วันพุธ, มกราคม 26, 2565

กำไลอีเอ็ม "โซ่ตรวนยุคใหม่" ของจำเลยคดีการเมือง


กำไลอีเอ็ม "โซ่ตรวนยุคใหม่" กับชีวิตติดสายชาร์จของจำเลยคดีการเมือง

25 มกราคม 2022
ILaw

กำไลอิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือ "อีเอ็ม" เข้ามาอยู่ในระบบกฎหมายและกระบวนยุติธรรมไทยตั้งแต่ปี 2558 จากการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในยุคของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะ "ทางเลือก" ที่จะใช้ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างการพิจารณาคดีแทนการคุมขังในเรือนจำ เพื่อแก้ไขปัญหาคนล้นคุก และให้ผู้ต้องหามีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น

ในปี 2564 มีคดีที่เกิดจากการชุมนุม และการแสดงออกทางการเมืองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากทั้งคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างน้อย 174 คดี (นับจากพฤศจิกายน 2563 ถึง 21 มกราคม 2565 ) และคดีชุมนุมฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอย่างน้อย 980 คดี (นับจากกรกฎาคม 2563 - 25 ธันวาคม 2564 ) ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ผู้ต้องหาในคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองจำนวนหนึ่งไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพราะศาลเกรงว่า หากปล่อยตัวแล้วจะยังจัดการชุมนุมและแสดงออกอย่างต่อเนื่อง บางกรณีศาลกำหนดเงื่อนไขรัดตัวประกอบการให้ประกัน จนกระทั่งช่วงปลายปี ผู้ต้องหาหลายคนที่อยู่ในเรือนจำทยอยได้ประกันตัว นอกจากศาลจะกำหนดเงื่อนไขห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายแล้ว ศาลยังตั้งเงื่อนไขเพิ่มเติม คือ การให้ใส่กำไลอีเอ็ม เพื่อควบคุมเรื่องที่อยู่อาศัยและกำหนดเวลาห้ามออกนอกเคหสถานเพื่อจำกัดการเคลื่อนไหวด้วย

iLaw ชวนผู้ต้องหาคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองสามคน ที่มีประสบการณ์ติดกำไลอีเอ็มพูดคุยเพื่อถอดบทเรียน เกี่ยวกับชีวิตที่มีอิสระครึ่งๆ กลางๆ เมื่อมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวเข้ามาเป็นอวัยวะที่ 33

ธัชพงศ์ แกดำ หรือบอย นักกิจกรรมจากภาคี SAVEบางกลอย ซึ่งมักจะปรากฏตัวในฐานะพิธีกรบนเวทีชุมนุมทางการเมืองหลายครั้ง ถูกฝากขังในคดีการชุมนุมหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวณชายแดน ภาค1 #ม็อบ2สิงหา หลังเข้าเรือนจำรวม 38 วัน เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวพร้อมเงื่อนไขติดกำไลอีเอ็ม

ณัชพล หรือ "คิว ทะลุฟ้า" นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับกลุ่มทะลุฟ้า เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน จากการไม่ยอมให้ตำรวจจับกุมหลังการชุมนุมเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวโดยเงื่อนไขให้ติดกำไลอีเอ็ม และให้อยู่ในเคหสถานระหว่างเวลา 15.00-05.00 น.

ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ นักร้องวง The Bottom Blues ที่เข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ในคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 ทวงอำนาจคืนราษฎร เขาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 เบื้องต้นไชยอมรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไข แต่ต่อมาวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 ศาลสั่งตั้งเงื่อนไขเพิ่มให้ติดกำไลอีเอ็ม และให้อยู่ในเคหสถาน ตั้งแต่ 16.00 - 05.00 น. หลังเขายังคงทำกิจกรรมและถูกยื่นคำร้องให้เพิกถอนสัญญาประกัน

กำไลที่ไม่มีโอกาสเลือก และไม่มีโอกาสเข้าใจ

กำไลอีเอ็ม เป็นเสมือนเครื่องมือที่ทำให้จำเลยมีโอกาสได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้น และศาลมีทางเลือกมากขึ้นที่จะกำหนดเงื่อนไข หากเห็นว่าเป็นกรณีที่ยังไม่แน่ใจว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไม่ ก็อาจปล่อยตัวตัวไปก่อนโดยให้ติดกำไลอีเอ็ม แต่การตัดสินใจว่าจะใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่ ไม่ใช่การทางเลือกและตัดสินใจของผู้ขอประกันตัว เป็นอำนาจของศาลที่จะกำหนดให้ใครต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่ ตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 วรรคสาม ว่า

"ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่หรือเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติ หรือในกรณีที่ผู้นั้นยินยอมจะสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ถูกปล่อยชั่วคราวก็ได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น"

เมื่อสอบถามผู้ต้องหาทั้งสามคนถึงความสมัครใจที่จะใส่กำไลอีเอ็ม ทั้งสามคนตอบเช่นเดียวกันว่า "ไม่มีทางเลือก" และเมื่อถามว่า ศาลกำหนดให้พวกเขาต้องใส่กำไลอีเอ็มเพราะเหตุผลใด ทั้งสามคนก็ตอบเช่นเดียวกันว่า "ไม่ทราบ"

บอย ธัชพงศ์ อธิบายว่า ขณะนั้นเขาอยู่ในสภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เนื่องจากทีมทนายความและญาติทำเรื่องประกันตัวหลายครั้งแล้วแต่ไม่เคยได้รับอนุญาตให้ประกันตัว เมื่อทราบข่าวจากในเรือนจำว่าเขาจะได้ประกันตัวพร้อมเงื่อนไขนี้ก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า มันจะทำให้การใช้ชีวิตลำบาก แต่ด้วยสถานการณ์ที่บีบบังคับ เขาจึงต้องยอมรับเพราะถ้าหากปฏิเสธก็คงไม่ได้ออกจากเรือนจำ

แอมมี่ ไชยอมร ตอบว่าเขาไม่ได้รับคำชี้แจงจากศาล หรือจากเจ้าหน้าที่ถึงเหตุผลที่ต้องเพิ่มเงื่อนไขขึ้นมา แต่เขาก็เห็นว่า มาตรการต่างๆ ที่ออกมาไม่ใช่เป็นอะไรที่มีเหตุผลอยู่แล้ว จึงไม่ได้คิดจะโต้แย้งอะไรอีก

สำหรับคิว ทะลุฟ้า เขาถูกดำเนินคดีพร้อมกันกับผู้ต้องหาอื่นอีก 3 คน ที่อยู่ในเหตุการณ์เดียวกัน คนแรก คือ อาทิตย์ ทะลุฟ้า ซึ่งไม่ได้ประกันตัวเลย ใบบัว ผู้เข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งต้องติดกำไลอีเอ็มพร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 09.00-05.00 และเซี่ยงเมี่ยงทะลุฟ้า ที่มีเงื่อนไขห้ามออกนอกเคหสถานตั้งแต่เวลา 15.00-05.00 แต่ไม่ต้องติดกำไลอีเอ็ม เขาจึงไม่เข้าใจเหตุผลว่า ทำไมสี่คนถึงได้รับเงื่อนไขที่ต่างกัน และสำหรับตัวเขายังถูกตั้งเงื่อนไขเพิ่มอีกหนึ่งเรื่อง คือ ห้ามนอนพักอยู่ในเขตดินแดง "เงื่อนไขทุกเงื่อนไขที่ผมติดอีเอ็มมา ผมไม่รู้เหตุผลอะไรเลย"


ชีวิตติดสายชาร์จ ต้องระวังไม่ให้แบตหมด

อุปกรณ์อีเอ็มต้องอาศัยแบตเตอรี่หล่อเลี้ยงตลอด 24 ชั่วโมง และผู้ต้องหาทุกคนที่ติดอีเอ็มต้องมีหน้าที่หล่อเลี้ยงแบตเตอรี่ให้เครื่องทำงานอยู่ตลอดเวลา เพราะถ้าแบตเตอรี่หมด และเครื่องไม่ส่งสัญญาณกลับไปยังส่วนกลาง ก็จะมีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ติดตามโทรศัพท์มาสอบถาม และถ้าหากติดต่อไม่ได้ก็อาจเป็นเหตุให้สงสัยว่า มีความพยายามหลบหนี เป็นเหตุให้พวกเขาถูกออกหมายจับและต้องถูกถอนการประกันตัวได้

ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 117 วรรคสอง เขียนไว้ว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งให้ใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดตามมาตรา 108 วรรคสาม กับผู้ต้องหาหรือจำเลยใด ถ้าปรากฏว่าอุปกรณ์ดังกล่าวถูกทำลายหรือทำให้ใช้การไม่ได้ไม่ว่าโดยวิธีใด ให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นหนีหรือจะหลบหนี"

คิว ทะลุฟ้า เล่าถึงอุปสรรคในการใช้ชีวิตภายใต้กำไลอีเอ็มว่า เมื่อเขาติดกำไลอีเอ็มทางเจ้าหน้าที่ของศาลได้ให้พาวเวอร์แบงค์หนึ่งเครื่องกับสายชาร์จแบตเตอรี่มาด้วย โดยกำชับกับเขาไว้ว่า เมื่อออกจากบ้านต้องคำนวนให้ดีทุกครั้งให้มีแบตเตอรี่เพียงพอ ซึ่งเขาสังเกตว่า หากเขานั่งรถหรือเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว ระบบจีพีเอสน่าจะทำงานหนักทำให้แบตเตอรี่หมดเร็วกว่าวันที่อยู่บ้านเฉยๆ ทำให้ทุกครั้งที่จะออกจากบ้านเขาต้องพกทั้งสายชาร์จและพาวเวอร์แบงค์ไปด้วยตลอดเวลา

"มันต้องชาร์จแบตตลอดเวลา เวลานอนก็ต้องชาร์จ ระหว่างที่ชาร์จอยู่ก็เคลื่อนที่ไม่ได้เลย ต้องนั่งอยู่กับปลั๊กตรงนั้น เวลานอนก็คันขา กังวลว่ามันจะช็อตหรือเปล่า ทำให้เราเคลื่อนตัวลำบาก ต้องระวังว่าจะพังไหมถ้าเราไปเล่นน้ำ หรือเล่นกีฬา ถ้ามันพังเราต้องไปทำเรื่องที่ศาลอีก กีฬาที่ลองเล่นแล้ว คือ ฟุตบอล มันเตะไม่ได้ เพราะมันเจ็บ เวลาโดนบอลก็จะกระแทกกับร่างกายของเราแรง ก็เตะไม่ได้ พอวิ่งได้แต่ว่าจะหนักขาขาหนึ่ง เบาข้างหนึ่ง " คิว เล่า

ด้านบอย เล่าประสบการณ์คล้ายกันว่า ชีวิตที่ต้องใส่กำไลอยู่ที่ข้อเท้าทำให้ออกกำลังกายลำบาก เพราะเวลาวิ่งเครื่องจะตีหัวเข่าทำให้เจ็บ เมื่อจะออกกำลังกายต้องหาผ้ามายัดไว้ไม่ให้ฟาดตาตุ่มและหน้าแข้ง การใส่และถอดกางเกงก็จะติดขัด ถ้ากางเกงขายาวที่ทรงเล็กๆ หรือ ขาเดฟ ก็จะติดใส่ไม่ได้

"เวลาเข้านอนก็ต้องเสียบสายกับพาวเวอร์แบงค์ค้างไว้แล้วเข้านอน ช่วงหลังแบตมันเสื่อมก็อยู่ได้แค่ 5-6 ชั่วโมง หรือ 3-4 ชั่วโมง เราไม่สามารถมีชีวิตที่จะนั่งข้างปลั๊กไฟตลอด ก็เลยต้องพกพาวเวอร์แบงค์ไปด้วย แล้วกลางคืนก็ต้องมาชาร์จ ถ้าเพิ่งอาบน้ำเสร็จก็ยังชาร์จไม่ได้ ต้องรอให้มันแห้งก่อน" บอย เล่า

ด้านแอมมี่บอกว่า เขาต้องการเวลานอน 7-8 ชั่วโมงเหมือนคนทั่วไป แต่ระยะเวลาที่แบตเตอรี่จะอยู่ได้สั้นกว่า หากเสียบสายชาร์จไว้แล้วเข้านอนก็จะทำให้มีอุปสรรคติดที่ขาตลอด ถ้าแบตหมดเครื่องอีเอ็มก็จะร้อง ก็จะเกรงใจคนที่นอนด้วยกัน "เหมือนแบทเทิลรอยัลเลย เหมือนมันกำลังจะระเบิด แบตหมดมันก็ดัง ตื้ดๆๆ ตกใจกันหมด ช็อกกันหมด ค่อนข้างจะดังเหมือนกัน มันสั่นด้วย"



เสียโอกาส เมื่อกักบริเวณในบ้าน

"ห้ามออกนอกเคหสถาน" เป็นถ้อยคำตามกฎหมายที่ใช้เป็นเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวแอมมี่ และคิว แต่ทั้งสองคนใช้คำเรียกเงื่อนไขดังกล่าวว่าการ "กักบริเวณ" ซึ่งอาจเป็นถ้อยคำที่ตรงใจกับสิ่งที่พวกเขากำลังประสบมากกว่า

เนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองในยุคปี 2564 ส่วนใหญ่จะนัดหมายในช่วงเย็นและยุติการชุมนุมในช่วงค่ำ ทำให้เงื่อนไขการกักบริเวณของแอมมี่ คือ ต้องอยู่บ้านเวลา 16.00-05.00 และเงื่อนไขของคิว คือ ต้องอยู่บ้านเวลา 15.00-05.00 หรือเรียกอีกอย่างว่า ห้ามไปร่วมชุมนุมโดยเด็ดขาด

แอมมี่ เล่าว่า ช่วงที่เขาต้องถูกสั่งให้อยู่แต่ที่บ้านและใส่กำไลอีเอ็มนั้นเป็นอะไรที่น่าหงุดหงิดใจสำหรับเขา ในช่วงเวลาที่เขาต้องอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่กิจกรรมที่เขาทำ คือ การวาดรูป และแต่งเพลง ทำดนตรีซึ่งเป็นอาชีพหลักของเขา และเป็นช่วงเวลาที่ลูกสาวมาหาบ่อยทำให้เขาได้ใช้ชีวิตอยู่กับลูกมากขึ้น ขณะเดียวกันเขาก็เริ่มเปิดธุรกิจร้านอาหารร่วมกับเพื่อสมัยเรียน ชื่อว่า ลาบกรุง ซึ่งในช่วงต้นเขาไม่สามารถไปดูแลร้านได้หลังสี่โมงเย็น

"พูดง่ายๆ ว่าห้ามขยับ อย่าขยับ อย่าขึ้นเวที อย่าเล่นดนตรี มันแปลออกมาเป็นยังงี้นะ ชัดๆ ไปเลยว่า นี่คือการลงโทษ ไม่มีสิทธิทำมาหากินด้วย ขี่จักรยานออกไปได้นิดนึงก็จะเกินอาณาเขต เค้าก็จะโทรมา เป็นระบบที่เค้าค่อนข้างจะซีเรียสเลยนะ ถ้าผิดไปนิดหน่อยเข้าก็จะต้องโทรมาตามให้ได้" แอมมี่เล่า

ขณะเดียวกันแอมมี่ก็เล่าให้ฟังว่า การต้องเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านเป็นเรื่องที่เขาเคยชินแล้วในฐานะศิลปินที่มีชื่อเสียง ดังนั้นเงื่อนไขนี้จึงไม่อาจทำให้เขาเป็นทุกข์ได้มากนัก

"ผมอาจจะต่างจากคนอื่น เพราะเพลงวันทูทรี มันดังเร็ว ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นมากๆ แล้วเราอยู่ในบรรยากาศแบบนี้มาตลอดอยู่แล้ว เวลาไปเล่นคอนเสิร์ตต่างจังหวัดเพื่อนคนอื่นก็ออกไปกินข้าวได้ แต่เราต้องนั่งรอข้าวกล่องที่โรงแรม ต้องอยู่แต่ในบ้านตลอด เวลาออกไปข้างนอกก็ไม่มีความเป็นส่วนตัวตั้งแต่ก่อนพูดเรื่องการเมืองแล้ว ดังนั้น กรงอันนี้เป็นอะไรที่ผมค่อนข้างจะชินและยอมรับได้ ผมก็ชอบอยู่บ้านด้วย"

ด้านคิว เล่าว่า เขามีโอกาสเลือกว่าจะปักหมุดเคหสถานที่เขาอยู่อาศัยตรงไหน ซึ่งคิวก็เลือกสถานที่อยู่ปัจจุบันที่ยังพอทำกิจกรรมได้บ้าง แต่การห้ามออกนอกบ้านก็ส่งผลเรื่องเรียนด้วย เพราะไม่ได้อ่านหนังสือกับเพื่อน ไม่ได้ไปเจอกันหรือค้างบ้านเพื่อน นอกจากนี้ การใช้ชีวิตในกรุงเทพนั้นการเดินทางลำบาก ต้องเจอกับรถติด คิวเคยไปทำกิจกรรมตอนบ่ายสองแล้วกลับมาไม่ทัน รถติดเกินมาประมาณหนึ่งชั่วโมงก็มีโทรศัพท์มาถามว่า ไปที่ไหน ทำไมไม่ขออนุญาต และแจ้งว่ามีสิทธิถูกโดนถอนประกัน เมื่อแจ้งว่ารถติดก็ถูกตำหนิกลับมา

คิว เคยยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอออกนอกพื้นที่ เพราะว่าญาติเสียจึงขออนุญาตให้งานศพที่จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นช่วงที่เพิ่งติดกำไลอีเอ็มใหม่ๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ถามมาว่าญาติเป็นใครและมีความเกี่ยวข้องอย่างไร ถ้าหากไม่ใช่คนในครอบครัวก็ไม่จำเป็นต้องไปงานศพ และสุดท้ายศาลก็ไม่อนุญาตให้ไป

ถึงปลายเดือนมกราคม 2565 เป็นเวลากว่าสี่เดือนแล้วที่คิวต้องใส่กำไลอีเอ็ม ซึ่งในเดือนที่สี่ คิวยื่นคำร้องและได้รับอนุญาตจากศาลเพื่อเดินทางไปเยี่ยมญาติที่กำลังป่วยที่จังหวัดขอนแก่นได้ และศาลเปลี่ยนเงื่อนไขการห้ามออกนอกเคหสถานให้เป็นเวลา 19.00-05.00 ส่วนแอมมี่ได้รับอนุญาตให้ถอดกำไลอีเอ็มแล้ว หลังใส่ติดตัวมาเป็นเวลาประมาณสองเดือน



สายตาคนเดินถนน มองคนติดอีเอ็มเป็นอาชญากร

บอย ซึ่งเป็นชายวัยฉกรรจ์ ตัวใหญ่ ผิวแดงดำ เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า เมื่อติดกำไลอีเอ็มทำให้ใส่กางเกงลำบาก เขาจึงเลือกที่จะใส่กางเกงขาสั้นเป็นส่วนใหญ่ และเมื่อเดินทางไปที่ต่างๆ ก็ได้รับสายตาหวาดกลัวกลับมาจากผู้พบเห็น แม้ว่าเขาจะไม่ได้รู้สึกอาย เพราะเขาต้องการทำให้เห็นว่า การติดอีเอ็มเป็นเรื่องปกติ แต่การมีสิ่งนี้อยู่ที่ข้อเท้าก็ทำให้เขาเรียนรู้ปฏิกริยาการตีตราจากคนอื่นในสังคมได้มาก

"บางครั้งเราไปห้างเราก็เหมือนเป็นตัวประหลาด เราไม่ใช่เซเล็บ ไม่ใช่คนดัง ไม่ใช่นักการเมืองที่ใครมองเห็นหน้าก็รู้จักว่าเป็นคดีทางการเมือง แต่คนจะตีตราไปก่อนว่าคนที่ติดกำไลอีเอ็ม ก็น่าจะเป็นคดีอาชญากรรม ปล้นจี้ หรือยาเสพติด แล้วหน้าอย่างผมนะใครๆก็คิด ... เราเคยไปสยามพารากอน ซึ่งมันเห็นความแตกต่างเลยกับห้างฟิวเจอร์ บิ๊กซี แถวรังสิต เคยใส่กางเกงขาสั้น ใส่กำไลอีเอ็ม รองเท้าแตะไปเดิน คนก็มองกันเต็ม เด็กวัยรุ่นแถวสยามสแควร์ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เขาแค่มองๆ แล้วเฉยๆ แต่พออยู่ในห้างสยามพารากอนมีวัยกลางคนหน่อย เขาก็จะตกใจ สัมผัสได้จากสายตาว่า เขาให้ความสำคัญกับมันมากแค่ไหน"

"มีอยู่ครั้งนึงจอดรถมอเตอร์ไซค์ไว้ข้างทางแถวหมู่บ้าน อยู่ดีดีตำรวจในเครื่องแบบก็มาขอค้นรถ เพราะเป็นกำไลอีเอ็ม พอเราบอกว่าโดนคดีการเมืองมาตำรวจก็ไม่เชื่อ ต้องบอกให้ค้นในกูเกิ้ล พอเปิดดูแล้วตำรวจก็บอก โอเคครับ พอดีแถวนี้มีการส่งยาเสพติดบ่อย ... "

ด้านแอมมี่ก็เล่าประสบการณ์ในลักษณะเดียวกัน

"มันคือคนละโลก แค่เข้าไปตรงโซนเมืองจ๋าๆ อย่างเอกมัย ทองหล่อ ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างน่าตื่นเต้น แต่สำหรับพวกขาลุยแถวโซนดินแดง ก็เป็นแฮชแท็ก #วัยรุ่นอีเอ็ม อยู่แล้ว ของกลุ่มพวกเขา แต่เวลาเราไปศาลเจอผู้ต้องหาคดีอื่นพอถกข้อเท้าขึ้นมา เขาก็โห ... นี่คงเป็นคดีแบบ ก่อการร้ายเลย ของจริงว่ะ ผมกับไอ้ปูนอ่ะ ดูง่อยมาก ดูอ่อนแอ แต่พอถกข้อเท้าขึ้นมานะ ... โห" แอมมี่กล่าวด้วยเสียงหัวเราะ เย้ยหยันเครื่องมือตีตราที่ติดตัวเขา

"มันก็คือตรวน โซ่ตรวนนี่แหละ เจตนาของโซ่ตรวจหมายถึงเสียงของมันที่กระทบกันด้วยในแต่ละครั้ง ตอนที่ผมอยู่ในคุกคนที่มีเรื่องกันครั้งนึงก็จับใส่ตรวนแล้ว เดินไปที่ไหนคนก็ได้ยิน ผมคิดว่า มันคือโซ่ตรวนดิจิทัล โซ่ตรวนร่วมสมัย"

"แต่เหมือนแม่จะชอบนะ ติดตามตัวได้.." แอมมี่ทิ้งท้ายด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส