วันอังคาร, มกราคม 11, 2565

อานนท์ ผู้มาก่อนกาล - กระบวนการยุติธรรมที่มัดมือชก ให้มุ่งสู่การขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอรับพระเมตตา

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

อานนท์ นำภา
January 9, 2012 ·

อันนี้พูดอย่างซีเรียสนะครับ

ปัญหาหนึ่งของกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพคือ บรรยากาศในกระบวนการยุติธรรมของเราไม่เอื้อต่อการพิจารณาคดีให้เกิดความบริสุทธิยุติธรรมอย่างที่มันควรจะเป็น

ผมยกตัวอย่างเช่นการปล่อยตัวชั่วคราว การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญานั้น เป็นหลักที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นกระทบถึงแก่นของสิทธิของผู้ต้องหา หรือจำเลยในสาระสำคัญ กล่าวคือ ในกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรมในแง่ผลของการลงโทษ ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นมันมีอัตราโทษสูงสุดคือการจำคุก ๑๕ ปี ในแต่ละกรรมของการกระทำความผิด

ดังนั้น กรณีที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว มันจึงหมายถึง การลงโทษผู้ต้องหา หรือจำเลยไปเสียก่อนการพิจารณาคดี อันนี้สำคัญมาก เพราะหลายๆท่านที่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสผู้ต้องขังในเรือนจำอาจจะไม่เป็นภาพ "ควบคุมตัวระหว่างพิจารณา" มันคือการเอาไปขังในเรือนจำรวมกับนักโทษแบบปกตินั่นเอง ( กิน ขี้ ปี้ นอน ) ฯ

อีกประการที่สำคัญมากๆ ในการต่อสู้คดี คือ เมื่อไม่ได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี ผลที่ตามมาอีกประการคือ ผู้ต้องหา หรือจำเลย ก็ไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ที่สำคัญอันนี้ผมถือว่าเป็น "วงจรอุบาทว์" ของกฎหมายหมิ่นเลยทีเดียวคือ "การคุมขังเชิงบีบบังคับให้รับสารภาพ"

"การคุมขังเชิงบีบบังคับให้รับสารภาพ" คือการที่กระบวนการพิจารณาคดีนั้นยืดยาวเสมือนหนึ่งจงใจให้ผู้ต้องหา หรือจำเลย ตัดสินใจ "ไม่สู้คดี"

นับแต่การจับกุมและสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ ๔๘ ชั่วโมง แล้วต้องเอาผู้ต้องหาไปฝากขังโดยขออำนาจศาลขังระหว่างสอบสวนได้อีก ๗ ผลัด ผลัดละ ๑๒ วันรวม ๘๔ วัน จากนั้นต้องส่งพนักงานอัยการยื่นฟ้อง และศาลก็จะนัดสืบพยานไปอีกประมาณ ๖ เดือน ต่อจากนั้นก็ใช้เวลาพิจารณาและทำคำพิพากษาอีกประมาณ ๒-๓ เดือน

กล่าวสั้นๆ คือ จำเลยจะต้องติดคุกเกือบ ๑ ปี กว่าจะได้ฟังคำพิพากษา ซึ่งกรณีนี้ไม่รวมคดีที่สืบพยานกันรอบโลกอย่างคดีพี่สมยศ ( โทษทีที่เว่อไปไม่ถึงรอบโลกหรอก) คือเล่นสืบประเด็นไปในหลายๆจังหวัด ซึ่งจะทำให้คดีล่าช้าออกไปมากๆ อันนี้ไม่รวมถึงเคสที่ยื่นอุทธรณ์ เช่น ดา ตอปิโด , หนุ่ม เรดนนท์ และเคสอากง

ไม่รวมบริบทของพนักงานสอบสวน, พยานของคดี, ตุลาการผู้พิจารณา ,ราชทัณฑ์ และบรรดาเพื่อนนักโทษคดีอื่นๆ ที่มอง นักโทษคดีหมิ่นเป็นอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่ง ไม่รวมสิ่งที่ญาติพี่น้อง ครอบครัวเขาได้รับ

"เราจงมุ่งสู่การขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ขอรับพระเมตตาอภัยโทษกันเสียเถิด"