วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 11, 2564

คำวินิจฉัย ตลก.รธน. ๘ ต่อ ๑ กลับไปสู่ระบอบ ‘สมบูรณาญาสิทธิราชย์’ แล้วยัง "กรุยทางไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลอีก"

คำวินิจฉัย ตลก.รธน. ๘ ต่อ ๑ เมื่อวานนี้คดีการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ว่าเป็นการ ล้มล้างระบอบปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุข มีแต่คนบอกว่า เป็นการประกาศให้ประเทศไทยกลับไปสู่ระบอบ สมบูรณาญาสิทธิราชย์

ด้วยถ้อยความต่างๆ ที่ละเลยหลักนิติธรรม และบิดเบือนรัฐธรรมนูญ เช่นบอก “พระมหากษัตริย์กับชาติไทย ดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกัน ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และจะดำรงอยู่ร่วมกันต่อไปในอนาคต แม้ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแล้ว”

ทนายจูน June Sirikan@JCharoensiri บอกเป็นการ “เขียนและสั่งให้สังคมและประเทศกลับสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์” John Winyu@johnwinyu ว่า “ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้วล่ะ”

Pongkwan@pongkwans (at USC) ชี้ “ถ้ามารูปนึ้ วินิจฉัยว่าไทยไม่ได้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยไปเลย อาจทำให้คำวินิจฉัยเป็นเหตุเป็นผลกว่านี้ด้วยซ้ำ” ส่วน Jaran Ditapichai อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนฟันธง “เป็นการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเป็นทางการ”

ด้าน สมศักดิ์ เจียม@somsakjeam จี้ประเด็นที่กลุ่มราษฎร ๖๓ เรียกร้อง ๑ ใน ๑๐ ข้อ เกี่ยวกับ การยกเลิกการบริจาคหรือรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลว่า “รัฐธรรมนูญนี้และการปกครองนี้เป็นของกษัตริย์ กษัตริย์จะทำอะไรก็ได้ จะเอาเงิน บริจาค จากใคร, เท่าใดก็ได้”

ขณะที่ Panat Tasneeyanond อดีตคณบดีนิติศาสตร์ มธ.วิเคราะห์ว่า “ไม่มีคำวินิจฉัยส่วนใดที่ให้ความหมายอย่างชัดเจน...การกระทำอย่างไรที่มีผลเป็นการล้มล้าง” และ “ไม่มีการวินิจฉัยว่าระบอบประชาธิปไตยถูก เซาะกร่อนบ่อนทำลายได้อย่างไรจากการอภิปรายของผู้ถูกร้อง”

iLaw เจาะเรื่องที่ศาลกล่าวหาผู้ถูกร้องใช้แต่เสรีภาพ แต่ไม่ได้คำนึงถึง ความเสมอภาคและภราดรภาพ ว่าเป็นอีกสององค์ประกอบของ ประชาธิปไตยเป็นการกล่าวอย่างลอยๆ “ไม่ได้อธิบายให้เห็นถึงข้อเท็จจริงและที่มา” แต่อย่างใด

คำวินิจฉัยตอนหนึ่งว่า “ประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนั้น อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด นับแต่ยุคสุโขทัย พระนครศรีอยุธยา มาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์” แสดงว่า “ศาล รธน.ได้ก้าวล่วง รธน.ม.๓” อย่างสิ้นเชิง

“หมายความว่าศาลรัฐธรรมนูญเลือกคำพูดขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง” ในเมื่อมาตรา ๓ บัญญัติว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล”

น้าเหนก พักดีซีโนแวค@anek11 ถึงได้เหน็บ “ย้อนแย้งพิลึกพิลั่น...วันตัดสินยุบพรรคไทยรักษาชาติ ศาลฯ ใช้คำว่า พระมหากษัตริย์ทรงราชย์ไม่ทรงปกครอง มาวันนี้กลับบอก พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจการปกครองมาโดยตลอด”

รวมความว่าศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้วินิจฉัยด้วยการใช้มโนคติเสียกว่าครึ่ง อีกเกือบครึ่งเต็มไปด้วยการวางอำนาจบาตรใหญ่ เช่น ไม่ยอมทำการไต่สวนผู้ถูกร้อง ๑-๓ อ้างว่ามีพยานหลักฐานพอแล้ว แต่พยานหลักฐานเหล่านั้น

“ได้จากสำนักงานอัยการสูงสุด ผกก.สภ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เลขาธิการสภาความมั่นคง ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ อธิการบดี มธ. และ ผบ.ตร. ส่งมาให้” แล้วตัดสินว่าผู้ถูกร้องมี เจตนาซ่อนเร้น“มีมูลเหตุจูงใจ ล้มล้างการปกครอง”

รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จึงต้องแถลงที่หน้าศาล “เบื้องต้นข้าพเจ้าคงไม่เคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และด้วยจิตวิญญานอันซื่อตรงต่อหลักนิติธรรม...คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่อาจยอมรับได้ เพราะขาดซึ่งความชอบธรรมอย่างยิ่ง”

อีกทั้งยังมีกลิ่นอายของการวางหมากทางการเมือง ชวนให้สงสัยว่าสมรู้กับผู้ร้อง ณฐพร โตประยูร ด้วยหรือเปล่า นักร้อง ผู้นี้มีผลงาน “ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ในคดีอิลลูมินาติ” เป็นผลสำเร็จมาแล้ว

เขาเป็นผู้ยื่นศาล รธน.วินิจฉัยคดี ชุมนุม ๑๐ สิงหา นี้ พอคำวินิจฉัยออกมา เขาแถลงทันใดว่า จะนำคำวินิจฉัยศาลไปใช้ประกอบคำร้องยุบพรรคก้าวไกล ที่ได้ยื่นต่อ กกต.ไว้แล้ว ข้อกล่าวหา “สนับสนุนการเงินและเข้าประกันตัว” ผู้ต้องหา ม.๑๑๒

ตลก.รธน.นี้มีประวัติอันยาวนานในการ “เข้ามาเป็นผู้เล่นทางการเมือง เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มที่เป็นปรปักษ์กับพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากจากประชาชน” ดังที่ iLaw แจงไว้ “ไม่ว่าจะเป็นการล้มรัฐบาล หรือ การสร้างสุญญากาศทางการเมือง”

นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๙ “ล้มเลือกตั้ง สร้างเงื่อนไขรัฐประหาร ยุบพรรคการเมืองยอดนิยม” ปี ๒๕๕๑-๕๓ “ล้มรัฐบาลสองชุด” ปี ๕๗ “ขัดขวางแก้รัฐธรรมนูญ ล้มเลือกตั้งสร้างสุญญากาศการเมืองเพื่อการรัฐประหาร” มาถึงปี ๖๓ ยุบพรรคอนาคตใหม่

นี่ก็กรุยทางไปสู่การยุบพรรคก้าวไกลอีก สกัดความก้าวหน้าทางการเมือง ถอยประเทศกลับไปสู่ยุคเมื่อร้อยๆ ปีที่แล้ว

(https://ilaw.or.th/node/5843, https://www.facebook.com/watch/?v=3835390156564750&notif_id และ https://www.facebook.com/thematterco/posts/3046295455585836)