น่าจะเป็นฉันทามติแล้วละ ว่าระบบยุติธรรมไทยถูกคณะทหาร ภายใต้อำนาจและการสืบทอดอำนาจ รัฐประหาร ‘ครอบงำและบงการ’ แม้แต่พวกผู้พิพากษาระดับประธานศาลอุทธรณ์ อาวุโสศาลฎีกา และรองอธิบดีศาลแรงงาน ยังต้องฟ้องมาตรา ๑๕๗
กรณี ๑ อดีต และ ๒ ผู้พิพากษา ยื่นฟ้อง ปปช.เอาผิดนายกรัฐมนตรีและรองฯ “มีพฤติการณ์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ตามมาตรา ๑๕๗ และ ๙๑ กฎหมายอาญา แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งสำคัญ ทั้งที่บุคคลนั้นถูกประธานศาลฎีกาสั่งสอบสวนวินัยร้ายแรง
คำฟ้องระบุว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา และวิษณุ เครืองาม ทำการแต่งตั้งนายสราวุธ เบญจกุล ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ๓ อย่าง เป็นการ “ไม่ให้เกียรติ ด้อยค่า ทำลายความน่าเชื่อถือประธานศาลฎีกา ขัดแย้งนโยบายป้องกันปราบปรามทุจริต” ที่แถลงไว้ต่อสภา
ถือว่า “เป็นการแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรม...อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๙๓” ด้วย ในเมื่อนายสราวุธอยู่ระหว่างถูกสอบสวนเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัด ๓ แห่ง
อนึ่งนายสราวุธคนนี้คงจะเส้นสายใหญ่โตในรัฐบาลประยุทธ์พอสมควร เพราะนอกจากตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประธานอนุกรรมการ ก.ตร. และกรรมการการไฟฟ้านครหลวง แล้วเขายังดำรงตำแหน่งอื่นๆ
ได้แก่ ประธานกรรมการท่าอากาศยาน กรรมการกำกับหลักทรัพย์ ประธานกรรมการธุรกรรมในสำนักงานป้องกันฟอกเงิน ประธานอนุกรรมการข้าราชการครูและการศึกษา กรรมการธุรกรรมอีเล็คทรอนิคส์ และข้อสำคัญเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ปปช.
ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทั้งรัฐบาลนี้และฝ่ายทหาร มักจะเมินเฉยต่อคำสั่ง หรือพันธกรณีที่ประชาชนทั่วไปจักต้องสนับสนุนหรือปฏิบัติตามอำนาจศาล ตราบใดที่มีคดีความเกี่ยวกับการกระทำความผิดโดยคนของตน มิฉะนั้นก็จะวินิจฉัยบ่ายเบี่ยงหลักกฎหมาย
กรณีอันเป็นตัวอย่างเห็นแจ้งว่ากระบวนการยุติธรรมไทยต้องสะดุดหยุดกึก หรือหักหลบลงไปข้างคูเมื่อถูกทหารทำเมินไม่ยอมสนองต่ออำนาจศาล จากการตายของ ชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งถูกทหารซึ่งตั้งด่านตรวจค้นหาอาวุธและยาเสพติด แม้นไม่เจอก็อ้างว่าพยายามหนี
ชัยภูมิเป็นนักกิจกรรมชนชาวเขา ซึ่งฝ่ายทหารมีความไม่พอใจเป็นทุนอยู่แล้ว เมื่อเขาถูกยิงจากข้างหลังมีการร้องเรียนว่าทหารทำเกินเหตุจงใจฆ่า แม่ทัพภาค ๓ ขณะนั้น พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ กลับบอกว่า “ถ้าเป็นผมอาจกดออโต้ไปแล้ว”
อย่างไรก็ดีเมื่อคดีไปถึงศาล ศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยอ้างเหตุว่าพลทหารที่ยิงชัยภูมิด้วยปืนเอ็ม ๑๖ ปฏิบัติตามหน้าที่ปกติ มารดาของชัยภูมิอุทธรณ์ว่าระหว่างเกิดเหตุทหารทำร้าย กดคอชัยภูมิลงกับพื้นเขาจึงพยายามหนี ขอให้ศาลดูจากคลิปที่ทหารถ่ายไว้
แต่ทหารไม่ยอมส่งหลักฐานวิดีโอให้ และศาลไม่รับฟังคำให้การของพยานโจทก์ซึ่งเป็นชาวบ้านชาติพันธุ์ลาหู่ แต่กลับไปใช้หลักฐานจากการชันสูตรศพของแพทย์ที่ว่าไม่ปรากฏรอยฟกช้ำใดๆ บนร่างกายผู้ตาย ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องเมื่อ ๒๖ มกรานี้ หลังเกิดเหตุกว่าสี่ปี
อีกกรณี คดีศาลอาญารัชดาสืบพยานโจทก์คดีการชุมนุมกลุ่มม้อบเฟสต์เมื่อปลายปี ๖๓ ซึ่ง ‘เพ็นกวิ้น’ พริษฐ์ ชีวารักษ์ เป็นจำเลยข้อหาความผิด ม.๑๑๒ จากการปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยเฉพาะประเด็น ร.๑๐ เสด็จประทับเยอรมนี
คำปราศรัยบอกว่ามีการใช้พระราชอำนาจนอกราชอาณาจักร แต่อัยการกล่าวหาว่าเป็นการบิดเบือนและจาบจ้วง จำเลยต่อสู้ให้ “ออกหมายเรียกพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง” เช่น “ข้อมูลที่ ส.ส.พรรคกรีนของเยอรมันได้เคยอภิปรายในสภา”
เพจ เพนกวิน - พริษฐ์ ชิวารักษ์ ระบุ “เพื่อพิสูจน์ว่าสิ่งที่ผมปราศรัยเป็นความจริง” แต่ศาลกลับไม่ยอมออกหมายเรียกเอกสารหลักฐานดังกล่าว รวมทั้งตารางการบิน “ทางเข้าออกประเทศไทยและประเทศเยอรมันของในหลวงรัชกาลที่ ๑๐”
ศาลอ้างว่าเอกสารหลักฐานเหล่านั้น “ไม่เกี่ยวกับคดีความ” ศาลกลับเอาคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์มาวินิจฉัย “กัญจ์บงกช เมฆาประพัฒน์กุล กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ก็ให้การว่าไม่ทราบว่า ร.๑๐ เดินทางไปเยอรมนี”
Thanapol Eawsakul ให้ข้อคิดว่าสิ่งที่ศาลมุ่งหมาย เฉกเช่นทุกครั้งในคดี ม.๑๑๒ คือให้จำเลยรับสารภาพแล้วขอลดโทษ “แต่ไม่น่าจะใช้ได้กับแกนนำราษฎร ๒๕๖๓ คนเหล่านี้พร้อมที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงตั้งแต่ก่อนขึ้นเวทีปราศรัย” ศาลจึงปฏิเสธที่จะพิจารณาหลักฐานเสียดื้อๆ
การประพฤติ ‘ละเลยหลักกฎหมาย’ ของศาลเช่นนี้ ไม่เพียงเป็น “จำอวด” ดังคำที่ธนาพลเตือนว่า “จะอับอายไปชั่วลูกชั่วหลาน” หากแต่เป็นพยานหลักฐานในกระบวนยุติธรรมสากล วันใดที่มีคดีอาชญากรรมต่อมวลมนุษย์ ปรากฏในศาลอาญาระหว่างประเทศ
(https://prachatai.com/journal/2022/01/97014, https://plus.thairath.co.th/topic/speak/101017, https://www.facebook.com/paritchiwarakofficial/posts/511498873671036 และ https://www.isranews.org/article/isranews-news/106053-inves09-14.html)