โควิด-19 : นักข่าวอังกฤษตีแผ่ชีวิตชาวต่างชาติที่กักตัวในฮอสพิเทลภูเก็ต "เหมือนนักโทษที่ต้องจ่ายเงินขังตัวเอง"
25 มกราคม 2022
โจนาธาน มิลเลอร์ ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษคนดัง ซึ่งเป็นคนแรกที่ได้สัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อช่วงปลายปี 2563 เขียนบทความตีแผ่เรื่องปัญหาของระบบ "ฮอสพิเทล" หรือการกักตัวชาวต่างชาติผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ในโรงแรมของไทย โดยเปรียบเปรยว่าเป็นเสมือน "การใช้ชีวิตเยี่ยงนักโทษที่ต้องจ่ายเงินขังตัวเอง"
บทความดังกล่าวปรากฏในหนังสือพิมพ์ The Sunday Times ฉบับวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยมิลเลอร์บอกเล่าประสบการณ์ของตนเองในการเข้ากักตัวที่ฮอสพิเทลแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตระหว่างช่วงเทศกาลปีใหม่ ซึ่งในระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่เขาอยู่ที่นั่น มิลเลอร์ได้พบกับสภาพของห้องพักและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ "ไม่ตรงปก" ตามที่ทางโรงแรมได้โฆษณาไว้ การดูแลสุขภาพของผู้เข้ากักตัวก็ต่ำกว่ามาตรฐาน ไม่สมราคาที่ต้องจ่ายไปถึง 1,500 ปอนด์ หรือเกือบ 67,000 บาท สำหรับการกักตัวอย่างน้อย 10 วัน
ยิ่งไปกว่านั้นบรรดา "ผู้ต้องขัง" หรือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติร่วม 300 คนที่ติดเชื้อโควิดกันหมดแล้ว พากันจัดปาร์ตี้โดยดื่มเบียร์และเต้นรำกันอย่างสุดเหวี่ยงในฮอสพิเทลแห่งนี้ทั้งคืน แม้จะดื่มและเต้นพร้อมกับไอค่อกแค่กไปด้วยตลอดเวลาก็ตาม แถมยังไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยสักคน
มิลเลอร์บอกว่าพวกเขาก็เหมือนกับตนเองที่ถูกหลอกให้มาติดคุกอยู่ใน "โฮเทลแคลิฟอร์เนีย" (Hotel California) โรงแรมที่ถูกเอ่ยถึงในเพลงดังจากช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งแม้โฮเทลแคลิฟอร์เนียจะเป็นสถานที่ดูหรูหราจากภายนอก แต่ก็แฝงความเลวร้ายน่าผิดหวังเอาไว้
แทนที่จะได้กักตัวใน "แดนสวรรค์" ริมชายหาด กินอาหารเลิศรส ชมความบันเทิง และใช้บริการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อย่างที่ทางโรงแรมและโครงการแซนด์บ็อกซ์ของรัฐบาลไทยได้โฆษณาไว้ก่อนหน้านี้ เหล่านักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจหาเชื้อโควิดเป็นบวก ต้องจัดปาร์ตี้ในดิสโก้เธคชั่วคราวแบบตามมีตามเกิด โดยฝากผู้ดูแลของโรงแรมซื้อเบียร์จากร้านสะดวกซื้อมาดื่มเอง เป็นการระบายความอัดอั้นตันใจและความผิดหวังที่แผนการวันหยุดในฝันต้องมาพังทลายลงI recently caught #Covid in “Amazing #Thailand” and found myself in an Asian Hotel California… aka state-mandated quarantine in ‘paradise.’ Just swap the pink champagne on ice for luke-warm Chang beer-fuelled discos with coughing fellow-inmates! Thailand never ceases to amaze pic.twitter.com/jAkBYz430X
— Jonathan Miller (@MillervisionTV) January 23, 2022
มิลเลอร์รายงานว่า การระบาดระลอกใหม่จากเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอน ทำให้การท่องเที่ยวของไทยที่เริ่มกระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ต้องพบภาวะชะงักงันอีกครั้ง แม้ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจากยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินเดีย อิสราเอล และภูมิภาคตะวันออกกลาง เดินทางเข้ามาวันละกว่า 4,000 คน แต่ 1 ใน 10 ของคนเหล่านี้ติดเชื้อโควิดโดยส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากต้องเข้ากักตัวทันทีหลังเดินทางมาถึง
สำหรับตัวของมิลเลอร์เองนั้น ในตอนแรกที่เพิ่งเดินทางมาถึงภูเก็ตเขายังมีผลตรวจพีซีอาร์เป็นลบอยู่ แต่เจ้าหน้าที่จัดให้เขาอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงติดเชื้อสูง เพราะแฟนสาวของเขาที่เดินทางมาจากออสเตรเลียมีผลตรวจเชื้อโควิดเป็นบวก ทั้งสองจึงต้องเข้ากักตัว โดยพวกเขาเลือกพักด้วยกันในฮอสพิเทลแห่งหนึ่งที่ลงโฆษณาไว้อย่างสวยหรู ในกลุ่มเฝ้าระวังโควิดทางแอปพลิเคชันวอตส์แอป (WhatsApp) เนื่องจากพวกเขาคาดหวังว่าสภาพความเป็นอยู่น่าจะดีกว่าโรงพยาบาลและสถานที่กักตัวของรัฐที่ไม่คิดค่าบริการ
มิลเลอร์ติดเชื้อโควิดในที่สุด หลังเข้าพักที่ฮอสพิเทลซึ่งมีสภาพคล้ายโรงแรมสามดาวที่ปิดตัวไปนานก่อนจะถูกดัดแปลงให้เป็นสถานที่กักตัวอย่างเร่งรีบ แม้จะอยู่ภายใต้ความดูแลของโรงพยาบาลประจำจังหวัดภูเก็ตและกระทรวงสาธารณสุข แต่เขามองว่ามาตรฐานการดูแลสุขอนามัยและคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อที่เข้ากักตัวค่อนข้างย่ำแย่
อาหารที่จัดมาให้ในกล่องกระดาษนั้นเย็นชืดไร้รสชาติ ทั้งยังแข็งเป็นหินจนกินไม่ได้ ผู้ที่ยังถูกกักตัวอยู่ต้องส่งข้อความร้องขอให้คนที่ได้ออกไปแล้วช่วยส่งอาหารมาให้ สระว่ายน้ำของโรงแรมที่มีอยู่หลายสระกลับเปิดให้บริการเพียงแห่งเดียว ส่วนสระที่ปิดอยู่เต็มไปด้วยตะกอนสกปรกและมีซากกบตายลอยอืด
ห้องพักนั้นแม้จะดูดีแต่เล็กแคบแถมโทรทัศน์ยังใช้การไม่ได้ น้ำประปาไหลกะปริบกะปรอย สัญญาณ วาย-ฟาย ไม่เสถียร ผู้เข้าพักยังถูกบังคับให้เอกซ์เรย์ปอดทั้งที่ไม่มีความจำเป็นและต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ส่วนค่าตรวจหาเชื้อแบบพีซีอาร์แต่ละครั้งนั้นสูงถึง 4,000 บาทเลยทีเดียว
พนักงานผู้ดูแลฮอสพิเทลมีไม่เพียงพอ ทั้งยังไม่สามารถตอบคำถามเรื่องการออกเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องใช้เพื่อเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งรายละเอียดของการใช้ประกันสุขภาพจ่ายค่ากักตัวในครั้งนี้ ทำให้ชาวต่างชาติพากันเครียดและวิตกกังวลอย่างยิ่ง
มิลเลอร์เขียนปิดท้ายบทความของเขาว่า "ไทยจะนำระบบเทสต์แอนด์โกกลับมาใช้อีกครั้งในเดือนหน้า ซึ่งหมายความว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะออกเที่ยวได้ตามใจปรารถนาในทันที หากผ่านการตรวจหาเชื้อเมื่อแรกมาถึง แต่ถ้าผลตรวจหาเชื้อเป็นบวก คุณจะกลายเป็นนักโทษของโฮเทลแคลิฟอร์เนีย สวรรค์ของวันหยุดพักผ่อนในประเทศไทยที่คุณฝันไว้จะกลายเป็นนรกย่อม ๆ ไปในพริบตา"
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวกับพีพีทีวีว่า จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้เกี่ยวข้องปรากฏว่ากิจกรรมผ่อนคลายดังกล่าวนั้นมีการจัดจริง ในโรงแรมที่กลุ่มผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าระบบการรักษาตัว เพื่อเป็นการผ่อนคลายให้แก่นักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ ทางผู้เกี่ยวข้องจะกำชับเรื่องของการจัดกิจกรรมผ่อนคลายและกำหนดช่วงเวลาในการทำกิจกรรมดังกล่าวฯ รวมถึงการวางมาตรการและข้อปฏิบัติตัวในการอยู่ใน Hospitel เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันต่อไป
"ภาพจริงหรือเปล่า"
นายก้องศักดิ์ คู่พงศกร นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หากโรงแรมดังกล่าวปล่อยปละละเลยให้ผู้เข้าพักที่ต้องกักตัวออกมานอกห้องพักและสังสรรค์กันได้ โรงแรมจะต้องถูกสอบสวนอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าโรงแรมดังกล่าวคือโรงแรมใด
"ตามข่าวที่เขาเอารูปคนที่ถือขวดกินเบียร์กินเหล้าเนี่ย มันเป็นภาพจริงหรือเปล่า แต่ถ้าเป็นภาพจริง สาธารณสุขก็ต้องไปตรวจสอบ เพราะในฮอสพิเทลไม่ให้ดื่มแอลกอฮอล์ แล้วก็อยู่ห้องใครห้องมัน ห้ามออกมานอกห้อง จะมาว่ายน้ำมาเดินเล่นไม่ได้"
ในเรื่องของราคาห้องพักสำหรับการกักตัวนั้น นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านการจัดการและการแพทย์มีส่วนทำให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติอย่างแน่นอน เพราะอาจไม่มีโรงแรมใดอยากใช้พื้นที่ของตนเองเป็นพื้นที่กักเชื้อ
"โรงแรมที่หันมาทำฮอสพิเทลเป็นโรงแรมที่ไม่ค่อยได้รับความนิยม หรือโรงแรมที่ยังไม่เปิดให้บริการ อย่างโรงแรมที่เขามีสัก 200 ห้อง เขาก็อาจจะเลือกเปิดสักตึกหนึ่ง สักร้อยห้อง...เราไม่ได้เร่งมาเปิดโรงแรมเพื่อจะมาทำกำไรกับฮอสพิเทล ส่วนใหญ่แล้วเป็นรัฐไปขอร้องเขาให้มาช่วยเปิดกันเพื่อที่จะมาช่วยแก้ปัญหาเรื่องเตียงของโรงพยาบาล ซึ่งหายาก ลองคิดดูว่าใครที่มีโรงแรม แล้วเอาโรงแรมตัวเองไปเป็นที่กักเชื้อ มันก็ไม่มีใครอยากทำ"
นายก้องศักดิ์ อธิบายว่าฮอสพิแทลต้องจ่ายค่าแรงให้พนักงานเพิ่มเนื่องจากต้องทำงานสุ่มเสี่ยงกับการติดเชื้อ ต้องเจองานที่หนักและจุกจิกยิ่งขึ้น เช่น ต้องจ่ายเงินเดือนแม่บ้านเพิ่มอีก 3,000 - 6,000 บาทจาก 12,000 บาท เพื่อจูงใจ แทนการไปทำงานในโรงแรมที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า
"การใส่ชุด PPE ทำงานมันเหนื่อยนะครับ เปียกโชกไปทั้งตัว การที่ค่าห้องมันจะแพงกว่าปกติขึ้นมา มันก็มีเหตุผลของมันครับ"
ในเรื่องของอาหาร นายก้องศักดิ์กล่าวว่า อาหารที่โรงแรมจัดให้กับผู้ติดเชื้ออาจไม่เป็นไปตามความต้องการมากนัก เนื่องจากโรงแรมเองต้องจัดอาหารกล่องให้กับลูกค้าจำนวนนับร้อยห้องทุกวัน
"เรามีมาตรการว่า (ผู้เข้าพัก) จะต้องกินอาหารในวัสดุที่เป็น one way use ก็คือกล่องกระดาษอะไรต่าง ๆ ที่ใช้ครั้งเดียว การเตรียมอาหารในกล่องให้คนจำนวน 200 - 300 คนมันก็ต้องเย็นอยู่แล้ว จะเสิร์ฟร้อนคงเป็นไปไม่ได้ เข้าใจว่าแทนที่จะได้กินอาหารดี ๆ ริมทะเล กลับต้องมานั่งกินในห้องแบบนี้ เขาต้องไม่ชอบแน่ ๆ แต่ต้องเข้าใจว่าเขาติดเชื้อโควิด เพราะฉะนั้นจะปล่อยให้เขาออกไปเดินก็คงไม่ได้"
โจนาธาน มิลเลอร์ คือใคร
โจนาธาน มิลเลอร์ เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ สถานีโทรทัศน์แชนเนลโฟร์นิวส์ (Channel 4 News) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2563 เขากลายเป็นที่รู้จักและจดจำของคนไทยจำนวนมากจากการเป็นผู้สื่อข่าวคนแรกที่สัมภาษณ์ ในหลวงรัชกาลที่ 10 นับตั้งแต่พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ ทั้งยังเป็นการสัมภาษณ์ในลักษณะที่ไม่เคยมีนักข่าวคนไหนเคยทำมาก่อนด้วยการ "ยื่นไมค์" ทูลถามระหว่างที่พระองค์ทรงพระดำเนินทักทายพสกนิกร
ที่สำคัญคือเป็นการสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่นักศึกษาประชาชนจำนวนมากกำลังเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
เว็บไซต์แชนเนลโฟร์ นิวส์ สถานีโทรทัศน์ในสหราชอาณาจักร แนะนำว่าโจนาธานเป็นผู้สื่อข่าวสายต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2558 ก่อนหน้านี้เขาถูกส่งไปรายงานข่าวในหลายภูมิภาคทั้งตะวันออกกลาง แอฟริกาและอเมริกา เขาได้รับรางวัลการนำเสนอข่าวจากสมาคมผู้สื่อข่าวโทรทัศน์และจากองค์กรแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนลหลายรางวัล และเป็นผู้เขียนหนังสืออัตชีวประวัตินายดูแตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
โจนาธานเล่าให้บีบีซีไทยฟังเมื่อการสัมภาษณ์ตอน พ.ย. 2563 ว่าเขาเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี 2515 ซึ่งเป็นการมาท่องเที่ยวกับครอบครัว และชอบประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา เมื่อเป็นนักข่าวเขาจึงเลือกที่จะมาทำข่าวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่หลายปี ลูกสาวของเขาก็เกิดที่ไทย
เขาเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศของแชนแนลโฟร์มาเกือบ 20 ปี และดีใจที่ถูกส่งมาประจำการที่กรุงเทพฯ อีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เขาอยู่ในเมืองไทยซึ่งเป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับประเทศไทยมากขึ้น จากที่แค่ไป ๆ มา ๆ เพราะเขามักจะต้องเดินทางไปทำข่าวในต่างแดนอยู่เสมอ ประกอบกับปี 2563 มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ทำให้ได้มีโอกาสรายงานข่าวนี้ ซึ่งในทัศนะของเขาเห็นว่าเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญ