอีกรอบ อ่านสำนวนตำรวจเรียบร้อย ไม่ติดคุกแน่นอน แต่เราลืมคิดไปว่าประเทศนี้มันเหี้ย
มีบางเสียงพยายามปลุกการต่อสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ตะวันเชียร์ไหม หรือว่าไม่เอา
ไม่ถึงขั้นเชียร์ ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้มีวันนั้น ไม่อยากให้เกิดการสูญเสีย แต่ก็พูดกับตัวเองตลอดว่าถ้ามีวันนั้นจริงๆ เราก็จะออกไปให้ช่วยให้ได้มากที่สุด วันหนึ่งจะต้องตายก็ต้องตาย
เหมือนอย่างที่ดินแดง เราเข้าใจพวกเขา เพียงแต่เราแค่ไม่อยากเห็นพวกเขาต้องเจ็บตัวหรือโดนทำร้าย ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียเพราะมันเจ็บปวดและโกรธแค้น แต่ในเมื่อพวกเขาออกไปสู้ เราก็อยากจะช่วยให้ได้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ แต่ก่อนเราไปม็อบดินแดงบ่อยมาก
ไม่เสียดายชีวิต ?
ถามว่ามีไหม ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็มีบ้าง เกิดมาแล้วก็อยากใช้ชีวิตให้คุ้มค่าที่สุด แต่เราไม่รู้ว่าบ้านเมืองมันต้องผ่านอะไรอีกบ้างกว่าจะถึงวันที่เราได้เอ็นจอยกับชีวิตจริงๆ
พูดได้ไหมว่าตั้งแต่ออกมาสู้จนถึงวันนี้ ชีวิตโดยรวมมีเพื่อนมีครอบครัวที่เข้าใจ เลยทำให้ใจเราแข็งแรง
ใช่ ต้องพูดอย่างนั้นแหละ ทุกคนที่เราเจอดีกับเราเลยทำให้เป็นคนสุขภาพจิตแข็งแรง
คนหนุ่มสาวที่โดนคดีหลายคนเข้าคุกออกมาต้องใส่กำไลข้อเท้าอีเอ็ม ตะวันรู้สึกว่าจะเป็นเงื่อนไขให้การเคลื่อนไหวแผ่วลงไหม
ถ้ามองในมุมของเรามันไม่ได้แผ่ว แต่ถ้ามองในมุมของศาล รัฐบาล เขาคงมองว่าเราแผ่ว เพราะเราทำอะไรไม่ได้ แต่เขาคงไม่รู้ว่าต่อให้เขาจะทำอะไร จะมีเงื่อนไขอะไรมา การต่อสู้มันหยุดไม่ได้ กลับยิ่งรู้สึกว่าเราเข้มแข็งขึ้นด้วยซ้ำ
ต่อให้อนาคตมีรัฐบาลจากฝั่งประชาธิปไตย ก็จะต่อสู้ก็เหมือนเดิม ?
ถ้ารัฐบาลบริหารประเทศไม่ดี ต่อให้มาจากฝั่งประชาธิปไตย ก็จะยังมีคนจากฝั่งประชาธิปไตยออกไปสู้เหมือนตอนนี้อยู่ดี หรือต่อให้รัฐบาลมาจากฝั่งประชาธิปไตย แต่ต้นตอของปัญหายังคงอยู่ ยังคงมีคนโดน 112 ยังคงมีคนโดนจำกัดอิสรภาพในการพูด ก็จะยังคงมีคนออกมาต่อสู้แบบทุกวันนี้อยู่ดี
จุดแข็งขบวนการคนหนุ่มสาวมีคนพูดเยอะแล้ว ให้ตะวันวิจารณ์จุดอ่อนบ้าง มันคืออะไร
ส่วนตัวเรามองถึงจุดอ่อนเรื่องกระแสทางสังคมที่มันเริ่มเบาลง เพราะคนเริ่มพูดถึงปัญหากันน้อยลง ทั้งๆ ที่ปัญหามันยังไม่ถูกแก้ไข เราอยากให้ทุกคนช่วยกันเรียกร้องกันจนสุดทาง เพราะเรามองว่าทุกปัญหาเป็นเรื่องของทุกคน และก็ไม่อยากให้เงียบกัน
ขอแค่อย่าเงียบ ช่วยกันโพสต์ช่วยกันแชร์หรืออะไรก็ได้ ช่วยกันเรียกร้องจนกว่าปัญหามันจะถูกแก้ไขจริงๆ
จะถูกมองว่าเรียกร้องมากไป ?
ส่วนตัวรู้สึกว่ามันไม่ได้มากไป มันเป็นสิ่งที่ควรจะได้อยู่แล้ว ไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องมากไป ตราบใดที่ปัญหายังไม่ถูกแก้ ถ้าประเทศนี้ไม่เปลี่ยนแปลง เราก็รู้สึกว่าจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง
ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนล่ะ อยากย้ายประเทศไหม
ไม่นะ แต่เข้าใจคนที่เขาอยากย้ายประเทศ เพราะประเทศนี้มันแย่จริงๆ ถ้าเขาได้ไปประเทศอื่นแล้วคุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นก็ดีแล้ว ถ้าประเทศนี้มันน่าอยู่จริงๆ เราจะไม่ต้องมานั่งคิดว่าย้ายประเทศดีกว่า
อ่านบทสุมภาษณ์เต็มที่ https://www.voicetv.co.th/read/MVb_GTmS0