วันจันทร์, มกราคม 24, 2565

รำลึก 30 ปี พฤษภาประชาธรรมที่จะมีขึ้น 'ปริญญา' ชี้ความขัดแย้งการเมืองรอบใหม่กระทบถึง 'สถาบันพระมหากษัตริย์' ทำยังไง จะกลับสู่ประชาธิปไตยโยไม่สูญเสีย



“ปริญญา” ชี้ความขัดแย้งรอบใหม่ เกี่ยวพันกระทบถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” หวังมีประชาธิปัตย์โดยคนประเทศไม่เข่นฆ่าสูญเสียอีก ยก30 ปีพฤษภาประชาธรรม เป็นบทเรียนป้องกันไม่ให้ประชาธิปไตยต้องนองเลือด

23 ม.ค. 2565 นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ให้สัมภาษณ์ ช่องยูทูปสภาที่3 ถึงการจัดงาน 30 ปี พฤษภาประชาธรรม ปี 2565 ว่า จะครบรอบ 30 ปีในเดือนพฤษภาคมเหตุการณ์ที่เป็นความสูญเสียแม้ว่าเราจะได้มาซึ่งประชาธิปไตย แต่ก็แลกด้วยความสูญเสีย และจำนวนคนเสียชีวิตก็ไม่ได้มีเพียงแค่ 44 คน ที่พบศพ แต่ยังมีคนหายอีกหลาย 100 คน
เชื่อว่าศพได้ถูกเอาไปซ่อนหรือทำลายทั้งหมดอีกหลาย 100 คน เหตุการณ์ที่จะต้องนองเลือดหรือสูญเสียกันอีกไม่ควรจะมีอีกแล้ว

ดังนั้นโอกาสที่ครบ 30 ปีและในวาระที่ญาติของวีรชนยังมีชีวิตอยู่ จะเป็นคนที่สูญเสียคนในครอบครัว สูญเสียลูก พ่อแม่หรือสามีภรรยา ญาติพี่น้อง 30 ปีผ่านไปเราเห็นว่าทำอย่างไร ให้ความสูญเสียแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก ความจริงก็เป็นคอนเซปต์ ของทุกปีว่าเราจัดรำลึกก็เพื่อสิ่งนี้

กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า แต่ที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ยังมีเหตุการณ์สูญเสียเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพฤษภา 53 ของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกสลายการชุมนุม หรือชัตดาวแบงค็อก ของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กกปส.) ที่ปิดกรุงเทพ 6 เดือน จำนวนคนที่ตายรวมกันในช่วง 6 เดือนก็ต้อง 30 คน

“ขณะนี้โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความขัดแย้งรอบใหม่เริ่มมาอีกแล้ว เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันหรือกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างที่ไม่เคยมีประเด็นแบบนี้มาก่อน ทำอย่างไรให้เราจะกลับสู่ประชาธิปไตย โดยไม่สูญเสียและท่ามกลางความเห็นต่างในสังคม ทำอย่างไรให้เราไม่ต้องมาเข่นฆ่ากันอีก คือสิ่งที่เราตั้งใจจัดงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายของเราในช่วง 30 ปี ของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และแน่นอน ก็ต้องพูดไปถึงเรื่องของการเห็นต่างกัน ในขอบเขตของระบอบประชาธิปไตยและเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ทำอย่างไรให้ความเห็นต่าง ภายในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระกษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่นำไปสู่ความรุนแรง หรือเหตุการณ์นองเลือดอีก การปฏิวัติรัฐประหารจะต้องหมดไป ผมคิดว่าข้อนี้เป็นข้อที่จะต้องควรเรียนรู้กันในวาระ 30 ปีโดยนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นอุทาหรณ์”ดร.ปริญญา กล่าว

อดีตเลขาธิการสนนท. กล่าวต่อว่า เข้าใจว่าเรื่องคนหาย 30 ปีนี้ก็ต้องพูดกันอย่างจริงจัง ว่าศพอยู่ไหน ส่วนอีกข้อหนึ่งปีนี้เป็นปีที่เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตยครบ 90 ปี ทั้งนี้วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่วันที่เริ่มต้นนับว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย คือวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งประกาศใช้ 3 วันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือ 27 มิถุนายน 2475 เป็นฉบับที่บัญญัติไว้ในมาตราหนึ่งว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลายนั่นคือการกำเนิดของระบอบประชาธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“เพราะฉะนั้นปีนี้เราจึงคิดว่าเราจะไม่จบแค่ 17 พฤษภาคมแต่เราจะไปจบถึงเดือนมิถุนายน ในวาระ 30 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และ 90 ปีประชาธิปไตย ทำอย่างไรประชาธิปไตยที่ล้มลุกคุกคลาน มีเหตุการณ์นองเลือดมีการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับมันจะผ่านไปสักทีหนึ่ง ทำอย่างไรจะกลับสู่ประชาธิปไตยโดยไม่มีการนองเลือดอีก และไม่ให้ล้มเหลวอีกนั่นคือสิ่งที่เราคุยกันว่าให้วาระ 30 ปีนี้ให้เราเรียนรู้เรื่องพวกนี้”

สำหรับการจัดงานโดยใช้ชื่อ ชื่อพฤษภาประชาธรรมนั้น กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า เริ่มแรกมีการเรียกชื่อว่าเป็นพฤษภาทมิฬ ซึ่งคำว่าทมิฬเป็นชื่อชนเชื้อชาติหนึ่งในศรีลังกาจึงมีการรณรงค์กันว่าไม่ควรนำชื่อ ของชนชาติหรือเชื้อชาติหนึ่งในศรีลังกา มาเป็นคำที่ติดลบ จึงมีการเปลี่ยนเป็นชื่อที่ดีกว่าและทางญาติก็เห็นว่าควรนำชื่อในทางบวกดีกว่า จึงเป็นพฤษภาประชาธรรมแต่คนก็ยังติดปากอยู่ว่าเป็นพฤษภาทมิฬ

สำหรับบริบทการชุมนุมเหตุการณ์เดือนตุลาคน และเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องของประชาชนและนิสิตนักศึกษานั้น ดร.ปริญญา กล่าวว่า ถ้ากล่าวโดยสรุปเป็นเหตุการณ์ของการเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งแลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิต ประเด็นคือประชาธิปไตยนั้นเป็นของดี แต่ทำอย่างไรถึงจะไม่มีการนองเลือดอีก มันเป็นบทเรียนเดียวกันที่เราควรจะเรียนรู้ เรายกย่องผู้สูญเสียเพราะเป็นวีรชนของพวกเราทุกคน ที่ทำให้มีประชาธิปไตยแต่เราไม่ควรมีวีรชนอีกแล้วที่ต้องมาตายเพราะเรื่องต่อสู้กับเผด็จการอีก

ที่มา ไทยโพสต์